เรียกได้ว่าเป็นธนาคารรายแรกๆ ที่ร่วมทดลองและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบ QR payment อย่างเข้มขันและจริงจังมาโดยตลอด สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปลดล็อก อนุมัติให้สถาบันการเงินที่มีความพร้อมนำระบบ QR Payment ออกจากสนามทดลองอย่าง Regulatory Sandbox มาสู่การใช้งานจริง SCB ก็เหยียบคันเร่งเต็มที่ในการขยายจุดรับชำระผ่าน QR Code ให้กระจายออกไปสู่วงกว้างให้ได้มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ SCB ปูพรมด้วยการลงพื้นที่จริง เพื่อสร้างความรู้ให้ประชาชน ผ่านการสาธิตให้เห็นการใช้งานจริงมาอย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ แหล่งช้อปปิ้ง (ตลาดนัดจตุจักร, สยามสแควร์, แพลตตินั่ม, MBK) มหาวิทยาลัย (เกษตรศาสตร์, ธรรมศาสตร์) คมนาคมขนส่ง (วินมอเตอร์ไซค์, วินรถตู้, แท็กซี่) ตลาดสด (ตลาดสามย่าน, ตลาดมีนบุรี) และวัด (วัดศาลพันท้ายนรสิงห์) เพื่อสร้างความสมบูรณ์และหลากหลายของ Ecosystem โดยพยายามเลือกการเข้าสู่กลุ่ม Mass เพื่อเน้นรูปแบบการใช้งานที่อยู่ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด
รวมทั้งช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการปลดล็อกก็เร่งทำพีอาร์ในวงกว้าง ด้วยการเปิดตัวแคมเปญ “แม่มณี” สำหรับเจาะกลุ่มร้านค้าเพื่อเพิ่มจุดรับชำระให้มากขึ้น รวมทั้งทำความเข้าใจถึงโซลูชั่นส์ในการใช้งาน ที่มีทั้งการโฆษณาทีวี เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ “ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่” พร้อมทั้งเดินสายโรดโชว์เพื่อสร้างความคุ้นเคยทั้งในฟากฝั่งของผู้รับและผู้จ่ายผ่าน SCB Easy App ทั้งใน กทม. รวมทั้งเป้าหมายจังหวัด Tier 1 ซึ่งล่าสุดปักธงไปที่เชียงใหม่ จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญเบอร์ 1 ของภาคเหนือ เพื่อเร่งสร้างความคุ้นเคยในการใช้จ่ายผ่าน QR Code โดยยังโฟกัสที่ 5 กลุ่มสำคัญทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อความพร้อมสู่การเป็น Smart City รองรับนโยบาย Cashless Society ก่อนจะขยายพื้นที่การใช้งานออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนร้านค้าที่สามารถรับชำระด้วย QR Code ในปีนี้ให้ได้ 2 แสนร้านค้า และเพิ่มเป็น 5 แสนร้านค้าในปีหน้า
นอกจากการผลักดันในส่วนของตัวเองแล้ว SCB ยังได้ผนึกกับพันธมิตรรายใหญ่ระดับโลกอย่าง AliPay ผู้ให้บริการ e-Payment จากเมืองจีน ประเทศต้นแบบที่เป็น Role Model ในการผลักดันและขับเคลื่อนระบบ QR Payment จนขยายวงกว้างแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศได้สำเร็จ โดยพัฒนาระบบของ SCB Easy ให้รองรับการชำระผ่านระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Wallet ของ AliPay โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด และถือเป็นการติดอาวุธเสริมเพื่อให้แก่ร้านค้าไทยเพิ่มโอกาสในการดึงดูดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
พร้อมทั้งได้นำ “แม่มณี” นางกวักยุคดิจิทัลที่เพิ่งเปิดตัว มาช่วยสร้างสีสันและการจดจำ ภายใต้แนวคิด “แม่มณี รักทุกคน รับทุกแบงก์ รักทุกชาติ” เพื่อสื่อให้เห็นว่าคิวอาร์โค้ดของไทยพาณิชย์รองรับการใช้จ่ายผ่านโมบายแอปพลิเคชันของทุกธนาคาร และพร้อมรองรับผู้ให้บริการรับชำระเงินทุกสัญชาติ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในไทย ภายในระยะเวลา 2 – 3 ปีที่กำลังจะมาถึง รวมไปถึงการตอกย้ำความเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (The Most Admired Bank) ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ได้วางเป้าหมายเอาไว้
คุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุด Retail Products และ Retail Payments ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การจับมือกันระหว่าง SCB และ AliPay เป็นการเชื่อมระบบการให้บริการ “SCB EASY PAY – แม่มณี Money Solution” ให้รองรับการชำระด้วย AliPay ซึ่งถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวจีนนิยมใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อซื้อสินค้าในประเทศไทย ขณะที่ร้านค้าในประเทศไทยเองก็เริ่มปรับตัวและคุ้นเคยกับระบบ e-Payment มากขึ้น
“SCB ต้องการส่งเสริมให้ร้านค้ารับชำระเงินด้วย QR Code เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้าขาย โดยจะเริ่มนำร่องให้บริการชำระเงินผ่านระบบ AliPay ที่เยาวราช และแพลตตินั่ม ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวจีน ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้”
ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากการพิชิตเป้าหมายให้มีจำนวนร้านค้ารายย่อยใช้ SCB Easy Pay เพื่อเป็นจุดรับชำระผ่าน QR Code ให้ได้ 7 แสนบัญชี ภายในปี 2561 แล้ว ธนาคารจะชูโมเดลธุรกิจยุคใหม่ให้แก่ร้านค้าเพิ่มเติม ด้วยการช่วยสร้างตัวตนในโลกดิจิทัล (Digital presence) เชื่อมโลกออฟไลน์กับออนไลน์ไว้ด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อพาคนซื้อมาหาถึงหน้าร้าน ช่วยให้ร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถทำการค้าได้ตลอดเวลา ซึ่งได้เริ่มทดลองใช้แล้วที่ตลาดนัดจตุจักรเป็นที่แรก และได้รับการตอบรับจากร้านค้า และนักช้อปในจตุจักรเป็นอย่างดี
ด้าน คุณพิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย Ant Financial Services Group ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านระบบ AliPay กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญในการขยายช่องทางชำระเงินของ AliPay เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในไทยแต่ละปีมากกว่า 10 ล้านคน การมีร้านค้าที่รับชำระสินค้าผ่าน AliPay จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคนจีนที่ไม่ต้องการพกเงินสดจำนวนมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีจุดรับชำระของ AliPay มากกว่า 20,000 จุด ซึ่งการจะขยายจำนวนร้านค้าที่รับชำระเงินผ่าน AliPay ให้ได้อย่างรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบการชำระด้วยคิวอาร์โค้ดให้แก่ผู้ค้ารายย่อย ทำให้เชื่อมั่นในธนาคารไทยพาณิชย์ และเชื่อว่าทำให้จำนวนธุรกรรมผ่านร้านคาของ AliPay ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน