แม้ปัจจุบันระบบ QR Payment ยังคงอยู่ในพื้นที่ทดลองภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ Sandbox แต่ก็มีแนวโน้มใกล้จะคลอดจากกระบะทรายมาสู่การใช้งานจริงได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติจากทาง ธปท. เชื่อว่าคงจะได้เห็นความเคลื่อนไหวจากหลายๆ ฝ่ายกันอย่างคึกคักยิ่งขึ้น ซึ่งธนาคารทั้งหลายต่างก็ลงทุนปั้นแพลตฟอร์มไว้รอกันถ้วนหน้า สเต็ปต่อไปก็คือ ต้องทำให้ผู้บริโภค และฝั่งของร้านค้าเข้าใจและใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Cashless นี้ให้ได้
จังหวะนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือคติพูดก่อนแถมพูดเสียงดังกว่า ได้เปรียบ เทงบ 30 ล้านบาท เพื่อแนะนำ “แม่มณี” ตัวแทนแคมเปญใหม่ “SCB Easy Pay – แม่มณี Money Solutions” สำหรับพ่อค้า แม่ค้า ยุคดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาจุกๆ จิกๆ ในการค้าขาย โดยเฉพาะเรื่องของการจ่ายค่าสินค้าด้วยเงินสด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ามีเงินสดไม่พอ ร้านค้าไม่มีเงินทอน ทอนผิด ทอนช้า ทอนขาด ทอนเกิน ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ลูกค้า ขณะที่ร้านค้าเองก็เสียประโยชน์เช่นกัน หรือในกรณีร้ายแรงกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของการทุจริตของพนักงาน การมี “แม่มณี” มาตั้งไว้ในร้านจึงเหมือนมีสิ่งสิริมงคล เพราะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ของร้านค้าได้เป็นอย่างดี
ทำความรู้จัก แม่มณี Money Solution
คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า แม่มณีเกิดจากอินไซต์ที่พ่อค้า แม่ค้า ต้องการจริงๆ จากการที่ทางธนาคารลงพื้นที่สำรวจตลาด เพื่อพูดคุยกับร้านค้าต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องเงินสดที่รั่วไหล ไม่ว่าจะมาจากการทอนผิดหรือทุจริต แต่การหาโซลูชั่นส์ต่างๆ มาใช้แทนเงินสดก็ต้องลงทุนสูง หรือบางรายยอมลงทุนระบบก็ไม่ค่อยมีลูกค้าใช้มากนัก
แต่หากนโยบาย Standardize QR ออกมาจาก Sandbox ได้แล้ว ก็จะเริ่มมีการใช้งาน QR Payment ที่แพร่หลายและสะดวกยิ่งขึ้น ร้านค้าจะสามารถสร้าง QR Code ของตัวเองได้ ขณะที่ฝั่งลูกค้าเองก็เริ่มใช้ E-Banking เพิ่มมากขึ้น ทั้งของ SCB เอง ที่ตอนนี้มีอยู่ราว 5 ล้านบัญชี และธนาคารอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบัญชี ทำให้การค้าขายแบบไม่ต้องใช้เงินสดของร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศจากนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป
“สิ่งสำคัญในการค้าขาย ร้านค้าต้องการให้มีลูกค้าเข้าร้านมากๆ ทำให้เรามักจะเห็นร้านค้าส่วนใหญ่มักจะมี “นางกวัก” ตั้งไว้หน้าร้านเพื่อเรียกลูกค้า ส่วน “มณี” ก็มาจากคำว่า Money เพื่อให้ร้านค้าทั่วๆ ไป เข้าใจถึงหน้าที่ของแม่มณีในฐานะ Money Solution ที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการทางการเงินให้กับร้านค้าให้ทำมาค้าขายได้สะดวกขึ้นด้วยการรับชำระผ่าน QR ตามนโยบาย Cashless Society รวมทั้งการออกแบบให้แม่มณีมีความน่ารัก เพื่อให้ร้านค้าต่างๆ อยากตั้งโชว์ สร้างความเด่นชัดที่ทำให้ลูกค้าทราบว่าร้านไหนบ้างที่สามารถจ่ายผ่าน QR ได้แล้ว”
SCB เลือกที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย QR จากฝั่งของร้านค้า เพราะมองว่าการทำให้มีจุดรับชำระจำนวนมากจะช่วยขับเคลื่อนได้เร็วและตรงจุดกว่า เพราะหากฝั่งผู้ใช้พร้อมแต่ไม่มีจุดให้ใช้จ่ายก็ไม่มีประโยชน์ การเร่งหาร้านค้าที่รองรับจึงมีความสำคัญ ประกอบกับฝั่งผู้ใช้งานเริ่มคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชันธนาคารและมีจำนวนมากขึ้นแล้ว โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่ใช้บริการ SCB Easy Pay หรือแม่มณีแล้วประมาณ 1- 2 หมื่นราย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น แพลตตินั่ม สยามสแควร์ จตุจักร MBK และตลาดกรีนเวย์ ที่หาดใหญ่ โดยคาดว่าหลังออกจาก Sandbox ได้แล้วจะมีร้านค้าในเครือข่ายราว 1 แสนร้านค้า พร้อมเป้าหมาย 5 แสนร้านค้าในปีถัดไป
สำหรับการกระตุ้นจากทาง SCB เพื่อให้ร้านค้ารับรู้และเลือกใช้แม่มณีเป็นตัวช่วยในการทำธุรกิจ ประกอบด้วย
1. รุกแผนสื่อสารการตลาดทั้ง 360 องศา ภายใต้งบ 30 ล้าน ทั้ง TVC รวมทั้งการมีกิจกรรมโรดโชว์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่
2. ดึง “ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่” เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสื่อสารไปในวงกว้างในฐานะตัวแทนร้านค้า และสาวยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ชอบชอปปิง
3. เริ่มกระตุ้นและสร้างการรับรู้โดยเร็ว เพื่อสร้าง Awareness และความคุ้นเคยในกลุ่มเป้าหมายก่อนรายอื่นๆ เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งานได้ทันที เมื่อมีการอนุมัติให้ออกจาก Sandbox และเริ่มใช้งานได้จริง
4. มีบริการ SCB Connect แจ้งเตือนทุกการใช้จ่ายโดยไม่มีค่าธรรมเนียมผ่านไลน์ ซึ่ง SCB เป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวที่ให้บริการขณะนี้ โดยใช้ได้ทั้งร้านค้าและคนทั่วไป รวมทั้งยังมี Money App ที่มีโซลูชันส์ในการจัดการมากขึ้น เช่น ด้านบัญชีหรือสต๊อก สำหรับธุรกิจหรือร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
5. ร้านค้าจะทราบจำนวนเงินที่ขายได้ในแต่ละรายการและแต่ละวันอย่างละเอียด รวมทั้งได้รับเงินอย่างถูกต้องและครบถ้วน ลดความผิดพลาดในการทอนเงินผิด หรือสูญหาย
6. ความได้เปรียบจากการเป็นธนาคารที่มีจำนวนสาขา Physical มากที่สุดกว่า 1 พันสาขา เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหาต่างๆ ในการใช้งาน
7. สามารถสร้าง QR Code เป็นของตัวเองได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY ภายในสมาร์ทโฟน สำหรับบัญชีที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้แล้ว
เร่งยึดหัวหาดสมรภูมิ QR
นอกจากเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนร้านค้าที่ใช้งาน SCB Easy Pay แล้ว SCB ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา New Business Model เพื่อหาพันธมิตรในการพัฒนาโซลูชันส์ที่สามารถนำระบบ QR Code ไปให้บริการได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และช่วยลดภาระจากต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดในแต่ละปีไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นล้านบาท และยังช่วยยกระดับรูปแบบในการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันให้เปลี่ยนแปลงไป
“ปัจจุบันธนาคารได้พัฒนา Prototype กับธุรกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้งาน QR แพร่หลาย เช่น พัฒนาระบบ Self Check-in ร่วมกับธุรกิจค้าปลีก การใช้วิธีสแกน QR บนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ชำระค่าโดยสาร ตู้ชาร์จพลังงาน ตู้ฝากส่งพัสดุ Sharing Economy หรือ Virtual Shopping เป็นต้น ซึ่งทาง SCB จะมีทีมดูแลการพัฒนาโซลูชันส์ร่วมกับพันธมิตรเพื่อร่วมกันสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ทั้งแบบ C2C, C2B, C2M หรือระหว่างผู้บริโภคกับ Machine รวมทั้งธุรกิจ Sharing Economy ผ่าน IoT เพื่อให้การใช้จ่ายที่เป็นนาโนเพย์เม้นต์มีความสะดวกมากขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง”
สำหรับปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน QR Payment ไปในวงกว้าง คุณธนามองว่า ต้องมาจาก 3 ปัจจัยหลักสนับสนุน ประกอบด้วย การมีต้นทุนที่ถูกกว่า ปลอดภัยกว่า และใช้งานได้ง่ายกว่าระบบเดิมๆ ที่ผู้คนคุ้นเคย จึงจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนเครื่องมือต่างๆ ที่ SCB พัฒนาเพื่อรองรับ Cashless ในปัจจุบัน ได้แก่ Standardize QR, Line Business Connect, Money App และ Easy App ที่ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งาน 5 ล้านราย ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากฐานบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่มี 14 ล้านบัญชี โดยเป็นบัญชีที่ยัง Activeประมาณ 8-10 ล้านบัญชี
“ประเทศจีนใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านสู่ Cashless Society ประมาณ 3 ปี ขณะที่บริบทต่างๆ ในประเทศไทยมีความใกล้เคียงกับจีน ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ไลฟ์สไตล์ หรือเรื่องของเทคโนโลยี ทำให้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถไปถึงเป้าหมายได้เช่นเดียวกับจีน โดยที่ประเทศไทยมีโอกาสใช้เวลาที่เร็วขึ้นกว่าจีนด้วย เนื่องจากมีภาครัฐเข้ามากำกับดูแลผ่านนโยบาย National E-Payment โดยเฉพาะการกำหนดให้ QR อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้พัฒนาทั้งเครื่องมือและโซลูชันส์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ รวมทั้งมีเป้าหมายในการเป็นบัญชีหลักของลูกค้า (Main Operating Account) เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”