หลังจากที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ รับทราบกันดีว่า Under Armour เป็นแบรนด์แฟชั่นกีฬาที่มาแรงและน่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 รองจาก Nike ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อแบรนด์น้องใหม่กลับมาแรงแซงแบรนด์ที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็น Adidas, Puma ฯลฯ ในตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง แต่จากผลประกอบการในไตรมาส 3 ปีนี้ กลับพบว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เส้นทางของ Under Armour เริ่มเจออุปสรรค
จากการรายงานของ Bloomberg ระบุว่า Under Armour มียอดขายลดลง 4% เมื่อเทียบกับรายได้ของช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องคู่แข่งอย่าง Nike รุกทำตลาดอย่างหนัก ส่วน Adidas ก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของรีเทลที่พันธมิตรซึ่งขายสินค้าให้ต้องมีอันล้มหายตายจากไป จนทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายของ Under Armour ลดลง และยังหาช่องทางอื่นมาทดแทนไม่ได้ ขณะเดียวกันสินค้ารองเท้ากีฬาที่คาดหวังว่าจะเป็นหัวหอกตัวใหม่ที่จะสร้างยอดขายให้เป็นกอบเป็นกำก็มีสินค้าใหม่ออกมาล่าช้ากว่ากำหนด ขณะที่ “เสื้อผ้า” สินค้าที่เป็นไฮไลท์เดิมของ Under Armor และสร้างยอดขายมากกว่า 60% ก็มีมาร์จิ้นน้อยกว่ารองเท้า
อีกประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงในเชิงพีอาร์ภาพลักษณ์ขององค์กรก็คือ การที่ Kevin Plank ซีอีโอของ Under Armour ตอบรับเป็นส่วหนนึ่งของคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมพ์ (White House’s American Manufacturing Council) ก่อนที่จะประกาศถอนตัวเช่นเดียวกับซีอีโอที่ดังๆ หลายคนในเวลาต่อมา
Kevin Plank ออกมายอมรับข้อผิดพลาดที่เปิดขึ้น และเชื่อว่าจะมียอดขายที่ดีขึ้นในปี 2018 เชื่อว่าวิธีการหนึ่งของทีมผู้บริหาร คือการเพิ่มสัดส่วนสินค้าในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งในระยะหลังโฆษณาหลายชิ้นก็พยายามใช้พรีเซนเตอร์ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็น Gisele Bündchen หรือทีมยิมนาสติคหญิงของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งขยายตลาดไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา
นี่นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของแบรนด์น้องใหม่ (ถ้าเทียบกับ Adidas ที่มีอายุ 68 ปี ก็ต้องบอกว่าเด็กกว่ามาก) อย่าง Under Armour จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและปรับตัวในสมรภูมิการแข่งขัน ซึ่งนอกเหนือจากคู่แข่งของตัวเองแล้ว ยังเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดอื่นๆ อีก ไปให้ได้