เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่แล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2017 สำหรับโลโก้อย่างเป็นทางการของงานโอลิมปิดฤดูหนาวปี 2022 ณ เมืองปักกิ่ง Beijing 2022 Winter Olympic และ พาราลิมปิดเกมส์ Beijing 2022 Paralympic Games
งานแถลงข่าวเปิดตัวโลโก้โอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ จัดขึ้นที่ Beijing’s Water Cube สนามกีฬาในร่มที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำในงานโอลิมปิกเกมส์ Beijing 2008 Olympic Game ซึ่งในวันนั้นมีผู้ร่วมงานและสื่อมวลชนทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศเข้าร่วมจนแทบจะล้นฮอลล์ ส่วนพิธีแถลงข่าวก็เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะมีกลุ่มนักร้องประสานเสียงเยาวชน 40 กว่าชีวิต รวมถึง เฉินหลง Jackie Chan ดาราบู๊สัญชาติจีนที่โด่งดังในฮอลลี่วูดก็มาร้องเพลงในงานเปิดตัวโลโก้ด้วย
พี่จีนกิ๊บเก๋ เอาตัวอักษรจีนพู่กัน มาเล่นเป็นโลโก้
“冬梦” (Dōng mèng) อ่านว่า ตงเมิ่ง แปลว่า ความฝันแห่งฤดูหนาว หรือ “Winter Dream” เป็นสโลแกนของโลโก้โอลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้
ตัวอักษร “冬” (Dōng) ออกเสียงว่า “ตง” แปลว่า ฤดูหนาว ถูกนำมาเป็นตัวอักษรต้นแบบสำหรับโลโก้โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวที่ในครั้งนี้ โดยรูปแบบตัวอักษร 冬 ที่ใช้เป็นโลโก้ได้อ้างอิงลวดลายจากการเขียนอักษรพู่กันจีนที่เรียกว่า 书法 (Shūfǎ) อ่านว่า ซรูฟ่า มาดัดแปลงให้ออกมาเหมือนกับริบบิ้นพลิ้วไหวหลากสีสัน ซึ่งจัดวางลายเส้นให้เหมือนกับนักกีฬาสกีบอร์ด ที่ช่วงปลายโลโก้ด้านล่างโค้งงอ เหมือนกับการงอเข่าของนักกีฬาบนสกีบอร์ดช่วงเวลาเหาะลงมาจากภูเขาหิมะ แขนสีฟ้าที่ยื่นออกไปสลับกับเส้นสีส้มเหมือนกับไม้ค้ำสกี และยอดโลโก้ด้านบนเหมือนหัวนักกีฬาที่ก้มแนบกับตัวขณะแข่งขัน โลโก้ดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาจากโลโก้ที่ปักกิ่งใช้เมื่อครั้งที่เข้าแข่งขันเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ซึ่งเห็นความพยายามของการใช้ตัวอักษร “冬” โดยเชื่อมโยงกับเลข 2022
ในงานเดียวกันก็ยังได้เปิดตัวโลโก้ที่จะใช้สำหรับงานพาราลิมปิก Beijing 2022 Paralympic Games ที่ดูแปลกใหม่สะดุดตา มีสโลแกนว่า “Flying-High”“飞跃” (Fēiyuè) อ่านว่า เฟยเยวี่ย แปลว่า ทะยานบิน หรือแปลจากภาษาอังกฤษว่า บินขึ้นสูง ซึ่งคำว่า “飞” (Fēi) อ่านว่า เฟย แปลว่า โบยบิน เป็นตัวอักษรจีนที่สวยงามอีกตัว โดยออกแบบส่วนหัวโลโก้ให้คล้ายกับโลโก้โอลิมปิกฤดูหนาวข้างต้น แต่เปลี่ยนลูกเล่นด้านล่าง ใช้ลายเส้นโค้งมนสองเส้นขนานกัน ให้ดูเหมือนกับล้อรถเข็นวีลแชร์ที่กำลังเคลื่อนไหว
โลโก้ทั้งสองแบบนี้ ออกแบบโดย Li Cunzhen หลี่ชุนเจริน ผู้เคยออกแบบโลโก้ให้กับงานโอลิมปิกเกมส์เยาวชนฤดูร้อน ณ เมือง หนานจิง Nanjing 2014’s Summer Youth Olympic Game มาแล้วครั้งหนึ่ง เขาได้เข้าร่วมส่งภาพตัวอย่างโลโก้ในการเฟ้นหาผู้ออกแบบโลโก้ครั้งนี้ และหลี่ชุนเจรินก็สามารถออกแบบได้โดนใจคณะกรรมการฯ จากผู้ส่งตัวอย่างผลงานทั้งหมดถึง 4,506 ชิ้น
จับตามองจีน ในอีก 5 ปีถัดจากนี้ไป
ประเทศจีนได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ถึง 3 ครั้งแล้ว โดยปีแรก คือ Beijing 2008 Olympic Games ครั้งที่สอง Nanjing 2014’s Summer Youth Olympic Games Nanjing และครั้งที่สาม ที่จะจัดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าประเทศจีน และเมืองหลวงอย่างเมืองปักกิ่งเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ที่ภาคภูมิใจของคนจีนกว่า 800 ปี มีสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งถ้ากลับไปดูการที่เมืองปักกิ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิดฤดูร้อนปี 2008 ครั้งที่แล้วก็เห็นว่าการแข่งกีฬาครั้งนั้นทำให้ประเทศจีนทั้งประเทศพลิกจากประเทศที่เหมือนจะล้าหลัง กลับกลายเป็นประเทศที่ทันสมัยพร้อมรับกับการแข่งขันในภาคธุรกิจต่างๆ กับประเทศอื่นทั่วโลก
ด้วยประสบการณ์ และการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวของประเทศจีนก็ทำให้เราตื่นเต้นและอยากมองดูการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นครั้งใหญ่กับประเทศจีนอีกครั้งใน 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน เพราะพี่จีน “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” ถ้าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานอะไรแล้ว เสกท้องฟ้าให้ใสทั้งเดือน สั่งทั้งประเทศหยุดงานก็ทำได้มาหลายครั้งแล้วละ
แปลและเรียบเรียงโดย Rucky Love