นับว่าเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ ภายใต้แนวคิด Improve Everyday Life อย่างสมบูรณ์ เมื่อ 3เอ็มประเทศไทย ฉลองครบรอบ 50 ปี ของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยด้วย งานเสวนา “Science, a new growth engine for Thailand 4.0“ มุ่งนำเสนอว่า “วิทยาศาสตร์” และ “เทคโนโลยี” มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งช่วยให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
โดยภายในงานนี้ 3M ไม่ได้แค่มิติขององค์กรเอกชนเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้น แต่กลับให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครบถ้วนทั้งระบบ แนวคิด การขาย ไปจนถึงการใช้งาน ด้วยวิทยากร 4 ท่าน คุณณัชนพงศ์ วชิรวงศ์บุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ดร.รณกร ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub), คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้บุกเบิกการอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ Tarad.com ปิดท้ายด้วยเจ้าภาพของงาน คุณนภาพร รัตนแสงหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย และนี่คือสรุปของงานเสวนาดังกล่าว
ต่อไปนี้ต้องวิจัยตาม Demand Driven มุ่งสร้างสรรค์ของที่ “ใช่”
วิทยากรทั้ง 4 ท่านมีความเห็นที่สอดคล้องในแนวทางเดียวกัน นั่นคือ ความเชื่อว่างานวิจัยที่มีค่า คืองานที่ มีคนนำไปใช้จริง ที่ผ่านมาทั้งภาคการศึกษาและภาครัฐ เดินหน้าปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการที่ คุณณัชนพงศ์ วชิรวงศ์บุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าถึงนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่นับจากนี้ งานวิจัยปัจจุบันต้อง Demand Driven ทำในสิ่งที่คนต้องการ กล่าวคือ “จากเดิมที่การให้ทุนสนุบสนุนวิจัยจะมาจากคววามสนใจของนักวิจัย แต่ในระยะหลังทิศทางจากท่านรัฐมนตรี ก็มอบหมายมาว่าต่อไปคงต้องเป็น Demand Driven ไม่ใช่ Supply Driven เหมือนที่เคย และถ้าหากว่าจะทำทั้งที ต้องผลักดันให้เป็นงานที่มี Impact สูงไปเลย คือ ทำแล้วทำให้สมบูรณ์ออกมามีการใช้งานได้จริง จากเดิมเป็นงานวิจัยที่ต้องเอาไปต่อยอดอีกครั้งในภายหลัง”
นอกจากนี้ตัวแทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า วิทยาศาสตร์ทิศทางใดที่นักวิจัยในประเทศไทยควรมุ่งหน้าไป ตามนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ประกอบด้วย
– เกษตรและอาหาร
-การแพทย์
-Automation
-Internet of Thing
-บริการวัฒนธรรมที่มีมูลค่าสูง
ในส่วนของ ดร.รณกร ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) มองว่า ภารกิจหลักของภาคการศึกษาคือการสร้างคนคุณภาพให้กับประเทศ ซึ่งการปั้นทรัพยากรบุคคลในยุคสมัยนี้ ต้องเน้นไปที่แนวคิด 4Cs ประกอบไปด้วย 1. Communication สามารถสื่อสารกับทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี 2. Collaboration สร้างการมีส่วนร่วม 3. Critical Thinking and Problem Solving คิดแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม 4. Creative and Innovation มีความคิดสร้างสรรค์ มองหาโอกาสใหม่ๆ
“มีการผลักดันให้ Research ให้กลายเป็น Commercialize ให้ได้ ดังนั้นก็ต้องพยายามจับให้ Industry มาเจอกับ Researcher เพื่อหา Pain Point แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหา…. ที่ผ่านมา Hard Science ความยากคือเด็กจบมาเขาจะคิดว่าเขาเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร เด็กก็จะพยายามเรียนให้ได้เกรด 4 แล้วเข้าไปทำงานในองค์กรใหญ่ๆ บริษัทดีๆ แต่สิ่งที่เด็กขาดไปคือหัวใจของการเป็น ผู้ประกอบการ ซึ่งถึงแม้จะไม่จำเป็นต้องออกไปประกอบธุรกิจของตัวเอง แต่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ถูกคิดขึ้นภายใต้แนวคิดว่าสินค้าที่ออกมาจะก็ต้องขายให้ได้ในทางธุรกิจ”
นวัตกรรมมีอยู่รอบตัว “ผู้นำ” ต้องเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเอง
คุณป้อม–ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ โฟกัสไปที่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง ซึ่งในงานเสวนาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ผู้นำขององค์กรต้อง “กล้า” ที่จะเปลี่ยนแปลงและทดลองใช้นวัตกรรม โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เขายกตัวอย่างง่ายๆ แต่สนุก และสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ฟัง โดยใช้คำสั่งเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือ ใช้เพียงแค่คำสั่งง่ายๆ อย่างเช่น ตั้งปลุก ตอนเช้า ค้นหาข้อมูล เพียงเท่านี้ก็กระตุ้นตัวเองเล็กๆ ให้ทราบว่าเทคโนโลยีใกล้ตัว และทำงานได้เกินกว่าที่เราคาดถึง
“ตัวเราเองนี่แหละ ที่เป็นคนสร้างขีดจำกัดของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าหากว่าคุณอยากจะทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง คุณต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน คุณต้องถามตัวเองว่าอยากเปลี่ยนแปลงองค์กร เปลี่ยนแปลงประเทศจริงหรือเปล่า หลายคนบอกตัวเองว่าอายุมากแล้วไม่อยากเริ่มต้น ไม่อยากลองใช้ Internet Banking, Mobile Banking ลองเถอะครับ ถ้าไม่ลองคุณจะไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร สะดวกแค่ไหน และถ้าคุณไม่เข้าใจ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้เข้ากับยุคสมัย ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างไร”
เริ่มต้นที่ภายใน จิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ “นวัตกรรม”
สำหรับ 3M ในฐานะองค์กรเอกชน ผลงานสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์มีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางอย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการบวนการคิดจากภายใน กรรมการผู้จัดการของ 3M เล่าเรื่องภายในขององค์กรว่าที่ 3M จะมีสิ่งที่เรียกว่า Culture 15% หมายถึง กฎ 15% ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ขององค์กรสามารถใช้เวลา 15% ของการทำงาน คิดค้นอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจ เพราะเชื่อว่าถ้าหากว่าปล่อยให้พนักงานได้ใช้เวลาตามที่ตัวเองชื่นชอบจะได้ผลสำเร็จที่มากกว่า
นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรม CII (Customer Inspire Innovation) ฝ่ายการตลาดหรือการขาย เก็บคอมเมนต์จากลูกค้า หรือเฝ้ามองหาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม มาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นความต้องการของลูกค้าก็ต้องขายได้และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคแน่นอน
ทางด้าน คุณณัชนพงศ์ มองว่า “เริ่มจากการเปลี่ยน Mindset ก่อนเลย สินค้าโภคภัณฑ์ ต้องเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม เติมคุณค่าเข้าไปด้วย เช่น ข้าว ก็ปรับให้เป็น Functional Food รวมทั้งวิธีการทำงาน ปรับจาก Traditional Farming เป็น Smart Farming”
3M ปั้นไอเดียวิทยาศาสตร์ ให้กลายเป็นสินค้าครบวงจร
“เรียนตรงๆ ว่าเราก็มี KPI เราเป็นองค์กรเอกชน นวัตกรรมที่เราสร้างขึ้นมาต้องขายได้ แต่เราก็รู้ว่ามันไม่มีอะไร Perfect ตั้งแต่ต้น แต่เราก็ต้องเรียนรู้แล้วก็นำมาปรับปรุง อีกด้านหนึ่งเรามีสิ่งที่เรียกว่า I2I (Insight to Innovation) นำเอาอินไซต์มาสร้างนวัตกรรม ดังนั้นด้วยวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ มันเป็นการกระตุ้น ส่งเสริมให้คนสามารถนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ได้” คุณนภาพร รัตนแสงหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมเรื่องแนวคิดขององค์กร
ดังนั้น “วิทยาศาสตร์” ต้องมาเจอกับแนวคิด ความเชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่ช่วยผลักดัน จึงจะทำให้ไอเดียที่อยู่ในห้องทดอลงกลายเป็นสินค้าที่ช่วยทำให้ชีวิตผู้คนง่ายขึ้น เหมือนที่ 3M ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน่วยงานต่างๆ ครบถ้วนในตัวเองอยู่แล้ว
“ที่ 3M เรามีนวัตกรรมถึง 46 เทคโนโลยี แพล็ตฟอร์ม แต่ที่เรามีมากกว่าวิทยาศาสตร์ นั่นคือ เรามีการผลิตเป็นของตัวเอง รวมทั้งเรามี Global Capability มี Network ครบถ้วนทั้งงานวิจัย การผลิต ทีมมาร์เก็ตติ้ง และแบรนด์ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งที่ส่งให้นวัตกรรมที่ยั่งยืน ที่เรามี Brand Promise ซึ่งทำให้เรา สามารถนำวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันได้”
คุณภาวุธ กล่าวเสริมในประเด็นของสร้างสรรค์ให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ขึ้นจริงในเคสทั่วไปว่า “ในสังคมไทย เรามีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ หลายคน แต่เขาเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่ Marketing ที่ทำให้ตัวเองหรือผลงานของตัวเองเป็นที่รู้จัก ช่องว่างที่เราขาดไปอาจจะเป็นการที่ทำให้คนที่เป็นนวัตกรกับนักลงทุนมาเจอกัน เราต้องยอมรับว่าเราขาดอะไร แล้วมองหาความร่วมมือ”
ปิดท้ายของงานเสวนาในวันนั้นด้วยการรับชม “ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 3M” ตัวอย่างของเทคโนโลยีทั้ง 46 แพล็ตฟอร์มของ 3M ที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าที่ใช้งานได้จริง เช่น “เส้นใย” ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นเครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศ สินค้าบางชิ้นก็เป็นการผสานเอาเทคโนโลยี แพล็ตฟอร์มมากกว่า 2 อย่างมารวมกัน เช่น แผ่นพลาสติคสะท้อนแสง ใช้ในป้ายหรือเส้นจราจรยามค่ำคืน รวมทั้งใช้ในโรงงานเพื่อเพิ่มจุดสังเกต ที่อาศัยการติดยึดของกาวคุณภาพสูง รวมทั้งการผลิตพลาสติคที่มีคุณภาพ การออกแบบสีสะท้อนแสงตามระดับการใช้งานที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ สินค้าเหล่านี้ถ้าจะให้รับชมแค่ภาพคงไม่สามารถซึมซับประสบการณ์เกี่ยวกับสินค้าได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม 3M ยินดีที่จะเปิดบ้านในส่วนของ “ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 3M” ย่านพระราม 9 ให้ผู้ที่สนใจในทางวิทยาศาสตร์ทุกท่านเข้ารับชม ด้วยตัวเอง และถ้าหากว่าเป็นหน่วยงานการศึกษา หน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่เอกชน ที่ติดต่อขอเข้ารับชมเป็นหมู่คณะล่วงหน้า ทาง 3M ยินดีที่จะจัดเจ้าหน้าที่นำชม เพื่อบรรยายให้กับผู้ชมทุกท่านด้วย BrandBuffet ไปทัวร์มาแล้ว รับรองว่า ทึ่งกับวิทยาศาสตร์อย่างไม่น่าเชื่อ สินค้าบางชิ้นที่ใกล้ตัวเราสุดๆ กลับแฝงด้วยนวัตกรรม รวมทั้งมีอุปกรณ์มากมายที่ถึงแม้อาจจะเฉพาะทางจนเราไม่เคยรู้ว่ามี แต่ก็สามารถสัมผัส จับต้องได้ อย่างสนุก เหมาะกับผู้ที่สนใจ ไปจนถึงเยาวชนที่มีใจรักวิทยาศาตร์จริงๆ
เทคโนโลยีทั้ง 46 แพล็ตฟอร์มของ 3M ที่เป็นรากฐานของนวัตกรรม บางสินค้าต้องใช้หลายๆ แพล็ตฟอร์มผสานไอเดียร่วมกัน