คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาแห่งปี ฟันธงธุรกิจไทย 2561 “The Flagship Summit : Future Fast – Forward“ ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่ได้รับการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ก็คือ “ผู้สูงอายุ” ซึ่ง อ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดีนำเอากรณีศึกษา 5 สินค้าหรือบริการที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มนี้
ทัวร์สูงวัยที่แบ่งกลุ่มตาม “กิจกรรม”
Club Tourism บริการจัดทัวร์ที่แบ่งทัวร์ตามกิจกรรม เช่น ทัวร์ที่เกี่ยวกับเครื่องราง ทัวร์ธรรมชาติ นอกจากจะได้ท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่าย ที่ทำให้ผู้สูงอายุได้เพื่อน แล้วครั้งต่อไปก็ไปเที่ยวตามความชื่นชอบร่วมกัน ทัวร์ลักษณะนี้ไม่ได้เป็นแค่การท่องเที่ยว แต่เป็นการสร้าง Community ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกัน แล้วจูงมือกันไปทัวร์อื่นอีก
Hair Contact ปลูกผมตั้งแต่ราก
วิวัฒนาการปลูกผมที่ช่วยสร้างรากผม ไม่ใช่แค่การใส่วิก แต่เป็นการปลูกผมปลอม เพราะกลุ่มผู้สูงอายุปัจจุบันไม่ใช่กลุ่มคนที่ Senior Active ถึงจะสูงวัยแต่ก็ยังอยากมีบุคลิกที่ดูดีอยู่ สินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้จะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ
แพ็กเกจสุขภาพที่ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญทุกแขนง
Hatsudai Rehabilitation Center ศูนย์กายภาพบำบัด ที่มีหมอกายภาพบำบัด พยาบาล นักโภชนาการ ซึ่งออกแบบโปรแกรมเฉพาะบุคคล เมนูที่เสิร์ฟภายในศูนย์มาจากเชฟระดับโรงแรม 5 ดาว ที่เด็ดกว่านั้นก็คือ อาหารที่นี่ไม่มีการเสิร์ฟ แต่กระตุ้นให้ผู้พักอาศัยในสถาบันฟื้นฟูแห่งนี้เดินมาทานที่โรงอาหารที่มีบรรยากาศผ่อนคลายด้วยตัวเอง บริการหรูแต่ไม่ทิ้งจิตวิญญาณนักสู้และพึ่งพาตัวเองสไตล์ญี่ปุ่นจริงๆ นะเนี่ย
I-Pot จาก Zojirushi กาต้มน้ำเพื่อบอกสถานะ “ยังไม่ตาย”
แบรนด์ Zojirushi ที่คนไทยคุ้นเคยกันในฐานะแบรนด์กระบอกเก็บความร้อน ได้สร้างสรรค์กาต้มน้ำ เพื่อให้ผู้สุงอายุตามต่างจังหวัดได้ใช้ คุณสมบัติเด่นคือ ทุกครั้งที่กด จะส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือของลูกหลาน เพื่อเป็นการบอกพวกเขาว่า “ผู้สูงอายุที่บ้าน ยังมีชิวิตอยู่” ซึ่งประเด็นนี้ อ.เกตุบอกว่าเป็นอินไซต์เดียวกับการที่ผู้ใหญ่ในบ้านเราชอบส่ง “สวัสดีวันจันทร์” ในไลน์กรุ๊ปครอบครัวนั่นแหละ
AEON รับจัดงานศพ
จากอินไซต์ของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะห่างเหินพิธีกรรมทำให้ไม่ค่อยทราบว่าภายในงานต้องมีการเชิญแขก นิมนต์พระอย่างไร AEON ซึ่งเป็นแบรนด์การเงินและรีเทล ที่เราคุ้นเคยกันนี่แหละ จึงเปิดบริการใหม่ “จัดงานศพ” เพื่อช่วยให้ลูกหลานของผู้ตาย สะดวกสบายมากขึ้น จ่ายเงินอย่างเดียวแล้วพิธีก็จะถูกเนรมิตรขึ้น
นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆ จากญี่ปุ่นที่เราเห็นกันตามข่าว เพื่อช่วยให้ลูกหลานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ง่ายขึ้น เช่น การร่วมงานศพแบบไดรฟ-ทรู ผู้ร่วมพิธีประหยัดเวลาไปอีก