คณบดีและทีมคณาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์ฯ มธ. ผู้วิจัย Business 4.0
การขับเคลื่อนสังคมเข้าสู่ยุค 4.0 ทำให้สภาพภูมิทัศน์หลายๆ อย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งเพื่อความอยู่รอดท่ามกลาง Technology Disruptive รวมไปถึงเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของผู้คนที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่การปรับตัวและการพัฒนาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะแม้แต่ในแวดวงการศึกษาเองก็จำเป็นต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวทั้งในเรื่องของการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร รวมไปถึง การเพิ่มหลักสูตรใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากยุคก่อน
รวมไปถึงการติดตามเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสังคม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของทางมหาวิทยาลัยให้เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันและความท้าทายที่มีอยู่รอบด้าน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาคการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนและก้าวตามให้ทันอยู่เสมอ
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับแนวหน้าของประเทศ เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน รวมไปถึงการเป็นหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนสังคม ที่มากกว่าแค่การให้ความรู้จากการเรียนการสอนตามหลักสูตร แต่ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน รวมไปถึงเพิ่มความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอีกด้วย
โดยเฉพาะ “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หนึ่งในหัวเรือหลักที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้ตอบโจทย์การเป็น Entrepreneurial University ของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วางเป้าหมายในการ “สร้างคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกระดับ” เช่น การสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน โดยใช้ “ธรรมศาสตร์โมเดล” เป็นแนวทางในการยกระดับธุรกิจชุมชนจากธุรกิจที่ไม่มีคนรู้จักกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและมีแบรนด์ที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง
ผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนา Business 4.0 กันอย่างคับคั่ง
นอกจากนี้ยังได้ทำการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ปรับภูมิทัศน์และบรรยากาศของคณะให้ตอบโจทย์การเป็น Ecosystem ที่เหมาะสมสำหรับการปั้นสตาร์ทอัพเลือดใหม่ล่าสุดคือ การยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีจากกลุ่มที่มีรายได้จากระดับ 10 ล้าน มาสู่ 100 ล้าน, จากระดับ 100 ล้าน สู่ 1,000 ล้าน และ 1,000 ขยับสู่ 10,000 ล้าน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญในการมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้าง Business for Better Life & Better Society ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยผลงานวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ที่พูดได้ว่าเป็น Roadmap สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 คือ งานวิจัยภายใต้แนวคิด “Business 4.0” ที่ได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้พร้อม Case Study ที่น่าสนใจ ในเวทีสัมมนาวิชาการ “Business 4.0 : Readiness and Roadmap” ที่จัดไปเมื่อวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ณ World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
คุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยพาณิชย ขึ้นกล่าวปาฐกถานำ
ภายในงานได้รวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การแสดงปาฐกถานำในหัวข้อ “Business 4.0 and Thailand Competitiveness” โดยคุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยพาณิชย์, การนำเสนอผลวิจัย “Business 4.0 : บนเส้นทางความพร้อมและความท้าทายของธุรกิจไทย” โดย รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอผลการวิจัย และกรณีศึกษาธุรกิจ 4.0 โดยทีมวิจัยของ TBS โดยเลือก 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีมูลค่าการเติบโตสูง และเป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 มาเป็นโจทย์วิจัย ได้แก่ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (โลจิสติกส์และท่องเที่ยว) โดย ผศ.ดร.ธนวัติ ลิมป์พาณิชย์กุล , อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ โดย รศ.ดร. ศากุน บุญอิต และ อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรและไบโอเทคโนโลยี โดย ผศ.ดร.นิติ รัตนปรีชาเวช และ ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว
คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซีอีโอ วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์
พร้อมด้วยกรณีศึกษาธุรกิจ 4.0 ได้แก่ กลยุทธ์การปรับตัวสู่ Business 4.0 โดยสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ ผู้บริหาร SHIPOP, กรณีศึกษา “เที่ยวจนเป็นเงินเป็นทอง” โดยนพพล อนุกูลวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง TakeMe Tour , กรณีศึกษา MEid วิกฤติสุขภาพและโอกาสแบบ 4.0 โดยปิติพงศ์ เหลืองเวชการ บริษัท MEid, นวัตกรรมสุขภาพไทยในเวทีโลก โดย เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ CT Asia Robotics, Smart Farmer กับแนวรบใหม่แห่ง Business 4.0 โดย อานนท์ บุณยประเวศ CEO & Co-Founder สตาร์ทอัพน้องใหม่จากบริษัท Techfarm รวมทั้งธุรกิจอาหารสู่ Business 4.0 โดยอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซีอีโอ วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ธุรกิจ ให้ผู้ร่วมงานได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในงานนี้อีกด้วย