เวลานี้ในตลาดสมาร์ทโฟนระดับโลก ใครๆ ต่างจับตามอง “Huawei” แบรนด์จีนที่ลุยตลาดสมาร์ทโฟนได้ไม่ถึง 10 ปี จากก่อนหน้านี้ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจ Network ให้บริการภาคธุรกิจโอปอเรเตอร์มานาน แต่เมื่อขยายมายังธุรกิจ Smart Device สามารถสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว ก้าวขึ้นมาติด Top 3 Brand ของตลาดสมาร์ทโฟนในระดับโลกอย่างรวดเร็ว และตามแผนยุทธศาสตร์ของ Huawei วางเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 สมาร์ทโฟนโลกในปี 2020
ทำให้ในงานเปิดตัว “Huawei Mate 10” ที่กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมัน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนที่ร่วมงานในวันนั้นต่างถาม “Mr. Richard Yu, Chief Executive Officer, Huawei Consumer Business Group” ถึงการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของ Huawei ในตลาดสมาร์ทโฟนระดับโลก ?!
แม่ทัพใหญ่ Consumer Business Group ตอบคำถามดังกล่าวว่า “ถ้าเราอยากเป็นเบอร์ 1 ในเชิงยอดขาย เราสามารถเป็นได้ตลอดเวลา แค่เราผลิตโทรศัพท์ราคาถูกมาขาย เราก็ได้เป็นเบอร์ 1 ของตลาดโลกแล้ว แต่วิธีการดังกล่าว ไม่ใช่การสร้างความยั่งยืนให้กับ Huawei ในการทำธุรกิจสมาร์ทโฟน เพราะเราเชื่อในเรื่องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งความยั่งยืนนี้ ต้องมาจากการมีรากฐานที่แข็งแกร่งทั้ง Ecosystem เพื่อนำไปสู่การส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค (Best Customer Experience) สิ่งนี้จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ “Huawei” เป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนอย่างยั่งยืน”
4 Pillars สร้าง Best Customer Experience
การส่งมอบ “Best Customer Experience” มาจาก 4 Pillars ที่ประกอบเข้าด้วยกัน และเดินไปพร้อมกัน คือ
1. Innovation ความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นหัวใจที่ทำให้ “Huawei” สามารถแจ้งเกิด และเติบโตก้าวกระโดดในตลาดสมาร์ทโฟน ทั้งในระดับโลก และในไทย คือ การมี “R&D” ของตนเอง จึงทำให้สามารถพัฒนา “นวัตกรรม” ของตนเองได้ ซึ่งปัจจุบัน Huawei จดสิทธิบัตรไว้ 62,000 สิทธิบัตรทั่วโลก และการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่แต่ละครั้ง ต้องมาพร้อมกับนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ Best in Class และ First to the World
เช่น ล่าสุดเปิดตัว “Mate 10 Series” เป็นสมาร์ทโฟนซีรีย์ เซ็กเมนต์พรีเมียมสุดของ Huawei ที่เป็นการชิงปักธงการเป็น “AI Smartphone” หลังจากเริ่มพัฒนาระบบ AI ในสมาร์ทโฟนมาเป็นเวลา 3 – 4 ปี ซึ่งการมี AI ผสานเข้ากับโทรศัพท์มือถือ ช่วยเพิ่มทักษะการทำงานของเครื่อง ให้สามารถเข้าใจ และรู้ความต้องการของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน
“Huawei” มองว่า “AI Smartphone” ที่ดี ต้องมี 3 องค์ประกอบผสานเข้าด้วยกัน ได้แก่ Hardware หรือตัวเครื่อง, Software, Chipset ขณะเดียวกัน AI ต้องเป็น Open Platform ที่เปิดให้นักพัฒนาร่วมกันพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้ เพราะ AI ต้องมีการพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เข้าใจ และเรียนรู้ความต้องการของเจ้าของสมาร์ทโฟนได้อย่างแม่นยำ โดยต่อไปถ้า AI Smartphone มีความต้องการของตลาดมากขึ้น ก็จะนำ AI ไปใส่ในสมาร์ทโฟนรุ่นรองลงมา
2. Quality ทั้งวัสดุที่เลือกใช้ มาตรฐานการตรวจสอบด้านความปลอดภัย รวมทั้งด้านการให้บริการ เพราะด้วยความที่ตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก มีคู่แข่งมากมาย ทั้งแบรนด์ใหญ่ และเล็ก หนึ่งในปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อสมาร์ทโฟน คือ “คุณภาพ”
3. Openness คือ การรับฟังผู้บริโภค และพาร์ทเนอร์ต่างๆ แล้วนำมาปรับปรุงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรม การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจชั้นนำ และการให้บริการ
4. Social Responsibility คือ ตอบแทนคืนสู่สังคม และสิ่งแวดล้อมในประเทศที่ Huawei เข้าไปดำเนินธุรกิจ ผ่านโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมด้านต่างๆ
เปิดเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นสมาร์ทโฟน “Huawei”
เพื่อให้เห็นภาพการเดินหน้ากลยุทธ์ “Best Customer Experience” ชัดเจนขึ้น Brand Buffet ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนถิ่นกำเนิด “Huawei” ที่เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเจาะลึกเบื้องหลังกว่าจะมาสมาร์ทโฟน “Huawei” ที่วางจำหน่ายทั่วโลก รวมทั้งในไทย ต้องผ่านกระบวนการวิจัย-พัฒนา ตรวจสอบคุณภาพมาตฐานในหลายขั้นตอน และในการผลิตที่โรงงาน ยังต้องเช็คแล้วเช็คอีกในแต่ละจุดของเครื่อง ก่อนจะส่งถึงมือผู้บริโภค
เริ่มจาก Testing Lab ส่วนหนึ่งของขั้นตอน R&D ก่อนที่จะนำไปผลิตจริงที่โรงงาน โดยความสำคัญของขั้นตอนนี้ เพื่อทดสอบความคงทน และมาตรฐานของการออกแบบสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ที่ใช้คู่กันอย่างสายชาร์จ และ Adapter เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโปรดักต์ที่ดีไซน์ออกมานั้น สามารถรองรับได้ในสถานการณ์ต่างๆ เสมือนจริงที่ถูกจำลองขึ้นในห้อง Testing Lab เช่น
1. Random Test ลักษณะการทำงานของเครื่องทดสอบนี้ จะหมุนเหมือนตัวปั่นของเครื่องซักผ้า เพื่อจำลองการใช้งานมือถือในเวลาที่ตกลงมากระแทกกับพื้นแข็งในมุมองศาที่แตกต่างกันไป โดยทดสอบ 100 ครั้ง ที่ความสูง 50 เซนติเมตร
2. ทดสอบการตกกระแทก (Directional Drop Test) โทรศัพท์จะถูกทดสอบการตกจาก 6 ทิศทาง ที่ความสูงประมาณ 1 เมตร บนพื้นผิวที่ต่างกัน
3. ทดสอบแรงกดบนพื้นผิวนิ่ม (Pressure Test) จำลองสถานการณ์ว่าโทรศัพท์อยู่บนพื้นผิวที่นิ่ม และมีของแข็งกดทับลงไป โดยวัตถุกดทับเครื่องทดสอบนี้ มีความหนัก 25 กิโลกรัม ทดสอบประมาณ 2,000 ครั้ง
4. ทดสอบความคงทนของหัวสายชาร์จ Type c โดยจะถอดเข้า-ออก Adapter ประมาณ 10,000 ครั้ง และ ทดสอบความแข็งแรงของหัวสายชาร์จ ด้วยการให้เครื่องจักรดันซ้าย-ขวา 2,000 ครั้ง เพื่อจำลองสถานการณ์ในกรณีที่เกิดการใช้งานไม่ปกติ เช่น ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเสียบหัวสายชาร์จไม่ดี หรือหัวสายชาร์จถูกดึงออกจาก Adapter อย่างแรง
5. ทดสอบความคงทนของสายชาร์จเครื่อง ด้วยเครื่องแรงดึงสูง และเหวี่ยงไป-มาอย่างรวดเร็ว
6. เครื่องทดสอบสายชาร์จ โดยใช้ตุ้มน้ำหนัก 1 กิโลกรัมถ่วงไว้ พร้อมกับหมุนซ้าย-ขวาไปมาอย่างรวดเร็ว
7. ทดสอบปุ่มปรับเสียง และปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ด้วยการกดลงซ้ำๆ กัน 50,000 ครั้ง
8. ทดสอบเครื่อง และตัวชาร์จอยู่ในอุณหภูมิที่ต่างกัน สลับกันร้อน-เย็น ตั้งแต่ -40 ไปจนถึง 70 องศาเซลเซียล
การเดินทางไปเยือนบ้านเกิดของ “Huawei” ยังไม่หมดเพียงเท่านี้…เพราะเรายังได้ไปโรงงานผลิตที่ “ตงก่วน” (Dongguan) ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งที่นี่เป็นไลน์การผลิตสมาร์ทโฟน กลุ่ม Hi-End สำหรับจำหน่ายทั่วโลก ภายในมี 18 ไลน์การผลิต โดย 1 ไลน์การผลิต สามารถผลิตสมาร์ทโฟนได้ 2,600 เครื่อง หรือคิดเป็น 1.3 ล้านเครื่องต่อเดือน
และสถานที่แห่งนี้ ทำให้เห็นว่าอีกหนึ่งหัวใจความสำเร็จของ “Huawei” คือ การเป็นผู้ผลิตชิปเซ็ทเอง (Chipset) ซึ่งชิปเซทถือเป็น “สมอง” ของสมาร์ทโฟน และในบรรดาแบรนด์สมาร์ทโฟนทั่วโลก มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ผลิตชิปเซทเอง ได้แก่ Samsung, iPhone และ Huawei นอกนั้นต้องจ้างผลิต
ภายในโรงงานแห่งนี้ มีทั้งส่วนการผลิตที่ใช้เครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ และส่วนที่ต้องใช้คน เช่น ในขั้นตอนประกอบ และการตรวจเช็ค เช่น แบตเตอรี่, กล้อง, ฝาเครื่องด้านหลัง เหตุที่ไม่ใช้เครื่องจักร เพราะส่วนประกอบบางอย่าง หากใช้เครื่องจักร อาจเกิดความเสียหายได้ เช่น วัสดุที่เป็นยาง หรือวัสดุบางอย่างที่ห้ามโดนความร้อน ประกอบกับปัจจุบันต้นทุนด้านแรงงานจีน ยังไม่สูงมากนัก การคน ร่วมกับเครื่องจักร จึงมีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้เครื่องจักรอย่างเดียว
สำหรับในไทย แม้การแจ้งเกิดสมาร์ทโฟน “Huawei” เพิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อปี 2559 ที่เปิดตัวรุ่น P9 Seriese ที่มาพร้อมกับ “Leica” ปรากฏการณ์ความร่วมมือกระหึ่มโลก ได้พลิกสถานการณ์ทำให้ “Huawei” กลายเป็น Rising Star ดวงใหม่ในแวดวงสมาร์ทโฟนในไทย กระทั่งทุกวันนี้มีส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นจาก 1 – 2% เมื่อครึ่งปีแรกของปี 2559 มาอยู่ที่ 10.7% (ผลครึ่งปีแรกของปี 2560)
“ตลาดสมาร์ทโฟน เป็นตลาดที่ปราบเซียนพอสมควร มีแบรนด์เข้า-ออกเป็นจำนวนมาก ณ วันนั้นเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ทุกคนในบริษัทเชื่อว่า Huawei มีนวัตกรรมดี ที่ผู้บริโภคจะต้องชื่นชอบ เพียงแต่ความท้าทายขณะนั้น แบรนด์ Huawei ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในตลาดสมาร์ทโฟนไทย อีกทั้ง Perception ของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์จีน ยังสงสัยเรื่องคุณภาพว่าดีหรือหรือไม่ เพราะฉะนั้นถึงแม้ขนาดธุรกิจ และโลโก้แบรนด์ Huawei เป็นแบรนด์ระดับโลกก็ตาม แต่เราจะสื่อสารความโดดเด่นในด้าน Product Innovation และก้าวข้ามกำแพงในใจผู้บริโภคได้อย่างไร เป็นความท้าทายในช่วงเวลานั้น
ขณะที่ในวันนี้ ผู้บริโภคให้การยอมรับ และเมื่อเอ่ยถึง Huawei สิ่งแรกที่ผู้บริโภคนึกถึงคือ เป็นสมาร์ทโฟนถ่ายรูปสวย แต่เรายังคง Challenge กับตัวเองในเรื่องโปรดักต์ ที่ต้องสื่อสารต่อเนื่องถึงนวัตกรรม และความคุ้มค่าคุ้มราคา เมื่อเทียบกับเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไป รวมทั้งสเต็ปต่อจากนี้ เราให้ความสำคัญกับการนำเสนอประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้บริโภค ด้วยการทำงานบน 4 Pillars ที่เราวางไว้” คุณชาญวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวทิ้งท้าย