HomeBrand Move !!ได้เวลา “กสิกรไทย” ยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน หลังรอมา 23 ปี ชูกลยุทธ์ Connect+Technology

ได้เวลา “กสิกรไทย” ยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน หลังรอมา 23 ปี ชูกลยุทธ์ Connect+Technology

แชร์ :

เวลานี้ในแผนที่โลก ประเทศที่ถือว่าเป็น “Strategic Country” ของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก คือ “ประเทศจีน” เพราะด้วยศักยภาพรอบด้านของจีน ทั้งจำนวนประชากรกว่า 1,300 – 1,400 ล้านคน บวกกับนโยบายภาครัฐ ที่เดินหน้ายกระดับจากประเทศรับจ้างผลิต ไปสู่การพัฒนานวัตกรรม และแบรนด์สินค้าของตนเอง เพื่อผลักดันแบรนด์ “Made in China” ให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น คือ ภาคการเงินการธนาคาร โดยที่ผ่านมามีธนาคารของไทยหลายราย ปักหมุดในตลาดจีน เพื่อรองรับทั้งลูกค้าจีนและไทย หนึ่งในนั้นคือ “ธนาคารกสิกรไทย” ที่เข้ามาลงทุนในตลาดจีนเมื่อกว่า 23 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่ก้าวแรกของการขยายเครือข่ายสู่ประเทศจีน ด้วยการเปิด “สำนักงานตัวแทนแห่งแรกที่นครเซินเจิ้น” ในปี 2537 และต่อมาได้ขยายเครือข่ายไปยังเมืองหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเฉิงตู เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง สาขาย่อยหลงกั่ง และสำนักงานผู้แทนในปักกิ่ง และคุนหมิง รวม 7 แห่ง

กระทั่งเมื่อไม่นานนี้ “ธนาคารกสิกรไทย” ได้รับอมุมัติจากทางการจีนให้เป็น “ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น” ในจีน มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเซินเจิ้น

การได้รับใบอนุญาตให้ตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น จะทำให้ “กสิกรไทย” สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร โดยในสเต็ปแรก เริ่มต้นที่กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ จากนั้นถึงจะขยายการให้บริการครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และลูกค้าบุคคล

เปิดเส้นทางบุกจีน กว่าจะได้เป็น “ธนาคารท้องถิ่น”

“ประเทศจีน” เป็นประเทศยุทธศาสตร์ในการขยายตลาดต่างประเทศของ “ธนาคารกสิกรไทย” โดยหลังจากจีนเปิดประเทศ ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ “กสิกรไทย” ได้เข้าไปลงทุนในจีน

– ปี 2537 เริ่มต้นลงทุนในจีน ด้วยการก่อตั้งสำนักงานตัวแทนที่เซินเจิ้น

– ปี 2538 ก่อตั้งสำนักงานผู้แทนในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และคุนหมิง

– ปี 2539 ได้ยกระดับสำนักงานผู้แทนสาขาที่เซินเจิ้น ให้เป็นสาขาธนาคารต่างประเทศ

– ในปี 2540 เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ “ธนาคารกสิกรไทย” เป็นหนึ่งในธนาคารที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้ต้องปิดสาขาในต่างประเทศหลายแห่ง แต่มีอยู่ประเทศเดียวที่ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นจะเลวร้ายอย่างไร “กสิกรไทย” ยังคงดำเนินกิจการต่อเนื่อง นั่นคือ “ประเทศจีน” ที่ไม่มีนโยบายปิดสาขาแม้แต่แห่งเดียว

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าเหตุการณ์หลังผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจว่า “พวกเราได้เริ่มต้นแผนรุกตลาดจีนใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ผมและคณะฯ ต้องเดินทางไปสำรวจประเทศจีนแทบจะเดือนเว้นเดือน เพื่อหาช่องทางการขยายตลาดในประเทศจีนของธนาคารกสิกรไทย

เวลานั้นตลาดการเงินของจีน เต็มไปด้วยคู่แข่งที่แข็งแกร่ง แม้เราจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ในระดับโลก และในจีนแล้ว ยังถือว่าอ่อนด้อย! แต่พวกเรายังไม่ถอดใจง่ายๆ เราคิดว่าทำอย่างไร “ธนาคารกสิกรไทย” ถึงจะมีฐานที่มั่นคงในตลาดจีน

ในที่สุดธนาคารกสิกรไทย ก็สามารถก้าวสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างรวดเร็วในจีน โดยในเดือนธันวาคม 2550 ธนาคารกสิกรไทย สาขาเซินเจิ้น ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกรรมเงินสกุลหยวน และได้บุกเบิกเส้นทางใหม่ด้วยตนเอง โดยนำเสนอบริการทางการเงินเพื่อ SME จีนเป็นใบเบิกทาง”

– ต่อมาปี 2556 ได้เปิดสาขาเฉิงตู และปี 2557 ตั้งสาขาย่อยหลงกั่ง เซินเจิ้น จากนั้นปี 2558 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อ “ธนาคารกสิกรไทย” เข้าซื้อกิจการ “บริษัท สตาร์ไบรท์ไฟแนนซ์ จำกัด” จดทะเบียนในเซี่ยงไฮ้

– เดือนกันยายน 2559 คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจธนาคารจีนอนุมัติให้เปลี่ยนโครงสร้างของ บจก. สตาร์ไบรท์ไฟแนนซ์ เพื่อยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนในชื่อ “บริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด” จดทะเบียนในเซินเจิ้น

– ปี 2560 ธนาคารกสิกรไทย ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (CBRC) ให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน (LII) เต็มรูปแบบ ในชื่อ “ไคไท่หยินหาง (จงกั๋ว)” หรือ “บริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด” มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง และสาขาอีก 6 แห่ง จะมาอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานใหญ่ทั้งหมด พร้อมด้วยสาขาเซี่ยงไฮ้ที่ตั้งขึ้นใหม่

ทำไมเลือก “เซินเจิ้น” เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ?!

เหตุผลสำคัญที่ “ธนาคารกสิกรไทย” เลือก “เซินเจิ้น” ซึ่งเป็นเมืองหลักในมณฑลกวางตุ้ง เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในจีน มาจากปัจจัย…

เป็นศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจใหม่ (กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า) หรือ Greater Bay Area ภายใต้กรอบข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง มาเก๊า และความร่วมมือเชิงลึก (The Framework Agreement on Deepening Guangdong-Hong Kong-Macao Cooperation in Development of the Bay Area) โดยคาดว่าภายในปี 2573 จีดีพีของเขต Greater Bay Area จะเท่ากับ 4.62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะก้าวขึ้นเป็นภูมิภาคอ่าวที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

เป็นเมืองที่มีภาคการผลิตขนาดใหญ่ มีมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรม 719,000 ล้านหยวน และทุกวันนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทสัญชาติจีน ที่เติบโตในตลาดโลกมากมาย เข่น Tencent, ZTE, Huawei และขณะนี้บริษัท Apple กำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมตั้งศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาที่เซินเจิ้น รวมทั้งที่นี่ยังเป็นสถานที่ตั้งของ FinTech Startup จำนวนมาก โดยหลายแบรนด์เทคโนโลยีระดับโลกของจีน ก็มีจุดเริ่มต้นที่เซินเจิ้น

นี่จึงทำให้ “เมืองเซินเจิ้น” ถูกขนานนามว่า “Silicon Valley of Asia” เป็นศูนย์รวมของบริษัท Tech Startup และบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมการเงินในภูมิภาคเอเชีย

มณฑลกวางตุ้ง มีความเชื่อมโยงต่อไทย ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน เห็นได้จากในปีที่ผ่านมา กว่าหนึ่งในสามของยอดการค้าไทย-จีน เป็นการค้าระหว่างไทยและมณฑลกวางตุ้ง ส่วนในแง่การลงทุน มณฑลกวางตุ้งมีจำนวนโครงการที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับแรก

“ผมเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นความลงตัว เปรียบดั่งสุภาษิตจีนที่ว่า “tiān shí dì lì rén hé” หรือ “ฟ้าดิน คน และเวลาเป็นใจ” ประกอบกับความตั้งใจแน่วแน่ และการยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จะทำให้ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจจีนของธนาคาร สามารถบรรลุเป้าหมาย และประสบความสำเร็จ” คุณบัณฑูร กล่าวเสริม

“Connectivity + Technology” ต่อจิ๊กซอว์ “ดิจิทัลแบงก์ในภูมิภาค AEC+3”

เป้าหมายใหญ่ของ “ธนาคารกสิกรไทย” ต้องการเป็น “ธนาคารดิจิทัลแห่งภูมิภาค AEC+3” (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) เพราะฉะนั้นกลยุทธ์สำคัญที่จะขับเคลื่อน “ธนาคารกสิกรไทย” ให้ไปถึงจุดนั้นได้ มาจาก 2 กลยุทธ์หลัก คือ

1. Connectivity เป็นตัวกลางเชื่อมการค้า-การลงทุนระหว่าง “จีน – ไทย” และ “ไทย – จีน” ซึ่งภาพรวมการค้าไทย-จีน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทั้งปี 2559 อยู่ที่ 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนเม็ดเงินการค้าดังกล่าว กว่า 25% เกิดขึ้นในมณฑลกวางตุ้ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 14,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560)

ขณะเดียวกันต่อยอดไปยังกลุ่มประเทศ AEC สอดคล้องกับนโยบาย One Belt, One Road หรือเส้นทางสายไหมของรัฐบาลจีน ที่ต้องการเชื่อมโยงจีน กับทวีปยุโรป เอเชีย เอเมริกาเหนือ และแอฟริกาเข้าไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราต้องการเป็นสะพานเชื่อมต่อของธุรกิจระหว่างนักลงทุนจีนไปไทย และไป AEC รวมทั้งนักลงทุนไทย ไปจีน และ AEC

2. Technology ด้วยความที่จีน เป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมหาศาล เพราะฉะนั้นการลงทุนด้วยโมเดลธนาคารแบบในอดีต ที่เน้นขยายสาขาตามโลเกชั่นต่างๆ ของเมือง จึงเป็นไปได้ยาก ทั้งยังเป็นต้นทุนมหาศาล และทำให้การขยายธุรกิจเป็นไปได้ช้า

ดังนั้นในยุคดิจิทัล การผลักดันธุรกิจธนาคารก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก พฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ “เทคโนโลยี” เป็นตัวนำ ซึ่งการเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน “กสิกรไทย” จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง โดยไม่จำเป็นต้องใช้โมเดลขยายสาขาจำนวนมากๆ

“ธนาคารกสิกรไทย จะเป็นตัวเชื่อมการค้าขายการลงทุนระหว่างประเทศ AEC +3 นอกจากนี้การที่เราได้เป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน จะช่วยยกระดับความสามารถและความแข็งแกร่งของธนาคารกสิกรไทยในภูมิภาคนี้ เนื่องจากจีนเป็นแหล่งความรู้ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันในหลายเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าในประเทศแถบตะวันตก

ต่อไปคนจะค้าขายรวดเร็วขึ้นบน Cyber Space คนจะไม่เดินเข้าร้านที่เป็นตึก ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือห้างสรรพสินค้า และคนจะชำระเงินทันที โดยไม่ต้องใช้เงินสด นี่คือความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เราต้องนำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมของลูกค้าบนโลกดิจิทัล” คุณบัณฑูร ขยายความเพิ่มเติม

คุณวงศ์พัฒน์ พันธุ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (จีน) เสริมว่า ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย ไม่ได้มองเพียงตลาดไทย แต่ต้องการตอบโจทย์ครอบคลุมทั้ง AEC ซึ่งมีประชากรรวมกัน 800 ล้านคน บวกกับจีน มีประชากร 1,300 – 1,400 ล้านคน รวมกันแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อย่างไรก็ตามด้วยความที่จีนเป็นประเทศใหญ่มาก เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะตั้งสาขาทั่วจีน เป็นต้นทุนมหาศาล ดังนั้น “เทคโนโลยี” จึงเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ และคนจีนใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อตอบโจทย์การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ

ขณะนี้คนจีนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 95% ของประชากรจีนทั้งประเทศ และคนจีนใช้ WeChat ไม่ต่ำกว่า 900 ล้านคน ขณะที่ประชากรไทยทั้งประเทศมี 67 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าคนจีนใช้ Mobile Payment ในการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

“Key Factor อีกประการหนึ่ง คือ หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ประเทศจีนเติบโตตลอด และมีคนส่วนหนึ่งที่เป็น Middle Income ซึ่งมีอำนาจในการใช้จ่ายมากขึ้น จะเพิ่มขึ้นจาก 300 -400 ล้านคน เป็น 700 ล้านคนตามที่รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายไว้ เพราะฉะนั้นคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยมี Purchasing Power ทำให้เกิดการจับจ่ายมากขึ้น และการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ในจีน ใช้จ่ายผ่านสมาร์ทโฟนเท่านั้น”

เล็งขยายจากลูกค้าองค์กร สู่ลูกค้าบุคคล เจาะนักท่องเที่ยวไทย-จีน

ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยในจีน ให้บริการเฉพาะลูกค้าองค์กรก่อน โดยโฟกัสเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมแปรรูป ยาง Infrastructure

หลังจากนั้นในสเต็ปต่อไปเตรียมขยายไปยังกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SME และลูกค้าบุคคล โดยต้องทำการขอ Retail License เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีนับจากนี้ จะสามารถให้บริการลูกค้ารายย่อยได้ เมื่อถึงเวลานั้น ธนาคารกสิกรไทยในจีน จะครอบคลุมการให้บริการตั้งแต่ Wholesale ถึง Retail

ในส่วนธุรกิจ Retail หรือกลุ่มลูกค้าบุคคล ด้วยความที่เมื่ออยู่ในตลาดจีน “ธนาคารกสิกรไทย” ไม่ได้เป็นธนาคารขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับธนาคารท้องถิ่นของจีน ที่สามารถเจาะทุกกลุ่มในวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้เอง กลยุทธ์การสร้างฐานลูกค้ารายย่อยในจีนของธนาคารกสิกรไทย จึงต้อง “โฟกัส” กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดให้ชัดเจน โดยเล็งไปที่กลุ่ม Expat และนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงคนไทย มาเที่ยวจีนด้วยเช่นกัน

โดยบริการแรก คือ Payment Service ซึ่งเวลานี้กสิกรไทย จับมือกับพันธมิตรธุรกิจในจีนอย่าง Alipay และ WeChat Pay แล้ว เพื่อให้บริการธุรกรรมทางการเงินในไทย และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรธุรกิจรายอื่นๆ มากขึ้น

“คนจีนกลุ่ม Middle Income เติบโตขึ้นมาก และไลฟ์สไตล์การเดินทางมาท่องเที่ยวไทยของผู้บริโภคกลุ่มนี้ แตกต่างจากในอดีตที่มากันเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ เดินทางมาเที่ยวเอง และเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ถ้าเขาเห็นร้านค้าไหนในไทยมีจุดรับ QR Code เขารู้สึกคุ้นเคย และสบายใจในการใช้จ่าย

ถ้าเรามีฐานลูกค้า Retail ในจีนที่เข้มแข็ง จะทำให้เราสามารถสร้างฐานธุรกิจกสิกรไทยในจีนให้เข้มแข็งขึ้นในกลุ่มลูกค้า Middle Income จากปัจจุบันเรามีฐานลูกค้ารายใหญ่ และต่อไปเมื่อเราขยายเข้าสู่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง (SME) และลูกค้ารายย่อย จะทำให้ธนาคารกสิกรไทยในจีน มีบริการครบวงจร และทำให้เราสามารถทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนได้เช่นกัน” คุณวงศ์พัฒน์ ขยายความเพิ่มเติม

การยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน สำหรับ “ธนาคารกสิกรไทย” ถือว่าเข้ามาถูกจังหวะและเวลา เพราะอยู่ในช่วงเวลาที่มังกรจีน กำลังพุ่งทะยานขึ้นฟ้า และในยุคดิจิทัล ได้ทลายพรมแดนระหว่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลไปกับการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศเฉกเช่นโมเดลธุรกิจธนาคารแบบเดิมๆ หากแต่สามารถนำเงินทุนมาพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเชื่อมต่อลูกค้าระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ถ้าเทคโนโลยีใดที่พัฒนาขึ้นในจีน หรือแม้แต่การจับมือกับพาร์ทเนอร์ในจีน เมื่อกสิกรไทยนำไปใช้กับตลาดจีน แล้วได้ผลออกมาดี ก็มีความเป็นไปเทคโนโลยีนั้นจะเป็น Best Practice ที่ “กสิกรไทย” นำมาปรับใช้กับการทำดิจิทัล แบงก์กิ้งในไทยได้ 

เพื่อในที่สุดแล้ว จะผลักดันให้ “ธนาคารกสิกรไทย” ก้าวข้ามจากการเป็นธนาคารไทย ไปสู่การเป็น “Regional Digital Bank” แห่งภูมิภาค AEC และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้อย่างเต็มรูปแบบ

 

 


แชร์ :

You may also like