HomeBrand Move !!ถอดยุทธศาสตร์ “เซินเจิ้น” พลิกโฉมจากเมืองของก๊อป ยกระดับสู่ “Silicon Valley of Asia”

ถอดยุทธศาสตร์ “เซินเจิ้น” พลิกโฉมจากเมืองของก๊อป ยกระดับสู่ “Silicon Valley of Asia”

แชร์ :

เมื่อเอ่ยชื่อ “เซินเจิ้น” (Shenzhen) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จะนึกถึงเมืองแห่งของก๊อป หรือของลอกเลียนแบบ ตั้งแต่กระเป๋า นาฬิกา ปากกา เสื้อผ้า ไปจนถึงสินค้าเทคโนโลยี ถึงกับมีการพูดกันว่าสินค้าอะไรก็ตามในโลกที่กำลังฮิตอยู่ หากมาเซินเจิ้นก็จะเจอสินค้านั้นแบบเดียวกันเป๊ะ ที่เป็นงานระดับ Mirror ไปจนถึงลอกดีไซน์ แต่ดัดแปลงตัวอักษรแบรนด์ หรือเปลี่ยนชื่อแบรนด์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เหตุที่ทำให้ “เซินเจิ้น” ถูกมองว่าเป็นเมืองแห่งของก๊อปปี้ เพราะเป็นเมืองที่มีโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ มากมาย ประกอบกับโลเกชั่นเมืองติดกับเกาะฮ่องกง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางข้ามจากฮ่องกง มาเซินเจิ้นได้ง่ายและสะดวกด้วยทางรถไฟ โดยกิจกรรมยอดนิยมที่บรรดาทัวร์จัดให้ลูกทัวร์เมื่อมาถึงเซินเจิ้น คือ ช้อปปิ้งที่ “Luohu Commercial City” หรือ “ห้างสรรพสินค้าหลอฮู” เป็นห้างฯ แรกๆ ของเซินเจิ้น

ภายในประกอบด้วยร้านค้าเช่ารายเล็กๆ จำนวนมาก ที่ขายของใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประทับ รองเท้า รวมถึงสินค้าหัตถกรรม ของที่ระลึก และสินค้าเทคโนโลยี โดยมีทั้งสินค้าลอกเลียนแบบแบรนด์ดังระดับโลก ดีกรีความเหมือนแบรนด์จริงมีให้เลือกหลายระดับ ตั้งแต่งาน Mirror ไปจนถึงลอกดีไซน์ แต่ดัดแปลงตัวอักษรแบรนด์ หรือเปลี่ยนชื่อแบรนด์ และสินค้าท้องถิ่นทั่วไป

นี่จึงทำให้ในสายตาของคนทั่วไป และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มอง “เซินเจิ้น” เป็นเมืองแห่งของก๊อปปี้ !!

แต่ในความเป็นจริงแล้ว… ยุทธศาสตร์ของเมือง “เซินเจิ้น” ไม่ได้ถูกวางให้เป็นมหานครของก๊อปเช่นนั้น เพราะในยุค “เติ้งเสี่ยวผิง” ที่ปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศจีนด้วยนโยบายเปิดประเทศ ได้จัดตั้ง “เมืองเซินเจิ้น” ที่ในอดีตเป็นหมู่บ้านชาวประมง สภาพความเป็นอยู่ยากจน ให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน” ตั้งแต่ปี 2523 โดยให้สิทธิประโยชน์การลงทุนด้านต่างๆ เช่น ด้านภาษี, ค่าแรงในจีน เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาสร้างฐานการผลิตที่นี่

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com ฉายภาพ Roadmap การพัฒนาเมืองเซินเจิ้น หลังจากก่อตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งเป็น 4 เฟสใหญ่ คือ

ปี 2523 – 2528 สร้างเมืองเซินเจิ้นให้เป็นเขตการแปรรูปเพื่อการส่งออกของจีน ซึ่งส่วนใหญ่นักลงทุนในช่วงแรก จะเป็นนักลงทุนจากประเทศฮ่องกง ไต้หวัน และจากแถบประเทศเอเชีย

ปี 2528 – 2530 เริ่มพัฒนาจากการพัฒนาช่วงที่ 1 ที่เน้นบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเข้ามาที่เมืองเซินเจิ้นจำนวนมาก และพัฒนาจากอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการแปรรูป มาสู่อุตสาหกรรมบริการ และการออกแบบมากขึ้น

ปี 2530 – 2535 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเซินเจิ้นมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพื้นที่

ปี 2535 – ปัจจุบัน การพัฒนาเซินเจิ้นจากเมืองเศรษฐกิจแบบธรรมดา สู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทางภาคใต้ของประเทศจีน ที่มีความโดดเด่นทางด้านอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยในปี 2550 อุตสาหกรรมโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นสัดส่วนทั้งหมดประมาณ 50% ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในเมืองเซินเจิ้น

จากในยุค “เติ้งเสี่ยวผิง” จนมาถึงยุค “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” มลฑลกวางตุ้ง และเมืองเซินเจิ้น ยังคงเป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของจีน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ และดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมายังจีน

ผลักดัน “Made in China” เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่าปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และยังเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นผลมาจากขนาดเศรษฐกิจของจีนที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกว่า 6.8% ในไตรมาส 3 ของปี 2560 และคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนทั้งปี จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 6.7%

ขณะนี้จีนอยู่ในช่วงการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้จีนกลายเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมและการเงินของโลก”

ภายใต้แผนดังกล่าว ได้มีการดำเนินนโยบาย “Made in China 2025” ซึ่งจะกระตุ้นให้จีนสามารถขยายขีดความสามารถด้าน “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับผลผลิตต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เพื่อผลักดันแบรนด์ “Made in China” ให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

การขับเคลื่อนแบรนด์ “Made in China” ด้วยการให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” จะสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต และแบรนด์สินค้าของจีน เช่น สินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมไอที, Hi-Technology และ กลุ่ม FinTech ถึงแม้ปัจจุบันจีนจะมีบริษัท FinTech ยูนิคอร์น (กิจการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพียง 8 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่มียูนิคอร์น 12 แห่ง แต่มูลค่าบริษัท FinTech ยูนิคอร์นของจีนขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 96.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เวลานี้บริษัท FinTech ยูนิคอร์นของจีน มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

เจาะลึก “เซินเจิ้น” ยกระดับเป็น “Silicon Valley of Asia”

ที่ผ่านมา เราจะคุ้นเคยกับ “Silicon Valley” เป็นชื่อเรียกการเป็นแหล่งรวมสำนักงานใหญ่บริษัทไอทีและเทคโนโลยีระดับโลกมากมาย เช่น Google, Facebook, Apple ตั้งอยู่ในย่านเบย์ แอเรีย ซานฟานซิสโก สหรัฐฯ พื้นที่สำคัญที่ถือเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลให้กับสหรัฐ และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ผลักดันการพัฒนาของประเทศ เวลานี้ “รัฐบาลจีน” กำลังมุ่งผลักดัน “เซินเจิ้น” เมืองที่มีขนาด 3,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรกว่า 11 ล้านคน ให้เป็น “Silicon Valley of Asia” หรือ “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” เหตุผลที่จีนเลือก “เซินเจิ้น” ให้เป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย ปัจจัยหลักๆ ดังนี้

– ในบรรดาเมืองใหญ่ 9 แห่งบริเวณเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ประกอบด้วย นครกว่างโจว, เมืองเซินเจิ้น, เมืองฝอซาน, เมืองจูไห่, เมืองตงกว่าน, เมืองจงซาน, เมืองเจียงเหมิน, บางส่วนของเมืองจ้าวชิ่ง และบางส่วนของเมืองหุ้ยโจว (ข้อมูลรายชื่อ 9 เมืองจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com) พบว่า “เซินเจิ้น”ป็นเมืองที่มีภาคการผลิตใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมถึง 719,000 ล้านหยวน อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ และด้านธุรกิจการเงิน

ภูมิศาสตร์ของเมืองเซินเจิ้น มีความสะดวกในการสร้างระบบคมนาคมครบวงจร ทั้งทางอากาศ ถนน และทางน้ำ จึงทำให้เซินเจิ้น เป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของจีน โดยมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ในจีน และเป็นอันดับ 2 ของมณฑลกวางตุ้ง รองจากเมืองกวางโจว

เซินเจิ้น เป็นศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจใหม่ (กวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า) หรือ Greater Bay Area ภายใต้กรอบข้อตกลงเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า โดยภายใต้ปี 2563 ผลิตผลิตทางเศรษบกิจโดยรวมจากเขต Greater Bay Area จะมีขนาดใกล้เคียงกับเขตอ่าวโตเกียว และคาดว่าภายในปี 2573 GDP ของเขต Greater Bay Area จะเท่ากับ 4.62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะก้าวขึ้นเป็นภูมิภาคอ่าวที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

รัฐบาลจีนยุค “สี จิ้นผิง” ประกาศนโยบาย “One Belt, One Road” หรือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อเชื่อมต่อการค้าการลงทุน และด้านการเงินระหว่างอาเซียน เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เพื่อพัฒนาประเทศจีน และเซินเจิ้น เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของนโยบาย One Belt, One Road

ปัจจุบัน “เซินเจิ้น” เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทข้ามชาติสัญชาติจีน ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น Huawei, Tencent, DJI, ZTE, BYD, Ping An Bank, China Merchants Bank, Vanke & Hytera อีกทั้งขณะนี้บริษัท Apple กำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการตั้งศูนย์กลางด้านการวิจัย และพัฒนาที่เซินเจิ้นด้วยเช่นกัน

ในบรรดาบริษัทสัญชาติจีนเหล่านี้ บางรายติดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 500 อันดับ หรือ Fortune 500 และบริษัทที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เช่น “Huawei” ที่ปัจจุบันติด 3 อันดับแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มียอดขายจำนวนเครื่องสูงที่สุดในโลก, “DJI” ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 70% ของตลาดโดรนทั่วโลก

เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินใหญ่ของโลก โดยดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก (GFCI) จัดทำโดยบริษัทวิจัย Z/Yen Group ของอังกฤษ ระบุว่าปัจจุบัน “เซินเจิ้น” เป็นศูนย์กลางการเงินอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น และเขตการค้าเสรีเฉียนไห่ เป็นหนึ่งในเขตการค้าเสรีในยุคแรกที่ดำเนินนโยบายการใช้ “นวัตกรรม” ที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจท้องถิ่น เช่น การจัดตั้ง Xinsiban เพื่อให้บริการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีโรงเรียนธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะด้านการเงินชั้นสูงได้อย่างต่อเนื่อง

กรณีศึกษา “Huawei – DJI” สองแบรนด์จีน ประกาศให้โลกรู้ว่าจีนมีนวัตกรรมของตัวเอง

ในอดีต เมื่อพูดถึงแบรนด์จีน ใครได้ฟัง คงส่ายหน้าหนี เพราะไม่มั่นใจในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และการดีไซน์ แต่ใครจะคิดว่าจีนใช้เวลาในช่วงกว่า 30 ปีมานี้ สามารถยกระดับ “แบรนด์จีน” เทียบชั้น “แบรนด์โลก” ที่มาจากฝั่งอเมริกา หรือแม้แต่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ตัวอย่างกรณีศึกษาของแบรนด์จีนที่โกอินเตอร์ในตลาดโลก กระทั่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด และสามารถปลุกปั้นแบรนด์ จนกลายเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก สะท้อนได้จากส่วนแบ่งการตลาด และยอดขายติดอันดับต้นๆ ของโลก คงต้องยกให้กับ “Huawei” และ “DJI” ที่เป็นบริษัทมาแรงแห่งยุค และเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมืองเซินเจิ้น

เมื่อเอ่ยชื่อ “Huawei” อันที่จริงแล้วชื่อนี้ โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากว่า 30 ปีแล้ว โดยเริ่มจาก Network Business ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีเสาสัญญาณของผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งในจีน และไทย ก่อนจะขยายเข้าสู่ Consumer Business หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของ “สมาร์ทโฟน Huawei” เมื่อช่วง 10 ปีมานี้ ในขณะที่ประเทศไทย “Huawei” เข้ามาบุกตลาดสมาร์ทโฟนในไทยได้เพียง 5 – 6 ปีนี้เอง

แม้เพิ่งทำตลาดสมาร์ทโฟน ทั้งในตลาดโลก และในไทยได้ไม่นาน แต่ปัจจุบันยอดขายในเชิง Volume ผลปรากฏว่า “Huawei”  เป็นอันดับ 2 ของตลาดโลก แซงหน้า “Apple” ได้สำเร็จ (รายงานของบริษัทวิจัย Counterpoint) ในขณะที่รายงานจาก IDC ในไตรมาส 3/2017 “Huawei” ยังคงอยู่อันดับ 3 รองจาก Apple และ Samsung ทว่าความน่าสนใจของผลวิจัยชิ้นนี้ คือ ตัวเลขยอดขายเครื่อง และส่วนแบ่งการตลาดของ “Huawei” เบียดเข้าใกล้ “Apple” มากขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของ “Huawei” คือ R&D เพราะเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก…

– ในช่วง 10 ปีมานี้ ใช้งบลงทุนไปแล้วกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับ 5 ของบริษัทที่ใช้งบ R&D มากที่สุดของโลก
– มี R&D Center จำนวน 15 แห่ง กระจายตามเมืองสำคัญของโลก
– มี Innovation Center 36 แห่งทั่วโลก ที่ Huawei เข้าไปร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ
– มีพนักงาน R&D มากถึง 80,000 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 150,000 คน

ในปี 2016 “Huawei” ทำยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลก 140 ล้านเครื่อง ในขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2017 ทำยอดขายสมาร์ทโฟนไปแล้วกว่า 73 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้น 20.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และมีส่วนแบ่งการตลาด เพิ่มขึ้นจาก 9.3% เป็น 11.3% ในตลาดโลก

นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทที่สร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้าง Win-Win-Win ให้กับทั้ง Huawei, พันธมิตรธุรกิจ และผู้บริโภค ในการนำเสนอนวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ ในตลาดสมาร์ทโฟน

“DJI” หรือชื่อเต็มๆ ว่า “Da-Jiang Innovations Science and Technology” เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย “โดรน” (Drone) หรือชื่อภาษาไทยว่า “อากาศยานไร้คนขับ” ที่ครองอันดับ 1 ในตลาดโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70%

จุดเริ่มต้นของ “DJI” เกิดขึ้นจากชายหนุ่ม “Frank Wang” เป็นคนจีน เมืองหางโจว ผู้ที่ชื่นชอบเรื่องการบินมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาหาข้อมูลด้านการบิน และนำไปสู่การสร้าง “โดรน” ขึ้นเองเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาที่ Hong Kong University of Science & Technology (UST)

ในที่สุด Frank Wang ได้ก่อตั้งบริษัท “DJI” เมื่อปี 2006 ถึงวันนี้เป็นบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากช่วงแรกของการตั้งบริษัทมีพนักงานเพียง 20 ปี ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 10,000 คน พร้อมทั้งขยายสำนักงานไปตามเมืองหลักใน 6 ประเทศ 17 แห่ง ได้แก่ จีน 4 แห่ง โดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น / สหรัฐอเมริกา 5 แห่ง เช่น ซานฟรานซิสโก, ลอสแองเจลิส, นิวยอร์ก, วอชิงตัน ดีซี / เนเธอร์แลนด์ 2 แห่ง / เยอรมนี 2 แห่ง / เกาหลีใต้ 1 แห่ง / ญี่ปุ่น 2 แห่ง / ออสเตรเลีย 1 แห่ง นอกจากนี้ได้เปิด Flagship Store ในเมืองใหญ่ของโลก เช่น เซินเจิ้น, โซล เกาหลีใต้, ฮ่องกง, เซียงไฮ้

ขณะที่โปรดักต์ไลน์ของ “DJI” ได้พัฒนาโดรน และอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพทางอากาศครบวงจร ครอบคลุมทั้งสำหรับผู้บริโภคทั่วไป และเพื่อการพาณิชย์ในหลากหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นเล็กอย่าง Spark Series, Mavic Series, Phantom Series รวมทั้งมีรุ่นมืออาชีพ ใช้ในการทำงานสถานที่ต่างๆ เช่น รุ่น Inspire 2 Series สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ และโดรนสำหรับผู้ประกอบการ เช่น รุ่น Agras MG-1S เป็นโดรนนำไปใช้ในภาคการเกษตร

หากรัฐบาลจีน สามารถผลักดัน “เซินเจิ้น” เป็น Silicon Valley of Asia ได้สำเร็จ นั่นจะทำให้ทั้งภาพลักษณ์ประเทศ แบรนด์จีน และคำว่า Made in China เป็นที่ยอมรับด้านนวัตกรรม-เทคโนโลยี และคุณภาพมาตรฐานในเวทีโลก ซึ่งจะขับเคลื่อนทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับแบรนด์จีนให้มีมูลค่าเพิ่มได้อีกมหาศาล 

รถโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า ผลิตโดย “BYD” ผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่สัญชาติจีน

ภาพบรรยากาศเมืองเซินเจิ้นในวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปมากจากในอดีต เพราะเต็มไปด้วยอาคารสมัยใหม่ มีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม และมีแบรนด์ระดับโลกจำนวนมาก เข้ามาลงทุนเปิดสาขาในเมืองแห่งนี้ สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจของเมือง และความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนที่อาศัยในเมืองนี้ ให้กลายเป็น Urban Lifestyle เช่นเดียวกับมหานครใหญ่ของโลกหลายแห่ง อย่างไรก็ตามท่ามกลางการเกิดขึ้นของอาคารสมัยใหม่ ในเมืองเซินเจิ้นยังคงมีอาคารดั้งเดิมที่สร้างมานาน เป็นทั้งที่พักอาศัย และร้านค้าต่างๆ มากมาย ผสมผสานเข้ากันได้อย่างลงตัว


แชร์ :

You may also like