ความตั้งใจในการเป็น “สายการบินที่ดีที่สุดในเอเซีย” ไม่ใช่หนทางที่จะถึงเป้าหมายได้ง่ายดาย เพราะคำว่า ดีที่สุดของ “บางกอกแอร์เวย์ส” ไม่ใช่โฟกัสเพียงแค่ผลกำไรของบริษัทเท่านั้น แต่ต้องเป็นการสร้างสังคมที่ยั่งยืนรอบด้าน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทุนมนุษย์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกภาคส่วน ตามหลักแนวคิด “ไตรกำไรสุทธิ” (Triple Bottom Line)
“ไตรกำไรสุทธิ” หรือ Triple Bottom Line เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนา โดย John Elkington นักเขียนและที่ปรึกษาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เขาถ่ายทอดไอเดียผ่านหนังสือเรื่อง Cannibal With Forks โดยมองว่า ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่สนใจเพียงผลกำไรของบริษัท ไม่เพียงพอสำหรับสังคมโลกยุคใหม่ แต่การให้ความสำคัญกับ 3 P อย่างสมดุล ไม่ว่าจะเป็น P-Profit (กำไร), P-People (ทุนมนุษย์) และ P-Planet (โลก) ต่างหากจะทำให้องค์กรก้าวเดินถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้
บางกอกแอร์เวย์ส ดึงเอาแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในองค์กร ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากชุมชนรอบสนามบิน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ จึงได้กำหนดประเด็นการทำงานด้านสังคมไว้อย่างชัดเจนว่า “มุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนรอบสนามบินและเส้นทางที่ PG ทำการบิน” แล้วดำเนินการ 2 โครงการหลัก แบ่งเป็น
1. โครงการด้านชุมชน ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาศักยภาพของเยาวชน การพัฒนาผู้นำชุมชน และการสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจชุมชน
2. โครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายอย่างจริงและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการหลัก 2 โครงการจะมีโครงการย่อยที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง ได้แก่ โครงการสานพลังชุมชน เพื่อพ่ออย่างพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของภาครัฐเพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาศักยภาพและขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โครงการค่ายเยาวชนต้นแบบ (Blue Volunteers) คัดเลือกเยาวชนอายุ 15-20 ปี ในพื้นที่รอบสนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย จำนวน 60 คน ที่มีประสบการณ์หรือความสนใจในด้านการทำงานจิตอาสา มีภาวะผู้นำ และมีใจเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ พร้อมพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเองมาร่วมทำกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อสังคมและชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ โครงการ English Club with Bangkok Airways สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ผ่านกิจกรรมทายคำศัพท์ ใบ้คำศัพท์ เกมส์จับคู่คำศัพท์อย่างง่ายๆ และสนุก โดยงานนี้เซอร์ไพร์สสุดๆ เพราะบางกอกแอร์เวย์สได้ส่ง ญาญ่า– อุรัสยา เสปอร์บันด์ พรีเซนเตอร์ของแบรนด์ไปรับบทคุณครูสอนภาษาอังกฤษเล่านิทานให้น้องๆ ที่ร่วมโครงการด้วยตัวเองเลยทีเดียว
โครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) ซึ่งบางกอกแอร์เวย์ส ที่สมุย ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินท์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โครงการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า (United for Wildlife) ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวและเดินทางที่บางกอกแอร์เวย์สเป็นส่วนหนึ่ง การรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน น่าค้นหา และยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวน่าศึกษา ก็เป็นพันธกิจหนึ่งที่สายการบินให้ความสำคัญ ปิดท้ายด้วย โครงการให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาของชุมชนทั้งด้านสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม
หลายๆ โครงการได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่โครงการเหล่านี้จะยั่งยืนก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันของผู้บริหารและพนักงานทุกคนของบางกอกแอร์เวย์ส กับชุมชนโดยรอบสนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย เพราะความเป็นเลิศและเป้าหมายของบางกอกแอร์เวย์สจะเป็นจริงได้ ก็ต้องอาศัยพลังสังคมและสิ่งแวดล้อมของเพื่อนบ้านที่อยู่รอบสนามบินนี่แหละ เป็นตัวขับเคลื่อน…ผลกำไรทั้งที่เป็นตัวเลขทางบัญชี กับผลกำไรที่มองไม่เห็นแต่สร้างความสุข 2 เรื่องนี่ จับมือมาด้วยกันอย่างแยกไม่ออก