สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดกิจกรรม “Healthy Women, Healthy Families, Healthy Economies” ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท เมอร์ค จำกัด สาขาประเทศไทย เนื่องในวันเบาหวานโลก โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมเดิน – วิ่ง ระยะทาง 4 กิโลเมตรพร้อมการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานโดยเฉพาะในผู้หญิง พร้อมตรวจสุขภาพฟรีเพื่อคัดกรองความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย นำไปบริจาคให้แก่น้องๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในความดูแลของ “สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ” ต่อไป ทั้งนี้จากสถิติเผยว่า ในปัจจุบัน ผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้น ควรเน้นย้ำความสำคัญของการดูแลสุขภาพและโภชนาการของด้วยตนเอง รวมถึงคนใกล้ชิดและครอบครัว ให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง เพื่อเพิ่มความรู้โอกาสการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขมากขึ้น
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า “ปัจจุบันอัตราผู้หญิงเป็นเบาหวานมีมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก หรือเป็นโรคอ้วนนอกจากนี้ผู้หญิงยังมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ชายเนื่องจากปัจจัยทางด้านสรีระร่างกายและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หากมีการดูแลตัวเองไม่ดีพอ หรือบางกรณีอาจจะเป็นต่อเนื่องหลังจากคลอดบุตร หรือในบางรายมีโอกาสกลับมาเป็นอีกในระยะ 5 – 10 ปี ซึ่งช่วง 24 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ นับเป็นระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานสูง เพราะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาของรกเต็มที่ มีการฮอร์โมนผลิตสูง จึงอาจพบเป็นภาวะดื้ออินซูลินได้ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เสี่ยงต่อเบาหวาน ได้แก่ กรรมพันธุ์ น้ำหนักเกิน หรือเคยมีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ แท้งโดยหาสาเหตุไม่พบ จึงควรตรวจสอบความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ ขณะที่ผู้หญิงยังมีโอกาสเกิดโรคถุงน้ำจำนวนมากที่รังไข่ ที่จะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ ซึ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่แตกต่างจากผู้ชาย”
พญ.วรรณี ยังชี้แจงต่อไปว่า “โรคเบาหวาน หัวใจ และสมอง มีสาเหตุ 80% มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และ 20% มาจากพันธุกรรม ดังนั้น จึงสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเองในเรื่องการกินอาหาร การดำเนินชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความเครียด การดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี ควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายหรือตรวจคัดกรองเบาหวาน โดยเฉพาะเมื่ออายุ 35 ปี และระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะอ้วน อันเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงสุขภาพไม่ดี ซึ่งมีวิธีการเช็คสุขภาพของตัวเองอย่างง่ายๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง ดั้งนี้ 1.ชั่งน้ำหนัก วัด BMI 2.วัดรอบพุงและความสูงซึ่งรอบพุงต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของความสูงตนเอง จึงถือว่าปกติ และ 3.วัดความดัน เหล่านี้ล้วนเป็นดัชนีสุขภาพของเรา
ผู้คนทั่วไปมักอาจมีโอกาสเป็นเบาหวานแต่มักไม่รู้ตัวเนื่องจากระยะแรกนั้นอาจไม่พบอาการแสดงออกของโรค จนกว่าจะตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 200 มก./ดล. แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 125 มก./ดล.ถือได้ว่าเป็นเบาหวานแล้ว เหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องตรวจคัดกรองเบาหวานซึ่งถ้าสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เพียงแค่การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา”
สำหรับประเทศไทยจะมีการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนต่อบุคคลที่เรียกว่า “ว่าที่เบาหวาน” หรือภาวะก่อนเบาหวาน และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเช่น พบว่าผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดเกินมาตรฐานจำนวน 30 คน จากผู้มาตรวจคัดกรอง จำนวน 100 คน แพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน ซึ่งหากบุคคลทั้ง 30 คนที่ตรวจพบนี้สามารถปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จะพบว่ามีเพียง 10-15 คนเท่านั้นที่ป่วยเป็นเบาหวาน ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยลดการเกิดเบาหวานจริงได้มากถึง 50% หรือสามารถยืดเวลาการเป็นเบาหวานออกไปได้อีก 5- 10 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาการเป็นเบาหวานขึ้นอยู่กับอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน (2557) เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ 3.3 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนคน และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาสูงมากขึ้น จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นวันเบาหวานโลกในปีนี้ จึงให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิง ในการดูแลและป้องกันเบาหวานให้กับตนเองและครอบครัว ในฐานะของแม่บ้าน ภรรยา และแม่ที่ดูแลความเป็นอยู่และโภชนาการของทุกคนในครอบครัว จึงถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเบาหวานไม่เพียงระดับครอบครัวเท่านั้น แต่ส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือหากจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่าย ที่จะต้องเสียในการดูแลรักษาก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องยา การวินิจฉัย ค่าเดินทางเพื่อรักษา ที่พัก ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือ และยังส่งผลถึงคุณภาพประชากรของประเทศ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่สังคมเกินความจำเป็น เราควรที่จะหันมาดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ในปริมาณที่สมดุลพอเหมาะ และควบคุมน้ำหนักของตนเอง เป็นต้น
โดย ปัญญา กิจเจริญการกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์ค จำกัด สาขาประเทศไทย เผยว่า “เมอร์ค ได้ให้ความสนับสนุน สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างภูมิต้านทานห่างไกลโรค โดยร่วมรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงและครอบครัวหันมาดูแลสุขภาพตนเอง ไปพร้อมๆ กับการมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนที่กำลังเผชิญโรคนี้ ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย ได้นำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือน้องๆ ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในความดูแลของ “สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ” ต่อไป