HomeFeaturedโออิชิฯ ท๊อปฟอร์มฟันกำไร 1.4 พันล้าน ลั่นต่อไป “เบอร์ 1” อาเซียน

โออิชิฯ ท๊อปฟอร์มฟันกำไร 1.4 พันล้าน ลั่นต่อไป “เบอร์ 1” อาเซียน

แชร์ :

ทีมผู้บริหารระดับสูงนำทัพโดย นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดหน่ายอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นชั้นนำของไทย ออกโรงประกาศความสำเร็จผลการดำเนินการและผลประกอบการปี 2560 พร้อมกับ ไฮไลท์กลยุทธ์ดำเนินธุรกิจในในปี 2561

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ตลาดซบ(เซา)แต่จบสวยๆ

สำหรับปี 2560  ทราบกันดีว่าสภาพโดยรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่สูงนัก ประกอบกับการบริโภคนอกบ้านยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อสภาพตลาดโดยรวม แต่โออิชิกรุ๊ป (Oishi Group) สามารถรักษายอดขายได้ในระดับทรงตัว และสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างดีเยี่ยมในปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ยอดขายในปี 2560 (1 ต.ค. 2559 – 30 ก.ย. 2560) มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 13,551 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 0.6% จากปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอาหาร 6,497 ล้านบาท เติบโตทรงตัวจากปีที่ผ่านมา  (-0.8%) ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มมีรายได้ 7,054 ล้านบาท เติบโตทรงตัวจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน (-0.4%)  แต่ในแง่กำไรสุทธิรวมเติบโตขึ้นทั้งสองธุรกิจ บริษัทได้ผลกำไรสุทธิรวม 1,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.5% จากปีก่อน แบ่งเป็น ผลกำไรสุทธิจากธุรกิจอาหาร 210 ล้านบาท เติบโต 76.5% เนื่องจากการปรับกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกและการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิ 1,233 ล้านบาท เติบโต 22.8%

สำหรับภารกิจในปีนี้ 2561  คือ การรักษาตำแหน่งผู้นำอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นและเติบโตอย่างยั่งยืน  อีกทั้งยังมุ่งหน้าต่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือ “เบอร์ 1 ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ของอาเซียน” ภายในปี 2020 ตามพันธกิจหลักของบริษัทแม่อย่าง “ไทยเบฟเวอเรจ” ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่ม Non-Alcohol ให้เป็น 50% ของพอร์ต


4 กลยุทธ์หลักไปสู่เป้าหมาย 

(1) Customer Centric (การเข้าถึงผู้บริโภค) มุ่งมั่นในการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่ผู้บริโภคต้องการ

(2) Innovation (นวัตกรรม) สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมการตลาดที่โดดเด่น แปลกใหม่ แตกต่าง และสร้างคุณค่าแก่ผู้บริโภค

(3) Digital Transformation (การใช้ดิจิตอลขับเคลื่อนธุรกิจ) โดยใช้เครื่องมือดิจิตอลต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ และเข้าถึงผู้บริโภค ได้หลากหลายยิ่งขึ้น

(4) Continue to Build & Support Brand (สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง) พัฒนาแบรนด์ให้ทรงพลัง และติดตรึงใจผู้บริโภค


 

ชาเชียวผงาดตลาดอาเซียน

ผลการดำเนินการปี 2017 ที่ผ่านมา โออิชิ กรีนที ครองส่วนแบ่งการตลาดชาเขียวพร้อมดื่มอยู่ที่ 46% ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างอิชิตันที่มีอยู่ 34% (Jan-Sep 2017 จาก Nielsen) หากแบ่งเป็นช่องทาง Traditional Trade ที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 42% ในปีที่ผ่านมาเป็น 53%  ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือ Synergy บริษัทในเครือไทยเบฟฯในการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภค  ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของ Modern Trade สัดส่วนอยู่ 40% เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปีก่อนหน้า ขณะที่ด้านแบรนด์ดิ้งประสบผลสำเร็จจากผลของ Brand Love ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์สำหรับฉัน  แบรนด์ญี่ปุ่น และ แบรนด์สำหรับวัยรุ่น

“แม้ว่าตลาดชาเขียวรวมจะเติบโตติดลบ 6%  แต่โออิชิยังสามารถเติบโตสวนกระแสได้ถึง 5%  ซึ่งเป็นผลมาจากการกระจายสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นด้วยพลังของบริษัทในเครือฯ และ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ชาเขียวเกียวโฮ  สินค้าน้องใหม่ที่เป็นนวัตกรรมชาเขียวเคี้ยวได้ กลายเป็นสินค้ายอดขายอันดับ 1 ไปเสียแล้ว  จนทำให้ตัวเลขทั้งหมดเติบโตดีไปพร้อมกับยอดขาย” เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจเครื่องดื่ม กล่าว

สำหรับแผนกลยุทธ์ในปี 2561 นางเจษฎากร อธิบายว่า ภารกิจหลักของปีนี้ คือ การรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดที่ช่วงกำลังติดลบ ด้วยการ Recruit คนใหม่ๆเข้ามาทดลองสินค้าผ่านนวัตกรรม และรวมไปถึงสินค้าเพื่อสุขภาพ  นอกจากนี้เริ่มโฟกัสไปที่การส่งออกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกปี 2014  เพียง 2% แต่ขยับไปถึง 12% ในปี 2017  และอัตราการเติบโตในประเทศกัมพูชาและลาวสูงถึง 45%  ซึ่งยังมีโอกาสอีกมหาศาลรออยู่

“ตลาดในกัมพูชา-ลาว เป็นตลาดที่ใหญ่  มีกำลังซื้อสูง และ รักในตราสินค้าของเราอยู่แล้วเนื่องจากเสพสื่อไทยอยู่ตลอด การเข้าไปทั้งสองตลาดไม่ใช่เพียงแค่ขาย Trading แนวตะเข็บชายแดน  แต่มีการเลือกกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับผู้บริโภคประเทศนั้นๆ เช่น กัมพูชา มีกำลังซื้อสูงใช้ไซส์ 500 ml  และรสชาติ Honey Lemon เข้าไป  ต่อด้วยขยายพอร์ตด้วยการสร้างรสชาติที่ 2 รสชาติ ซากุโระ (ทับทิม) ซึ่งเป็นผลไม้ยอดฮิตของชาวกัมพูชา รวมไปถึงใช้สื่อทีวี  ดิจิทัลในการเข้าถึง  ส่วนลาวเริ่มด้วยการสร้าง Brand Proposition ” ชีวิตโอจัง” พร้อมใช้รสชาติเกียวโฮ เข้าไปเป็นตัวนำร่อง ทำแคมเปญเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นเป็นหลัก และทำกิจกรรม Local Festival ต่างๆ เพื่อสร้าง Connection กับผู้บริโภค  ส่วนประเทศพม่าและเวียดนามกำลังศึกษาเพื่อบุกตลาด ”

 

เจาะพรีเมี่ยม เสริมกำลัง King of Japanese Food 

ไพศาล อ่าวสถาพร  รองกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจอาหาร (ร้านอาหาร) เริ่มด้วยการฉายภาพโอกาสและการเติบโตธุรกิจร้านอาหารว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย 4 แสนล้านบาท ขยายตัว 2-4% จากปีที่ก่อน โดย 30% หรือราว 1 แสนล้านบาทเป็นมูลค่าของร้านอาหารเชนทั้งหมดในประเทศไทย โดยโออิชิมีรายได้จากธุรกิจอาหาร 6,497 ล้านบาท (ลดลง 0.8%) แต่ผลกำไรสุทธิจากธุรกิจอาหาร 210 ล้านบาท เติบโต 76.5%

“สาเหตุของการทำกำไรได้เติบโตสวนตลาดนั้น เพราะว่ามีการบริหารต้นทุนหลักไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองค่าต้นทุนวัตถุดิบ ปรับสัดส่วนพนักงานพาร์ทไทม์หรือค่าล่วงเวลา  ลดกิจกรรมแคมเปญท่องเที่ยวประจำปี  และขอส่วนลดเค่าเช่าที่ เป็นต้น”

ส่วนเทรนด์อาหารใหม่ๆที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น 1. กระแสอาหารสุขภาพยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง 2. อาหารเดลิเวอรี่ จากการเติบโตของแพลตฟอร์มต่าง อย่าง Lineman Food Panda  และ 3. อาหารที่คุ้มค่าตามกำลังของตนเอง นอกจากนี้ทั้งหมดทั้งมวลผู้บริโภคจึงมี “ตัวเลือก” อาหารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งสตรีทฟู้ด  ร้านอาหาร และ เดลิเวอรี่มากมาย  ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าท้ายของโออิชิที่ต้องฟันฟ่าไป

สำหรับปี 2561 ภายใต้คอนเซ็ปต์ King of Japanese food เตรียมงบลงทุนรวมไว้ 600 ล้านบาท สำหรับการขยายสาขา อย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายทุกไลฟ์สไตล์ โดยเตรียมขยายสาขาใหม่ในประเทศ 20 สาขา และ 2 สาขาในต่างประเทศ  พร้อมเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารใหม่ เจาะกลุ่มพรีเมี่ยมที่มีกำลังซื้อสูง และ ใส่ใจเทรนด์สุขภาพ เพื่อให้มีสินค้าครอบคลุมทุกเซกเม้น โดยคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในไตรมาส 1 นี้ หลังจากที่เลื่อนมาจากปีก่อน  นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสร้างประสบการณ์อันดีกับผู้บริโภคอีก เช่น ชำระเงินผ่าน QR เพื่อให้เข้ากับเทรนด์ Cashless

“ร้านอาหารในเครือโออิชิ มีทุกเซกเม้นต์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม QSR , Casual Dining  ได้แก่ แบรนด์   Kakashi , Oishi Ramen, Nikuya , Oishi Buffet , Shabushi , Oishi Eaterium , Oishi Grand  และโอกาสใหม่ในกลุ่ม Fine-dining จับกลุ่มพรีเมี่ยม ซึ่งจะทำให้โออิชิกลายเป็น King of Japanese”

 

READY  SET   EAT   พร้อมทาน พร้อม(เติบ)โต 

สำหรับ Packed Food   หรือ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง-พร้อมทาน (RTE : Ready to Eat) มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน เพราะแยกการบริหารออกจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ที่ ไพศาล อ่าวสถาพร บริหารอยู่  พร้อมกับแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ กชกร อรรถรังสรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาหารฯ นั่งแท่นคุมหน่วยงานนี้เฉพาะและรายงานตรงกับ นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ซีอีโอ 

การเลือกแต่งตั้งผู้บริหารใหม่มาเสริมทัพครั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะที่ผ่านมาสินค้าในกลุ่ม RTE ยังไม่โดดเด่นตามเป้ามากนัก ขณะที่โอกาสของตลาด RTE  เติบโตมากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  ประกอบยังไม่ได้ใช้กำลังการผลิตของครัวกลางอย่างเต็มศักยภาพ  กชกร อรรถรังสรรค์ และทีมงาน ซึ่งมีประสบการณ์จากพิซซ่า ฮัท และเชี่ยวชาญงานการผลิตและโรงงานสินค้าประเภท RTE  โดยตรง จึงถูกมอบหมายให้รับภารกิจดันสินค้ากลุ่มนี้ให้เติบโตตามเป้าหมาย แม้ว่าจะมีผู้เล่นใหญ่อย่าง CP คุมตลาดอยู่แล้วก็ตาม

กชกร อธิบายทิศทางการดำเนินงานสินค้ากลุ่มนี้ว่า ” อัตราการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นทุกปีๆละ 10% ซึ่งคาดว่าปี 2020 มูลค่ารวมของตลาดจะสูงถึง 4,000 ล้านบาท  ขณะที่ในแง่ปริมาณจะอยู่ที่ราว 60,000  ตัน จากปัจจุบันอยู่ที่  50,000 ตัน  โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  ขนาดครอบครัวที่เล็กลง เป็นต้น  ประกอบกับปริมาณการบริโภคสินค้า RTE ในไทยยังอยู่ที่ 700-800 กรัมต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับออสเตรเลียที่มีปริมาณการบริโภคที่ 3 กิโลกรัม จึงยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ”

สำหรับแนวทางการพัฒนาสินค้าในปีนี้ยังคง เดินตามความต้องการของผู้บริโภคใน 3 กลุ่ม คือ 1. อาหารทานเล่น (Snack, Appetier) เช่น เกี๊ยวซ่า  2. อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน (แค่เข้าไมโครเวฟ) เช่น  โซบะ  ยากิโซบะ . 3. แซนด์วิช  ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ตรงการความเรียบง่าย ใช้ชีวิตรวดเร็ว แต่ยังได้คุณภาพชีวิต


Top 5 สินค้าขายดียอดนิยม อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน “โออิชิ” ปี 2560

1. โออิชิ เกี๊ยวซ่า (OISHI Gyoza)

2. โออิชิ แซนวิช (OISHI Sandwich)

3. โออิชิ คานิ (OISHI Kani)

4. โออิชิ เทรนดี้ ราเมน (OISHI Trendy “RAMEN”)

5. RTC: Ready to Cook ได้แก่ ปลาซาบะเทอริยากิ


นอกจากนี้ในแผนหลักๆของปี 2018  คือ การเปิดตัวสินค้าใหม่ที่เป็นกลุ่มพรีเมี่ยม กลุ่มนวัตกรรม และ กลุ่มตามโอกาสพิเศษ   รวมไปถึงเรื่องกระจายสินค้า ด้วยการเร่งเจาะกลุ่มผู้ค้าที่สามารถกระจายเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เช่น ร้านอาหาร และ ซุปเปอร์มาร์เก็ต – ไฮเปอร์มาร์เก็ต สุดท้าย คือ โฟกัสการส่งออกมากขึ้น ทั้งในยุโรปและกลุ่มประเทศ CLMV  ที่ได้เริ่มเข้าไปบ้างและมีกระแสตอบรับดี


แชร์ :

You may also like