ต่อไปนี้ PR จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ศิลป์เท่านั้น แต่กำลังกลายเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริษัทด้านสื่ออย่าง The Washington Post และ The Associated Press กำลังใช้ AI เพื่อสร้างรายงานผลกำไรหรือเขียนบทความที่ปกติไม่ได้มอบให้พนักงานทำ เช่นเดียวกับ PR เอเยนซี่หลายเจ้าก็เริ่มรับ AI เข้ามาใช้ในการทำนายแนวโน้มของสื่อ เปลี่ยนสุนทรพจน์เป็นข้อความ จับตาดูสังคมออนไลน์ และอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น Shift Communications มีทีมงานด้านการตลาดด้านเทคโนโลยีจำนวน 10 ทีม รวมทีมนักวิเคราะห์ข้อมูลอีก 6 ทีม ทำงานในส่วนของการวิเคราะห์ขั้นสูง การเรียนรู้ด้วยเครื่องจักรกล การค้นหาที่มีค่าใช้จ่าย โซเชียลมีเดีย และอื่นๆ สำหรับลูกค้าของพวกเขา
Christopher Penn vp ด้านเทคโนโลยีการตลาดของ Shift Communications กล่าวว่า การประมวลผลภาษาที่เป็นไปตามธรรมชาติ (natural language processing) มีส่วนในการพิจารณาว่าผู้คนรับรู้ต่อแบรนด์เป็นบวกหรือลบ และสามารถสรุปเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดและธีมทั่วๆ ไปจากการรวบรวมข้อมูลสุนทรพจน์ โพสต์ในโซเชียล และบทความ ในขณะเดียวกันทีมของเขาใช้เครื่องมือการจดจำเสียงพูดเพื่อเปลี่ยนเนื้อหาเสียงเป็นคำพูด และดำเนินการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์เพื่อคาดการณ์แนวโน้มสื่อตามข้อมูลที่ผ่านมา
แต่ก่อนที่คุณจะวางแผนมโนไปไกล ขอบอกก่อนว่าหุ่นยนต์ยังไม่สามารถเขียนข่าวประชาสัมพันธ์และเรียกประชุมผู้สื่อข่าวได้
“การใช้ AI ไม่ได้หมายถึงการเอามันมาแทนที่งานของนัก PR มืออาชีพ แต่แค่เอามาช่วยงานของเราในระดับหนึ่งเท่านั้น” Penn กล่าว “สื่อจำนวนมากถูกสร้างขึ้นทุกวัน และเรามนุษย์ไม่สามารถอ่านทั้งหมดได้ แต่เครื่องจักรทำได้ ตัวอย่างเช่นผมกำลังวิเคราะห์เนื้อหาสำหรับการแสดงสินค้าของลูกค้าในเมื่อเช้านี้ และมีเนื้อหาประมาณ 2,000 ชิ้นที่ถูกแสดง ผมไม่สามารถอ่านบทความทุกฉบับด้วยตัวเอง แต่ผมใช้ natural language processing ในการะประมวลบทความเหล่านั้นภายใน 15 นาที “
Penn อธิบายว่านอกเหนือจากการประมวลผลภาษาธรรมชาติแล้วเครื่องมือสำหรับการจดจำเสียงพูดเช่น IBM Watson Speech to Text และ Google Cloud Speech API ช่วยให้ทีมของเขาสามารถเปลี่ยนสุนทรพจน์เป็นข้อความได้ จากนั้นทีมของเขาสามารถประมวลผลภาษาให้เป็นธรรมชาติได้จากเนื้อหาข้อความนั้น
“บริการที่ดีที่สุดมักมีราคาแพงหรือถูกขึ้นอยู่กับเวลาต่อนาทีที่บันทึกไว้ และข้อมูลที่มีค่ามากก็จะเป็นไฟล์เสียงที่ถูกล็อคให้ไม่สามารถค้นหาได้” เพนน์กล่าว “ลองคิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับฟังในงานด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็น การเรียกประชุม สุนทรพจน์ และงานนำเสนอและอื่นๆ ความรู้จำนวนมากเหล่านี้ถูกล็อกจากการค้นหา เราใช้ speech recognition เพื่อเปลี่ยนการสนทนากับลูกค้าเป็นข้อความ ใช้ถอดเสียงสุนทรพจน์ให้กลายเป็นบล็อกโพสต์ และอื่นๆ อีกมากมาย”
AI ยังสามารถช่วยผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนในการวางแผนสื่อประชาสัมพันธ์ของตนล่วงหน้าได้ อย่างเช่นทีมงานของ Penn สามารถวิเคราะห์การเข้าชมบล็อกของบริษัทได้ย้อนหลังสามปี เพื่อคาดการณ์ว่าการเข้าชมไซต์จะมีลักษณะอย่างไรในปีหน้า สมมติว่าบล็อกของแบรนด์คาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของยอดการใช้งานในเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนปีหน้า และมีข้อมูลว่าผู้อ่านชอบเรื่อง “precision marketing” ทีมงานของ Penn จะถ่ายทอดความเข้าใจนี้ไปยังทีม PR ที่ Shift Communications ซึ่งจะมองหาบริบทที่จะพูดให้มีส่วนร่วมที่สุด รวมไปถึงหาช่องว่างในการกระจายบทความเกี่ยวกับ precision marketing สำหรับลูกค้าในเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนของปีหน้า
บริษัทอื่นๆ อย่าง Crenshaw Communications ก็เริ่มใช้ AI ในการติดตามลูกค้าที่ถูกเมนชั่นถึงในโซเชียลมีเดียและตามดูเพื่อหาที่มาว่าคนรู้จักแบรนด์ได้อย่างไร Chris Harihar ผู้อำนวยการของหน่วยงานกล่าว “คุณจะต้องการ AI มากขึ้นในการทำงาน ทั้งในส่วนของการติดตามและการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกค้ารายใหญ่ที่มีปริมาณการครองตลาดสูง” Harihar กล่าว
หนึ่งในพื้นที่ที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน PR ยังไม่ได้ใช้ AI เข้ามายุ่ง คือการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ Penn คิดว่าเวลาที่ AI จะสามารถผลิตข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงได้น่าจะอย่างน้อย 5 ปี ถึงจะมีเทคโนโลยีที่สามารถเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไปที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นเข้ากับบุคลลิกของแบรนด์ที่ต่างกันได้ Harihar เห็นพ้องกันว่าข่าว PR นั้นมีองค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากเกินไป จึงจำเป็นต้องรอการพัฒนาของซอฟต์แวร์ที่จัดการได้
“ถ้าเอเยนซี่ไหนอ้างว่าตอนนี้สามารถใช้โปรแกรมเขียนข่าวแบบอัตโนมัติให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ผมว่ามันไร้สาระ” เขากล่าว