ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองเศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโตต่อเนื่องที่ 4.0% ได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้การส่งออก และการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัว
หนึ่งในการลงทุนใหญ่ของภาคเอกชน คือ การลงทุนของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ ทั้งกลุ่มทุนค้าปลีกเดิม (Brick-and-mortar) และ กลุ่ม e-Commerce ที่ทุกวันนี้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ e-Commerce จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น EIC มองว่าในปี 2561 การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพและผสมผสานการใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบ “Digital Transformation” ของเหล่าธุรกิจ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้าในยุคที่โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และมีเดีย หรือแม้กระทั่งภาคการผลิต ต่างต้องปรับตัวและแนวคิดในการดำ เนินธุรกิจเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง โดยมีธุรกิจรายใหญ่ไม่น้อยที่ทุ่มลงทุน ด้วยงบประมาณมหาศาลสำหรับ Digital Transformation เพื่อให้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เข้าถึงตลาดออนไลน์ หรือระบบการชำระเงินออนไลน์
บริษัท Oracle ผู้ดำเนินธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ คาดการณ์ว่าการลงทุนด้านไอทีในไทยจะเติบโตได้โดยเฉลี่ยกว่า 6% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2563 และจะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาทภายในปี 2563 หรือคิดเป็น 18% ของการลงทุนภาคเอกชนของไทย
ยักษ์ใหญ่ e-Commerce พลิกโฉมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย
EIC ฉายภาพว่า “Digital transformation” ในธุรกิจค้าปลีก ได้รับแรงผลักดันจากยักษ์ใหญ่ด้าน e-Commerce ที่ต่างมุ่งลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการบุกตลาดออนไลน์อาเซียน ซึ่งปัจจุบันตลาดอาเซียน กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนของกลุ่มทุน e-Commerce ต่างชาติหลายราย ต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Lazada, Shopee,11Street, Amazon, JD เป็นต้น
เนื่องจากขนาดของ e-Commerce ในตลาดแถบนี้ ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด เปรียบเทียบกับจีนที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 23% ขณะที่มูลค่าตลาด e-Commerce ไทย มีแนวโน้มเติบโตกว่า 13% ต่อปี ในช่วง 4 ปีข้างหน้า
กลุ่มทุนค้าปลีกไทย จัดทัพลงทุน รับการแข่งขัน
ท่ามกลางการเข้ามาลงทุนของยักษ์ใหญ่ธุรกิจ e-Commerce จากต่างชาติ ทำให้กลุ่มทุนธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมอย่าง “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ไม่อาจนิ่งเฉย! จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อปกป้องตลาด ด้วยการร่วมลงทุนกับ “JD.com” ยักษ์ใหญ่ e-Commerce อันดับ 2 ของจีน ด้วยงบลงทุนร่วมกว่า 17,500 ล้านบาท พร้อมจัดตั้ง “บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด” ดำเนินธุรกิจภายใต้เทรดมาร์ก “เจดี เซ็นทรัล” (JD Central)
โดยมีแผนที่จะพัฒนา JD.co.th ซึ่งเป็น e-Commerce แพลตฟอร์มที่จะนำสินค้าคุณภาพจากจีนและสินค้าไทยมาขายให้กับผู้บริโภคชาวไทย เพื่อที่จะขยายสัดส่วนยอดขายออนไลน์ของกลุ่มเซ็นทรัลจากปัจจุบันที่ 5% เป็น 15% ภายใน 5 ปี
เร่งลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม – ระบบโลจิสติกส์
การแข่งขันที่ดุเดือดในธุรกิจ e-Commerce กระตุ้นให้เกิดการเร่งลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม และระบบโลจิสติกส์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2561 และจะขยายการลงทุนต่อไปอีก หากต้องการขยายระบบโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมทั่วไทย และต่อเนื่องไปถึง CLMV
เพราะการแข่งขันในธุรกิจ e-Commerce “แพลตฟอร์ม” และ “โลจิสติกส์” เป็นหัวใจหลักของธุรกิจนี้
เพื่อไม่ให้สูญเสียตลาดให้กับคู่แข่ง “บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด” ที่วางแผนเปิดตัว JD.co.th อย่างเป็นทางการภายในเดือนเมษายน 2018 โดยจะใช้งบลงทุนราว 8,750 ล้านบาท ในการพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบโลจิสติกส์
ขณะที่เจ้าตลาดอย่าง “Lazada” คาดการณ์ว่าจะเปิดใช้ e-Commerce Park ซึ่งเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ในปี 2019 โดย EIC มองว่าการลงทุนดังกล่าวจะเน้นไปที่การสร้างคลังสินค้าและระบบขนส่งที่รองรับความต้องการในย่านกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลักก่อน แม้ว่า e-Commerce ในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่แพ้กรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อนจากข้อมูลของไปรษณีย์ไทยที่พบว่าการขนส่งพัสดุแบบธรรมดาและ EMS มีมากถึง 1 ล้านชิ้นต่อวันในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจาก 2 – 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 7 – 8 แสนชิ้นต่อวัน
ทั้งนี้ การลงทุนในระบบโลจิสติกส์ ประกอบด้วย ศูนย์กระจายสินค้า ยานพาหนะเพื่อการขนส่ง และจุดให้บริการ Parcel Shop โดยการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าต้องใช้งบลงทุนเฉลี่ยราว 90 ล้านบาทต่อหนึ่งแห่ง ซึ่งเป็นการลงทุนในการสร้างคลังสินค้าและเครื่องจักร (ไม่รวมค่าที่ดิน) และควรมีศูนย์กระจายสินค้าราว 20 แห่งทั่วประเทศ หากต้องการสร้างศูนย์กระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วไทย
ขณะเดียวกันการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่าง “DHL” ใช้งบลงทุนกว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา
ค้าปลีก ต่อยอดสู่บริการด้านการเงินออนไลน์
นอกจากธุรกิจ e-Commerce แล้ว ธุรกิจค้าปลีกยังลงทุนต่อยอดไปสู่ “บริการด้านการเงินออนไลน์” เช่น “Ascend Money” และ “JD Central” เตรียมทุ่มทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินออนไลน์ แนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วของ e-Commerce ในไทย
ประกอบกับการผลักดันไทยสู่ Cashless Society ด้วยบริการพร้อมเพย์ และ QR Code สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น (e-Payment) และเนื่องด้วยลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่มีความใกล้ชิดกับลูกค้าและเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การให้บริการด้าน e-Payment ในลักษณะของ e-Wallet ได้
โดยในปี 2561 จะมีสองดีลยักษ์ใหญ่ที่กำลังจะผลักดันบริการด้านการเงินออนไลน์ให้กับธุรกิจค้าปลีก คือ
1. ความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง Ant Financial Service กับบริษัท Ascend Money ภายใต้ธุรกิจของเครือซีพี (ค้าปลีกรายใหญ่ที่มีธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 และห้างสรรพสินค้า Macro) โดย Ascend Money ได้แถลงว่าจะเตรียมงบลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในปี 2018 โดยกันเงินเอาไว้สำหรับลงทุนในต่างประเทศ 83% นั่นหมายความว่าจะมีงบลงทุนในไทยราว 4,200 ล้านบาท
2. ความร่วมมือระหว่าง JD Finance และกลุ่มเซ็นทรัล โดยบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด วางแผนที่จะใช้งบลงทุนราว 8,750 ล้านบาทไปกับการพัฒนาธุรกิจด้าน e-Finance ด้วยความช่วยเหลือด้านความรู้และเทคโนโลยีจาก JD Finance โดยจะต่อยอดจากฐานลูกค้า The One Card ของเซ็นทรัลที่มีอยู่เดิม
Big Data หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ในธุรกิจค้าปลีกยุคดิจิทัล
EIC วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับธุรกิจค้าปลีกในยุคดิจิทัล คือ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพราะเมื่อธุรกิจค้าปลีกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโต ผู้คนใช้จ่ายผ่าน e-Payment มากขึ้น ก็ย่อมก่อให้เกิดฐานข้อมูลมหาศาลที่จะสามารถนำ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจและใช้ในการพัฒนาการขายและการตลาดได้
ในขณะเดียวกันก็สามารถนำข้อมูลการซื้อขายสินค้าในแต่ละพื้นที่มาใช้ในการบริหารสินค้าคงคลัง และใช้ข้อมูลจาก GPS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบขนส่ง ทั้งนี้ การลงทุนใน Big Data มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยระดับราคาขั้นต่ำของการลงทุนในเทคโนโลยีการจัดเก็บและการประมวลผลอยู่ที่ 3,300 ล้านบาทต่อปริมาณข้อมูล 1 เทระไบต์
EIC ได้สัมภาษณ์บริษัทชั้นนำของไทย พบว่ากว่า 60 บริษัท โดย EIC พบว่าบริษัทจำนวนเกินครึ่งหนึ่งได้นำ Big Data มาวิเคราะห์ใช้ในธุรกิจแล้ว และสำหรับบริษัทที่ยังไม่ได้เริ่มใช้ Big Data นั้น กว่า 70% ก็วางแผนว่าจะนำ Big Data มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจใน 1 – 3 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าจะเกิดการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อรองรับ Big Data อย่างน้อย 1.2 แสนล้านบาทในระยะต่อไป
กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ไทย มุ่งสร้างโมเดล “Omni-channel”
ถึงแม้ธุรกิจ e-Commerce จะเติบโต ทั้งจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ e-Commerce ต่างประเทศเข้ามาลงทุน และจากกลุ่มค้าปลีกเดิม ขยายธุรกิจมายังออนไลน์ แต่ขณะเดียวกัน “กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ของไทย” ยังคงมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางออนไลน์ เพื่อปรับตัวสู่ยุค “Omni-channel”
โดยธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่หลายราย ยังมีแผนที่จะขยายสาขาออกตามต่างจังหวัดมากขึ้น และเป็นการขยายในทุกฟอร์แมต เช่น กลุ่มเซ็นทรัล ทั้ง “ซีพีเอ็น” เตรียมงบลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาทสำหรับการขยายสาขา และ “กลุ่มโรบินสัน” ก็มีแผนขยายสาขาเช่นกัน จำนวน 3 แห่งภายใน 5 ปี ขณะที่ “กลุ่มเดอะมอลล์” ได้เตรียมลงทุนใน EmSphere, Bangkok Mall และ BluPearl
การขยายสาขาของกลุ่มค้าปลีกสะท้อนให้เห็นว่า…
1. การขยายตลาดออนไลน์ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนช่องทางการขาย แต่เป็นการมุ่งสู่ยุค “Omni-channel” โดยพยายามที่จะเติบโตทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปพร้อม ๆ กัน
2. เพื่อรองรับความเป็นเมืองที่มากขึ้น
3. เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ธุรกิจขนาดเล็ก ต้องปรับตัว รับมือความเปลี่ยนแปลง
EIC มองว่าการลงทุนที่เกิดขึ้นจะนำโดยธุรกิจขนาดใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรอด และสำ หรับผู้ประกอบการชาวไทยที่เป็นผู้ผลิต การเข้ามาของ e-Commerce รายใหญ่ โดยเฉพาะ Alibaba และ JD.com จะกลายเป็นช่องทางให้สินค้าจากจีนเข้ามาขายแข่งกับผู้ผลิตชาวไทย แต่ในขณะเดียวกัน ทั้ง Alibaba และ JD.com ก็จะรับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตชาวไทยไปขายในจีนด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างจุดเด่น และใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการชาวไทยที่เป็นธุรกิจค้าปลีกรายย่อย การขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และช่องทางออนไลน์ไปพร้อมๆ กัน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าจะเข้าไปขยายสาขาตามต่างจังหวัดมากขึ้น ผนวกกับ Convenience Store ที่จะเข้าไปถึงในระดับอำเภอ และตำบล
ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่เหล่านี้จะไปแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจค้าปลีกตามต่างจังหวัด และในขณะเดียวกัน e-Commerce ก็จะเป็นตัวแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคด้วยเช่นกัน เนื่องจากสินค้าออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น
Credit Photo (ภาพเปิด, Omni-channel) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand