HomeBrand Move !!ล้วงลึกความท้าทายใหม่ “เวิร์คพอยท์” เร่งปั้น “ออนไลน์” ให้แข็งแกร่งในยุคผสานสื่อ

ล้วงลึกความท้าทายใหม่ “เวิร์คพอยท์” เร่งปั้น “ออนไลน์” ให้แข็งแกร่งในยุคผสานสื่อ

แชร์ :

หลังจาก “ทีวีดิจิทัล” เริ่มออกอากาศเมื่อปี 2557 หนึ่งในช่องที่มาแรง จนเบียดยักษ์ใหญ่ทีวีเดิมก้าวขึ้นมาอยู่ Tier 1 (เรตติ้งอันดับ 1 – 5) ได้สำเร็จ คือ “ช่องเวิร์คพอยท์” (Workpoint TV) ด้วยความโดดเด่นด้านครีเอทีฟ วาไรตี้คอนเทนต์ บุคลากร เงินทุน มีโรงถ่ายทำของตนเอง และที่สำคัญประสบการณ์ในฐานะเป็น “Content Provider” ผลิตรายการป้อนให้กับช่องฟรีทีวีเดิมมาก่อน ทั้งยังชิมลางสร้างแพลตฟอร์มช่องทีวีดาวเทียมของตนเองมาก่อน ทำให้เพียงก้าวแรกที่เข้าสู่การแข่งขัน “ทีวีดิจิทัล” ก็สามารถไต่อันดับขึ้นมาอยู่ท็อป 5 ได้ในเวลารวดเร็ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ “เวิร์คพอยท์ทีวี” ในวันนี้ ไม่ใช่เพียงการรักษาเรตติ้งให้ยังคงอยู่ใน Tier 1 เท่านั้น แต่ในยุคดิจิทัลได้เปลี่ยน Media Landscape ครั้งใหญ่ให้กลายเป็น “ยุคผสานสื่อ” มากกว่าหนึ่งมีเดีย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ และสร้างโอกาสการขายโฆษณาได้มากขึ้น

หนึ่งในมีเดียที่ขาดไม่ได้ คือ “ออนไลน์” เป็นแอเรียใหม่ที่ “เวิร์คพอยท์” เริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่ปีที่แล้ว และในปี 2561 ถูกยกให้เป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องสร้างพื้นที่ “ออนไลน์” ให้แข็งแกร่ง ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของคอนเทนต์ออนไลน์ที่มาจากทุกที่ทุกทาง ทั้งในไทย และต่างประเทศ

ส่วนกลยุทธ์ปลุกปั้น “ออนไลน์” ให้แข็งแรง ควบคู่ไปกับการรักษาความแข็งแกร่งในธุรกิจสื่อทีวี จะเป็นอย่างไรนั้น Brand Buffet ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)” นายสถานีผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง “ช่องเวิร์คพอยท์” ให้ฮิตติดลมบนได้สำเร็จแล้ว จะมาเล่าภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อในไทยเวลานี้ ที่คาดว่าจะเป็นปีแห่งการชุลมุนด้านออนไลน์ และยุทธศาสตร์ปั้นออนไลน์ของเวิร์คพอยท์ให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมมุมมองต่ออุตสาหกรรมสื่อในอนาคต

เมื่อทุกสื่อวิ่งสู่ “ออนไลน์” ความชุลมุนในการวัดผลจึงเกิดขึ้น!

ปีที่แล้ว นับเป็นปีแรกที่มูลค่าสื่อโฆษณาออนไลน์ ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 (กว่า 11,000 ล้านบาท) รองจากสื่อทีวี (Analog TV + Digital TV + Cable / Satellite กว่า 67,000 ล้านบาท) ขณะที่ปีนี้คาดการณ์กันว่าเม็ดเงินโฆษณาสื่อออนไลน์ จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าในขณะที่ “ทีวี” ยังคงเป็นสื่อหลักที่ครองเม็ดเงินโฆษณามหาศาล แต่ในเวลาเดียวกัน “ออนไลน์” ได้กลายเป็นความหวังใหม่ของทั้งอุตสาหกรรมสื่อ ที่นับวันมูลค่ามีแต่จะเติบโตขึ้น

เมื่อแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของอุตสาหกรรมสื่ออยู่ที่ “สื่อออนไลน์” นี่จึงทำให้ปี 2561 ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อในประเทศไทย หันมาเพิ่มระดับความสำคัญของ “สื่อออนไลน์” มากขึ้นกว่าเดิม

“ต้องยอมรับว่าออนไลน์มาแรงมาก และ Content Provider รวมทั้งสื่อทุกสำนัก ทุกบริษัท ทุกอุตสาหกรรมพุ่งมาที่ “ออนไลน์” เป็นหลัก เนื่องจากทุกคนตื่นตัวเรื่องออนไลน์ จากปีที่แล้วยังก่ำกึ่งกัน และเมื่อทุกสื่อกระโดดมาทำออนไลน์ ทำให้โดยรวมทั้งอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ น่าจะชุลมุนกันหน่อยๆ

ทั้งเรื่องการหารายได้จากสื่อออนไลน์ ที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะหาเงินอย่างไรดี ขณะที่คนใช้มีเดีย หรือ Media Planner ต้องมาศึกษาแล้วว่าจะวางแผนกันอย่างไร และจะวุ่นวายอยู่กับเครื่องมือการวัดผล เพราะเอาเข้าจริงแล้ว “สื่อออนไลน์” ยังไม่มีหน่วยวัดกลางที่ชัดเจน โดยหลักๆ เรามี Facebook Analytic, YouTube Analytic, Google Analytic เป็นตัวกลางแยกแพลตฟอร์ม แต่ขณะเดียวกัน Media Agency ทุกรายก็มี Big Data และวิธีการวัดของตัวเอง

ทำให้การวัดผลของ “สื่อออนไลน์” ในขณะนี้มีหน่วยวัดหลากหลายมาก แตกต่างจาก “สื่อทีวี” ที่มีหน่วยวัดเดียว จะเชื่อ-ไม่เชื่ออย่างไร ก็ยังใช้ของนีลเส็น ขณะเดียวกันเมื่อทุกคนทำออนไลน์ ทำ Live ทำคลิปวิดีโอ จะทำให้ Uniqueness ของคอนเทนต์จะเริ่มน้อยลง เพราะเนื้อหาไม่หนีกันมาก แต่สไตล์การนำเสนอ และวิธีการหารายได้จะแตกต่างกัน

รวมทั้งยังมีผู้เล่นมากมาย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทั้งในอุตสาหกรรมสื่อเดียวกัน และนอกอุตสาหกรรมสื่อ ทำให้ช่วงแรกๆ ของปีนี้ อาจชุลมุนนิดหน่อย ต้องใช้เวลาในการปรับตัว เหมือนกับตอนมีทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัลใหม่ๆ จะชุลมุนกันสักพักหนึ่ง”

“Prime Time” ยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ความท้าทายดึงคนสนใจคอนเทนต์

ในอดีต 1 ครอบครัว จะมีโทรทัศน์เป็นศูนย์กลางของครอบครัว ที่เมื่อถึง Prime Time ประมาณ 18.00 – 22.00 น. (บางคนไปถึง 24.00 น.) เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ว่างที่สุด สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมานั่งรวมกันเพื่อดูรายการด้วยกัน กระทั่งต่อมาเมื่อทีวีราคาถูกลง ทำให้ 1 ครอบครัวมีทีวีมากกว่า 1 เครื่อง ในขณะที่ช่วงเวลา Prime Time จากเดิมที่เคยนั่งดูทีวีด้วยกัน ก็แยกไปดูทีวีของตัวเองเพื่อดูรายการที่สนใจ

ปัจจุบันถึงแม้ช่วงเวลา Prime Time ยังเหมือนเดิม แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป ใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น และมีกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้บริโภคไม่ได้นั่งรอดูละคร หรือรายการโปรดอยู่หน้าจอทีวีเหมือนที่ผ่านมา แต่เขาอาจกำลัง Hang out กับเพื่อน หรือกำลังออกกำลังกาย หรืออยู่ในคลาสเรียน หรือกำลังเดินช้อปปิ้ง

หรือแม้แต่เวลาที่ผู้บริโภคอยู่บ้าน ในช่วง Prime Time หลายคนก็ไม่ได้เปิดทีวีแล้ว หรือบางคนเปิดทีวีทิ้งไว้ แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ จอสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต เพื่อรับคอนเทนต์บนออนไลน์

“เมื่อก่อนผู้บริโภคไม่ได้มีกิจกรรมเยอะขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้ทางเลือกของผู้บริโภคมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์บนทีวี คอนเทนต์บนออนไลน์ คอนเทนต์นอกบ้าน รวมไปถึงกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งหมดส่งผลต่อกัน ฝรั่งถึงบอกว่าใครยึดเวลาคนได้ คนนั้นชนะ ทุกอุตสาหกรรมต่างพุ่งไปที่การขโมยเวลา ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมสื่อ และคอนเทนต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้คอนเทนต์ของเราอยู่กับคนให้ได้ตลอดเวลา”

“ออนไลน์” เพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้ชมทุกที่ทุกเวลา – ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น

เมื่อออนไลน์ ทลายข้อจำกัดการเข้าถึงผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสการขายโฆษณาได้หลากหลายขึ้น นายสถานีแห่งเวิร์คพอยท์ ทีวี และดิจิทัล แพลตฟอร์ม ขยายความเพิ่มเติมว่า เมื่อก่อน “ทีวี” อาศัยกิจกรรมนอกบ้านด้วยการที่ห้างร้านค้าเปิดทีวี ยิ่งถ้ารายการไหนดี เป็นที่นิยม ห้างร้านค้าตลาดก็จะเปิดรายการนั้นไว้ แต่ปัจจุบันนี้ จะอาศัยให้ห้างร้านค้าเปิดทีวีช่องตัวเองอย่างเดียวไม่ได้แล้ว และ “ทีวี” ไม่ตอบสนองกิจกรรมนอกบ้านที่จะไปไหนมาไหนทุกที่กับคน

ดังนั้น “เวิร์คพอยท์” จึงมอง “ออนไลน์” เป็นประโยชน์ที่จะทำให้รายการของเวิร์คพอยท์เข้าไปอยู่กับผู้บริโภคในทุกไลฟ์สไตล์ หรือทุกกิจกรรมนอกบ้าน เช่น วิ่งออกกำลังกายบนลู่วิ่ง เอามือถือตั้งไว้ แล้วดูรายการของช่องไปด้วย เราพยายามใช้ออนไลน์เข้าถึงผู้บริโภค เพื่อดึงเวลาคนให้มาอยู่กับรายการของเรา เมื่อปีที่แล้วจึงได้รุก “สื่อออนไลน์” ในหลายแพลตฟอร์ม ทั้ง Website, Facebook, YouTube, Google, LINE, Instagram

“สื่อทีวี เรามีการปรับเปลี่ยนรายการอยู่เรื่อยๆ แทบจะมีรายการใหม่ทุกเดือน เพราะในแง่ทีวี ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าทำอย่างไร ถ้าคอนเทนต์ไหน การตอบรับไม่ดี ก็เปลี่ยนออก แล้วใส่คอนเทนต์ใหม่เข้าไป แต่บนแพลตฟอร์ม “ออนไลน์” ปีนี้เป็นปีของการสร้างพื้นที่ใหม่บนออนไลน์ให้มากขึ้น หลังจากปีที่แล้วเราเริ่มสร้างไปแล้วระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ปีนี้เราเริ่มทำงานกับพาร์ทเนอร์มากขึ้น เพราะบริษัทเริ่มโตมากอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะโตขนาดนี้ เมื่อบริษัทโตมาก ต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วย ไม่ว่าจะเป็นเพจอีจัน, วู้ดดี้, ซุปเปอร์จิ๋ว, อายุน้อยร้อยล้าน นครหลวงโปรโมชั่น มาร่วมกันทำคอนเทนต์

การมีออนไลน์ ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น เพราะข้อดีของออนไลน์ คือ 1. คนดูเลือกเวลาดูคอนเทนต์ได้ และ 2. ข้อจำกัดในการทำมาร์เก็ตติ้งน้อยกว่าสื่อทีวี เพราะฉะนั้นพื้นที่ออนไลน์ของเวิร์คพอยท์เปิดให้ลูกค้าได้ใช้เป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารการตลาดรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโพสต์บนออนไลน์ทั่วไป, ไวรัล คลิป, โฆษณา, คลิปวิดีโอ โดยใช้ความได้เปรียบที่สื่อออนไลน์ของเวิร์คพอยท์แต่ละแพลตฟอร์มมีฐานแฟนเพจ หรือผู้ติดตามจำนวนมาก ทำให้เกิด Exposure ในวงกว้าง”

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ “ออนไลน์” เวิร์คพอยท์ ไม่ได้มองกันแค่ยอด Engagement (Like, Share, Comment) ที่เกิดขึ้นในแต่ละคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนได้จากรายได้ที่กลับเข้ามาด้วยเช่นกัน โดย ผู้บริหารเวิร์คพอยท์ เปรียบเทียบให้เห็นถึงการเติบโตของรายได้จากสื่อออนไลน์ในปีที่แล้ว สามารถ Cover เงินเดือนพนักงานได้เลยทีเดียว!! นั่นหมายความว่า รายได้ออนไลน์ของเวิร์คพอยท์ในปีที่แล้วสูงมาก และมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตรายได้รวมของกลุ่มเวิร์คพอยท์

เปิด 5 กลยุทธ์สร้าง “สื่อออนไลน์” ให้แข็งแกร่ง

สำหรับกลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่ง “สื่อออนไลน์” ของเวิร์คพอยท์ ประกอบด้วย

1. Synergy ทั้งสองแพลตฟอร์ม “ทีวี” และ “ออนไลน์” โดยใช้ความได้เปรียบที่มีคอนเทนต์ฮิตบนทีวีหลายรายการ นำมาอยู่บนออนไลน์คู่กัน

“เวิร์คพอยท์” มองว่าถ้าคอนเทนต์ไหนที่ได้รับความนิยมบน “สื่อทีวี” เมื่อมาอยู่บน “สื่อออนไลน์” ก็จะฮิตตามกัน เพราะคอนเทนต์ดี คนดูชอบ ไม่ว่าจะอยู่บนสื่อประเภทใด ก็จะได้รับความนิยมเช่นกัน เพียงแต่บนออนไลน์ อาจมีคนชอบจำนวนหนึ่ง ไม่ได้เป็นกลุ่มกว้างเหมือนอยู่บนทีวี ทว่าข้อดีของสื่อออนไลน์ สามารถโฟกัสคนดูจำนวนหนึ่งได้

2. ทำรายการที่มี “ลูกเล่น” บนออนไลน์มากขึ้น และเป็นลูกเล่นที่ง่ายขึ้น หลังจากปีที่แล้วทดลองทำในบางรายการ พบว่ายากไป ปีนี้จะปรับให้ง่ายขึ้น รวมทั้งสร้างคอนเทนต์ใหม่ที่ฮิตอยู่บนออนไลน์โดยเฉพาะ และพยายามใช้ออนไลน์ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

เช่น ล่าสุดเวิร์คพอยท์ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ผ่านสื่อทีวี และออนไลน์ แต่ด้วยความที่ “สื่อทีวี” มีข้อจำกัดด้านเวลา จึงไม่สามารถถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาได้ทั้งหมด ต้องเน้นการแข่งขันกีฬารายการหลักๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้นการมีแพลตฟอร์ม “ออนไลน์” ทำให้สามารถนำการแข่งขันบางรายการที่ไม่ได้ออกอากาศผ่านทีวี มาให้ผู้ชมดูผ่านสื่อออนไลน์ได้

3. ทำคอนเทนต์ให้ถูกใจคนดู และมีคุณภาพ เพราะการมีสื่อออนไลน์ ทำให้ใครๆ ผลิตคอนเทนต์ได้ จึงมีคอนเทนต์มากมายจากทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำคอนเทนต์ออกมาแล้ว จะทำได้ดี มีคุณภาพ

เพราะฉะนั้น “เวิร์คพอยท์” มองว่าต้องทำคอนเทนต์ให้ดี จนคนดูแยกได้ชัดเจนว่าแตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันแม้จะเป็นคอนเทนต์พูดเรื่องเดียวกัน ต่างผู้ผลิต แต่คนดูเริ่มแยกออกแล้วว่าไม่เหมือนกัน

4. ใช้พื้นที่ออนไลน์ ทดลองทำรายการหลายรูปแบบ เพื่อค้นหาว่าการนำเสนอในรูปแบบไหน คนดูชอบมาก ชอบระดับกลางๆ หรือไม่ชอบ

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน คือ “รายการข่าว” ด้วยความที่จุดแข็งของ “เวิร์คพอยท์” คือ วาไรตี้คอนเทนต์ เน้นความสนุกเฮฮาเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งการผูกติดอยู่กับความเป็นบันเทิงสูง ทำให้การสร้างแอเรียอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับความบันเทิง เช่น “ข่าว” ให้มีความแข็งแรงขึ้น กลายเป็นกำแพงใหญ่

แต่การมี “ออนไลน์” ทำให้สามารถทดลองทำรายการข่าวในหลายรูปแบบ โดยไม่ต้องยึดติดกับรูปแบบการนำเสนอเดิมๆ ซึ่งรายการข่าวบนสื่อทีวี ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไม่ค่อยได้มาก เพราะมีเรื่องความคุ้นชินของคนดูเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่บนออนไลน์ ทดลองทำได้หลากหลายแบบ พร้อมทั้งใช้จุดแข็งในด้านบันเทิงที่มีฐานผู้ชมกลุ่มกว้าง มาช่วยดันให้แจ้งเกิด

“เวิร์คพอยท์ทีวี ได้รับความนิยมประมาณหนึ่ง เช่นเดียวกับบนออนไลน์ ล้อไปกับทีวี พอเราใส่คอนเทนต์ซีเรียสไปบ้าง ก็มีคนจำนวนหนึ่งจากคนดูกลุ่มใหญ่ของเรา เปิดรับคอนเทนต์นั้นด้วย เช่น ทดลองทำข่าวการเมืองบนสื่อออนไลน์ ช่วงแรกยอดไม่กี่หมื่นวิว แต่หลังจากกระจายลงแพลตฟอร์มออนไลน์บันเทิง ช่วยเพิ่มยอดวิวได้หลายแสน ทั้งๆ ที่โดยแบรนด์ดิ้งของเวิร์คพอยท์ ไม่ใช่ Hardcore ข่าวการเมือง และไม่ค่อยเหมาะกับเรา แต่เมื่อลองทำออกมาแล้ว เห็นถึงการช่วยส่งเสริมกัน”

5. เป็น Content Provider ป้อนให้กับแพลตฟอร์ม Social Media

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของ “เวิร์คพอยท์” ขณะนี้กำลังพูดคุยกับแพลตฟอร์ม Social Media ยักษ์ใหญ่ ถึงการเป็น Content Provider เพื่อป้อนคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในรูปแบบ Exclusive และไม่ Exclusive เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเวลานี้แพลตฟอร์ม Social Media รายใหญ่ ทั้ง Facebook, YouTube หรือแม้แต่ผู้ให้บริการ OTT ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Netflix ต่างต้องการคอนเทนต์มาอยู่บนแพลตฟอร์มตนเอง โดยเฉพาะ “Exclusive Content” จึงมองหาพาร์ทเนอร์ที่จะมาผลิตคอนเทนต์ป้อนให้

คุณชลากรณ์ เผยว่า ด้วยความที่ “เวิร์คพอยท์” เป็นหลายอย่างในตัวเอง ทั้งสถานีโทรทัศน์ ขณะเดียวกันเป็น Content Provider เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างคุยกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งในรูปแบบ Exclusive Content และไม่ Exclusive Content

“โมเดลธุรกิจของเวิร์คพอยท์ในปี 2561 จะคล้ายๆ กับเมื่อก่อนที่เรามีช่องทีวีดาวเทียม และผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทีวช่องต่างๆ ขณะที่วันนี้เรามีสถานีโทรทัศน์ของเราเอง และมีคอนเทนต์เราไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยขณะนี้มีแผนคุย Exclusive Content กับ Facebook ถ้าสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ต้องดูกันอีกทีว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร

ถ้า Facebook ทำ Exclusive Content โดยใช้โมเดล Advertising จะน่าสนใจสำหรับเรามาก เพราะนั่นหมายความว่า Facebook เริ่มมีระบบ Advertising ที่หาเงินได้แล้ว ยกตัวอย่างวันนี้ YouTube หรือ Google มีระบบ Advertising ที่แข็งแรง เวลาเราเอาคอนเทนต์ไปใส่ เราได้เงินแล้ว และได้เงินไม่น้อยด้วย ต่อให้คนบอกว่าต้องแบ่งเงินให้กับแพลตฟอร์ม แต่คิดซะว่าเราจ่ายค่าเช่าเวลาให้กับเขา เหมือนยุคหนึ่งที่เราไปเช่าเวลาแพลตฟอร์มคนอื่น แต่ตรงนี้ดีกว่าที่เราเอาคอนเทนต์ไปใส่ และไม่ต้องมีทีมขาย”

อนาคตอุตสาหกรรมสื่อ ทุกคนจะเป็น “Content Provider” และพึ่งพารายได้ “โฆษณา”

เมื่อถามถึงทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อในอนาคต จะเดินไปในทิศทางไหน คุณชลากรณ์ สะท้อนทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า ต่อไปอุตสาหกรรมสื่อในไทย ทุกคนจะเป็น “Content Provider” โดยอยู่ที่จะจัดวางคอนเทนต์ของตัวเองอย่างไร เช่น จะฉายบนแพลตฟอร์มตัวเองก่อน หรือขายให้กับ Pay TV แล้วค่อยปล่อยดูฟรี หรืออาจจะผสมผสานทำทุกแพลตฟอร์มไปพร้อมกัน โดยในที่สุดแล้วสื่อทั้งโลก จะวิ่งกลับมาที่ “โฆษณา”

“อุตสาหกรรมสื่อในไทย มีรายได้จากทางเดียว คือ โฆษณาล้วนๆ แตกต่างจากอเมริกา และยุโรปที่ใช้โมเดลผสม ทั้ง Subscriber ฟรี, Advertising, Pay TV ทำให้คนทำคอนเทนต์ไทย เรียนรู้มาแล้วว่าจะเอาตัวรอดจากการขายโฆษณาอย่างไร เรามีลูกเล่นในการขายโฆษณาเยอะที่สุดในโลก แต่สำหรับในต่างประเทศขณะนี้ การเข้ามาของ Streaming (เช่น Netflix) ทำให้คนจ่ายเงินน้อยลง จากเดิมในระบบ Pay TV เขาจ่ายเดือนละ 10 เหรียญ เมื่อเปลี่ยนมาดู Streaming จ่ายเดือนละ 4 เหรียญ และยังได้ดูของพรีเมียมเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นในแง่ผู้ผลิตได้เงินจากการดูน้อยลง ต่อไปที่เขาจะเจอ คือ รายได้จากการเก็บเงินค่าดู อาจลดลง และไปหาเงินจาก “โฆษณา” แทน

ยิ่งถ้า Facebook, YouTube หรือแม้แต่ Amazon หรือ Tencent ปล่อยคอนเทนต์ให้ดูฟรีบนแพลตฟอร์มของเขาเอง เพื่อให้คนอยู่กับ Community เขา และเอาโฆษณามาแลกกับค่าคอนเทนต์ที่เขาต้องผลิต นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมสื่อในอเมริกา หรือในประเทศอื่นๆ จะเข้าสู่รูปแบบเดียวกับประเทศไทยทันที นั่นคือ การหารายได้จากโฆษณาเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้เริ่มมีให้เห็นแล้วในหนัง-ซีรีย์ของต่างประเทศ เช่น ใช้วิธี Tie-in สินค้า แต่สำหรับประเทศไทย อาจช็อคกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แต่ในแง่พื้นฐาน เรายังต้องหารายได้จากโฆษณา และไทยเก่งในการหาเงินจากโฆษณา” คุณชลากรณ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อ


แชร์ :

You may also like