โลกดิจิทัล สร้าง “โอกาส” ให้กับประเทศไทย และคนไทยได้มหาศาล แต่โอกาสที่ว่านี้ จะมีความหมายต่อเมื่อ “เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง ดังความตอนหนึ่งของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี” ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand’s development landscape forward” ในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” จัดขึ้นโดย “AIS”
“ดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต ดิจิทัลนั้นต้องเป็น “Digital for all” เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้ว ถ้าเราไม่สามารถกระจายดิจิทัลให้ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างออก คนที่เข้าถึงดิจิทัลได้ ย่อมมีโอกาสมากขึ้นทุกวันๆ ส่วนคนที่ไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัล ความรู้เขาจะน้อยลงทุกวันๆ
เพราะฉะนั้นเราจะปล่อยให้การใช้ดิจิทัล มีเฉพาะแค่บางส่วนไม่ได้ แต่ทุกภาคส่วนของประเทศต้องได้รับการพัฒนาในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ต้องไปให้ถึงคนทั่วประเทศ คนในชุมชนต้องมีความเข้าใจ ถูกฝึกฝน เพื่อมีความสามารถอย่างเพียงพอที่จะใช้ประโยชน์จากดิจิทัล ขณะเดียวกันบริษัทใหญ่ๆ สามารถร่วมสร้าง Digital for all ให้เกิดขึ้นได้จริง”
หนึ่งในองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “Digital for all” ให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ และคนไทยทุกคน คือ “AIS” ที่ยึดมั่นในนโยบายนี้มาโดยตลอด สะท้อนได้จากวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนองค์กร ที่ก้าวสู่การเป็น “Digital Platform for Thais” เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ และต่อจิ๊กซอว์ Thailand 4.0
“Digital Disruption” ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่คือโอกาสสรรค์สร้างสิ่งใหม่
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ฉายภาพการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการใช้งานสมาร์ทโฟนทั้งในระดับโลก และในไทยว่า ปัจจุบันประชากรของโลกมีอยู่ 7,500 – 7,600 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกแล้ว และที่สำคัญ “สมาร์ทโฟน” มีพลังมหาศาล สามารทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายนอกจาการติดต่อสื่อสาร
ประเทศไทยก็เช่นกัน ปัจจุบันมี 68 ล้านคน เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 40 – 50% แต่จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 47 ล้านคน และมีกว่า 90 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่า Penetration การใช้โทรศัพท์มือถือคนไทย ไปถึง 140% แล้ว ซึ่งคนๆ หนึ่งอาจใช้มากกว่า 1 เบอร์
เมื่อดูการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย เมื่อปี 2017 ใช้ 7.3 GB ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 80% ที่ใช้ 3.8 GB ต่อเดือน และคาดการณ์ว่าปีนี้ คนไทยจะใช้อินเทอร์เน็ตเกิน 10 GB ต่อเดือน ขณะที่ค่าเฉลี่ยระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวัน พบว่าปี 2016 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 3 ชั่วโมงต่อวัน และปี 2017 เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสถิติเหล่านี้มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในปี 2020 โลกใบนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะการใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) จะมหาศาล
“อินเทอร์เน็ต เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคน เราสามารถค้นหาความรู้ได้จากอินเทอร์เน็ต และ Social Media รวมถึงทำธุรกรรมทางการเงิน และทำการค้าได้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ กระทบกับอุตสาหกรรมที่เคยทำอยู่เดิม ที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า “Digital Disruption” นั่นคือ การทำลายล้างสิ่งเก่าๆ ออกไป แต่อย่าไปกังวล
เพราะการเกิดขึ้นของ Digital Disruption ใช่ว่าจะมีแต่ข้อไม่ดี ในอีกมุมหนึ่งเราทุกคนสามารถใช้ “ดิจิทัล” ให้เป็น “โอกาส” ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถ้าคนๆ นั้น รู้จักใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ เช่น ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการทำธุรกิจได้มหาศาล
AIS มองว่านี่เป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะสร้าง Digital Platform ของตัวเองขึ้นมา เนื่องจากทุกวันนี้ คนไทยใช้ Social Media จากต่างประเทศทั้งสิ้น ที่ต้องปรับไปตามกติกาที่เขากำหนด เพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทย ไม่มี Local Platform ที่ดีของตัวเอง อนาคตอาจจะอยู่ยาก ดังนั้น วันนี้ AIS ขอประกาศว่า เราจะพัฒนา “Digital Platform” เพื่อคนไทย และเพื่อประเทศไทยให้ดีที่สุด”
3 Digital Platform สร้าง “โอกาส” คนไทยกว่า 60 ล้านคน
ภายใต้แนวคิดการเป็น “Digital Platform เพื่อประเทศไทย” AIS มุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะเป็นแกนกลางในการสนับสนุน และเชื่อมต่อทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อให้เทคโนโลยี “ดิจิทัล” ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และขยายขีดความสามารถการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ โดยเริ่มต้นใน 3 แพลตฟอร์มสำคัญ ด้วยงบลงทุนกว่า 35,000 – 38,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.พัฒนา “Mobile Infrastructure” ให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่า 27 ปี “AIS” เดินหน้าลงทุนพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ 2G, 3G กระทั่งวันนี้อยู่ในยุค 4G ซึ่ง AIS ยกระดับเป็น NEXT G Network รองรับความเร็วได้ถึง 1Gbps ซึ่งเป็นความเร็วเริ่มต้นของยุค 5G ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ยุค 5G เพราะในช่วงปลายปีนี้ “International Telecommunication Union” (ITU) หรือ สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ จะหาข้อสรุปมาตรฐานของเทคโนโลยี 5G
2.พัฒนา “Fixed Broadband Infrastructure” หลังจาก AIS ขยายบทบาทจากเดิมเป็น “Mobile Operator” ไปสู่การเป็น “Digital Life Service Provider” จึงได้เข้าสู่ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตภายในบ้าน เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกของผู้บริโภค ทั้งการใช้งานอินเทอร์เน็ตนอกบ้าน ที่มี Mobile Infrastructure รองรับ และเมื่อกลับมาบ้าน หรือที่ทำงาน มีบริการ Broadband Internet ให้บริการ
3.ลงทุน IoT Platform, Local VDO Platform และ VR Platform ด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
– IoT Platform ขยายเครือข่าย NB-IoT (Narrow Band IoT) นวัตกรรมเครือข่ายพื้นฐานระดับสากล ที่ออกแบบเพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยี IoT โดยเฉพาะ สามารถรองรับอุปกรณ์ที่พัฒนาจากหลายประเทศทั่วโลก และ eMTC (enhanced Machine-Type Communications) เทคโนโลยีเครือข่ายรองรับ IoT ได้หลายรูปแบบ สามารถรับส่งข้อมูลเสียง และรับส่งข้อมูลได้ในปริมาณมาก
พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิก 70 รายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์ และซอฟท์แวร์ ทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ “AIS IoT Alliance Program”
โดยพันธมิตรทั้ง 70 ราย จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความสามารถ พร้อมทั้งพัฒนาสินค้า-บริการ รวมไปถึง Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution/Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขยายประโยชน์สู่ภาคประชาชน และต่อไปการผนึกกำลัง จะไม่ได้จำกัดแค่เพียง 70 รายเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างขึ้นในการสร้าง “IoT Ecosystem” ให้กับประเทศไทย
– Local VDO Platform ภายใต้ชื่อโครงการ “The Play 365” ปัจจุบัน AIS ให้บริการ “AIS Play” เป็นแพลตฟอร์มนำเสนอคอนเทนต์ โดยมีทั้งแบบฟรี และแบบจ่ายเงินรายเดือน (พรีเมียม คอนเทนต์) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์จากต่างประเทศ แต่ “AIS” มองว่า การทำ VDO Platform สำหรับคนไทย ควรมี “Local Content” ที่ผลิตและพัฒนาขึ้นเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ
ทว่าที่ผ่านมาปัญหาอย่างหนึ่งของ Content Creator ในประเทศ คือ เงินทุนในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ประกอบกับยังขาดการสนับสนุนอย่างเพียงพอ และยังไม่มีช่องทางของไทยเอง ในการเผยแพร่ผลงานของตนเองไปสู่สายตาสาธารณชน
นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ “The Play 365” ที่เปิดรับสมัครนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ทั่วราชอาณาจักรไทย จำนวน 365 คน เพื่อเป็นแรงสนับสนุนอีกทางหนึ่งให้กับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย และใช้ช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม “AIS Play” กระจายไปถึงคนดูได้ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นหนึ่งใน 365 คน ทาง AIS จะสนับสนุนเงินบางส่วน เพื่อนำไปพัฒนาคอนเทนต์คุณภาพ พร้อมโครงสร้างรายได้ที่เหมาะสม ทั้งในเชิง Subscription และการโฆษณา
นอกจากนี้ “AIS Play” ได้เพิ่มพันธมิตรใหม่ นั่นคือ “Cartoon Network” สำหรับคนดูกลุ่มครอบครัว และ “CNN” สำหรับคนที่ชอบติดตามข่าวสาร และรายการวาไรตี้จากทั่วทุกมุมโลก
ขณะเดียวกัน “AIS” ตระหนักดีว่าในโลกดิจิทัล การสร้างระบบ Ecosystem ให้แข็งแกร่ง นอกจากมีพันธมิตรธุรกิจร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์แล้ว ในส่วน “คนดู” มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้นนับจากนี้ไปแพลตฟอร์ม “AIS Play” ได้เปิดให้ทุกคน ทั้งที่เป็นลูกค้า และไม่ได้เป็นลูกค้า AIS สามารถดูฟรี สำหรับช่องคอนเทนต์ฟรี นอกจากนี้ ยังเปิดให้ทุกคนทดลองดูช่อง CNN และ Cartoon Network บน AIS Play ได้ฟรีเช่นกัน ตั้งแต่วันนี้ – 15 มีนาคมนี้
– VR Content Platform ภายใต้โครงการ “AIS IMAX VR” ที่เปิดโอกาสให้คนไทย ได้มีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยี VR ที่นับจากนี้จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแห่งยุคดิจิทัล ด้วยการจับมือกับ IMAX และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ร่วมกันทำโรงภาพยนตร์ “AIS IMAX VR” ที่สยามพารากอน นอกจากนี้ได้จำลอง VR ขนาดย่อม ไว้ที่ AIS D.C. ดิ เอ็มโพเรียม สำหรับคนที่เป็นสมาชิก AIS D.C. เข้ามาทดลองใช้เทคโนโลยีนี้
ไม่เพียงเท่านี้ AIS ยังได้เปิดโครงการ “VR Content Creator Program” สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่อยากพัฒนางานของตนเองในรูปแบบ VR และไอเดียไหนที่ผ่านเข้ารอบ นักพัฒนา VR Content จะได้เข้ามาเรียนรู้เทคนิค และคำแนะนำในการทำ VR จาก IMAX ผู้ผลิต VR อันดับหนึ่งของโลก ได้ที่ AIS D.C. ที่ดิ เอ็มโพเรียม
“เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา Disrupt ของเก่าที่ไม่ดีทำลายไปเถอะ และมาร่วมสร้างของใหม่ที่มีต้นทุนดีขึ้น ซึ่ง “AIS” ในฐานะเป็นองค์กรใหญ่ ที่มีกำลังและความสามารถมากพอที่จะช่วยอุตสาหกรรมอื่นๆ เดินหน้าต่อไปได้ โดยเราเชื่อมั่นว่าการสร้าง Digital Platform ดังกล่าวขึ้นมา จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างแน่นอน” คุณสมชัย สรุปทิ้งท้าย