มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากความสำเร็จที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ ล้วนเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์แรกของผู้ก่อตั้ง อาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ นักธุรกิจชั้นนำในยุคนั้นที่ต้องการสร้างสถาบันการศึกษาเอกชนระดับอุดมศึกษาที่เด่นทั้งความรู้ทางด้านวิชาการและทักษะในการปฏิบัติ “เจียระไน” เด็กให้กลายเป็น “เพชร” ออกสู่สังคม และปัจจัยใดที่ทำให้ ม.กรุงเทพ จึงก้าวขึ้นเป็นเป็น Top Brand มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย
บริบทแรก มองผ่านคณะวิชาที่มีความโดดเด่น ม.กรุงเทพเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแรกที่กล้าเปิดสอนคณะนิเทศศาสตร์ ในปี 2514 ยุคนั้นสาขาวิชานี้มีสอนแต่ในมหาวิทยาลัยรัฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งวิถีความกล้าคิดต่าง ฉีกกรอบให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเอกชนก็สามารถพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ได้และทำได้ดีด้วย
อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพคนปัจจุบัน บอกว่า “ ถ้าคิดว่าวันนี้ดีที่สุดแล้ว คุณพอใจแล้ว คุณจะตกเทรนด์ในทันทีที่คิด อะไรที่จะดีกว่าวันนี้ได้ ให้เดินหน้าทำไป ไม่ต้องสนใจว่าคนรอบข้างจะคิดยังไง” ความหมายชัดเจนคือ การแข่งกับตัวเอง แนวคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดปัจจัยที่ส่งเสริมและสร้างมโนภาพใหม่ให้คำว่า “ม.เอกชน” ในปัจจุบันกลายเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้การยอมรับจากภาคสังคม-ธุรกิจ
การเรียนนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพต่างไปจากที่อื่น จนถึงทุกวันนี้เรายังคงได้ยินคำพูดทำนองว่า ถ้าจะเรียนนิเทศศาสตร์ ต้องม.กรุงเทพ เหตุผลมาจากความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย ครบครันและเพียงพอสำหรับนักศึกษาทุกคน และในวันที่นิเทศศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัยต้องยุบทิ้งในบางสาขาวิชา แต่นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ กลับพัฒนาเดินหน้าต่อด้วยหลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้นรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น
สาขา Innovative Media Production (หลักสูตรนานาชาติ) ปั้นคนนิเทศฯ พันธุ์ใหม่ที่มีความเข้าใจการใช้สื่อดิจิทัลหลากหลายแพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสารที่ตอบรับกระแสธุรกิจยุคดิจิทัลได้ทันสถานการณ์ ตลาดงานอ้าแขนรับนักศึกษาม.กรุงเทพ เพราะรู้ว่า เป็นบัณฑิตที่ลงมือทำงานได้ทันที พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ มีความคิดสร้างสรรค์ อดทนและทำงานเป็น อันเป็นผลมาจากการเรียนการสอนเป็นแบบ Pragmatic Learning ได้ลงมือทำงานในสนามธุรกิจจริงตลอดสี่ปี่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะที่เรียกว่า soft skill ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นมากต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน
ความน่าสนใจอีกอย่างคือการพัฒนาสาขาวิชาภาพยนตร์ มาเป็น คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ นับเป็นคณะเดียวในไทยครบเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนทันสมัยและมากที่สุด นักศึกษาได้คิดได้ทำงานจริงตั้งแต่ปีหนึ่ง ได้เรียนกับมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศชั้นนำระดับโลก อย่าง Vancouver Film School มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีคอนเน็คชั่นธุรกิจเหนียวแน่นกับภาคธุรกิจคอยให้การสนับสนุน นักศึกษาสามารถผลิตงาน ขายงานและสร้างธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ของตัวเองได้ตั้งแต่เรียนปีสองปีสาม
จะเห็นว่าความเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ใน 4 เรื่องสำคัญที่ทำมานานและต่อเนื่อง คือ 1) ทันยุค – ปรับหลักสูตรใหม่เสมอ 2) นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง คณาจารย์คือโค้ช 3) เครื่องมืออุปกรณ์ครบ เทคโนโลยีจัดเต็ม และ 4) Partnership & Connection สร้างโอกาสทำงานจริงกับกลุ่มพันธมิตรทางการศึกษาที่เป็นธุรกิจเอกชนชั้นนำ ร่วมด้วยช่วยกันบ่มเพาะและปั้นบัณฑิตที่ธุรกิจต้องการ
“ปัจจัย ส่งเสริมความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ว่าประกอบด้วย • Visionary • Creativity • Entrepreneurship • International perspective และปัจจัยเหล่านี้ก็มีอยู่ในทุกคณะ-สาขาวิชาที่พัฒนาขึ้นมาใหม่หลายหลักสูตรเพื่อ ‘ปั้น’ คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพยุคใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”
และปลายปี 2560 แนวคิดใหม่ของม.กรุงเทพ ที่ปลุกสังคมไทยให้ตื่นตัวเรื่องการเรียน ด้วยคอนเซ็ปต์ Bangkok University – Future is now (https://goo.gl/irPF7E ) ผ่าทัศนคติความเชื่อเดิมว่า ต้องเรียนแบบนี้ ต้องทำอย่างนี้ โดยไม่เปิดโอกาสพวกเขาคิดและเลือกในสิ่งที่ต้องการ (ซึ่งอาจเพราะไม่มีทางเลือกใหม่) คลิปสั้นชุดนี้ช่วยปลุกให้สังคมมองการศึกษาในมิติใหม่ ทั้งมิติของมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับตัวเองให้ทันโลก และมิติทางความคิดของสังคมที่ควรสนับสนุนให้เด็กรู้จักคิดนอกกรอบ ค้นหาความต้องการของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้เด็กเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบซึ่งนำพาไปสู่อาชีพที่ใช่
บริบทที่สอง ฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรทางการศึกษาทั้งการให้มุมมองของสถานการณ์โลกการทำงานปัจจุบัน และ สนับสนุนการเรียนการสอนคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสาขาวิชาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ
นักธุรกิจหลายคนเป็นศิษย์เก่าของม.กรุงเทพ พวกเขามีมุมมองคล้ายกันว่า ปัจจุบันในหลายสาขาอาชีพ คำว่า “ม.รัฐ-ม.เอกชน” แทบจะไม่มีผลต่อการรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน สำคัญอยู่ที่มหาวิทยาลัยได้ “ปั้น” คนที่ตอบโจทย์ตลาดงานในธุรกิจนั้นๆ หรือเปล่า
(ซ้ายสุด) อรรฆรัตน์ นิติพน (ศิษย์เก่า) กรรมการผู้จัดการ บริษัท มัชรูม เทเลวิชั่น จำกัด (คนกลาง) มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (Thailand) (ขวาสุด) วัชระ เอมวัฒน์ (ศิษย์เก่า) นายกสมาคม Tech Startup ประเทศไทย
อรรฆรัตน์ นิติพน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มัชรูม เทเลวิชั่น จำกัด ทำโฆษณา รายการโทรทัศน์ และผลิตคอนเท้นต์ในทุกแพลตฟอร์ม บอกว่า “เรามองหาบัณฑิตที่มีทัศนคติดีต่องานที่ทำ ต้องเชื่อว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข ต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ และต้องมีความชำนาญในสายงาน จบจากที่ไหนไม่สำคัญเท่าการที่คุณทำงานเป็นตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัย”
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (Thailand) หนึ่งในธุรกิจสำคัญของกลุ่ม Sea คือ Garena ประเทศไทย ยักษ์ใหญ่วงการเกม “พนักงานใหม่ที่เราต้องการจะต้องมีทัศนคติเชิงบวก มีทักษะในการปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ได้รวดเร็ว และต้องมีทักษะ Soft Skill เช่น การคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ และมีความคิดสร้างสรรค์”
วัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคม Tech Startup ประเทศไทย “มหาวิทยาลัยต้องเน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ให้มาก สอนแบบ on the job training ทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา อย่างไอทีจะมีอัพเดทอยู่เสมอ หลักสูตรอะไรก็ไม่น่าจะตามทัน แต่การสอนแบบ discussion จะได้ผล นักศึกษาจะรู้ว่าอะไรเป็นของใหม่ อะไรต้องปรับตัว เค้าจะค้นพบขั้นตอนการเรียนรู้เอง เราอยากได้บัณฑิตที่มีความใฝ่รู้แบบนี้”
การแข่งขันกับตัวเอง ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ น่าจะสร้างแรงสะเทือนและถูกใช้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งให้แวดวงการอุดมศึกษาไทยเริ่มขยับตัวในยุคที่อนาคตใหม่พุ่งเข้าใส่คนทุกรุ่นอย่างไม่ปรานี