การบูมของยุคดิจิทัล ทำให้ข้อมูลและเอกสารทุกอย่างถูกบันทึก และอ่านบนไฟล์ดิจิทัล ส่งผลให้นับวันแนวโน้ม “Paperless” ขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์ภายในบ้าน ปัจจุบันหลายครัวเรือนมีคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 เครื่องขึ้นไป แต่ไม่มีเครื่อง “พรินเตอร์” (Printer) เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อเครื่องพิมพ์ ในเมื่อทุกอย่างสามารถบันทึกเป็นไฟล์ดิจิทัลได้หมด
เช่นเดียวกับการล้างรูปถ่าย ในอดีตที่ยังเป็นยุคฟิล์ม เมื่อถ่ายรูปเสร็จ ก็จะส่งฟิล์มไปให้ร้านล้างรูป เพื่อเราจะได้เก็บรูปถ่ายไว้เป็นอัลบั้ม แต่ทุกวันนี้ เมื่อตลาดกล้องฟิล์มถูกทดแทนด้วยกล้องดิจิทัล ทำให้รูปถ่ายสามารถเก็บในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลไว้ในคอมพิวเตอร์ หรือแชร์ลง Social Media ทำให้การล้างรูป เริ่มน้อยลง
สะท้อนได้จากภาพรวม “ตลาดพรินเตอร์” ในไทยมูลค่า 14,000 – 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3 ล้านเครื่อง (1 ล้านเครื่องเป็นตลาดอิงค์เจ็ท พรินเตอร์ และ 3 แสนเครื่องเป็นเลเซอร์ พรินเตอร์) แบ่งเป็นตลาดองค์กร 78% และ ตลาดผู้บริโภค 22% ซึ่งอัตราการเติบโตเพียง 2 – 3% เท่านั้น เรียกได้ว่าตลาดทรงตัว
ขณะที่ “ธุรกิจร้านล้างรูป” ปัจจุบันมีการปิดตัวลงไปมาก โดยผู้ประกอบการที่ยังคงดำเนินธุรกิจต่อ ต้องปรับตัวไปสู่ร้าน Photo Lab ที่นำเทคโนโลยีการพิมพ์ระบบดิจิทัลมาใช้
บุกตลาด “พรินเตอร์” องค์กร ทดแทนการใช้งานในบ้านลดลง
เมื่อตลาด “พรินเตอร์” ในบ้าน อยู่ในภาวะเติบโตลดลง…ทำให้ “เอปสัน” (Epson) หนึ่งใน Major Player ของธุรกิจการพิมพ์ ปรับโฟกัสธุรกิจ โดยมุ่งเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนเทคโนโลยีการพิมพ์ จาก “เลเซอร์ พรินเตอร์” ที่นิยมใช้ในองค์กร ไปสู่การใช้ “อิงค์เจ็ท พรินเตอร์” (Ink-jet Printer) ด้วยการเปิดตัวนวัตกรรมเครื่องพิมพ์ “อิงค์แท็งค์ พรินเตอร์” (Ink Tank Printer) เข้ามาปิดจุดอ่อนอิงค์เจ็ทแบบเดิมๆ ทั้งในเรื่องคุณภาพการพิมพ์ ความคุ้มค่าของตัวเครื่องและหมึก ประสิทธิภาพการพิมพ์ การบำรุงดูแลรักษา เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่การพิมพ์ในสำนักงาน
โดย “เอปสัน” ได้พลิกโฉมวงการพรินเตอร์ครั้งแรกในปี 2553 หลังจากเปิดตัว Ink Tank Printer รุ่น “L-Series” และต่อมาในปี 2558 ได้เปิดตัวพรินเตอร์ระบบชุดหมึกถอดได้ RIP (Replaceable Ink Pack) และล่าสุดปี 2560 ได้เปิดตัว อิงค์เจ็ท พรินเตอร์ความเร็วสูงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ รุ่น WorkForce ที่ให้ประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพงานทัดเทียมกับเลเซอร์ พรินเตอร์
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราบอกว่ากลยุทธ์ของ “เอปสัน” เน้นธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้น เพราะเรามองว่าตลาดเครื่องพิมพ์สำหรับผู้บริโภค อยู่ในช่วงลง สังเกตได้จากครัวเรือนต่างๆ ใช้ “พรินเตอร์” น้อยลง หรือถ้ายังคงใช้อยู่ก็จะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา แต่ไม่ได้เยอะแล้ว ทำให้ตลาด “พรินเตอร์” สำหรับการใช้ในครัวเรือน อยู่ในทิศทางไม่ค่อยดีนัก
ตรงกันข้ามกับตลาด “พรินเตอร์” สำหรับองค์กร ยังเติบโตดี แต่การทำธุรกิจตลาดองค์กร ไม่สามารถทำได้ในข้ามคืน ไม่ได้หมายความว่าเพียงมีสินค้า แล้วจะขายกลุ่มองค์กรได้ทันที เพราะหัวใจของการทำตลาดองค์กร คือ การสร้างความเชื่อมั่น และแบรนด์ดิ้ง รวมทั้งแคมเปญ ช่องทางการจัดจำหน่าย และบริการหลังการขาย ดังนั้นต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 – 5 ปี ที่จะทำให้กลุ่มลูกค้าองค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรใหญ่ กลาง เล็ก มีความเชื่อมั่นในสินค้าของ “เอปสัน” ว่าเราพร้อมจะสนับสนุนงานธุรกิจของเขา และสินค้าออกมาตอบโจทย์” คุณยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไปด้านการขาย ผลิตภัณฑ์ และการตลาด บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ Printer ในไทย
ทั้งนี้ ในปี 2560 “เอปสัน” รักษาตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์แท็งค์ พรินเตอร์ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 46% และทำยอดขายเติบโต 7% เป็นผลมาจากผู้บริโภค และลูกค้าองค์กรเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้อิงค์เจ็ท พรินเตอร์แบบตลับหมึก และเลเซอร์ พรินเตอร์ขาวดำรุ่นเล็ก มาใช้อิงค์แท็งค์ พรินเตอร์แทน
ร้านล้างรูปยังไม่ตาย! แต่ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีพิมพ์ระบบดิจิทัล
ขณะเดียวกัน “เอปสัน” มีกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม โดยลูกค้าหลักในธุรกิจนี้คือ ร้าน Photo Lab ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านล้างอัดรูปฟิล์มมาก่อน แล้วปรับตัวเป็น Photo Lab ที่ใช้การพิมพ์ระบบดิจิทัล
“ที่ผ่านมาร้านอัดรูปล้างรูปต้องดิ้นรนปรับตัว จากที่เคยอัดรูปใบละ 3.50 บาท ปัจจุบันเหลือน้อยลงแล้ว และปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ระบบดิจิทัล เพื่อให้งานพิมพ์ที่ละเอียด และทำรูปได้ใหญ่ขึ้น โดยพิสูจน์แล้วว่าในช่วง 3 – 4 ปีมานี้ ตั้งแต่ “เอปสัน” เริ่มทำตลาดอย่างจริงจัง ขณะนี้มีร้าน Photo Lab ทั่วประเทศติดตั้งเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์ของเอปสันไปแล้ว 650 ร้านค้า หรือ 1,000 เครื่อง ครอบคลุมทุกจังหวัดของไทย ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้ เราเติบโต 40%”
ผ่ากลยุทธ์ ’61 โฟกัส “พรินเตอร์ – โปรเจคเตอร์ – หุ่นยนต์”
สำหรับเป้าหมายธุรกิจในปี 2561 “เอปสัน” ตั้งเป้าเติบโตรวม 7% โดยแบ่งเป็นตลาดประเทศไทยที่ 5% และ ตลาดต่างประเทศ 15% (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ปากีสถาน) โดยธุรกิจหลักที่โฟกัส ประกอบด้วย อิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ เลเซอร์โปรเจคเตอร์ และหุ่นยนต์แขนกล
– อิงค์เจ็ท พรินเตอร์ เดินหน้าเปิดตัว “อิงค์แท็งก์ พรินเตอร์” ต่อเนื่อง เพื่อตอบรับความต้องการด้านการพิมพ์ในธุรกิจทุกขนาดเพราะการมีสินค้าใหม่แนะนำเข้าสู่ตลาด มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ลูกค้าได้เรียนรู้ คุ้นเคย และเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับข้อด้อยต่างๆ ของอิงค์เจ็ท พรินเตอร์ในอดีตไปจนหมด ดังนั้น “เอปสัน” ยังคงออกผลิตภัณฑ์อิงค์แท็งก์ พรินเตอร์ รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
– โปรเจคเตอร์ เปิดตัวเลเซอร์โปรเจคเตอร์ที่มีทั้งความทนทานใช้งานได้นาน 20,000 ชั่วโมง ทั้งยังใช้ LCD Panel และ Phosphor Wheel แบบ Inorganic ที่ทนความร้อนสูงได้นาน ทำให้สามารถเปิดใช้งานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง และมีประสิทธิภาพในการฉายภาพ ระดับ 4K ด้วย Contrast Ratio หรือความต่างระหว่างสีดำและสีขาวสูง จึงสามารถแสดงภาพที่มีความลึกและ รายละเอียดภาพ รวมถึงแสดงภาพแบบ 3 มิติ
ทั้งนี้ ในปี 2560 “เอปสัน” มีส่วนแบ่งการตลาดโปรเจคเตอร์ 46% ถือเป็นผู้นำตลาด และรายได้ในกลุ่มธุรกิจนี้ เติบโตขึ้น 6%
– หุ่นยนต์แขนกล ทุกวันนี้หลายอุตสาหกรรมตื่นตัวในการนำหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตผล ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุน และ พัฒนาศักยภาพการทำงาน มีการคาดการณ์ว่าภาคการผลิตของประเทศไทยราว 50% จะเริ่มใช้งานหุ่นยนต์และ ระบบอัตโนมัติภายใน 1 – 3 ปี ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางจะพร้อมในอีก 3 – 5 ปี
ด้วยเหตุนี้ เอปสันได้เริ่มนำหุ่นยนต์แขนกล SCARA Robot และ 6-Axis Robot เข้ามาทำตลาด เหมาะกับงานที่ต้องการความเร็วและความแม่นยำสูง ใช้งานในพื้นที่จำกัดได้ดี เพราะมีขนาดกระทัดรัด โดยตลาดเป้าหมายของ เอปสันอยู่ที่กลุ่มโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“4Cs” มัดใจ “ลูกค้าองค์กร”
นอกจากนี้กลยุทธ์ปี 2561 ว่า “เอปสัน” ยังคงยึดแนวทางในการทำธุรกิจที่เน้นเจาะ “กลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจ” เป็นหลัก ด้วยการนำเสนอ Solutions ที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ขนาด SME ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยกำหนดกลยุทธ์ไว้ 4 ด้าน
1. Customer Solutions คือ การรวมเทคโนโลยีของเอปสันเข้าด้วยกันและออกแบบเป็น Solutions เพื่อรองรับธุรกิจของลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ โดยพิจารณาจากประเภทธุรกิจ กระบวนการ และขั้นตอนการทำงาน รวมถึงเป้าประสงค์ทางธุรกิจของลูกค้า เพื่อให้ Solutions ของเอปสันสามารถสนับสนุนการทำงานได้อย่างลงตัว
2. Customer Values พิสูจน์ให้ลูกค้าได้เห็นถึงคุณค่าทุกด้านที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเอปสัน อาทิ คุณค่าด้านคุณภาพ ความคุ้มค่าในการลงทุน ความน่าเชื่อถือ หรือการประหยัดพลังงาน
3. Convenience Channel การขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุม ตลาดเป้าหมาย รวมไปถึงช่องทางจำหน่ายเฉพาะทางสำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทอย่าง เช่น แว่นตาอัจฉริยะ และหุ่นยนต์แขนกล
4. Communications กลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจใน อุตสาหกรรมสามารถจดจำแบรนด์และคุณค่าด้านต่างๆ ผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมการตลาด
“เอปสันเชื่อมั่นว่าภายใน 3 ปีจากนี้ หรือปี 2653 อิงค์เจ็ท พรินเตอร์จะขึ้นมาเป็นมาตรฐานการพิมพ์ใหม่ขององค์กรธุรกิจแทนที่เลเซอร์ พรินเตอร์อย่างแน่นอน ด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 75% หรือ 3 ใน 4 ของพรินเตอร์ทั้งหมดในตลาดองค์กรธุรกิจ” คุณยรรยง กล่าวทิ้งท้าย