ตัวเลขธุรกิจอีคอมเมิร์ซล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา โดยการประเมินของ ETDA มีมูลค่ารวมกว่า 2.8 ล้านล้านบาท และยังคงเติบโตได้สูงในระดับเกือบ10% เช่นเดียวกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าธุรกิจประมาณ 2.56 ล้านล้านบาท เติบโตจากเดิม 14% แม้จะเป็นตัวแลขที่ค่อนข้างสูงและอยู่ในทิศทางการเติบโตที่ยังแข็งแรง แต่ยังเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลเพียงแค่ในส่วนของการซื้อขายสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงมิติเดียวเท่านั้น
คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลและขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ของไทยในปัจจุบันยังทำแบบแยกออกจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่มีการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มหรือ Trade Digital ในรูปแบบอื่นๆ ทำให้ยังไม่เกิดการมองในมิติต่างๆ ที่ครบทั้ง Ecosystem เพื่อให้สามารถฉายเป็นภาพรวมที่ออกมาได้อย่างครบถ้วน เพื่อให้ประโยชน์ในการนำไปต่อยอดได้อย่างสมบูรณ์
“ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องครอบคลุม Trade Digital ในรูปแบบอื่นๆ ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ถูก Grouping ไว้ในกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะในฟาก Digital Content และ Digital Tourism ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญและมีมูลค่าสูง รวมทั้งผู้ประกอบการที่แข็งแรงส่วนใหญ่จะเป็น Global Platform หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ และมีการบริหารจัดการข้อมูลเหล่านี้จากจุดเดียวกัน จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจ e-Commerce มีความหลากหลาย แข็งแรง รวมไปถึงการพัฒนาโลคอลแพลตฟอร์มเพื่อเป็นทางเลือกและมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น”
เชื่อมโยง Big Data ยกระดับธุรกิจท่องเที่ยว
สำหรับการขับเคลื่อนในกลุ่ม Digital Tourism ได้ทำ MOU กับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อเชื่อมโยง Big Data เกี่ยวกับข้อมูลสถิติท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งการใช้จ่าย สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม รวมทั้งในเชิงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อนำมาวางแผนในการกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมไปถึงเป็นข้อมูลสำหรับการเข้าไปฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่คาดว่าจะได้รับผลระทบจากธุรกิจท่องเที่ยว และยังเป็นช่องทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่นได้ด้วย
คุณสุรางคณา กล่าวถึงความสำคัญของภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำรายได้กว่า 2.5 ล้านล้านบาทในแต่ละปี หรือราว 17% ของจีดีพีทั้งประเทศ ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 35 ล้านคน ขณะที่การเดินทางของนักท่องเทียวส่วนใหญ่ยังกระจายอยู่แค่ในเมืองหลักเท่านั้น รวมทั้งเม็ดเงินที่ไม่สามารถทราบได้ว่าหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศไทยอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพราะแพลตฟอร์มหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคยในกลุ่มนี้ยังเป็น Global Platform เป็นหลัก
ภายใต้ความร่วมมือนี้ ETDA จะทำเครื่องมือซึ่งอาจจะเป็น Mobile Application หรือ Digital Platform เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการทำ Big Data Analysis รวมทั้งจะเป็นช่องทางในการรับข้อมูลหรือแจ้งปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ สำหรับให้ผู้ประกอบการหรือชุมชนต่างๆ ใช้เป็นสื่อในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวเพื่อแจ้งข่าวสาร กิจกรรม หรือโปรโมชั่นต่างๆ รวมทั้งการต่อยอดไปสู่การเป็น e-Marketplace สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ผ่านช่องทางรับชำระเงินภายในประเทศด้วย
“เป้าหมายเบื้องต้นคือ การจัดเก็บข้อมูลแบบสำรวจจากนักท่องเที่ยวให้ได้ 4 ล้านชุด ภายใน 3 เดือนจากนี้ โดยเลือกทำงานร่วมกับ Line ประเทศไทย เพื่อออกแบบโครงสร้างแบบสอบถาม และใช้เป็นแพลตฟอร์มในการสำรวจ เพราะสามารถเข้าถึงฐานผู้ใช้งานที่มีจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาต่อยอดนโยบายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งเป็นช่องทางในการกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น และเป็นเครื่องมือในการติดตามปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย”
ปั้น Durian Platform สู่ระดับภูมิภาค
การดาวน์โหลดคอนเทนต์ต่างๆ อาทิ เพลง หนัง สติ้กเกอร์ หรือคอนเทต์อื่นๆ ล้วนเชื่อมโยงกับ e-Commerce เช่นเดียวกัน โดยมูลค่า Digital Content มีไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงเม็ดเงินในธุรกิจโฆษณา, Online Learning และในกลุ่ม Broadcasting ต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นด้าน Content Creator แต่กลับไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อเป็นโอกาสและเวทีในการนำเสนอคอนเท็นต์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
ETDA จึงได้พัฒนา Durian Platform เพื่อเป็น VDO Content Hub รวบรวมคอนเทนต์วิดีโอที่หลากหลาย และสามารถ Live สด สำหรับผู้ต้องการสร้างสรรค์ผลงานหรือโปรโมตสินค้าของตัวเองได้จากแพลตฟอร์มนี้ ที่ไม่ได้มองการเข้าถึงไว้แค่ในประเทศ แต่ตั้งเป้าให้สามารถสร้าง Engage ได้ในหลายประเทศจนกลายเป็น Regional Platform ตามชื่อ ทุเรียน ซึ่งถือเป็นผลไม้ประจำภูมิภาค เพราะสามารถปลูกได้ในหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาคนี้
“ทุเรียนแพลตฟอร์มจะเป็นมากกว่าแค่การสร้างแพลตฟอร์ม แต่เป็นการพัฒานทั้ง Ecosystem ของดิจิทัลคอนเทนต์ เพราะต้องการให้ทุเรียนเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงนี้ ทั้งการควบคุมปัญหาในเรื่องของคลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังสามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานได้ด้วย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของ Local Platform ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในระดับโกลบอลได้อย่างเหมาะสม โดยจะมีการติดต่อกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์ที่มากขึ้นให้กับบรรดาผู้ประกอบการด้วย”
Durian Platform จะเป็นแพลตฟอร์มที่บริหารและจัดการโดยคยไทย ด้วยการจดทะเบียนและมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยอยู่ระหว่างการนำร่องและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้เริ่มใช้งานได้ราวเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเชื่อว่าจะเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกของเหล่าครีเอเตอร์คนไทยให้หันกลับมาเผยแพร่คอนเทนต์ลงในแพลตฟอร์มภายในประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรม Digital Content ของทั้งประเทศ
5 ภารกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากการเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศน์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จากฝั่งของ Digital Tourism และ Digital Platform แล้ว ETDA ยังมีอีก 3 ภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนในปีนี้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยตรง รวมไปถึงการพัฒนาภาพใหญ่ของเศรฐกิจดิจิทัลทั้งประเทศ ทั้งในส่วนการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การผลักดันให้เกิด Cybersecurity Park ในโครงการ EEC และการขับเคลื่อน National Digital ID
ในส่วนของการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME Go Online ไปแล้วเกือบ 2 หมื่นราย และสามารถเข้าไปอยู่ในมาร์เก็ตเพลสชั้นนำ สร้างรายได้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการได้ 200 ล้านบาท รวมทั้งการผลักดันโครงการ E-Tax Invoice ที่มีการใช้งานแล้วกว่า 18,000 ฉบับ
ขณะที่โครงการ Cybersecurity Park ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบนิเวศด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ใน Digital Park Thailand เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยรวมทั้งการพัฒานบุคคลทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น พร้อมการจัดตั้งศูนย์ Security Operation Center และการส่งเสริมให้มีสตาร์ทอัพในสายงานด้าน Cybersecurity เพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับ National Digital ID เป็นการสร้างมาตรฐานในการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องใช้เอกสารที่เป็น Physical แต่จะมีสามารถดึงข้อมูลที่เป็น Standard เดียวกัน ทั้งในส่วนของการทำธุรกรรมในภาคของการเงิน รวมไปทั้งกิจกรรมอื่นๆ โดยคาดว่าจะเริ่มมีการนำมาใช้งานได้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ผ่านโครงการนำร่องจากหน่วยงานทางด้านการเงินต่างๆ อาทิ กรมสรรพากร, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมประกันภัย และโครงการ กยส. เป็นต้น
ภาพเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand