“รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” เป็นการสานต่อโครงการรักษ์น้ำเพื่ออนาคต ที่ทำมากว่า 10 ปี ด้วยการขยายผลความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ จากความร่วมมือร่วมใจของ 3 ฝ่าย ทั้งจากภาคเอกชน คือ เอสซีจี หน่วยงานราชการที่ดูแลพื้นที่ในแต่ละชุมชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ นำมาสู่การสร้างความแข็งแรงให้ชุมชนด้วยการสร้างอาชีพ เพื่อสามารถอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็งและยั่งยืน
สำหรับแนวทางในการดำเนินการนั้น เอสซีจีได้น้อมนำพระราชดำริ จากภูผา สู่มหานที มาต่อยอดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักของการใช้ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนทุกๆ พื้นที่ เพื่อให้เข้าใจหลักการในการสร้างสมดุลธรรมชาติผ่านการจัดการน้ำในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เกิดเป็นห่วงโซ่ที่ยั่งยืนตลอดเส้นทางน้ำ ตั้งแต่การสร้างต้นน้ำที่ดีจากป่าต้นน้ำในภาคเหนือของประเทศไปจนถึงสุดปลายทางน้ำคือชายฝั่งทะเล เพื่อเป็นส่วนผลักดันให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับประเทศไทย
ต่อยอดการสร้างสมดุลตลอดห่วงโซ่
คุณชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า ได้น้อมนำพระราชดำริพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชากาลที่ 9 มาต่อยอดโครงการรักษ์น้ำเพื่ออนาคต ที่เอสซีจีสานต่อมากว่า 10 ปี สู่โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” เพื่อขยายผลการดูแลจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดเส้นทางน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดห่วงโซ่ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากคนในแต่ละพื้นที่ เพื่อความเข้าใจสภาพแวดล้อมและปัญหาในแต่ละพื้นที่ นำมาสู่ความร่วมมือกับชุมชนในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่เคยมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ให้กลายเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาให้ครบทั้งกระบวนการในการจัดการน้ำ ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปขยายพื้นที่การพัฒนาให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
“เอสซีจีได้เชื่อมโยงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบริหารจัดการน้ำตั้งแต่การดูแลความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ การบริหารน้ำสำหรับใช้ในการทำการเกษตรอย่างพอเพียงในพื้นที่พื้นราบ รวมทั้งการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ โดยเฉพาะความสำเร็จในการสร้างฝายชะลอน้ำที่ทำมาตลอดสิบปี สามารถสร้างฝายไปได้มากกว่า 75,500 ฝาย ในแหล่งป่าต้นน้ำ และเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาไฟป่าที่เคยเกิดไม่ต่ำกว่า 200-300 ครั้งในแต่ละปี ที่ลดจำนวนลงหายไปเกือบหมด รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ที่เห็นได่ถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดี ลดปัญหาและผลกระทบจากน้ำป่า น้าท่วม และการพังทลายของหน้าดินในชุมชนภาคเหนือได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะความสำเร็จจากหมู่บ้านนำร่องที่ จ. ลำปาง ทำให้เกิดการขยายองค์ความรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ตามมา”
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำตลอดห่วงโซ่ จะใช้วิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อคืนสมดุลสู่ระบบนิเวศ และแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจับต้องได้และเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยเอสซีจีได้ร่วมกับชุมชน จิตอาสา ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเดินหน้าสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายการสร้างฝายชะลอน้ำให้ครบ 1 แสนฝาย ภายในปี 2020 นี้
ในส่วนกลางน้ำ จะสร้างสระพวงเพื่อกักเก็บน้ำร่วมกับชุมชนที่มีพื้นที่เหมาะสม เพื่อขยายพื้นที่การบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นราบด้วยระบบแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน และขยายการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศด้วยนวัตกรรมบ้านปลาในพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และขยายการดำเนินงานไปสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ชุมชนพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ประเทศต่อไป
ใช้นวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนโครงการ
นอกจากความสำเร็จในการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศตลอดห่วงโซ่ของน้ำแล้ว เอสซีจียังได้นำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีอยู่ไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับโครงการได้มากขึ้น อาทิ การนำ “นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต” ที่ผสมผสานเทคโนโลยีซีเมนต์และเทคโนโลยีใยสังเคราะห์ซึ่งมีความแข็งแรง และสามารถปรับรูปแบบได้ตามความต้องการใช้งาน มาใช้ประโยชน์เพื่อช่วยกักเก็บน้ำในสระพวง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพดินเป็นดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำ เช่น ในพื้นที่บ้านสาแพะ จ.ลำปาง หรือในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างสะดวก เพราะใช้งานง่าย ขนส่งสะดวก และประหยัดกำลังคนมากกว่าการเทคอนกรีตเพื่อทำสระในวิธีเดิมๆ
ขณะที่ในพื้นที่ปลายน้ำ ได้นำ “ท่อ PE 100” เป็นโครงสร้างสำคัญในการสร้างบ้านปลา ด้วยอายุการใช้งานนานหลายสิบปี มีความแข็งแรงคงทน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะแตกหักเสียหาย กลายเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศน์ในทะเลตามมา เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากกระบวนการในการผลิตเม็ดพลาสติกที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยสำหรับการขนส่งน้ำ โดยได้นำมาออกแบบเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ จ.ระยอง รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้มีที่หลบภัยและเพาะพันธุ์จนมีสายพันธ์เพิ่มมากขึ้นกว่า 120 ชนิด สร้างรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มประมงในพื้นที่ รวมทั้งเป็นต้นแบบในการอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลระหว่างภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ได้ด้วย