การขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce เป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจ Logistic เติบโตมากขึ้น หนึ่งในเซ็กเมนต์ใหญ่ของธุรกิจ Logistic คือ ขนส่งพัสดุรายย่อย คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 10 – 20% ต่อปี
ทำให้เวลานี้ ธุรกิจขนส่งพัสดุ กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีอนาคตไกล จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าในช่วง 3 – 5 ปีมานี้ นอกจาก Major Player รายเดิมแล้ว ยังมีผู้เล่นรายใหม่ ทั้งบริษัทไทย และบริษัทร่วมทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์การแข่งขันธุรกิจขนส่งพัสดุในไทย รุนแรงขึ้น ทั้งแข่งขยายสาขา หรือจุดให้บริการ การจับมือกับเชนร้านสะดวกซื้อ เพื่อเร่งสร้างความแข็งแกร่ง Network การให้บริการเข้าถึงชุมชน รวมถึงการทำโปรโมชั่นค่าบริการ และการสื่อสารการตลาด
ท่ามกลางการสมรภูมิรบที่ดุเดือด…ทว่าพี่ใหญ่อย่าง “ไปรษณีย์ไทย” ยังคงรักษาบัลลังก์ผู้นำในตลาดขนส่ง E-Commerce ด้วยส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 55% และถ้าเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด “ไปรษณีย์ไทย” มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% ส่วนถ้าเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล มีส่วนแบ่งการตลาด 40%
ขณะที่ผลประกอบการในปี 2560 “ไปรษณีย์ไทย” มีกำไรสุทธิ 4,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2559 ที่ทำได้ 3,500 ล้านบาท ส่วนปีนี้ ตั้งเป้าหมายมีกำไรสุทธิ 4,400 – 4,500 ล้านบาท
“ปัจจัยที่ทำให้ผลกำไรของ ปณท เติบโต เป็นเพราะการส่งของมากขึ้น โดยของที่มาส่งกับไปรษณีย์ไทย แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1. ซองจดหมาย, เอกสาร ตรงนี้ใครๆ บอกว่าจดหมายจะหายไป ในความเป็นจริงแล้ว ไม่หายไปไหน และปริมาณการส่งจดหมายไม่ลดลงด้วย เพียงแต่การเติบโตลดลง โดยบริการด้านนี้คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ไปรษณีย์ไทย และ 2. พัสดุกล่อง และบริการ EMS โดยส่วนใหญ่เป็นพัสดุการค้าออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วน 50%
ส่วนอีก 20% เป็นบริการด้านการเงิน และค้าปลีก สำหรับบริการการเงิน คือ ธนาณัติ ซึ่งเป็นบริการดั้งเดิมของไปรษณีย์ไทย ที่ปัจจุบันเราพัฒนาเป็นธนาณัติออนไลน์ ขณะที่บริการค้าปลีก คือ แสตมป์ของไปรษณีย์ไทย เป็นสินค้าขายดีมาก ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ของเราที่ไม่มีใครทำได้ สวยงาม น่าสะสม และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างดี” คุณสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ขยายความถึงปัจจัยสร้างการเติบโต
ผ่า 4 กุญแจสำคัญ ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” ครองผู้นำ
สำหรับหัวใจหลักที่ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” อยู่ในตำแหน่งผู้นำตลาดขนส่งพัสดุมาได้ทุกยุคสมัย มาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. ความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์ไทย ทั้ง “ที่ทำการไปรษณีย์ไทย” ของ ปณท ดำเนินการเอง กว่า 1,300 แห่ง และ “ที่ทำการไปรษณีย์เอกชนอนุญาต” อีกกว่า 3,000 แห่ง รวมแล้วกว่า 5,000 แห่งที่กระจายทั่วประเทศ (ข้อมูลปี 2560) โดยลงลึกในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ประกอบกับ “ศูนย์ไปรษณีย์” จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายพัสดุ และไปรษณียภัณฑ์ ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคนั้นๆ
“ไปรษณีย์ไทยเปิดดำเนินการมาร้อยกว่าปี อยู่คู่ชุมชนและสังคมไทยมายาวนาน ทำให้รู้จักทุกพื้นที่ ทุกชุมชนในประเทศไทย และเราไม่ได้ทำเฉพาะเขตพื้นที่เศรษฐกิจเท่านั้น เรามีเครือข่ายทั่วประเทศ แม้ที่ห่างไกลที่เอกชนไม่ไป แต่ไปรษณีย์ไทยไป เพราะเรานึกถึงการให้บริการที่ทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันเรามีจุดให้บริการกว่า 5,000 แห่ง ถือว่าเพียงพอต่อการเข้าถึงแล้ว ไม่จำเป็นต้องจึงไปแข่งขยายจุดบริการเหมือนเช่นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุอื่นที่เวลานี้ทุ่มขยายจุดให้บริการมากขึ้น เพราะเราเป็นหน่วยงานราชการ การรับคนเข้ามามาก ต้องดูแลพนักงาน ก็จะเป็นต้นทุน เราถือว่าสิ่งที่เรามีอยู่นั้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว”
2. บุรุษไปรษณีย์ ปัจจุบันมีกว่า 20,000 คน จากจำนวนบุคลากรบริษัทไปรษณีย์ไทยทั้งหมด 35,000 คน โดยบุรุษไปรษณีย์ ถือเป็นกองกำลังสำคัญในการเข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ทั่วไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ผนวกเข้ากับระบบแผนที่ของไปรษณีย์ที่มีการอัพเดทตลอดเวลา ทำให้แต่ละคนมีความชำนาญเส้นทางในโซนที่ตนเองรับผิดชอบ และคุ้นเคยกับคนในชุมชนเป็นอย่างดี
ต่อกรณีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงานที่มาจากคน (Human Error) คุณสมร ให้สัมภาษณ์ว่า “ไปรษณีย์ไทยจัดอบรมสัมมนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่ปริมาณงานมหาศาล โดยวันหนึ่งมีพัสดุ-ไปรษณียภัณฑ์ และสิ่งของต่างๆ ผ่านเข้ามาในเส้นทางไปรษณีย์ไทย ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านชิ้นต่อวัน ในบางครั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะของมีหลายขนาด แต่เมื่อเกิดขึ้น กลายเป็นข่าวดังใน Social Media พูดไม่จริงบ้าง พูดเกินเลยบ้าง บางทียังไม่ทันรู้เรื่องราวที่แท้จริง เราก็โดนไปก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องมีสติมากกว่านี้ และถ้าของหายจริง หรือเกิดความเสียหายกับพัสดุ ทางไปรษณีย์ไทยยินดีชดใช้ตามระเบียบและขั้นตอน
ขณะเดียวกันการหุ้มห่อพัสดุ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันสิ่งของ ดังนั้นในฝั่งประชาชนผู้ใช้บริการต้องช่วยกันจ่าหน้าให้ชัดเจน ถูกต้อง เพราะปัจจุบันบ้านเลขที่ในประเทศไทยเปลี่ยนบ่อยมาก และหุ้มห่อพัสดุให้ถูกต้อง ในขณะที่ฝั่งไปรษณีย์ไทย เน้นย้ำกับพนักงานตลอดเวลาให้ดูแลรักษาพัสดุของประชาชน”
3. บริการหลากหลาย ด้วยวิสัยทัศน์ของ “ไปรษณีย์ไทย” ที่วางเป้าหมายเป็นผู้นำในธุรกิจไปรษณีย์และการให้บริการ Logistics ครบวงจรในอาเซียน จึงได้ขยายการให้บริการที่หลากหลาย เช่น บริการโลจิสโพสต์ ส่งสิ่งของใหญ่ ในราคาประหยัด, บริการ EMS ในประเทศ, บริการ EMS World ส่งด่วนทั่วโลก, บริการ EMS Super Speed
แอปพลิเคชัน Prompt post สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ E-Commerce, บริการ Same day post ส่งสิ่งของด่วนในกรุงเทพฯ นำส่งเช้า นำจ่ายบ่าย ถึงผู้รับภายในวันเดียว, บริการ Drive Thru Post โดยผู้ใช้บริการสามารถส่งของ โดยไม่ต้องลงจากรถ
บริการไดเร็คเมล์ เป็นบริการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ และสินค้าตัวอย่างขนาดเล็ก โดยไม่ต้องจ่าหน้าถึงผู้รับ และเข้าถึงผู้รับทุกครัวเรือนทั่วประเทศ โดยใช้ความได้เปรียบเครือข่ายการขนส่ง ซึ่งในอดีตสินค้าอุปโภคบริโภคบางแบรนด์ ใช้บริการไดเร็คเมล์ ในการกระจายสินค้าตัวอย่างเข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ เช่น ครั้งหนึ่งซันซิล ของยูนิลีเวอร์ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้แจก Sampling ส่งถึงผู้บริโภคด้วยบริการนี้
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังใช้ความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายจุดให้บริการ ต่อยอดสู่การพัฒนาบริการใหม่ๆ เช่น Pay at Post เป็นบริการรับชำระค่าสินค้า-บริการต่างๆ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ, บริการอร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์ รวมทั้งบริการด้านการเงิน อย่างบริการธนาณัติออนไลน์ และบริการโอนเงินด่วนระหว่างประเทศ ที่จับมือกับ Western Union
4. นโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อยกระดับสินค้าเอกลักษณ์ท้องถิ่น ในข้อนี้ไม่ได้เป็นกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจ แต่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ช่วยสร้าง Engagement หรือความผูกพันระหว่างไปรษณีย์ไทย กับคนในชุมชนจังหวัดต่างๆ ทั่วไทยได้ ภายใต้โครงการ “ไปรษณีย์ไทย…เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” เกิดขึ้นจากความตั้งใจของไปรษณีย์ไทยที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านการสร้างสรรค์ชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ผนวกกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และใช้ศักยภาพของเครือข่ายคนไปรษณีย์ และที่ทำการไปรษณีย์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น มาร่วมกันยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่มีผลิตภัณฑ์ชุมชน อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยทำ Co-brand “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ร่วมกับแบรนด์สินค้าท้องถิ่น ประทับบนบรรจุภัณฑ์
สำหรับการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย แบ่งการพัฒนาสินค้าชุมชนเป็น 3 ระดับ คือ
1. ระดับเริ่มต้น “ไปรษณีย์ไทย” จะเข้าไปช่วยตั้งแต่กระบวนการ Product Development การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการสนับสนุนช่องทางการขายผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย ไม่ว่าจะเป็น www.thailandpostmart.com และที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย สำหรับเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วไทย
2. ระดับกลาง คือ ตัวสินค้าดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนบรรจุภัณฑ์ การตลาด การขาย การขนส่ง ยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังนั้นไปรษณีย์ไทย และเครือข่ายสนับสนุน เช่น สถาบันการศึกษา จะเข้ามาช่วยพัฒนาในส่วนนี้ให้ พร้อมทั้งขยายช่องทางการขายผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย เช่น www.thailandpostmart.com และที่ทำการไปรษณีย์
3. ระดับสินค้า-บรรจุภัณฑ์ได้รับการพัฒนามาดีแล้ว ในกลุ่มนี้ “ไปรษณีย์ไทย” เข้าไปช่วยด้านการขนส่ง และขยายช่องทางการจำหน่าย นำสินค้าไปขายบน www.thailandpostmart.com และที่ทำการไปรษณีย์
“หลักเกณฑ์การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เราจะนำมาต่อยอดพัฒนา ได้ใช้ศักยภาพของไปรษณีย์ไทย คือ การมีเครือข่ายที่ทำการทั่วประเทศ และมีคนของไปรษณีย์ไทยเข้าถึงชุมชนทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ คนของเรารู้ว่าในพื้นที่ของตัวเองที่รับผิดชอบให้บริการอยู่ มีอะไรน่าสนใจ ก็จะนำเสนอขึ้นมา จากนั้นเรามากลั่นกรองกันอีกทีว่าสินค้าที่พนักงานไปรษณีย์ไทยในชุมชนต่างๆ เสนอเข้ามา จะนำมาส่งเสริมต่อยอดได้อย่างไร”
กรณีศึกษา : ปั้นแบรนด์ “ยอ ทอ มือ” ชูจุดเด่น “ผ้าทอเกาะยอ สงขลา”
สำหรับปี 2561 “ไปรษณีย์ไทย” เตรียมขยายผลการพัฒนา ยกระดับสินค้าชุมชนไปยังพื้นที่ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 18 พื้นที่ทั่วไทย หนึ่งในนั้นคือ “ผ้าทอเกาะยอ จังหวัดสงขลา” โดยสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มทอผ้าเกาะยอต้นแบบ 5 กลุ่ม ที่มีเอกลักษณ์ในการออกแบบลายผ้าเฉพาะตัว ได้แก่ 1. ลายราชวัตร โดยกลุ่มราชวัตรแสงส่องหล้าที่หนึ่ง / 2. ลายยอประกาย โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าเกาะยอ / 3. ลายรสสุคนธ์ โดยกลุ่มทอผ้าร่มไทร / 4. ลายชวนชม โดยกลุ่มทอผ้าป้าลิ่ม และ 5. ลายจันทร์ฉาย โดยกลุ่มทอผ้าดอกพิกุล
พร้อมทั้งต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการปปั้นแบรนด์ใหม่ให้กับชุมชนในชื่อ “ยอ ทอ มือ” ตลอดจนพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ และให้ความรู้ด้านการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การขนส่งสินค้า การหุ้มห่อที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนให้มีการพัฒนาจุด Landmark เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวบนเกาะยอ โดยรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ จัดหาสถานที่สำหรับการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณเรือที่หาดทรายเทียม และผนังบ้านโบราณ ร้านอาหารที่อยู่ภายในชุมชน เพื่อจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเกาะยอได้เพิ่มมากขึ้น