HomeFintech & SMESME ไทยยังถนัดสายบู๊ เก่งเรื่องขาย+ตลาด แต่ขาดการต่อยอดด้วยดิจิทัล และการบริหารต้นทุน

SME ไทยยังถนัดสายบู๊ เก่งเรื่องขาย+ตลาด แต่ขาดการต่อยอดด้วยดิจิทัล และการบริหารต้นทุน

แชร์ :

ผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ช่วงไตรมาส 4/2560 โดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี ทำการเก็บความเห็นผู้ประกอบการ SME มากกว่า 1,100 รายทั่วประเทศ พบว่า SME ไทยมีความเชื่อมั่นในเรื่องรายได้หรือความสามารถในการสร้างยอดขายในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.9 จาก 38.9 ในไตรมาสก่อน เป็นทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ความเชื่อมั่นในการสร้างยอดขายจะขยับมาอยู่ในระดับ 65.9 จากระดับ 62.9 จากไตรมาสก่อนหน้า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในทางกลับกันความกังวลด้านต้นทุนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ SME ต้องเผชิญ ตามดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปัจจุบันที่ลดลงมาอยู่ที่ 29.1 จาก 35.7 จากไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับการประเมินทิศทางในอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังคงลดลงมาอยู่ที่ 37.8 จาก 41.9 โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงที่แม้ในมุมหนึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในภาพรวมได้ แต่ก็เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญที่ธุรกิจ SME ต้องแบกรับ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก ทำให้มีสัดส่วนต้นทุนทางด้านแรงงานสูงกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ โดยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานราว 22% ของต้นทุนรวม ขณะที่ภาคการผลิตและภาคการค้า มีสัดส่วนต้นทุนด้านแรงงาน 9% และ 5% ตามลำดับ

รายได้เพิ่ม ต้นทุนสูง ความเชื่อมั่นลด 

ดร. เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า ความสวนทางกันของความเชื่อมั่นในเรื่องรายได้และต้นทุนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของ SME ปรับลดลงเล็กน้อยจาก 37.3 มาที่ 35.5 ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับการประเมินความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะลดระดับเหลือ 51.9 จาก 52.4 ในไตรมาสก่อน แต่ด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถขยายตลาดและทำยอดขายได้มากขึ้น ประกอบกับปัจจัยบวกอื่นๆ อาทิ การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้กำลังซื้อโดยรวมปรับตัวดีขึ้น จึงเชื่อว่าภายในไตรมาส 1และ 2 ของปี 2561 ความเชื่อมั่นโดยรวมของกลุ่ม SME จะดีขึ้นมากกว่าเดิมได้

“ขณะที่ต้นทุนหลักๆ ที่กลุ่มธุรกิจ SME ต้องแบกรับ ส่วนใหญ่จะมาจากราคาวัตถุดิบ ค่าแรง และค่าขนส่ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละราย เช่น ในภาคการค้าต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของราคาพลังงาน ภาคการผลิตจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ ส่วนในภาคบริการจะเป็นเรื่องของค่าจ้างแรงงาน ซึ่งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจของเหล่า SME ได้มากขึ้น และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากรายได้จากธุรกิจ SME คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกิดการจ้างงานได้ถึง 70-80% ของปริมาณการจ้างงานโดยรวมทั้งประเทศอีกด้วย”

ใช้ดิจิตอลพัฒนาระบบ ลดต้นทุนได้ 10-20%      

ดร. เบญจรงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้จะมีการกระตุ้นและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันมากขึ้น แต่ยังไม่ค่อยเห็นการตอบรับที่ดีจากกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมากนัก มีเพียงส่วนน้อบเท่านั้นที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อไปพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของตัวเอง

ขณะที่วิธีการการนำดิจิทัลไปใช้ในธุรกิจยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องของการเป็นเครื่องมือทางการตลาดเป็นส่วนใหญ่ เช่น การใช้เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า การประชาสัมพันธ์ธุรกิจ หรือเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังไม่ค่อยเห็นการพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีไอทีและดิจิทัลต่างๆ ไปใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงระบบต่างๆ ในการทำงาน เช่น การบริหารจัดการสต๊อก การบริหารระบบลอจิสติกส์ ระบบบัญชีต่างๆ หรือเชื่อมต่อระบบการทำธุกรรมออนไลน์กับคู่ค้า รวมทั้งการพัฒนาในเรื่องของ Supply Chain ต่างๆ มากนัก

“หากธุรกิจเอสเอ็มอีพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและไอทีมาใช้ในระบบการทำงานต่างๆ มากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นความกังวลหลักของเอสเอ็มอีลงได้ โดยเชื่อว่าหากนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นจะสามารถลดต้นทุนในภาพรวมได้ถึง 10-20% ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีความสามารถในการขยายตลาดและเพิ่มยอดขายได้ดีอยู่แล้ว แต่กหากมีการต่อยอดและพัฒนาในส่วนนี้มากขึ้นก็จะยิ่งทำให้ภาพรวมของธุรกิจเติบโตและมีศักยภาพในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น เอสเอ็มอีจึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้”


แชร์ :

You may also like