หลากหลายสมญานามคุ้นหูที่มักใช้เมื่อกล่าวถึงชายผู้นี้ ทั้ง “ขวัญใจเด็กแนว” เจ้าพ่อเพลงอินดี้” “เจ้าพ่อมิวสิคเฟสฯ” ในฐานะผู้สร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่ๆ ให้กับวงการเพลงประเทศไทยมาโดยตลอด สำหรับ ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ผู้อยู่เบื้องหลังการปั้นแบรนด์ Music Festival จนประสบความสำเร็จระดับประเทศมาแล้วอย่างหลากหลาย ทั้ง Fat Festival, Big Mountain หรือนั่งเล่น คอนเสิร์ต
ในวันนี้ ป๋าเต็ด จะกลับมาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แวดวงการจัดงานมหกรรม หรือ Festival ของไทยไปสู่วิถีใหม่ๆ ที่แปลกและแตกต่าง ด้วยรูปแบบ Lifestyle Festival เป็นครั้งแรกของประเทศ ภายใต้ชื่อ “ยักษ์เฟส” (YAK Fest) งานที่รวบรวมกิจกรรมไลฟ์สไตล์น่าสนใจหลากหลายประเภทไว้ภายในงานเดียว ซึ่งเป็นงานที่ป๋าเต็ดการันตีว่า ถ้าได้มาแล้วจะทำให้คุณตัวใหญ่ขึ้น ได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ แบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถูกใจเหล่า Festivalgoer แน่นอน
เมื่อ Music Fest เริ่มไม่แตกต่าง
สำหรับงาน YAK Fest จัดขึ้นเป็นปีแรก บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ที่ ดิ โอเชียนเขาใหญ่ ในวันเสาร์ที่ 24 ก.พ. 2561 ตลอด 24 ชั่วโมง นับจากเที่ยงของวันเสาร์ไปจนถึงเที่ยงของวันอาทิตย์ และนับเป็นงานแรกที่ป๋าเต็ดทำภายใต้บริษัทของตัวเองที่ชื่อว่า แก่น 555 เพราะในช่วงที่จัดงาน FAT Fest นั้นทำในฐานะคนทำงานคลื่นวิทยุ ขณะที่ Big Mountain และนั่งเล่น ก็ทำให้กับทาง GMM GRAMMY ส่วนที่เลือกทำงานแรกของตัวเอง โดยฉีกแนวมาทำงานในรูปแบบ Lifestyle Festival แทนที่จะเริ่มต้นด้วยสิ่งที่คุ้นเคยอย่างงานมหกรรมดนตรีนั้น ป๋าเต็ด ให้เหตุผลว่า
“งาน Music Festival ทุกวันนี้มีค่อนข้างมาก รวมทั้งรูปแบบงานก็ยังไม่แตกต่างกัน ศิลปินที่มาเล่นภายในงานก็จะวนเวียน ซ้ำๆ กันไปอยู่ไม่กี่คน แม้จะเปลี่ยนชื่องาน เปลี่ยนสถานที่เล่น แต่ในไลน์อัพศิลปินก็จะเป็นรายชื่อเดิมๆ เพราะจำนวนศิลปินไทยหน้าใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมและได้รับสนใจในวงกว้างเกิดใหม่มีจำนวนน้อย ไม่ทันกับปริมาณงานที่เติบโตและขยายตัวทุกปี ขณะที่งานชิ้นแรกที่เป็นของเราเองจริงๆ เราอยากเริ่มในสิ่งใหม่ๆ แม้คนอาจจะยังไม่คุ้นเคย แต่นี่คือความท้าทาย และความสนุก และเราเชื่อว่าคนที่มีโอกาสได้มางานก็จะสนุกและชื่นชอบด้วยเช่นกัน”
สำหรับงานในรูปแบบ Lifestyle Festival จะประกอบด้วยคอนเทนต์ในรูปแบบกิจกรรมและเวิร์คช็อปต่างๆ ประมาณ 60% และคอนเทนต์ในส่วนของเพลงประมาณ 40% ต่างจากงาน Music Festival ที่คอนเทนต์เกือบ 90% ภายในงานจะเป็นเรื่องของเพลงทั้งหมด ทำให้ต้นทุนและความเชี่ยวชาญมากกว่าสิบปีที่ป๋าเต็ดมีอยู่จะช่วยได้พียงบางส่วนเท่านั้น
“แต่ละกลุ่มจะมีแฟนพันธุ์แท้ที่จะคอยติดตามและร่วมกิจกรรมต่างๆ กันอยู่แล้ว และจะเป็นผู้ชักชวนกันมาร่วมงานนี้ ทำให้เราจะมีโอกาสได้เข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน และเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มสามารถเชื่อมต่อไปสู่ Community อื่นๆ ได้ จากกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในงาน ซึ่งสร้างสรรค์และออกแบบมาจากผู้รู้ตัวจริงในแต่ละเรื่อง เพื่อให้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้มากกว่า”
สำหรับรูปแบบและรายละเอียดของกิจกรรมในปีแรกนี้ ได้หยิบไลฟ์สไตล์หรือกระแสที่ได้รับความสนใจจาก 5 เรื่อง มาต่อยอดเป็นหมู่บ้านต่างๆ ภายในงาน ประกอบด้วย Talk Village หมู่บ้านขี้เล่า จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องของการเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ, Rap Village รวบรวมศิลปินฮิปฮอป และแรพเปอร์ตัวเจ็บ รวมทั้ง Rap is Now มาคอยดูแลหมู่บ้าน Organic Village โดยกลุ่ม Thailand Young Farmer และศิลปินรักษ์โลก Bitchy Land หมู่บ้านรวมตัวแม่สายปาร์ตี้ และความสนุกอย่างเสรีโดยไม่แบ่งแยกเพศ จากทีม Trasher และหมู่บ้านสุดท้ายอย่าง B Village มีทีม Stonehead เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน พร้อมศิลปินชื่อดังมาร่วมขับกล่อม
กลับสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ป๋าเต็ด เล่าถึงการทำ YAK Fest ในครั้งนี้ เหมือนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เหมือนช่วงเริ่มต้นทำ FAT Fest เพื่อให้คนไทยรู้จักกับ Music Festival ด้วยการเชิญชวนให้ค่ายเพลงต่างๆ มาร่วมกิจกรรม พาศิลปินมาร้องเพลง มาออกบูธขายของ จนคนไทยเริ่มคุ้นเคยและเข้าใจว่า Music Fest คืออะไร ขณะที่ตอนเริ่ม BIG Mountain คนไทยเริ่มเข้าใจความหมายของงานมหกรรมดนตรีดีแล้ว ทำให้สามารถขยายสเกลเพื่อสร้างจุดขายในการเป็นงานมหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ และรวบรวมศิลปินจากทั่วประเทศมาไว้ภายในงานได้มากที่สุด ซึ่งจัดมาต่อเนื่องได้ถึง 8 ปี และมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานในปีล่าสุดสูงถึง 72,000 คนต่อวัน จากปีแรกที่มีผู้เข้าร่วมงาน 25,000 คนต่อวัน
“ช่วงที่เราเริ่มทำ FAT Fest ตอนนั้นบนถนนมีรถเราคันเดียวเราจะขับอย่างไร เร็วแค่ไหนก็ได้ แต่ปัจจุบันถนนเต็มไปด้วยรถ เราต้องหาวิธีการเดินทางใหม่ๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย แต่การที่มีรถบนถนนมากๆ เท่ากับสะท้อนถึงดีมานด์ในตลาดที่ยังมีอยู่และยังโตได้อีก ในฐานะผู้จัดงาน เราก็ต้องพยายามหารูปแบบในการนำเสนอใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ แต่ความท้าทายในช่วงแรกคือ การทำให้ผู้คนเข้าใจว่า Lifestyle Festival คืออะไร ต้องอธิบายให้เห็นภาพและตัดสินใจที่จะไปร่วมงาน โดยมีจุดขายที่มากกว่าแค่การไปฟังดนตรีเพียงอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าคนที่มีโอกาสได้ไปแล้วจะชื่นชอบ สนุก และจะไปซ้ำถ้ามีการจัดในครั้งต่อๆ ไป ทำให้แบรนด์ยักษ์เฟส จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานในลักษณะนี้ได้เช่นเดียวกับที่บิ๊กเม้าเท่นทำสำเร็จมาแล้ว”
สำหรับงาน YAK Fest ในปีแรกนี้ ใช้งบลงทุนประมาณ 25-30 ล้านบาท โดยป๋าเต็ดคาดหวังเพียงการสร้างแบรนด์ การ Educated ตลาด Show Biz ของไทย เพื่อให้มีรูปแบบการจัดงานที่หลากหลายมากกว่าแค่เรื่องของดนตรีแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นโอกาสในการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ รวมทั้งในปีต่อๆ ไปก็จะสามารถเพิ่มคอนเทนต์และเรื่องราวที่น่าสนใจใหม่ๆ เข้ามาได้มากยิ่งขึ้นอีก
“การทำ YAK Fest เหมือนกับการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เรานำสารเคมีที่แตกต่างกัน 5-6 ประเภท ใส่ไปในหลอดทดลองเดียวกัน โดยที่เราเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อว่าจะมีความน่าสนใจ น่าสนุกทั้งคนจัดงานและผู้ร่วมงาน และจะทำให้คนมองภาพของ แก่น 555 ได้ชัดขึ้น ในฐานะผู้ริเริ่ม และชอบความแตกต่าง เราไม่ใช่นักจัดคอนเสิร์ต แต่เราจะเป็นผู้บริหารพื้นที่ ด้วยคอนเทนต์ทุกประเภทที่มีความพิเศษและน่าสนใจ ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเพลงเลยก็ได้ แต่เน้นงานที่โชว์ไอเดียและนำเสนอผ่านรูปแบบของ Show Biz เป็นหลัก แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เราต้องเริ่มจากสิ่งที่เรามีฐานและค่อนข้างแข็งแรง ก่อนจะค่อยๆ ต่อยอดและขยายออกไปสู่น่านน้ำใหม่ๆ เมื่อมีความพร้อมมากขึ้น”
เตรียมลุย Music Festival ระดับโลก
ในฐานะผู้ปลุกปั้นแบรนด์ Music Festival ให้ติดลมบนระดับประเทศมาหลายแบรนด์แล้ว ทำให้ป๋าเต็ดมีเป้าหมายที่จะสร้างแบรนด์ Music Festival แบรนด์ใหม่ๆ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท แก่น 555 ออกมาให้คนไทยได้รู้จักกันอีกแน่นอน รวมทั้งการร่วมมือกับ GMM GRAMMY เป็นผู้จัดงาน BIG Mountain ในปีที่ 9 ต่อ รวมทั้งโปรเจ็กต์สร้างงานดนตรีใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกในปีนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีแผนทำเมกะโปรเจ็กต์ร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง Cool Agency เพื่อจัดงาน World Music ขึ้นในประเทศไทย ที่สามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาร่วมงาน จนกลายเป็น Destination ทางดนตรีอีกแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากศักยภาพของประเทศไทยมีความสามารถที่จะจัดงานในสเกลใหญ่ที่รองรับงานระดับโลกได้ ประกอบกับการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงผู้จัดงาน World Tour ของศิลปินจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องพัฒนาทั้งคอนเทนต์และตัวศิลปินให้มีความน่าสนใจและแปลกใหม่ รวมทั้งเรื่องของการบริหารจัดการต่างๆ อย่างเป็นมืออาชีพ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับงานของตัวเองได้
“สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามให้ได้คือ การพัฒนาให้ธุรกิจโชว์บิซหรืองานที่จัดมีรายได้มาจากการขายบัตร ขายคอนเทนต์ในงานมากกว่ารอรายได้สนับสนุนจากสปอนเซอร์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ทำได้จะเป็นงานที่สามารถสร้างแบรนด์ดิ้งที่แข็งแรงแล้ว แต่ก็ยังมีอยู่ไม่มากนัก โดยทั่วไปธุรกิจโชว์บิซหรือการจัดคอนเสิร์ตจะต้องมีรายได้หลักจากการจำหน่ายบัตรไม่น้อยกว่า 70% รายได้จากสปอนเซอร์ไม่ควรเกิน 15-20% และส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้ที่มาจาก Commercial ที่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น การขายอาหาร เครื่องดื่ม หรือของที่ระลึกต่างๆ เกี่ยวกับงานหรือศิลปิน แต่ส่วนใหญ่การจัดงานของผู้จัดงานคนไทยส่วนใหญ่ ยังคงพึ่งพิงรายได้จากสปอนเซอร์อยู่ค่อนข้างมาก”
ป๋าเต็ด ทิ้งท้ายถึงความสำเร็จในการจัดงาน Music Festival จนสามารถสร้างแบรนด์ดิ้งของงานให้แข็งแรงระดับประเทศไทยได้ มาจากการให้ความสำคัญและต้องทำให้งานที่จัดได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นมาตรฐานและวิธีคิดเดียวกันกับการจัดงานใหญ่ระดับโลก เพราะหากคนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ หรือประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ ก็ไม่สามารถจัดงานให้สำเร็จลุล่วงได้ โดยเฉพาะงาน Big Mountain ที่จัดต่อเนื่องมาได้เกือบสิบปี เพราะเขาใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยว การจัดงานนี้จึงเท่ากับนำนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ ทั้งที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่ต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน ประกอบกับการการดูแลและปรับปรุงพื้นที่หลังจากจบงาน โดยไม่ทิ้งความเสียหายหรือเดือดร้อนแก่คนในพื้นที่ ทำให้ได้รับการยอมรับและสามารถจัดงานมาได้อย่างต่อเนื่องทุกปี