HomeBrand Move !!เปิดใจ “ต๊อด ปิติ” ดันธุรกิจอาหารกลุ่มบุญรอด โตด้วยวิธีจับมือคู่ค้า-ไม่พึ่งธุรกิจเบียร์

เปิดใจ “ต๊อด ปิติ” ดันธุรกิจอาหารกลุ่มบุญรอด โตด้วยวิธีจับมือคู่ค้า-ไม่พึ่งธุรกิจเบียร์

แชร์ :

เมื่อเอ่ยชื่อ “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการเป็นนักธุรกิจทายาทเบียร์สิงห์ หรือบทบาทการเป็นนักแข่งรถ แต่ในอีกมุมหนึ่งผู้บริหารหนุ่มคนนี้ มี Passion ด้านอาหารอย่างลึกซึ้ง เพราะได้ซึมซับจากการได้เห็นคุณย่าทำอาหารไทยดั้งเดิม ให้ลูกหลานรับประทานกัน จนกลายเป็นความผูกพันถึงทุกวันนี้ นอกจากความหลงใหลการทำอาหารแล้ว เขายังเป็นแม่ทัพใหญ่ “บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด” (Food Factors) บริษัทในกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำ “ธุรกิจอาหาร” ตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน และกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เผยว่า บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จะไม่ใช้บุญเก่าของธุรกิจเบียร์สิงห์ มาต่อยอดกลุ่มธุรกิจอาหาร ไม่แอ็คว่าตนเองยิ่งใหญ่ และใช้โมเดลสร้างพาร์ทเนอร์ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน มากกว่าจะไปกินรวบธุรกิจ !!!

“ธุรกิจอาหาร” โอกาสมหาศาล ที่ไม่โดน Digital Disruption

ก่อนจัดตั้งบริษัท “Food Factors” เดิมทีกลุ่มบุญรอดฯ เข้าสู่ “ธุรกิจร้านอาหาร” เมื่อ 5 – 8 ปีที่แล้ว ด้วยการตั้งบริษัท “EST.COMPANY (1933)” เพื่อบริหารจัดการธุรกิจเชนร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ “EST.33” เป็น Micro Brewery / ร้านเครื่องดื่มและของหวาน “Farm Design” / ร้าน “Star Chefs” ภายใต้คอนเซ็ปต์ Asian Fusion Food

ขณะเดียวกันกลุ่มบุญรอดฯ ยังได้ลงทุนบริษัทผลิตอาหารอีก 2 บริษัท คือ
“บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด” ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน
“บริษัท มหาศาล จำกัด” ผู้ดำเนินธุรกิจข้าวตราพันดี

หลังจากต่อจิ๊กซอว์ “ธุรกิจอาหาร” ได้สักพัก…มาวันนี้กลุ่มบุญรอดฯ ได้นำจิ๊กซอว์แต่ละตัวมาประกอบร่างกัน พร้อมทั้งก่อตั้งบริษัท “Food Factors” ดูแล 3 บริษัทย่อยดังกล่าว (EST. COMPANY, เฮสโก โซลูชั่น, บริษัท มหาศาล) เพื่อรุกธุรกิจอาหาร ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือการจัดหาวัตถุดิบ และกระบวนการผลิต ไปจนถึง “ปลายน้ำ” คือ การสร้างเครือข่ายช่องทางธุรกิจอาหาร ทั้งสร้างขึ้นเอง และใช้โมเดลจับมือกับพันธมิตรธุรกิจ

มองเห็นโอกาสธุรกิจอาหารอย่างไร ?

คุณปิติ : อาหาร คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประกอบกับธุรกิจอาหาร เป็น 1 ใน 2 ของธุรกิจที่ไม่โดนภาวะ Digital Disruption เหมือนเช่นธุรกิจอื่น ดังนั้นจึงตั้งบริษัทชื่อ “Food Factors” เพื่อสะท้อน 2 ความหมาย คือ

1. Factor หมายถึงปัจจัยความสำเร็จของการทำธุรกิจอาหาร ต้องมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบที่ดี (Raw Material) – มีโรงงานได้คุณภาพและมาตรฐาน – สินค้าดี – ช่องทางจำหน่ายดี

2. Factor หมายถึง อาหาร คือ หนึ่งในปัจจัยสี่ และเป็นธุรกิจที่ไม่โดนผลกระทบจาก Digital Disruption เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีของโลกจะก้าวหน้าไปเพียงใด มนุษย์ยังคงต้องกิน เพียงแต่ดิจิทัล ทำให้คนสะดวกซื้อ เช่น หาร้านอาหารที่ต้องการไปได้ง่ายขึ้น สะดวกและรวดเร็วขึ้น

“ใน 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจที่จะอยู่รอดคงกระพัน คือ “ธุรกิจอาหาร” และ “ธุรกิจท่องเที่ยว” นอกนั้นจะมี Disrupt เข้ามาทั้งจากเทคโนโลยี, คู่แข่ง และปัจจัยอื่นๆ แต่สำหรับ “ธุรกิจอาหาร” จะถูก Disrupt จากปัจจัยเดียวที่เป็นปัญหา หรืออุปสรรคใหญ่ของธุรกิจนี้ คือ ภัยธรรมชาติ ขณะที่ “ธุรกิจท่องเที่ยว” ไม่มีอะไรมาแทนที่ความรู้สึกของมนุษย์ผ่านการกิน และการเที่ยวได้ เพราะฉะนั้นทั้งสองตลาด ไม่มีทางเล็กลง มีแต่การแข่งขันจะสูงขึ้น”

กลยุทธ์บุกธุรกิจอาหารของ “Food Factors” ?

คุณปิติ : บริษัท “Food Factors” เป็นการประกอบร่างธุรกิจอาหารที่กลุ่มบุญรอดฯ สร้างขึ้นมาในช่วง 5 – 8 ปีที่ผ่านมา และปีนี้เป็นปีแรกที่นำสิ่งที่สร้างขึ้น มาประกอบร่างทั้งหมด เพื่อ Takeoff ธุรกิจ โดยได้วาง Roadmap สำหรับ Food Factors ภายใน 3 ปีนี้ (2561 – 2563) มีกรอบการลงทุน 2,500 ล้านบาท ใช้สำหรับขยาย “Food Network” หรือช่องทางการจำหน่าย ซึ่งเราใช้วิธีที่เรียกว่า “Reverse Engineering” นั่นคือ การหาช่องทางจัดจำหน่ายเป็นลำดับแรก ด้วยการสร้างเครือข่ายช่องทางจำหน่าย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งระดับอาเซียน และระดับโลก

“วิธีการ Reverse Engineering จะทำให้ “Food Factors” รู้ว่าสินค้าตัวไหนขายดี – ขายไม่ได้ สินค้าอะไรที่มีโอกาสสร้างการเติบโตให้กับเรา แล้วกลับมาพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งแตกต่างจากโมเดลธุรกิจอาหารแบบเดิมๆ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาโปรดักต์ก่อน แล้วจึงหาช่องทางจำหน่าย

ขณะที่การพัฒนาสินค้า เมื่อบริษัทมีเครือข่ายช่องทางจำหน่ายที่ขยายออกไป สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ มาตรฐานคุณภาพ ทั้งการคัดสรรวัตถุดิบมาผลิต และความเสถียรของรสชาติอาหาร เพราะฉะนั้นจึงได้ตั้ง “Food Lab” ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อการวิจัยและพัฒนาอาหาร โดยสินค้าอาหารที่เราจะพัฒนา มีทั้งอาหารไทย และอาหารตะวันตก แต่ขณะนี้เรามุ่งพัฒนา “อาหารไทย” ก่อน ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ Retort, อาหารแช่แข็ง หรือสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน”

โดยในปีนี้ ให้น้ำหนักกับตลาดในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% จากนั้นปี 2562 ตลาดไทย 50% และตลาดต่างประเทศ 50% ส่วนในปีถัดไป จะโฟกัสตลาดต่างประเทศมากกว่า คิดเป็นสัดส่วน 80% ขณะที่ตลาดไทยจะอยู่ที่ 20%

การขยาย Network ในเมืองไทย “Food Factors” จะสร้างขึ้นเอง ส่วนตลาดต่างประเทศ ในช่วงแรกเล็งที่ตลาดยุโรป โดยใช้วิธีสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ

เมินโมเดลกินรวบธุรกิจ !! ขอเลือกเส้นทางเติบโตร่วมกับคู่ค้า!!

เมื่อถามเจาะลึกถึง Partnership Model ?

แม่ทัพใหญ่แห่ง Food Factors ขยายความเพิ่มเติมว่า การเติบโตทางธุรกิจในยุคนี้ มีทั้งแบบโตคนเดียว และโตไปกับคู่ค้า ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทว่าจะกินรวบ หรือจะแบ่งกันกิน ไม่มีถูก-ไม่มีผิด

สำหรับ “Food Factors” มองว่า เครือข่ายช่องทางจำหน่าย จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราทำงานคนเดียว แต่เมื่อจับมือกับพาร์ทเนอร์ จะทำให้เกิด “Multiple Effect” เช่น Food Factors เป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัท A ซึ่งบริษัท A มีเครือข่ายในมืออีก 10 ราย นั่นเท่ากับว่าเราจะได้เพื่อนเพิ่มอีก 10 รายด้วยเช่นกัน นี่คือ พลังของ Multiple Effect

“มีบริษัทในโลกบางแห่ง ที่สามารถทำธุรกิจอาหารได้ครบวงจร แต่สำหรับ Food Factors มองว่าการที่เราเติบโตไปด้วยกัน ดึงพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถ มีความแข็งแรงอยู่แล้ว มาต่อจิ๊กซอว์ หรือมาประสานกัน จะทำให้ทั้ง Food Factors และพาร์ทเนอร์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

รูปแบบการสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ของ Food Factors จะร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยไม่จำเป็นว่าเราต้องถือหุ้นใหญ่ ขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจากับผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายราย ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 – 4 รายที่อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุน

โดยหลังจากได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนภายในไตรมาสสองแล้ว เชื่อว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้าง Food Network ให้กับสินค้ากลุ่มอาหารของบุญรอดฯ มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพราะการจับมือกัน ทำให้เกิด Synergy 1+1 = 3 โดยต่างคนต่างเป็นฟันเฟืองเสริมให้แก่กัน”

ไม่อาศัยบุญเก่าจากธุรกิจเบียร์

นอกจากตั้งบริษัท “Food Factors” แล้ว กลุ่มบุญรอดฯ ยังได้ลงทุนตั้งอีก 2 บริษัท ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ “คุณปิติ” ด้วยเช่นกัน คือ “บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด” และ “บริษัท เอสบีพี ดิจิทัล เซอร์วิส จำกัด” (SBP Digital Service) ดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัล โดยทั้งสองบริษัทจะเชื่อมโยง และสนับสนุน “กลุ่มธุรกิจอาหาร”

เนื่องจากธุรกิจอาหาร และซัพพลายเชน มีความเกี่ยวข้องกัน ขณะเดียวกันการลงทุนด้านบริการด้านดิจิทัล จะทำให้ต่อไปได้ Big Data นำมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า หรืออาจต่อยอดไปสู่การพัฒนาบริการด้านอาหารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลก็เป็นไปได้

ถึงตรงนี้ มีคำถามขึ้นมาว่าจะ Synergy กับสิงห์อย่างไร ?

คุณปิติ : Food Factors ไม่ได้ใช้ Network ของสิงห์ เพราะหลายครั้งที่เราเข้าไปคุยธุรกิจ ด้วยความใหญ่ขององค์กร ทำให้คนอื่นไม่อยากคุย ไม่เปิดใจ เราถึงตั้งบริษัทใหม่ เป็นบริษัทจำกัด ต่อไปผมไปในนาม Food Factors ไม่ได้ไปในนามบุญรอดฯ หรือสิงห์ เพราะถ้าไปในนามบริษัทใหญ่ เขาจะมีความรู้สึกว่าคุณทำเบียร์ แล้วคุณจะมาทำอาหารได้อย่างไร หรือเขาอาจจะมองเราด้วยความเข้าใจผิดไปว่า เราไม่ได้อยากทำอาหารจริงจัง แต่เพราะต้องการมาซื้อบริษัท

“เพราะฉะนั้นการตั้งบริษัทใหม่ เพื่อสร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ โดยเราจะไม่ใช้บุญเก่า และไม่ Act ว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เพื่อทำให้ Food Factor ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะถ้าเรายังเดินเข้าไปหาพาร์ทเนอร์ด้วยความเป็นตัวใหญ่ คงไม่มีใครอยากคุยกับเรา”

เป้าหมายภายใน 3 ปีของทั้ง 3 บริษัทใหม่ ?

คุณปิติ : เป้าหมาย 3 ปี ภายใต้ 3 บริษัทใหม่ของบุญรอดฯ ตั้งเป้าสร้างรายได้ 15,000 ล้านบาท จากปัจจุบันโครงสร้างรายได้มาจากกลุ่มซัพพลายเชนราว 2,500 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอาหาร (EST. COMPANY, เฮสโก โซลูชั่น, บริษัท มหาศาล) 2,500 ล้านบาท

และหากธุรกิจอาหารของบุญรอดดฯ บุกตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ มีแผนใช้โมเดลธุรกิจอาหารเป็นต้นแบบการขยายสู่ “ธุรกิจเครื่องดื่ม” เพื่อเปิดตลาดต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ยังวางแผนโยกฐานการผลิตของ บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด จากระทุ่มแบนและบริเวณย่านบางนา มาที่โครงการ “World Food Valley Thailand” จังหวัดอ่างทอง เพื่อรองรับกับความต้องการในอนาคต ขณะเดียวกันในโครงการดังกล่าวมีความพร้อมทางด้านการผลิตช่วยลดต้นทุนลงได้

“แม้จะประกอบร่างธุรกิจอาหารในเครือบุญรอดฯ ในปีนี้ แต่บริษัท Food Factors ไม่ได้เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ เพราะเรามีครบทุกมิติ ทั้งการสรรหาแหล่งวัตถุดิบคุณภาพ การผลิต ไปจนถึงระบบ Logistic และยิ่งเราหาพาร์ทเนอร์ได้ จะทำให้สเกลธุรกิจเราใหญ่ขึ้น สร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ และอำนาจต่อรองในต่างประเทศได้มาก”


แชร์ :

You may also like