HomeMediaสัมภาษณ์พิเศษ อ.แดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบท “บุพเพสันนิวาส” จนขึ้นแท่นละครแห่งชาติ

สัมภาษณ์พิเศษ อ.แดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบท “บุพเพสันนิวาส” จนขึ้นแท่นละครแห่งชาติ

แชร์ :

ไม่มีข้อสงสัยสำหรับความแรงของละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างหลากหลายปรากฏการณ์จนขึ้นหิ้งสุดยอดละครไทยในยุคทีวีดิจิทัลไปแล้ว เพราะมาเต็มทั้งเรตติ้งที่ตอนล่าสุดทะลุ 21.4 ในเขตกรุงเทพฯ ส่วนทั่วประเทศแตะระดับ 16 สร้างกระแสแจ้งเกิดนักแสดงแบบยกแผง ซึ่งไม่ใช่แค่พระเอกหรือนางเอกที่ขึ้นทำเนียบดาราห้างแตกรายล่าสุดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาสหายในเรื่อง และทาสคู่ใจทั้งของพี่หมื่นและแม่นายการะเกดที่ต่างตบเท้าดังกันไปอย่างถ้วนหน้า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Brandbuffet.in.th มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้สร้างสรรค์ตัวละครต่างๆ ในละครเรื่องนี้ ให้มีชีวิตและสร้างความสุขให้กับผู้คนไปทั่วทั้งพระนคร อย่าง อาจารย์แดง ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบทละครเรื่องบุพเพสันนิวาส และเป็นสุดยอดนักเขียนบทโทรทัศน์คนหนึ่งของประเทศไทย จากหลายๆ ผลงานที่ยังสร้างความประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ คู่กรรม สายโลหิต รัตนโกสินทร์ นางทาส ดอกส้มสีทอง และล่าสุดกับ ละครแห่งชาติอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งแน่นอนว่าทุกตัวอักษรจากปลายปากกาของ อ. แดง ศัลยา จนนำมาสู่บทละครโทรทัศน์ที่สมบูรณ์ ล้วนสะท้อนวิธีคิด มุมมองการทำงาน และประสบการณ์ที่สะสมมามากกว่า 30 ปี

และเพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับตัวตนและคงความเป็น อ.แดง ศัลยา ไว้ให้มากที่สุด Brandbuffet.in.th จึงเลือกที่จะนำเสนอในรูปแบบบทสัมภาษณ์ เพื่อรักษาอรรถรสจากการสนทนาและสามารถถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ไปสู่ผู้อ่านด้วยเช่นกัน

เสน่ห์ของ “บุพเพสันนิวาส” ที่ทำให้อาจารย์รับเขียนบทเรื่องนี้คืออะไร ?

“ต้องยอมรับว่าความคิดแรกหลังอ่านบทประพันธ์เรื่องนี้ จะรู้สึกว่าเนื้อเรื่องค่อนข้างยากที่จะทำเป็นละครให้ดึงดูดคนดู เพราะเป็นหนังสือที่ค่อนข้างเรียบร้อย ไม่มีอะไรหวือหวาตื่นเต้น ไม่มีความขัดแย้งอะไรในเนื้อเรื่องที่เป็นความรุนแรง ตัวละครก็ไม่ค่อยจี๊ดจ๊าดหรือมีสีสันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือ เป็นหนังสือที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกสวยงาม อ่อนโยน มีความ Feel Good ทำให้ได้เห็นภาพของความสงบร่มเย็นในอยุธยา และเรื่องราวต่างๆ ที่มีความน่ารัก ตั้งแต่นางเอกกับพระเอกที่มีความสัมพันธ์ที่น่ารักต่อกัน ทำให้ได้ลุ้นไปด้วย และเป็นความรักที่ไม่ได้อยู่บนความขัดแย้งอะไรที่รุนแรง”

“ดังนั้นเมื่อรับเขียนบทก็แอบมีความกังวลใจเล็กน้อย แต่ก็คิดอย่างหนึ่งว่าเรื่องนี้น่าจะทำให้คนดูมีความสุขได้ กับภาพในอดีตที่สวยงาม รวมทั้งความเชื่อใจว่าบรอดคาซท์จะทำละครออกมาได้ดี”

“อีกหนึ่งจุดเด่นของละครเรื่องนี้ คือความสมบูรณ์ของบทประพันธ์ เพราะไม่มีนิยายเรื่องไหนที่มีเนื้อหามากพอสำหรับการนำมาทำเป็นละครได้ทั้งเรื่องอยู่แล้ว บางเรื่องหยิบมาทำเป็นละครได้แค่ 20-30% แต่ต้นทางจากนิยายของบุพเพสันนิวาส ถือว่ามีเนื้อหาสมบูรณ์มากที่สุดตั้งแต่ครูเคยเขียนบทมา เรียกว่านำมาทำเป็นบทละครได้เกือบ 100% อย่าง “สายโลหิต” ก็อาจจะมีพล็อตเรื่องการเสียกรุงแค่ก้อนเดียว แต่บุพเพสันนิวาสจะมีก้อนเล็กก้อนน้อยหรือซับพล็อตมาเยอะมาก ทั้งความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง หรือการต่อสู้ของแต่ละตัวละคร สิ่งที่เราต้องทำก็คือการหยิบพล็อตเหล่านี้ขึ้นมาแล้วก็สร้างเป็นเรื่องราว”

ละครเรื่องนี้ใช้เวลาเขียนบทถึง 2 ปี อะไรคือความยากในการเขียนบทละครเรื่องนี้ ?

“แม้จะมีบทที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาแล้ว แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ใช้เวลาเขียนนานกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาในการค้นคว้าข้อมูลก่อนเขียน ต้องอ้างอิงจากหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ เป็นสิบเล่ม  เพราะบางครั้งประวัติศาสตร์ที่บันทึกจากแต่ละแหล่งก็ไม่ตรงกันบ้าง มีระยะเวลาที่เหลื่อมๆ กันอยู่ ต้องอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือที่สุด บางครั้งแค่การหาข้อมูลก็ใช้เวลาเป็นเดือน”

“ละครนี้ย้อนเรื่องราวไปในประวัติศาสตร์ที่ตัวละครบางตัวมีตัวตนอยู่จริง และมีหลายๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้ต้องไปค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาอ้างอิงให้มากที่สุด เพราะในหนังสือจะเป็นการเขียนในลักษณะพรรณนาโวหาร เป็นการบอกเล่าจากปากของตัวละคร หรือในภาษาละครคือไม่ได้ยกขึ้นมาเป็นซีน แค่เล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่การทำละครจะต้องเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียง แม้จะไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะทำได้แต่ก็ต้องใช้เวลาในส่วนนี้ค่อนข้างมาก”

“การที่ตัวละครมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์แล้วนำเรื่องราวมาเล่าเป็นละคร ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวละครพูดออกมา ต้องเป็นสิ่งที่จริง ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนคาแร็คเตอร์ บุคลิก ความคิด หรือสิ่งที่ตัวละครทำ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง การต่อสู้ ทุกอย่างต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทำให้ต้องสืบค้นต่อ ที่แม้จะยากแต่ก็สนุก ในบางพาร์ทที่ต้องอ้างอิงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่น โกษาเหล็กถึงแก่อนิจกรรมที่ต้องอ่านทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่อ่านแต่เรื่องราวของท่านโกษาเหล็กเท่านั้น แต่ต้องอ่านประวัติศาสตร์ที่อยู่ในช่วงนั้น พอเจอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องหรือพูดถึงโกษาเหล็กก็จะรวบรวมไว้จนได้ข้อมูลมากพอค่อยเขียนเป็นเรื่องราว  ดังนั้น กว่าจะทำให้ตัวละครพูดอะไรสัก 1 หรือ 2 ประโยค ก็ต้องหาข้อมูลอย่างมาก”

หนังสือบางส่วนที่ อ. ศัลยา ใช้อ้างอิงข้อมูล

หนังสือบางส่วนที่ อ.ศัลยา ใช้อ้างอิงข้อมูล

การเขียนบทละครที่ดีควรยึดตามบทประพันธ์เดิม หรือต้องเพิ่มอรรถรสให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น? 

“เรื่องนี้ไม่มีสูตรตายตัวขึ้นอยู่กับผู้เขียนบทแต่ละคนว่าจะมีวิธีแตกต่างกันอย่างไร บางคนก็อาจจะปรับเปลี่ยนเรื่องราวจากตัวหนังสือในนิยาย เพราะนิยายบางเรื่องแต่งมาแล้ว 40-50 ปี แต่ในส่วนของครูมีกฏประจำใจข้อหนึ่งว่า ครูจะไม่เปลี่ยน ครูจะคงความต่างๆ ที่มีอยู่ในนิยายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้บางอย่างครูอาจ Skip หายไป หรือบางอย่างเพิ่มเติมเข้ามา แต่ต้องอยู่ในกรอบ ครูจะไม่เปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ของนวนิยาย แต่อาจจะมีบางดีเทลที่ไม่เข้ากับยุคสมัยที่ถูกเปลี่ยน เช่น ความขัดแย้งของตัวละครคู่หนึ่งก็ต้องคงความขัดแย้งนั้นไว้ แต่เรื่องที่เป็นประเด็นในการขัดแย้งอาจจะเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของยุคสมัย”

“สิ่งที่ครูทำหลังจากอ่านนิยายแต่ละเรื่องคือ ต้องคลี่เรื่องราวทั้งหมดที่มีแล้วนำมาตัดเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์  อย่างในบุพเพสันนิวาส ครูจะแบ่งเป็นเรื่องราวของการะเกด ความโก๊ะของนางเอกที่อยู่ภายในบ้าน เหตุการณ์ไปเที่ยวเล่นต่างๆ ไปแข่งเรือ ไปก่อกองทราย แต่พอเข้าเรื่องประวัติศาสตร์ที่บางสถานการณ์อาจจะมีอยู่ในนิยายไม่กี่บรรทัด แต่เราต้องมาเล่าเรื่องราวเป็นตอนๆ แบบที่ได้ชมเวลาออกอากาศ ข้อมูลจะสำคัญมาก โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นคือ 1. ต้องเรียงลำดับเหตุการณ์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรก่อนหลัง 2. ต้องหารายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น เช่น เรื่องราวของโกษาเหล็ก การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ หรือการเสียชีวิตของฟอลคอน ความขัดแย้งของพระเพทราชาและฟอลคอน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฟอลคอนที่ต้องไปหาอ่านจากหอจดหมายเหตุของต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่เขียนบทมาละครเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ครูต้องไปค้นค้วาข้อมูลเพิ่มเติมมากที่สุดด้วย”

อาจารย์เขียนบทละครมากี่เรื่องแล้ว มีตัวละครไหนที่อาจารย์ชื่นชอบบ้าง ?

“ครูเขียนมาเกือบร้อยเรื่องได้แล้ว “โกโบริ -อังศุมาลิน” เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวละครที่ครูชอบ แม้เราจะไม่รู้ว่าคู่นี้จะมีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ว่าด้วยบริบทของเรื่องราวของทั้งคู่เป็นเรื่องที่เราประทับใจ อาจจะเพราะด้วยนิยายที่เขียนผ่านตัวหนังสือมาดีอยู่แล้ว สำนวนดี บทพูดดี แนวคิดก็ดี  เป็นหนึ่งในหนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง ชอบมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่เราจะได้เป็นคนเขียนบทเรื่องนี้ และพอได้มาเขียนบทเรื่องนี้ก็ดีใจ เพราะว่าในช่วงนั้นเราเพิ่งเริ่มต้นทำงานเขียนได้ไม่นาน ประมาณ 3-4 ปี เป็นเรื่องต้นๆ ในการเขียนบทละครของครู”

ละครเรื่อง “คู่กรรม” กับ “บุพเพสันนิวาส” มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

“สิ่งที่เหมือนกันคือมีความสนุกและคนดูชอบดู ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ละครประสบความสำเร็จคือ ทำให้คนดูสนุก  ซาบซึ้งและคล้อยตามและมีความสุขที่ได้ดู ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในส่วนของโครงเรื่องหรือรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะในยุค “คู่กรรม” ที่มีละครฉายอยู่แค่ 2 ช่องใหญ่ ทางเลือกคนดูในยุคนั้นต้องถือว่าน้อย แต่ในปัจจุบันละครบุพเพสันนิวาส อาจจะประสบความสำเร็จในมุมกว้างกว่า และแม้คนมีทางเลือกมากแต่ก็ยังเลือกที่จะดูละครเรื่องนี้ ถ้าจะพูดแบบภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า ละครเรื่องนี้ “โดน” คนดูมากกว่า”

“ในแง่การเกิดกระแสในวงกว้างเรื่องนี้ก็เป็นกระแสมากที่สุดแล้ว สามารถทำให้คนมีความสุขและสนุกกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในละคร อย่างช่วงแรกๆ ครูก็เขียนตามหนังสือเลย ครูยังแอบวิตกว่าบางตอนเหมือนไม่มีอะไรเป็นสาระแต่กลายเป็นว่าคนชอบ ก็จะรู้สึกว่าเราคาดคะเนอะไรจากคนดูไม่ได้เลย แต่นี่คือสิ่งที่ทำให้คนดูมีความสุข และที่สำคัญเลยคือ ละครเรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจคำว่า “พรุ่งนี้คุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง” อย่างแท้จริง เพราะคนพูดถึงกันทั้งเมืองจริงๆ ทำให้คนในบ้านกลับมานั่งดูละครด้วยกันเป็นโมเม้นต์ที่มีความสุข โดยเฉพาะปู่ย่าตายายที่มีลูกๆ หลานๆ มานั่งดูละครกับตัวเอง และยังทำให้คนหันกลับมาสนใจเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยไอีกครั้ง”

ยุคสมัยที่ต่างกันทำให้การเขียนบทมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างเช่น “สายโลหิต” ปี 2538 กับ ปี 2560 ซึ่งอาจารย์เป็นผู้เขียนบททั้งสองเวอร์ชั่น?  

“สำหรับละครสายโลหิตทั้ง 2 เวอร์ชั่นนี้ ต้องถือว่ามีการปรับเปลี่ยนบทไปด้วยตัวของมันเอง เพราะสายโลหิตจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ไปจนถึงการเสียกรุง และการมาตั้งราชธานีใหม่ แต่รายละเอียดของเรื่องราวในส่วนนี้ ปัจจุบันจะมีข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าเรื่องราวที่มีในช่วงตอนที่เขียนบทละครสายโลหิตในเวอร์ชั่นแรก ทำให้ตอนที่เขียนครั้งแรกอาจจะมีพล็อตอยู่แค่ก้อนเล็กๆ แล้วเราก็ใช้ข้อมูลเท่าที่เรามีอยู่ในตอนนั้นมาประกอบการเขียนเป็นเรื่องราวออกมา แต่ตอนนี้ข้อมูลที่เราได้เพิ่มเติมทำให้ขนาดของพล็อตมันมีมากขึ้น มันใหญ่ขึ้น ครูก็ต้องมาปรับ มาเปลี่ยนแปลง ทำให้จะมีบางภาพ บางแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิมอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เหมือนกันยังเป็นโครงเรื่องใหญ่ เรื่องราวสำคัญๆ ที่ยังต้องคงไว้เป็นเหมือนเดิมเพราะว่าต้นทางของเรื่องมันมาจากหนังสือเรื่องเดียวกัน”

อาจารย์มีประเภทของบทละครที่ชื่นชอบเป็นพิเศษหรือไม่ ?

“เอาเป็นแนวที่ครูไม่อยากเขียนดีกว่า เพราะแนวอื่นๆ ทั่วไปก็น่าจะเขียนได้ แต่ที่ไม่อยากเขียนจะเป็นละครตลก และละครผี เพราะเขียนละครผีไม่เก่ง เขียนแล้วไม่น่ากลัว ครูไม่รู้ว่าจังหวะไหนที่ต้องปล่อยผีหรือเก็บผีตอนไหน รวมทั้งเป็นคนไม่ชอบดูหนังผีด้วย เพราะว่าครูกลัวผี ส่วนละครตลกอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนที่มีมุกตลกอะไรมาก ทำให้เราไม่ถนัด”

“ครูเคยได้ลองเขียนละครผีบ้างอย่างละครภาพอาถรรพ์ ก็ต้องยอมรับว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ละครผีเรื่องแรกที่ครูเขียนคือ เรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นผีชัดเจน แต่เป็นเรื่งของปู่โสมเป็นเรื่องราวการปกป้องสมบัติ แต่ภาพอาถรรพ์จะเป็นแนวละครผีแบบทั่วๆ ไป ส่วนละครตลกที่เคยเขียนคือตองหนึ่ง มีสิเรียม และหรั่ง รัฐธรรมนูญ เล่น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง”

“ยังมีงานละครแนวทั่วไปที่ครูเคยเขียนก็มีบ้างอย่างเรื่องทายาทป๋องแป๋ง  ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อมาหลายคนก็คิดไม่ถึงว่าเป็นงานที่ครูเขียน เพราะดูจะสวนทางกับงานที่เราเคยเขียน ซึ่งเป็นงานที่ครูทำให้ดีด้า ที่ช่อง 7 ซึ่งช่วงนั้นก็จะมีคนเขียนบทประจำอยู่ไม่กี่คน เราก็จะสลับกันเขียนวนกันไป เหมือนได้รับมอบหมายจากบริษัทมาก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องเขียน แต่ฟีดแบ็คออกมาก็สนุกดี เราเขียนไปก็รู้สึกสนุก รวมทั้งนักแสดงอย่างอัษฎาวุธก็เล่นดีด้วย รวมทั้งบทสาวประเภทสองที่วุธเคยเล่น เราก็เป็นคนเขียนให้ ซึ่งในช่วงนั้นก็ต้องไปค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดแปลงเพศมาอ่าน ทำให้ได้ความรู้และกระบวนการก่อนการผ่าตัดแปลงเพศว่าเป็นอย่างไร”

งานของอาจารย์หลายชิ้นคนมองว่าเป็น Masterpiece มีวิธีสร้างแรงบันดาลใจหรือไอเดียอย่างไร และคิดว่าลายเซ็นต์ของ “ศัลยา” คืออะไร?

“คำว่า Masterpiece ต้องดูว่าเป็นบรรทัดฐานของใคร วัดจากอะไร เพราะทุกงานเราเต็มร้อยทั้งหมด แต่บางงานคนอื่นอาจไม่ได้มองว่าป็น Masterpieces เพราะจะแตกต่างกันไปทั้งแนวเรื่อง โครงเรื่อง ส่วนในมุมมองของครูอาจจะวัดจากสิ่งที่สะท้อนกลับมาจากรอบๆ ตัวครูเอง อย่างคู่กรรม สายโลหิต รัตนโกสิทร์ นางทาส ดอกส้มสีทอง ก็อาจจะอยู่ในระดับนั้นได้”

“เราไม่เคยกดดันเพระว่าทุกงานเราเต็มร้อยทุกเรื่อง จะดีหรือไม่ดีก็ต้องให้คนอื่นตัดสิน เพราะสิ่งที่เต็มร้อยของเราจะไปอยู่ใน Ranking ที่เท่าไหร่ของคนอื่น หรือเมื่อไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ จะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่อง ในส่วนของครูเองส่วนที่อยู่บนยอดของครูก็ยังคงเป็น “คู่กรรม” แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เป็นกระแส ถ้าคู่กรรมอยู่บนยอดปิรามิด ตอนนี้ก็อาจจะมี “บุพเพสันนิวาส” ที่ขึ้นมา หรือบางเรื่องที่อยู่ตรงแค่ฐานก็มี แต่ทุกเรื่องครูไม่เคยเขียนหย่อนกว่าร้อย เราจะทำเต็มที่ ส่วนจะเป็น Masterpiece หรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่ครูจะกำหนดได้ เพราะพอเรื่องนี้จบไปเรื่องใหม่มา เราก็ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จได้มากเหมือนเรื้องนี้หรือเปล่า”

“ครูจะอ่านหนังสือเยอะ เมื่อก่อนอ่านวันละเป็นสิบเล่มและสามารถอ่านได้จบภายในวันเดียว แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลา อายุครูก็มากขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนครูสามารถเขียนบท 1 ตอนจบได้ภายในวันเดียว แต่ตอนนี้บางทีใช้เวลา 7 วันก็มี เพราะร่างกายและสมองเราไม่ได้ไวเหมือนเดิม ส่วนคนที่อ่านงานของเราบ่อยๆ ก็จะบอกได้ว่างานแบบนี้คือเรา อาจจะด้วยความที่เราอายุมาก ผ่านชีวิตมาเยอะทำให้งานเรามีเอกลักษณ์ เช่น การใช้ถ้อยคำที่สละสลวย แล้วหยิบมาใช้ได้โดนใจคน”

“สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการเขียนบทคือ วิชาสังคมวิทยา คนที่อยากเขียนบทละครของไทยให้ดี ต้องเข้าใจวิชาสังคมวิทยา เพราะเป็นวิชาที่ว่าด้วยพฤติกรรมของคน จะเข้าใจได้ว่าคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะมีเหตุผลหรือเป็นเพราะอะไร แต่เป็นคนละเรื่องกับจิตวิทยา แม้ทั้งสองวิชาจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมคนเหมือนกัน แต่จิตวิทยาจะเป็นพฤติกรรมทางจิต แต่สังคมวิทยาจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากสังคม หมายถึง สิ่งรอบข้างที่มีผลกับพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัว โรงเรียน สังคม ทำให้เราเข้าใจตัวละครมากขึ้น และจะมีหลายๆ ทฤษฎีที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการเขียนบทละคร”

ก่อนเขียนบทต้องทราบก่อนหรือไม่ว่านักแสดงเป็นใคร จะช่วยให้คาแร็คเตอร์ของตัวละครชัดเจนขึ้นหรือไม่?

“คำนึงถึงเหมือนกัน ถ้าได้รู้ก็ดี เพราะเวลาได้เรื่องที่ต้องเขียนมาครูก็จะพยายามถามผู้จัดว่าใครเล่น เพราะถ้าเรารู้ว่าเป็นใคร เราจะรู้รูปลักษณ์ เห็นวิธีการเล่น การพูดการจา การวางตัวของเขา บางคนก็จะดูดีไปหมดไม่ว่าจะทำอะไร อย่าง “ณเดชน์” เป็นหนึ่งคนที่ทำอะไรก็ดูดี แต่บางคนเราก็ต้องหามุมเพื่อดึงเสน่ห์เขาออกมา ตอนนี้ครูเขียนบทอยู่เรื่องหนึ่งคือ “ซ่านเสน่หา” ก็อยากให้ณเดชน์มาเล่นเป็นพระเอก เพราะรู้สึกว่าบทเหมาะกับเขา เขาเป็นคนที่เล่นละครเก่ง เล่นมาจาก Inner ซึ่งบทละครที่ครูเขียนมาก็ยังไม่มีเรื่องไหนที่ณเดชน์เล่นเป็นพระเอกเลย”

“อย่างบทของคุณยายศรี (บรรเจิดศรี ยมาภัย คุณแม่ของ อ.แดง เล่นเป็นคุณยายของเกศสุรางค์ในเรื่อง) เราก็ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นคุณยายเล่น และก็ไม่ได้ปรับบทให้เล่นได้ง่ายขึ้น เพราะคุณยายก็แสดงได้อยู่แล้ว แต่อาจจะมีปัญหาในการจำบทบ้าง ซึ่งผู้กำกับก็จะคอยบอกบทดังๆ ให้คุณยายตลอด ส่วนเรื่องของแอคติ้งแม่ทำได้สบายอยู่แล้ว”

อาจารย์มีหลักในการรับงานอย่างไร และวัดความสำเร็จของละครในแต่ละเรื่องอย่างไร?

“เริ่มจากต้องลองอ่านก่อน ถ้าเรื่องไหนอ่านแล้วรู้สึกไม่สนุกก็จะไม่เขียน ส่วนเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกว่าสนุกและมีทางให้ขยายความต่อได้ชัดขึ้น หรือสามารถใส่อะไรที่น่าสนใจลงไปได้ก็อยากจะเขียน เพราะเราจะคำนึงด้วยว่าบทละครที่เราเขียนจะให้อะไรกับสังคมได้บ้าง เราก็จะใส่เรื่องราวเหล่านี้ไปในบทโดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อพูดเรื่องนี้ก็ต้องใส่สิ่งเหล่านี้ไปในบทด้วย เพราะครูเป็นครู ครูจะไม่ปล่อยผ่านเด็ดขาด ครูจะใส่เมื่อจำเป็นต้องใส่ หรือแม้ว่าไม่มีความจำเป็นให้ใส่ แต่ครูก็จะเพียรพยายามต้องหามาใส่”

“อย่างครูเขียนเรื่องบุพเพสันนิวาส ครูก็คิดแล้วว่าคนดูที่มองย้อนกลับไปในยุคอยุธยาจะอยากรู้เรื่องอะไร หรือแม้ว่าคนดูอาจจะไม่อยากรู้ แต่เราอยากที่จะให้คนดูได้รู้ก็จะใส่ลงไป นอกเหนือจากภูมิทัศน์ที่สวยงาม ก็จะมีเรื่องของระบบข้าราชการต่างๆ  หรือเรื่องซ่านเสน่หาที่กำลังเขียนก็จะมีมุมที่แทรกในเรื่องของการใช้ความรุนแรง การทำร้ายผู้หญิง เราก็หยิบยกคดีความที่เกี่ยวข้องใส่เพิ่มเติมเข้ามา”

“ส่วนมาตรวัดความสำเร็จทั่วไปของบริษัทละครหรือสังคมอาจจะวัดด้วยเรตติ้ง แต่ก็จะมีละครบางเรื่องที่ผู้จัดหรือคนทำละครไม่ได้คาดหวังในจุดนั้น แต่อยากทำละครเพื่อให้คนดูรู้สึกว่าได้อะไรจากการดูกลับไป โดยที่ไม่แคร์เรตติ้งก็มีอยู่เหมือนกัน ก็ถือว่าเป็นหนึ่งความสำเร็จ เพราะเราต้องยอมรับว่าคนดูในประเทศก็มีหลายระดับ และละครเป็นความบันเทิงที่อยู่ใกล้ตัวโดยเฉพาะคนที่อาจไม่มีทางเลือกมากนักและไม่ได้ชอบอะไรที่ซับซ้อนหรือต้องคิดเยอะ ครูอยากที่จะทำละครให้คนเหล่านี้ดู อยากจะย่อยจนทำให้คนเหล่านี้ดูรู้เรื่อง เพราะความสุขของคนเหล่านี้ไม่ได้มีหลายอย่างมากนัก และจะดีมากขึ้นถ้าสามารถให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้ แม้ในเวลานี้เราอาจจะยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร นี่คือสิ่งที่ครูมีความสุข”

 ปัจจุบันมีสื่อแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ในมุมคนเขียนบทต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ?

“ครูก็ยังทำงานเหมือนเดิม เหมือนที่เคยทำมาเมื่อ 10-20 ปีก่อน ครูยังคงเต็มร้อยกับทุกเรื่อง ทุกอย่างที่เขียน เมื่อไหร่ที่เรายังรู้สึกว่าไม่ใช่ก็จะยังไม่เริ่มเขียน จนกว่าจะรู้สึกว่ามันใช่ถึงค่อยเริ่มลงมือเขียน ดังนั้น ครูก็จะมีความมั่นใจอย่างมากในทุกสิ่งทุกอย่างที่ครูเขียน  ทุกอย่างจะผ่านการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดีแล้ว งานทุกชิ้นของครูจะมีวิธีทำ วิธีคิด วิธีใส่รายละเอียด วิธีควบคุมงานจะเป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง และครูจะเต็มร้อยเสมอ สื่อต่างๆ หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ จะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหนแต่ครูก็จะยังทำงานแบบนี้ของครูเช่นเดิม เพราะครูก็ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องของแพลตฟอร์ม หรือวิธีการต่างๆ เราก็แค่ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่เท่านั้น”

หากละครหนึ่งเรื่องเปรียบได้กับการทำอาหาร คนเขียนบทจะมีหน้าที่อะไรในการทำอาหารจานนี้?

“บทประพันธ์เดิมที่สำเร็จแล้วไม่ต่างจากการมีอาหารที่ทำสำเร็จแล้วไว้หนึ่งจาน เพื่อพร้อมเสิร์ฟให้คนกินซึ่งก็คือคนอ่าน แต่พอจะมาทำเป็นบทละคร ก็จะเข้าสู่กระบวนการในการเปลี่ยนหน้าตาของอาหารจานนี้ให้แตกต่างออกไปจากเดิม คนเขียนบทก็ต้องเข้ามาดูว่าจะสามารถต่อยอดอาหารจานนี้ไปสู่อาหารจานใหม่ได้อย่างไร โดยที่วิธีการทำงานหรือการปรุงอาหารจานใหม่นี้จะต้องอาศัยองค์ประกอบจากหลายๆ ส่วนเข้ามาช่วยกันทำ ไม่สามารถทำงานคนเดียวแบบที่นักประพันธ์ทำได้”

“ที่สำคัญอาหารจานนี้ จะต้องถูกเสพทั้งจากตาและหู ต่างจากแค่การอ่านหนังสือที่อาจจะเสพได้จากความเข้าใจของผู้อ่าน แต่ละครเรื่องหนึ่งต้องมีองค์ประกอบที่มากกว่านั้น ทั้งนักแสดงเองที่ไม่ต่างจากการเป็นวัตุดิบที่ดี เพราะเป็นหน้าตาหลักของอาหารจานนี้ รวมทั้งฝีมือการแสดงที่จะทำให้อาหารมีรสชาติที่ดี ขณะที่ผู้กำกับก็จะมาคอยดูแลการปรุงรสชาติให้ออกมาอร่อยถูกใจผู้ชม แม้แต่องค์ประกอบจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ สถานที่ ฉาก ไปจนถึงคนใส่เสียงประกอบต่างๆ ดังนั้น คนที่ทำงาน Production ต่างๆ ก็จะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่เข้ามาช่วยกันปรุง มาช่วยกันทำอาหารจานนี้ร่วมกัน ก่อนที่จะเสริฟไปให้กับคนจำนวนมากที่รอชมอยู่” 

มุมมองของอาจารย์ นักเขียนบทที่ดีต้องเป็นอย่างไร และอยากบอกอะไรกับนักเขียนรุ่นใหม่ๆ บ้าง?

สำหรับคำถามนี้ อ.แดง ทิ้งท้ายไว้อย่างอารมณ์ดีว่า “ครูได้คำถามแบบนี้เยอะมาก และครูก็ไม่อยากตอบเลย วันนี้ครูก็เล่าวิธีการทำงานของครูให้ฟังไปหมดแล้ว ใครที่อยากเป็นนักเขียนบทที่ดีก็ลองไปศึกษาวิธีการทำงานแบบที่ครูทำดู แม้ว่าความสำเร็จจะไม่สามารถก็อปปี้กันได้ คนอื่นๆ อาจจะไม่ได้สำเร็จในรูปแบบเดียวกับที่ครูเป็น แต่คุณก็จะได้ความสำเร็จในรูปแบบของคุณเอง แต่ขอให้เวลาที่ทำอะไรต้องให้ใจกับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ เหมือนกับที่ครูเต็มที่ทุกครั้งเวลาที่ครูเขียนบท แต่ใครจะมาบอกให้ครูช่วยสอนเขียนบท ครูสอนไม่ได้ แต่ครูช่วยดูได้ ต้องลองไปอ่านลองไปเขียนแล้วเอามาให้ครูดู ครูสามารถบอกได้ว่าตรงไหนดีแล้ว ตรงไหนต้องแก้ไข แต่ถ้าจะให้ครูสอนแบบที่เป็นเรื่องตามหลักวิชาการครูคงสอนให้ไม่ได้ เพราะครูเองก็ไม่ได้เรียนเรื่องของการเขียนบทมาเหมือนกัน อาศัยที่ชอบอ่าน และเรียนรู้จากประสบการณ์ล้วนๆ ”

Photo Credit : Facebook Broadcast Thai Television


แชร์ :

You may also like