HomeBrand Move !!เปิดปมเบื้องหลัง “กลุ่มคิง เพาเวอร์” ทุ่ม 14,000 ล้าน ซื้อโครงการมหานคร

เปิดปมเบื้องหลัง “กลุ่มคิง เพาเวอร์” ทุ่ม 14,000 ล้าน ซื้อโครงการมหานคร

แชร์ :

“โครงการมหานคร” ของ “บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หนึ่งในอภิมหาโปรเจคใจกลางกรุงเทพฯ ที่สร้างกระแส Talk of the town มาตลอด ทั้งงบลงทุนสูงถึง 22,000 ล้านบาท ตึกที่มีความสูง 314 เมตร จำนวน 77 ชั้น ได้ชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นตึกสูงที่สุดในไทย หวังจะให้เป็น Landmark ของกรุงเทพฯ ไปจนถึงงานเปิดตัวอลังการเมื่อปี 2559 ที่จัดเต็มทั้งแสง สี เสียง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ด้วยงบลงทุนมหาศาล ประกอบกับ “เพซ ดีเวลลอปเมนท์” เดินหน้าพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ เช่น โครงการมหาสมุทร โครงการนิมิตหลังสวน สิ่งที่ตามมาคือ แบกรับภาระหนี้ก้อนใหญ่กว่า 30,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นเพื่อพยุงสถานการณ์การเงินไม่ให้ทรุดไปกว่านี้ “เพซ ดีเวลลอปเมนท์” จำใจต้องตัดขายทรัพย์สินบางส่วนออกไป หนึ่งในนั้นคือ “โครงการมหานคร”

และในที่สุดวันนี้ได้ผู้ที่มาซื้อโครงการมหานครแล้ว นั่นคือ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” ปิดดีลที่มูลค่า 14,000 ล้านบาท โดยการเข้าซื้อทรัพย์สินฯ ครั้งนี้ ได้เข้าถือครองทรัพย์สินในตึกมหานคร ได้แก่ โรงแรม จุดชมวิว Observation Deck ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น อาคารรีเทลมหานครคิวป์ รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม

ส่วนเหตุผลที่ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” กล้าทุ่ม 14,000 ล้านบาท เพื่อซื้อโครงการมหานคร มาจาก 3 เรื่องหลักคือ

1. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยขยายตัว ทุกวันนี้ “การท่องเที่ยว” กลายเป็น 1 ใน 2 อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย (อีกหนึ่งอุตสาหกรรม คือ ภาคการส่งออก) โดยในปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 2.52 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 2560 ยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย สูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 35 ล้านคน และทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.7 ล้านล้านบาท

สำหรับในปี 2561 รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว แตะระดับกว่า 3 ล้านล้านบาท รวมทั้งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน

นักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะคนจีน ปัจจุบันถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุดของไทย และเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” เช่นกัน

2. “โครงการมหานคร” จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมให้กับ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยยุทธศาสตร์ของ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” คือ ต้องการเป็นบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจค้าปลีก และสามารถให้บริการในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว

จะเห็นได้ว่าจากจุดเริ่มต้นของ “คิง เพาเวอร์” ในฐานะเป็นดิวตี้ฟรีรายใหญ่ของไทย ซึ่งเป็นขาหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันอาณาจักรแห่งนี้ได้ขยายไปยังธุรกิจต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับ Core Business ของตัวเอง และภาคการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม ดำเนินการโดย “บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด” บริหารจัดการ “โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ”

ดังนั้นการได้โครงการมหานครมาอยู่ใน Business Portfolio จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ต่อไป “กลุ่มคิง เพาเวอร์” สามารถนำมา Synergy กับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในเครือได้ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกและท่องเที่ยว

3. โอกาสสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ในทรัพย์สินที่ได้มา เพราะทำเลที่ตั้งของโครงการมหานคร อยู่ในย่าน CBD ถือเป็นไข่แดงของกรุงเทพฯ ที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน เพราะถ้าดูจากจุดแข็งของทรัพย์สินที่ได้มา ตึกมหานครเป็นหนึ่งในอาคารที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพ และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาใช้บริการ เช่น จุดชมวิว Observation Deck ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดในประเทศไทยที่เห็นวิว 360 องศาทั้งวิวเมืองและโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา และบริการต่างๆ ทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีชื่อเสียง และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงจากทั้งในและนอกประเทศ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” จึงมองว่าโครงการแห่งนี้ ต่อไปจะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร

ต้องติดตามกันต่อว่าการซื้อทรัพย์สินโครงการมหานครครั้งนี้ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” จะสามารถต่อยอดจากสิ่งที่ได้มา เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับธุรกิจโดยรวมหรือไม่ ?!

 

Credit Photo (ภาพนักท่องเที่ยว) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like