HomeBrand Move !!จับตา 5 จุดเปลี่ยน “ศูนย์การค้าไทย” พลิกโฉม Retail Landscape ครั้งสำคัญ

จับตา 5 จุดเปลี่ยน “ศูนย์การค้าไทย” พลิกโฉม Retail Landscape ครั้งสำคัญ

แชร์ :

ในขณะที่ “ธุรกิจค้าปลีก” ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่แบรนด์ ช้อปในอเมริกาทยอยปิดตัวกันโครมๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการเงินสะสมตั้งแต่เมื่อครั้ง Hamburger Crisis และการบูมของอีคอมเมิร์ซ ทำให้คนเลือกสั่งซื้อสินค้าผ่านบริการออนไลน์ แต่เมื่อมองมาที่ประเทศไทย กลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ยิ่งในกลุ่ม “ศูนย์การค้า” Retail Developer ต่างเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ พร้อมทั้งรีโนเวทสาขาเก่า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ศูนย์การค้า” ในไทย ไม่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่อเมริกา มาจากการ “ปรับตัว” ของ Retail Developer ใน 5 เรื่องใหญ่ ที่จะทำให้ “ศูนย์การค้า” เป็นมากกว่าสถานที่ช้อปปิ้ง แต่ต้องตอบโจทย์การสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จาก E-Commerce

ทั้ง 5 องค์ประกอบนี้ เป็นสิ่งที่ต้องมีสำหรับการทำศูนย์การค้ายุคดิจิทัล และต่อไปจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น

1. เชื่อมต่อ “แพลตฟอร์ม” ออฟไลน์ กับออนไลน์

ต่อไป “ธุรกิจค้าปลีก” จะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างแพลตฟอร์มออฟไลน์ และออนไลน์เหมือนเช่นในอดีตอีกแล้ว แต่จะผสานรวมกัน ทำให้เกิดโมเดล “Omni-channel” ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ ที่เลือกซื้อสินค้าจากหลากหลายช่องทาง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลายคนได้ยินโมเดลค้าปลีก “Omni-channel” มาระยะหนึ่งแล้ว แต่การเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่มีช่องทางการให้บริการ 2 ช่องทาง คือ ออฟไลน์ และ ออนไลน์ แล้วจะหมายความว่าเป็น “Omni-channel” นั่นคือ ความเข้าใจที่ผิด!! เพราะ “Omni-channel” ที่แท้จริงต้องอยู่บน 4 แกน

ดร. ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมของ “Omni-channel” คือ E-Business ที่ประกอบด้วย 4 แกนรวมกัน คือ1. E-Commerce การซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ / 2. E-Finance เช่น QR Code ช่วยทำให้การซื้อขายสะดวกและรวดเร็วขึ้น / 3. E-Logistic / 4. E-data หรือ Big Data

“ค้าปลีก Omni-channel เป็นการซื้อขายที่มีทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ขณะเดียวกันการซื้อขายนั้น ต้องมี E-Finance ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าว่าจะจ่ายที่หน้าร้าน หรือจ่ายผ่านออนไลน์ เช่น ลูกค้าจองสินค้า และหยิบใส่ไว้ในตะกร้าออนไลน์แล้ว โดยลูกค้าต้องการมารับสินค้าที่ร้าน พอมาถึงที่ร้าน ทางร้านค้าสามารถกดดูรายการที่ลูกค้าสั่งจองไว้ ขณะเดียวกันลูกค้าก็สามารถชำระค่าสินค้าผ่านออนไลน์ได้ทันทีเช่นกัน นี่คือ E-Financee ที่ทำให้การใช้บริการ Omni-channel ง่าย และสะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตามการใช้ E-Finance อย่างแพร่หลาย คงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี เพราะส่วนหนึ่งคนไทยคุ้นเคยกับการรูดเครดิตการ์ด แต่ปัจจุบันจำนวนเครดิตการ์ดในไทย มี 22 ล้านใบ หรือมีจำนวนคนถือ 6 ล้านคน เท่ากับว่าอีก 60 ล้านคน ยังไม่มีเครดิตการ์ด เพราะฉะนั้นเขาคุ้นเคยกับการไปกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม หรือใช้เดบิตการ์ด ดังนั้นต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยให้กับคนไทย”

ที่สำคัญในยุค “Mobile First” ที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ที่คนเราพกพาไปทุกหนแห่ง ทำให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ดังนั้นศูนย์การค้า ควรทำ Mobile Communication ผนวกกับการนำ Big Data ที่ได้จากแหล่งต่างๆ เช่น CRM, Social Media มาวิเคราะห์ เพื่อแบ่ง Segmentation กลุ่มลูกค้า สำหรับนำเสนอโปรโมชั่น ข้อมูลข่าวสารให้ตรงกับความต้องการและความสนใจของผู้บริโภคแต่ละเซ็กเมนต์ และถ้าลงลึกไปกว่านั้นคือ ในระดับ Personalization

2. “ร้านอาหาร” แม่เหล็กดึงลูกค้าใช้บริการค้าปลีกออฟไลน์

ในอดีตสิ่งที่เป็นแม่เหล็กดึงคนเข้ามาเดินศูนย์การค้า เป็นสินค้าของใช้ เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ทุกวันนี้โจทย์ของธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ หรือ Brick-and-mortar ปรับตัวเองให้ไม่จำกัดอยู่แค่การเป็นสถานที่ช้อปปิ้งเท่านั้น แต่ได้นิยามตัวเองใหม่เป็นสถานที่ที่ให้ผู้คนได้มา “ใช้ชีวิต” ตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละคนและหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ คือ “อาหารการกิน” กลายเป็นเรื่อง “Social” และ “ความบันเทิง” หรือ “ความสนุก” ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ภายในค้าปลีกสมัยใหม่ เซ็กเมนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้เพิ่มพื้นที่ “โซนร้านอาหาร” มากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 25 – 30% ของพื้นที่รวมค้าปลีกนั้นๆ

สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบัน “ร้านอาหาร” กลายเป็นหนึ่งใน “แม่เหล็กสำคัญ” ของค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะเป็นตัวดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการและใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็น “โอกาสธุรกิจ” ของบรรดาร้านอาหาร ทั้งเชนรายใหญ่ และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ที่เมื่อธุรกิจโตได้ถึงระดับหนึ่ง แน่นอนว่าผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็กส่วนใหญ่ อยากขยายเข้าไปตั้งสาขาในค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะมองว่าจะทำให้แบรนด์ของตนเองเป็นที่รู้จักมากขึ้น และขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น

3. “Immersive Experience” สร้างศูนย์การค้าเป็นมากกว่าที่ช้อปปิ้ง

ศูนย์การค้าในปัจจุบัน ก้าวข้ามจากการเป็นเพียงสถานที่ช้อปปิ้ง ไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางการใช้ชีวิต” แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ หัวใจสำคัญคือ การสร้างประสบการณ์ที่ลงลึกระดับเรียกว่า “Immersive Experience” คือ การดึงคนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่ศูนย์การค้า และแบรนด์สินค้า-บริการนำเสนอ มากกว่าจะมุ่งแต่ขายของอย่างเดียว

เช่น การเติมแม่เหล็กด้าน Entertainment Lifestyle ซึ่งคำว่า Entertainment ในทีนี้ ไม่ได้หมายความแค่เพียงโรงภาพยนตร์ ลานโบลลิ่ง หรือสวนน้ำอย่างในอดีตแล้ว แต่ยังรวมถึงการจัดอีเว้นท์หมุนเวียน และสิ่งที่อยู่ประจำ เช่น พื้นที่ Family Playground

นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดกิจกรรม Workshop แต่งหน้า แต่งตัว ทำงานประดิษฐ์ หรือภายในร้านหนังสือ จากในอดีตจำหน่ายหนังสือและเครื่องเขียน ก็เพิ่มกิจกรรม Workshop ในร้าน หรือถ้าเป็นร้านจำหน่ายเครื่องกีฬา มีพื้นที่ให้ลูกค้าได้ทดลองเล่นโยคะ มีลู่วิ่งให้ทดลองวิ่งจริง

Photo Credit : Facebook CentralPlaza Nakhon Ratchasima

ที่สำคัญการสร้าง “Immersive Experience” ต้องแบ่งเซ็กเมนต์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม ด้วยการวิเคราะห์จาก Big Data อย่างกรณีศูนย์การค้าในเครือ “CPN” ภายในปี 2562 ศูนย์การค้าแต่ละสาขา ต้องสามารถวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าที่มาเดิน และปรับจากที่เคยแบ่งเซ็กเมนต์ตามหลักประชากรศาสตร์ (Segment by Demographic) ไปจัดแบ่งเซ็กเมนต์ตามไลฟ์สไตล์ (Segment by Lifestyle) ของกลุ่มลูกค้าที่มาเดินศูนย์การค้านั้นๆ เพื่อนำเสนอโปรโมชั่น ข้อมูลข่าวสาร สินค้า-บริการให้ตรงกับความต้องการและความสนในของลูกค้าแต่ละไลฟ์สไตล์

ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ฉายภาพว่าปัจจุบันถ้ามองในภาพรวมศูนย์การค้าเครือ CPN ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกไลฟ์สไตล์ ซึ่งถ้าแบ่งเป็นเซ็กเมนต์กลุ่มลูกค้าฐานใหญ่ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มครอบครัวลูกเล็ก การมาศูนย์การค้าของผู้บริโภคกลุ่มนี้โฟกัสกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กเป็นหลัก เพราะฉะนั้นศูนย์การค้าต้องมีโรงเรียนสอนพิเศษด้านต่างๆ ห้องน้ำสำหรับเด็กเล็ก ความบันเทิงสำหรับเด็ก

2. กลุ่มครอบครัวลูกโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การมาศูนย์การค้าของผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะไปใช้บริการร้านอาหาร และบริการต่างๆ

3. กลุ่มวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะมากันเป็นกลุ่มเพื่อน ต้องการพื้นที่ที่ให้เขาได้แสดงออก เช่น พื้นที่ซ้อมเต้น และมีกิจกรรมสำหรับใช้เวลาว่างๆ กับเพื่อน

4. กลุ่มคนเริ่มทำงาน (First Jobber) กิจกรรมที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ทำกันเวลามาศูนย์การค้า คือ ใช้บริการร้านอาหาร และช้อปปิ้งสินค้าแฟชั่น

ขณะเดียวกันเมื่อสังคมไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) มากขึ้น “CPN” มีแผนจะบริการด้าน Wellness เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้

4. Local Brand – Private Label สร้างความแตกต่าง

เวลาไปศูนย์การค้า ไม่ว่าที่ไหน สาขาใดจะเจออินเตอร์แบรนด์หลักๆ คล้ายกัน แน่นอนว่าแบรนด์ใหญ่ยังคงเป็นแม่เหล็กสำคัญ แต่ขณะเดียวกันศูนย์การค้า ต้องการสร้างความแตกต่างด้วยเช่นกัน เพื่อสร้าง “Store Loyalty” หรือความภักดีของลูกค้าที่มีต่อสโตร์นั้นๆ

กลยุทธ์ที่ศูนย์การค้าใช้สร้างความแตกต่าง คือ 1. การดึง “Local Brand” หรือแบรนด์ท้องถิ่น เข้ามาอยู่ในศูนย์การค้ามากขึ้น เช่น แบรนด์สินค้าหมวดต่างๆ ของผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะในรูปแบบจัดพื้นที่ให้เปิดช้อป รวมถึงจัดอีเว้นท์ รวบรวมสินค้าน่าสนใจของผู้ประกอบการรายย่อย และ 2. จำหน่าย “Private Label” ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของ Retailer เอง

5. Service ดี มัดใจลูกค้าให้ไม่ไปไหน

นอกจากอีเว้นท์จะกลายมาเป็นเครื่องมือดึงคนเข้ามาเดินในศูนย์การค้าแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ยังทำให้ “ศูนย์การค้า” ตอบโจทย์ประสบการณ์ได้ดีกว่าการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ คือ “บริการ” ที่ไม่ใช่แค่เพียงบริการพื้นฐานทั่วไป แต่ต้องเป็นบริการที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคนี้ เช่น เพิ่มพื้นที่นั่งเล่นมากขึ้น พื้นที่ Co-working Space พื้นที่ Outdoor รวมไปถึงบริการ Click and Collect สำหรับลูกค้าสั่งซื้อผ่านออนไลน์ แล้วอยากมารับสินค้าด้วยตัวเองที่สาขา

กรณีศึกษา “โรบินสัน” ปลดล็อคจากการเป็นห้างสรรพสินค้า ไปสู่ “ศูนย์การค้าในเมืองรอง”

ในอดีต “โรบินสัน” นิยามตัวเองว่าเป็นค้าปลีกเซ็กเมนต์ห้างสรรพสินค้า ที่ขยายไปตามการเปิดตัวของศูนย์การค้า แต่ปัจจุบันโอกาสการเติบโตทางธุรกิจไม่ได้อยู่เฉพาะแค่การเป็นห้างสรรพสินค้าเท่านั้น หากแต่ยังเป็น “Retail Developer” ที่ลงทุนพัฒนาโครงการศูนย์การค้า และบริหารพื้นที่เช่าด้วยเช่นกัน ภายใต้ชื่อ “โรบินสันไลฟ์สไตล์” ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขยายศูนย์การค้าของ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ที่ได้กำหนด Brand Portfolio ธุรกิจค้าปลีกในเครือไว้อย่างชัดเจน นั่นคือ

– จังหวัดใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว ใช้ศูนย์การค้า “เซ็นทรัลพลาซา” และ “เซ็นทรัล เฟสติวัล” ภายใต้การบริหารของซีพีเอ็น

– จังหวัดรอง หรือเมืองรอง ใช้ “ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์” ภายใต้การบริหารของโรบินสัน เป็นทัพหลักในการรุกตลาด

– จังหวัดเล็ก หรือโลเกชั่นที่ไม่สามารถเอาศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสันไลฟ์สไตล์ไปลงได้ ได้ให้ “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” ที่พัฒนาโมเดลใหม่ “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” และ “ศูนย์การค้าท็อปส์ พลาซ่า” เสริมทัพเชนซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่เดิมคือ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่, ซูเปอร์คุ้ม

– ย่านชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กลุ่มเซ็นทรัลใช้เชนร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” เป็นหัวหอกหลักในการเข้าถึงผู้บริโภคตามชุมชนต่างๆ โดย “แฟมิลี่มาร์ท” ก็ได้พัฒนารูปแบบสาขาที่หลากหลาย ทั้งขนาดใหญ่ เช่น สาขาสุขุมวิท 33 ที่มี 2 ชั้น และสาขาฮอลิเดย์ อินน์ สีลม เป็นสาขาต้นแบบของการพัฒนาภายใต้แนวคิด One Stop Shopping Destination รวมถึงโมเดลขนาด 1 ห้องอาคารพาณิชย์ สำหรับโลเกชั่นที่มีพื้นที่จำกัด และเปิดตามอาคารสำนักงาน และในพื้นที่ค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล

ปัจจุบันจำนวนสาขาโรบินสัน (มีนาคม 2561) มี 46 สาขา แบ่งเป็นดีพาร์ทเมนต์สโตร์ 26 สาขา และศูนย์การค้า 20 สาขา โดยเฉลี่ยเปิดสาขาใหม่ 2 – 3 แห่งต่อปี ซึ่งตั้งเป้าภายในปี 2565 จะมีสาขารวมกัน 59 สาขา

ทิศทางการขยายสาขาของ “โรบินสัน” ให้ความสำคัญกับการเปิด “ศูนย์การค้า” มากขึ้น ดังที่ คุณวุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า วันนี้ทั้ง 2 ธุรกิจ คือ ศูนย์การค้า และดีพาร์ทเมนต์สโตร์ มีขนาดธุรกิจใกล้เคียงกัน แต่ในส่วนการพัฒนาศูนย์การค้า ปัจจุบันกลายเป็น Big Contribution ในแง่ผลกำไรให้กับบริษัทฯ

อย่างในปี 2561 มีแผนลงทุน 1,000 ล้านบาท สำหรับเปิดสาขา “ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ สาขาชลบุรี” บริเวณด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ (สาขาลำดับที่ 47 และเป็นสาขาลำดับที่ 21 ในรูปแบบศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์) จากนั้นในไตรมาส 4 เตรียมเปิด “ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ชัยภูมิ” (สาขาลำดับที่ 48 และเป็นลำดับที่ 22 ในรูปแบบศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์)

“ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์” ได้วางคอนเซ็ปต์ “Eat-Shop-Play” เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับชุมชนในโลเกชั่นนั้นๆ (Center for Community)

ในส่วน “Eat” จะเพิ่มสัดส่วนการให้บริการร้านอาหารมากขึ้น เดิมทีจัดสรรพื้นที่ “ร้านอาหาร และฟู้ดคอร์ท” อยู่ที่ 25% ของพื้นที่รวมในแต่ละสาขา แต่ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 30% เนื่องจากเทรนด์ร้านอาหารรายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยช่องว่างที่โรบินสันต้องการเติมเต็มในส่วนนี้ คือ การดึงผู้ประกอบการร้านอาหารไทย มาเช่าพื้นที่เปิดร้านกับโรบินสัน เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสโตร์ จากในปัจจุบันร้านอาหารที่ขยายไปกับค้าปลีกสมัยใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นของเชนร้านอาหารรายใหญ่

“Shop” การรุกตลาดกลุ่มสินค้าที่ทำการตลาด และจัดจำหน่ายโดยโรบินสัน หรือ Private Label โดยเมื่อปีที่แล้ว มีสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ 11.3% และตั้งเป้ายอดขายในปีนี้เติบโต 13% ซึ่งสินค้า Private Label ที่ได้การตอบรับดีจากลูกค้า ได้แก่ Just Buy, Payless ShoeSource, Baby shop, F.O.F, Home&Co

“ด้วยความที่วันนี้จำนวนสาขาของโรบินสัน มี 46 โลเกชั่น จึงต้องมีสินค้าหลากหลาย เพื่อครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค แต่วันนี้เราพบว่าบางกลุ่มสินค้ายังไม่มี Supplier ที่สามารถขยายไปกับเราได้ทั้ง 46 สาขา หรือมากขึ้นเมื่อเราเปิดสาขาเพิ่มขึ้น ในขณะที่การทำดีพาร์ทเมนต์สโตร์ และศูนย์การค้า ต้องมีสินค้าหลากหลาย และมีคุณภาพ โดยที่สามารถคลอบคลุมได้ทุกสาขา ดังนั้นบางกลุ่มสินค้า เราจึงต้องมาทำ “Private Label” เอง เพื่อจะได้เพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และตอบสนองความคุ้มค่า คุ้มราคา”

นอกจากนี้ขยับสู่ยุค “Omni-channel” โดยใช้จุดแข็งจำนวนสาขาโรบินสันที่กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ ผสานเข้ากับระบบช้อปปิ้งออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ประสบการณ์การช้อปปิ้งทั้งออฟไลน์ และออนไลน์เข้าด้วยกัน

“Play” คือ การเติมแม่เหล็กด้านความบันเทิงสำหรับคนทุกวัย เข้าไปภายในตัวศูนย์ฯ เช่น Play Land พื้นที่ความสนุกของเด็ก และการจัดกิจกรรม หรืออีเว้นท์หมุนเวียน

“การทำค้าปลีกวันนี้ เราต้องนำเสนอคอนเทนต์ที่อยู่ภายในศูนย์ให้มีความน่าสนใจ เพราะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน พักผ่อนตามศูนย์การค้า หรือดีพาร์ทเมนต์สโตร์อาทิตย์ละครั้ง เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความบันเทิงด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ จะเป็นแม่เหล็กที่ทำให้ค้าปลีก Brick and Mortar ยังคงเชื่อมโยงกับผู้บริโภค”

Credit Photo (ภาพ Omni-channel, Shopping Online) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like