เพราะการศึกษา คือ หัวใจสำคัญของการพัฒนามนุษย์ ที่จะมาเป็นแรงขับเคลื่อนความเป็นไปของสังคมในทุกด้าน แต่จากความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทุกเรื่อง การที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จึงต้องเริ่มเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน ที่จะเติบโตขึ้นไปทำงานและใช้ชีวิตในโลกอนาคต จึงมีแนวคิดปรับระบบการศึกษาที่เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบเดิมๆ ไปสู่การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งขณะนี้มีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับแนวความคิดนี้ แต่การนำเอาใช้จริงยังอยู่ในแวดวงที่จำกัดพอสมควร ขณะองค์กรภาคเอกชนก็เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย
ล่าสุด บริษัทซัมซุง ได้จัดแคมเปญสื่อสารระดับภูมิภาค “From Educate to Inspire” ที่พูดถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ใหม่ พร้อมสนับสนุนให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของ โครงการ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” (Samsung Smart Schools) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษาของบริษัทที่มอบแรงบันดาลใจให้กับเด็ก และเยาวชนทั่วโลกไปแล้วกว่า 1,400,000 คน จากกว่า 3,200 โรงเรียน ใน 93 ประเทศทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทยเองได้ส่งต่อแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ผ่านทางโครงการเพื่อสังคมที่ชื่อว่า Samsung Smart Learning Center หรือ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคตที่ดำเนินโครงการมาถึงปีที่ 6 แล้ว และมีการสร้างต้นแบบ ห้องเรียนแห่งอนาคตให้เกิดขึ้นใน 47 โรงเรียนทั่วประเทศ
สิ่งที่ซัมซุงจะได้รับจากการจัดโครงการดังกล่าว คงไม่ได้แปรออกมาเป็นรูปตัวเลขยอดขาย หรือส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น แต่หนีไม่พ้นเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ ที่สะท้อนให้เห็นว่าซัมซุงไม่ได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสินค้าออกมาเพื่อขาย สร้างผลกำไรเป็นหลักเท่านั้น แต่ยังมุ่งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ได้ในทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านการศึกษาด้วย
สำหรับห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุงที่จัดทำขึ้น คือ การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซัมซุง มาเสริมการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน และใช้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม (Active Learning) โดยให้เด็กได้รู้จักการตั้งคำถาม และการสืบค้นข้อมูลผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซัมซุง รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย ส่วนครูจะทำหน้าที่สำคัญในลักษณะของการเป็นโค้ช หรือผู้อำนวกระบวนการเรียนรู้ (Coach/Facilitator)
โดยโครงการ Samsung Smart School ได้มีการสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายและบุคคลทั่วไป ด้วยการปล่อยคลิปวิดีโอ เรื่อง “The Little Pilot” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการค้นพบของเด็กๆ กระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของห้องเรียนกับการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการตั้งคำถามและคิดแก้ปัญหา ต่อยอดจินตนาการ และนำไปสู่การค้นพบคำตอบในที่สุด ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 13 ล้านวิวเลยทีเดียว
https://www.youtube.com/watch?v=ecTBqLdjBDo
นอกจากคลิปวิดีโอที่แนะนำห้องเรียนแห่งอนาคต ให้กลุ่มเป้าหมายได้มองเห็นแนวคิดของโครงการแล้ว ซัมซุงยังปล่อยคลิปวิดีโอสั้น ความยาว 1 นาที อีก 3 เรื่อง ที่สร้างจากเรื่องราวของเด็ก 3 คน จากโครงการ Samsung Smart Learning Center เพื่อแสดงให้เห็นว่า เด็กๆ สามารถเรียนรู้ คิดค้น สืบหาข้อมูล เพื่อค้นหาคำตอบจากคำถามที่เขาคิดขึ้น โดยประยุกต์ใช้กระบวนการและเทคโนโลยี ที่ซัมซุงสนับสนุนให้กับห้องเรียนแห่งอนาคต เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของห้องเรียนเรียนแห่งอนาคต และผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว
เรื่องแรกเป็นเรื่อง ปราสาทของเจ้าชายกบ ของเด็กหญิงชมพู่ ที่ชอบอ่านนิทานเรื่องเจ้าชายกบ และมีความต้องการที่จะสร้างบ้านให้กับเจ้าชายกบอยู่สบายที่สุด เลยคิดหาคำตอบว่าบ้านแบบไหนจะอยู่สบายที่สุด จึงได้มีแนวคิดในการสร้างบ้านหลายๆ แบบให้กบได้อยู่ พร้อมกับการสังเกตพฤติกรรมและบันทึกผลต่างๆ จนค้นพบกับคำตอบที่ต้องการ ความสำเร็จดังกล่าว จึงได้สร้างแรงบันดาลใจที่จะไปหาคำตอบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกด้วย เป็นการเติมเต็มกับความฝันของเด็กหญิงชมพู่ที่ในอนาคตเธอต้องการเป็นนักชีววิทยา
https://www.youtube.com/watch?v=O3en_7huvoQ
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ เรื่องฟ็อกกี้ใบตอง ของเด็กชายอ๊อด ที่มีภาระกิจในการหาใบตองมาให้แม่ใช้สำหรับรีดผ้า ทำให้เขาไม่สามารถไปเล่นกับเพื่อนๆได้ จึงมีความคิดที่จะหาเครื่องทุ่นแรงเพื่อให้แม่รีดผ้าได้ง่าย โดยที่เขาไม่ต้องมีภาระในการหาใบตองให้แม่ในทุกๆ เย็น ซึ่งเขาและเพื่อนๆ ก็ร่วมกันคิดประดิษฐ์ของที่จะมาใช้งาน คิดค้นหาคำตอบ และทดลองทำจนได้สเปรย์รีดปรี๊ด ซึ่งเขาเองมองว่าห้องเรียนแห่งอนาคต เปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นที่เขาและเพื่อนๆ สามารถคิดสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ที่จะมาสร้างฝันในอนาคตที่เขาอยากเป็นนักประดิษฐ์ให้มีโอกาสเป็นจริงได้ด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=jTI-IssceAg
ส่วนเรื่องสุดท้าย เรื่อง มะนาว ของเด็กหญิงจ๋า ซึ่งที่บ้านมีสวนมะนาว และเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า มะนาวนอกจากมีความเปรี้ยวแล้วยังจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีก ซึ่งจากการสังเกตและทดลองจนรู้ว่ามะนาวช่วยขจัดสนิมเหล็กได้ เป็นการค้นพบจากสิ่งเล็กๆ รอบตัวที่เห็นอยู่ทุกวัน ที่อนาคตเธออาจจะคิดสูตรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วย เพียงแต่จะต้องลองศึกษาดู ตามความฝันที่เธออยากจะโตขึ้นเป็นนักเคมีนั่นเอง
https://www.youtube.com/watch?v=sR-Qnnlx5AA
นอกจากนี้ ซัมซุงจุดกระแสต่อให้เป็น Topic ใหญ่ขึ้นด้วยการ ดึงเอาบุคคลสำคัญจากวงการต่างๆ ที่มีความเชื่อเดียวกันว่า การเรียนรู้ที่ดี ต้องมาพร้อมกับการสร้างแรงบันดาลใจ การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการลงมือทำ และนำศาสตร์ต่างๆมาบูรณาการเข้าด้วยกัน มาบอกเล่าเรื่องราวสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็น หมอเจี๊ยบ ลลนา ที่มีมุมมองต่อโครงการว่า เป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้กับเด็กในยุคปัจจุบัน ที่ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ ทำให้เขามีการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เป็นการเปิดโลกทัศน์ในหลายๆ ด้าน
“โครงการ Samsung Smart Learning Center เป็นโครงการที่ดีมาก เป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืน แถมมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้การเรียนรู้สนุกมากยิ่งขึ้น ทำให้น้องเขาได้เปิดโลกทัศน์ แล้วเอาไปต่อยอดในอนาคตได้ด้วย”
ขณะที่ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ สะท้อนให้เห็นถึงข้อดีของ โครงการ Samsung Smart Learning Center ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กอยากรู้จักกับโลกที่กว้าง และโครงการยังสามารถดึงคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์โดยตรงมาร่วมให้ข้อมูลกับเด็ก หรือแม้แต่คุณครูก็ยังได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วย ทำให้เด็กได้ความรู้ที่ทันสมัย และมีความหลากหลายของความรู้
ส่วน ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ บุคคลที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาและจินตนาการ ได้มีมุมมองต่อโครงการ Samsung Smart Learning Center ว่า เป็นโครงการที่ล้ำสมัย เพราะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะหาความรู้ที่ทันสมัยได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
“เราปฎิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมันมาแล้ว ทำอย่างไรให้เราได้ประโยชน์จากมันมากที่สุด ทำอย่างไรให้เด็ก Digital Native ที่เกิดมามีดิจิทัลรายล้อมรอบเขา นำเทคโนโลยีไปใช้กับการเรียนรู้ สู่กระบวนการคิด วิเคราะห์ เข้าไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในตำรา”
ปิดท้ายด้วย คุณนุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา นักแสดงมากความสามารถ ที่ทลายกำแพง ด้วยการเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ในยุคที่ค่านิยมของผู้หญิงเรียน STEM น้อยมากๆ
“ความรู้เฉพาะด้าน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเราก็จริง แต่การที่จะเก่งอย่างเดียว มันอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ เราต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง”
บุคคลทั้ง 4 เป็นเพียงตัวอย่างของกลุ่มที่มาเป็น campaign endorser เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อดีของห้องเรียนแห่งอนาคต (SSLC) ผ่านช่องทางการสื่อสารรายการรถโรงเรียนของช่อง GMM25 และ Facebook Page ของ The Matter ด้วย เพื่อตอกย้ำแนวคิดของซัมซุง ที่มุ่งสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ตามสโลแกน “เพราะเราไม่ได้ให้แค่ความรู้ แต่เราให้แรงบันดาลใจ”
สามารถติดตามข้อมูลของโครงการห้องเรียนแห่งอนาคต Samsung Smart Learning Center ได้ที่ http://www.samsung.com/th/aboutsamsung/sustainability/corporate-citizenship/education/smart-school/ หรือ หรือ Facebook Page Samsung Smart Learning Center