เอสซีจี ผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และชุมชน ขับเคลื่อน “โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ” ร่วมพลิกฟื้นชุมชนแออัดรอบบึงบางซื่อ มุ่งเป็นต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่งในต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง จัดสรรพื้นที่อย่างคุ้มค่า มีพื้นที่ส่วนกลางใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต้นแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดโอกาสร่วมกันออกแบบที่อยู่อาศัยที่ลงตัวกับทุกวิถีชีวิต กระตุ้นให้เกิดการออมในชุมชน และต้นแบบบึงน้ำสวนสาธารณะ เพื่อเป็นแก้มลิงและแหล่งพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ คาดโครงการแล้วเสร็จปี 2563
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด “โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ” ณ พื้นที่บึงบางซื่อ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้แก่ เอสซีจี สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรุงเทพมหานคร และกรมธนารักษ์
“สำหรับโครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชนและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ช่วยนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดซึ่งมีปัญหาทั้งในเรื่องของสุขอนามัย ความปลอดภัย รวมทั้งการเข้าถึงระบบการบริการของภาครัฐก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากไม่มีทะเบียนราษฎร์ รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญที่จะเข้ามาจัดระเบียบ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โครงการดังกล่าว จึงถือเป็นต้นแบบที่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการประชารัฐ พร้อมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนฐานราก โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านอาชีพ และการจัดหาที่อยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 61 ไร่ ในอดีตเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เคยเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ ซึ่งสมัยนั้นนับว่าอยู่ห่างไกลจากใจกลางเมืองอย่างมาก เอสซีจี จึงได้จัดสร้างบ้านพักให้กับคนงานและครอบครัวในบริเวณโดยรอบ จนเมื่อหยุดการใช้งานในปี พ.ศ.2511 จึงได้ปรับเป็นพื้นที่บึงน้ำสาธารณะ จากนั้นมีผู้ทยอยเข้ามาสร้างที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 5 ชุมชน รวมประมาณ 250 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 1,300 คน มีสภาพความเป็นอยู่แออัด ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า การจัดการขยะ ถนนเข้าออก และเกิดปัญหาต่างๆ หลายประการ
“เอสซีจี มุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งได้เล็งเห็นว่า ปัจจุบันบึงบางซื่อเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง ที่มีบึงน้ำขนาดใหญ่ สามารถใช้เป็นแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งยังเป็นปอดและแหล่งพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ ได้ จึงต้องการมอบที่ดินผืนนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเมื่อมีโครงการสานพลังประชารัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบึงบางซื่อเป็นหัวใจสำคัญ”
สำหรับแผนการพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน และการพัฒนาบึงน้ำสาธารณะโดยการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน จะก่อสร้างที่พักอาศัยทั้งสิ้น 197 ยูนิต เป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ 60 ยูนิต อาคารชุดพักอาศัย 4 ชั้น 3 อาคาร 133 ยูนิต และบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีรายได้ อีก 4 ยูนิต โดยจัดพื้นที่ส่วนกลางสำหรับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง คาดว่าในส่วนของที่พักอาศัยจะแล้วเสร็จในปี 2563 จากนั้นจึงจะพัฒนาบึงน้ำสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไป โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท
นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้ มุ่งหวังให้เป็นต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน 4 ด้าน คือ หนึ่งใน “ต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ” ที่ขับเคลื่อนโดยพลังประชารัฐอย่างแท้จริง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน “ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง” ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากที่ดินใจกลางเมืองที่มีราคาสูง ออกแบบให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน จึงจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลาง โดยมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อลดโอกาสความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ เช่น สนามเด็กเล่น ลานอเนกประสงค์ พื้นที่สีเขียว รวมทั้งสร้างบ้านกลางให้ผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยเพียงลำพัง มีปัญหาสุขภาพและไม่สามารถผ่อนสินเชื่อได้ “ต้นแบบการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย” ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบบ้านที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิก การวางผังบ้านที่ให้ความเป็นธรรมในเรื่องทำเล การประกอบอาชีพ และข้อจำกัดส่วนบุคคล จึงทำให้มีที่อยู่อาศัยทั้งแบบอาคารชุดและบ้านพื้นราบ การจัดระบบเลือกตำแหน่งบ้านที่รักษาความผูกพันในชุมชน รวมทั้งบริหารจัดการการอยู่อาศัยในอนาคตเมื่อทุกคนเข้ามาร่วมกัน นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการออมทรัพย์ เพื่อให้สามารถขอสินเชื่อจาก พอช. ในการสร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยในช่วงเวลา 1 ปี 8 เดือน ชุมชนออมได้แล้วกว่า 6 ล้านบาท และ “ต้นแบบบึงน้ำสวนสาธารณะ” เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบึงน้ำ สามารถพัฒนาเป็นแก้มลิงของกรุงเทพฯ ช่วยแก้น้ำท่วม ทั้งยังสามารถพัฒนาให้เป็นบึงน้ำสวนสาธารณะที่มีความร่มรื่น สวยงาม เหมาะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
ทั้งนี้ ความร่วมมือประกอบด้วย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน 200 ล้านบาท ช่วยเติมเต็มให้ชุมชนได้บ้านที่เสร็จสมบูรณ์ มีสวนและพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน การรถไฟแห่งประเทศไทย อนุญาตให้เช่าใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก สำนักงานเขตจตุจักร อนุญาตการก่อสร้างในพื้นที่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งให้กับชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนการปรับปรุงสะพานปากทางถนนเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร แสดงเจตนารมณ์ร่วมพัฒนาบึงน้ำสวนสาธารณะ กรมธนารักษ์ รับมอบและดูแลที่ดินจาก เอสซีจี ซึ่งจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงต่อชุมชนสืบไป
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า “พอช. ได้เข้าไปช่วยจัดที่อยู่อาศัยใหม่ ปรับภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเข้าใจ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน ให้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบที่อยู่อาศัย รวมทั้งบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล สร้างให้เกิดเป็นสังคมเกื้อกูลกัน ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเจริญในพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้คนในชุมชนมีชีวิตที่มั่นคง และเป็นชุมชนที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต”
“ดีใจที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชน พัฒนาพื้นที่ ให้ชาวบ้านได้มีถนน รถเข้าออกได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เวลาเจ็บป่วยหรือมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถช่วยกันได้ทันท่วงที ทำให้เหมือนมีตัวตน มีศักดิ์ศรีในสังคม ได้รับสิทธิ์ที่ชาวบ้านไม่เคยมีมาก่อน ได้มีทะเบียนบ้าน มีน้ำ มีไฟฟ้า เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่โชคดีสำหรับคนที่ไม่เคยมีอะไรมาเลย” นางณิชกรานต์ ผกานนท์ ที่ปรึกษาสหกรณ์เคหะสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด กล่าว
“เราจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา มีฝ่ายที่ดูแลการออกแบบเข้ามาชวนคุย หาแบบบ้านที่ชุมชนต้องการร่วมกัน รวมถึงสิ่งที่เด็กๆ อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นให้พ่อมีงาน มีรายได้ที่มั่นคง พวกเราไม่เคยคาดคิดว่า วันหนึ่งจะมีโอกาสที่ดี มีบ้านที่สวยงามขนาดนี้ สิ่งที่เราได้มันเกินกว่าที่ฝันไปมาก ทั้งถนนหนทางที่จะดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น คนในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญกับการออมเงินร่วมกันมากขึ้น มีความสามัคคี มาช่วยกันคิด แสดงความคิดเห็น เพื่อพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น” นายมานะ เพ็งคาสุคันโธ กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ริมน้ำมั่นคง กล่าวปิดท้าย
โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนในรูปแบบภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนเมืองในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้อย่างแท้จริง