HomeFeaturedส่องเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต กับเหล่ากูรู Startup ไทย

ส่องเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต กับเหล่ากูรู Startup ไทย

แชร์ :

ในยุค Technology Disruption ที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบในการใช้ชีวิตของผู้คน หรือในการแข่งขันของโลกของธุรกิจก็ตาม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน และช่วยตอกย้ำคำกล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี เมื่อลองย้อนกลับไปดูบริษัทระดับโลกที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทด้านพลังงาน คอนซูเมอร์โปรดักต์ ค้าปลีก รถยนต์ แต่ในปัจจุบันบริษัทที่ติดอันดับมูลค่าสูงสุดระดับโลกต่างมีสถานะเป็น Tech Company ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Apple, Amazon, Alphabet รวมทั้ง Microsoft บริษัทหนึ่งเดียวที่ยังคงรักษาตำแหน่งหัวตารางใน Most Valued US Companies จากเมื่อสิบปีก่อนไว้ได้โดยไม่หลุดโผไปเหมือนบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงพลังของเทคโนโลยีที่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของผู้คน แม้หลายคนจะมองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งไกลตัว แต่ในทางกลับกันต่างก็รับสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะความสามารถที่ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งหากเทคโนโลยีต่างๆ มีราคาที่ผู้คนทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้ ก็จะยิ่งทำให้การใช้งานแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

แม้ปัจจุบันเรายังไม่สามารถคาดเดาหรือเห็นภาพที่ชัดเจนของโลกในอนาคตได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนแล้วก็คือ จากนี้ไปเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางและความเปลี่ยนแปลงของโลก นั่นจึงทำให้เหล่านักรบในธุรกิจสตาร์ทอัพทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากมีภารกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ Pain Point ที่ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างกำลังเผชิญอยู่ ขณะที่นโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 4.0 ทำให้หลายๆ ฝ่ายตื่นตัวและพร้อมตั้งรับเพื่อป้องกันการถูก Disrupt จากการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเข้ามาสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ ส่งผลให้ Startup Ecosystem ในประเทศไทยเริ่มแข็งแรงและพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนไปสู่โลกอนาคตได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ส่องเทคโนโลยีอนาคต ผ่านมุมมองกูรูสตาร์ทอัพไทย

Brand Buffet มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมงานเปิดตัวบริษัท Singha Ventures ภายในงานมีการพูดคุยถึงประเด็นที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน จึงอยากขอยกมาเล่าสู่กันฟัง…โดยจะเป็นมุมมองจากผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพ และรับฟังทรรศนะทั้งจากผู้บริหารธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงมุมมองจากฝั่งของผู้ให้การสนับสนุนเหล่าสตาร์ทอัพ ในหัวข้อ “The World in 2030 and how start-ups will shape it”

เริ่มที่ SEA หรือชื่อเดิมคือการีน่า บริษัทสตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่เติบโตจากแพลตฟอร์มเกม และขยายมาสร้าง Gamer Community ในประเทศไทยเมื่อปี 2012 จนปัจจุบันมีฐานลูกค้าในไทยกว่า 20 ล้านคน และต่อยอดแพลตฟอร์มสู่ 2 ธุรกิจใหม่ คือ แอร์เพย์ในกลุ่มเพย์เม้นต์ และช็อปปี้ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งต่างประสบความสำเร็จอย่างดีจนทำให้ไทยกลายเป็น 1 ใน 7 ตลาดสำคัญของ SEA แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศสุดท้ายในการขยายมาสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ก็ตาม

คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริการ SEA (ประเทศไทย) กล่าวถึงความสำเร็จของธุรกิจว่า มาจากความเข้าใจและติดตามเทรนด์โลกที่ขับเคลื่อนสู่ Digital Era และ Mobile First เพื่อหาช่องว่างเข้าไปช่วยแก้ Pain Point ผู้บริโภค ด้วยโมเดลธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการ รันให้เร็ว ล้มให้เร็ว ลุกให้เร็ว และปรับตัวให้ได้ ตามยุทธวิธี Fail Fast ด้วยการเริ่มลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว และถ้าพบว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ก็ไม่ลังเลที่จะล้มเลิกอย่างรวดเร็วโดยไม่เสียดายหรือดันทุรัง แต่จะนำพลังหรือทรัพยากรที่มีไปทุ่มให้กับโปรเจ็กต์ใหม่ที่มีโอกาสสำเร็จได้มากกว่า

“ธรรมชาติของธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเผชิญกับความท้าทายและแก้ปัญหาตลอดเวลา ผู้จะเข้ามาในธุรกิจนี้จึงต้องเริ่มด้วย Passion เพื่อไม่ให้ท้อถอยและล้มเลิกก่อนถึงเป้าหมาย เพราะไม่ใช่ทุกโปรเจ็กต์จะสำเร็จ ขณะที่การได้พาร์ทเนอร์ที่ดีจะเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้ธุรกิจแข็งแรงที่มากกว่าแค่การสนับสนุนเรื่องเงิน เพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะขาดทั้งประสบการณ์ เงินทุน กำลังคน รวมทั้งเครือข่ายที่จะสามารถขยายและต่อยอดธุรกิจได้”

ส่วนเทคโนโลยีที่ทาง SEA Thailand มองเห็นว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต จะเป็นกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะการก้าวสู่สังคมสูงวัยหรือ Aging Society ทำให้ประเทศจะเต็มไปด้วยประชากรสูงอายุ เทคโนโลยีที่มาตอบโจทย์เรื่องการดูแลสุขภาพหรือให้ความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตแต่ละวัน ก็จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตได้สูง รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี Automation และ AI รวมทั้ง Big Data จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตเช่นกัน ขณะที่แผนในอนาคตของ SEA Thailand จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสบการณ์ให้ Gamer Community ในประเทศไทย ด้วยการนำเกมระดับโลกเข้ามาให้คนไทยได้เล่น รวมทั้งการต่อยอดธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเพย์เม้นต์ เพื่อสร้างโมเดลการเติบโตให้กลุ่ม SME และเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคคนไทยมากขึ้น

ตามมาด้วย OOKBEE สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่เกิดขึ้นจาก Passion ของผู้ก่อตั้งอย่าง คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงษ์ รวมทั้งสวมหมวกของนักลงทุนในฐานะผู้บริหารกองทุน 500 TUK TUKS FUND โดยได้แชร์มุมมองทั้งในฐานะของสตาร์ทอัพที่สำเร็จจากการปรับโมเดลธุรกิจไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัจจุบัน OOKBEE ไม่ได้มีเพียงแค่อีบุ๊คแต่ได้ขยายธุรกิจมาอยู่ในฟากของ Entertainment Platform ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่อยู่บนแพลตฟอร์มกว่า 10 ล้านคน สามารถครีเอทคอนเท็นต์ของตัวเองบนแพลตฟอร์มได้อย่างอิสระ (User Generated Content) ไม่ว่าจะเป็นการเขียนนิยาย การเขียนการ์ตูน รวมไปถึงการแต่งเพลง และจากการเข้ามาบุกเบิกธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยตัวเองทำให้ คุณณัฐวุฒิ เข้าใจความต้องการของสตาร์ทอัพได้เป็นอย่างดี นำมาสู่การรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยที่ชื่อว่า 500 ตุ๊กตุ๊ก ซึ่งดูแลธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอไม่ต่ำกว่า 50 ราย และให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยได้ครอบคลุมถึง 70-80%

“จุดแข็งของสตาร์ทอัพอยู่ที่ความเล็กทำให้สามารถลองสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะธรรมชาติของสตาร์ทอัพเมื่อมีไอเดียใหม่ๆ ต้องรีบทำก่อน ถ้าโดนก็ทำซ้ำๆ เรื่อยๆ แม้จะทำแล้วไม่สำเร็จก็ดีกว่าไม่ได้ลองทำ ขณะที่การได้พาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่มาช่วยสนับสนุนจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วและแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่ยังรวมทั้งทรัพยากรอื่นๆ และเครือข่ายที่แข็งแรงจากบริษัทขนาดใหญ่”

ขณะที่การติดตามการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ใช่แค่คนที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่คนทั่วไปด้วยเช่นกัน โดยเทรนด์ต่างๆ ที่เริ่มเห็นการใช้งานมากขึ้นในขณะนี้ เช่น Sharing Economy AI หรือการพัฒนา Robot ต่างๆ ที่ล้วนสร้างประโยชน์และเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต่อยอดจากไอเดียที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดเป็นดอกผลในอนาคตได้ เพราะเชื่อว่าใน 3-5 ปีข้างหน้านี้ สิ่งที่เป็นเทรนด์ในปัจจุบันก็จะเติบโตและมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นคือ การมองในมุมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้ตอบโจทย์กับสังคมไทยและคนไทยมากขึ้นด้วย

ส่วนมุมมองจากนักลงทุนและที่ปรึกษาธุรกิจให้กลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทขนาดใหญ่อย่าง คุณโปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ ผู้บริหารกองทุน Creative Venture Capital กองทุนสตาร์ทอัพรายแรกของคนไทยที่ไปลงทุนในซิลิคอนวัลเลย์ และยังทำหน้าที่เป็น Match Maker ระหว่างบริษัทในอาเซียนกับสตาร์ทอัพในอเมริกา รวมทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ CFO บริษัท โธธ โซเชียล จำกัด ในฐานะเครืองมือสำหรับผู้ประกอบการในการบริหารจัดการการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ

คุณโปษะกฤษณะ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ได้เข้าไปสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งนอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี ยังมีโอกาสได้สัมผัสกับเทคโนโลยีจากแหล่งกำเนิดที่ได้รับการยอมรับว่ามี Startup Ecosystem ที่สมบูรณ์และแข็งแรงในทุกๆ ด้าน ทั้ง Talent ของธุรกิจ ทุน การตลาด งานวิจัย และสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการได้เข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกิดจาก Ecosystem ที่แข็งแรง เพื่อนำเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้มาต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม Real Sector ที่เป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ

ขณะที่ Startup Ecosystem ของไทยเริ่มมีการพัฒนาและมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพเองที่เริ่มมี Talent ใหม่ๆ และเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ขณะที่ในฟากของผู้ให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพก็เริ่มมีความเข้าใจว่าปัจจัยและทรัพยากรต่างๆ อะไรบ้างที่ธุรกิจมีอยู่และจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเร่งเครื่องไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น รวมทั้งการเข้ามาให้ความช่วยเหลือในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว

สำหรับเทคโนโลยีที่จะมีศักยภาพจากนี้ไป จะเป็นกลุ่ม Deep Technology โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากแหล่งกำเนิดจาก Ecosystem ที่สมบูรณ์อย่างในจีนหรือซิลิคอนวัลเลย์ เพราะ Deep Tech เหล่านี้จะถูกนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงใน Real Sector เช่น การพัฒนา BioTech, FoodTech, AgriTech หรือ HealthTech เพื่อรองรับสังคมสูงวัย หรือจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในอนาคต รวมทั้งปัญหา Climate Change ที่จะกระทบกับพื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงพื้นที่ในการเพาะปลูกอาหารให้น้อยลง เป็นต้น

“ขณะที่ในบ้านเราก็ต้องมองหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ เช่น การมองหาเทคโนโลยี AI ที่จะสามารถเข้ามาทดแทนกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทั้งในกลุ่ม Skill Labor, Manual Labor หรือ Creative Labor และขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาการถูก Disrupt จากการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ด้วย แต่หากจะให้คาดการณ์ Tech Environment ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ อาจจะบอกได้แค่ในระยะใกล้ๆ ในช่วง 5 ปีจากนี้ว่า กลุ่มเทคโนโลยีที่มีฐานข้อมูลของผู้บริโภคจำนวนมากอาจจะได้เปรียบกลุ่มอื่นๆ แต่หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการ Move เพื่อสร้างโอกาสของแต่ละธุรกิจว่าจะต่อยอดจากไอเดียหรือสิ่งที่มีอยู่เพื่อสร้างโอกาสให้เติบโตต่อไปได้อย่างไร”

ปิดท้ายด้วย Corporate Venture Capital รายล่าสุดอย่าง Singha Ventures โดย คุณจักรมนต์ นิติพน กรรมการบริษัท และผู้อำนวยการสายการลงทุน Singha Ventures ที่ฉายภาพถึงการให้ความสำคัญของเครือบุญรอดในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคู่ค้าในซัพพลายเชนให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มร้านค้าโชว์ห่วยซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของบริษัทมาโดยตลอด

ในส่วนการออกเดินทางไปสู่อนาคตของบุญรอด จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Corporate เช่น การใช้ฐานข้อมูลจาก Big data และ AI เพื่อมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการจัดจำหน่ายในแต่ละเขตของบริษัท ทั้งในเชิง Geographic และ Demographic เพื่อให้ทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นการนำเทคโนโลยีมาเพิ่ม Empowerment ให้กับทีมขาย และยังช่วยให้บริหารเส้นทางการเดินทางจัดส่งได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งต่อยอดไปสู่การทำการตลาดหรือ Local Promotion เพื่อกระตุ้นให้มีดีมานด์ในตลาดและทำให้ประสิทธิภาพของยอดขายโดยรวมเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับแนวทางทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพนั้น บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ และบริษัทต่างๆ ในเครือพร้อมที่จะเป็นห้องทดลองให้กับเหล่าสตาร์ทอัพที่มีไอเดีย และพร้อมสนับสนุนทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน องค์ความรู้ทางธุรกิจ การเรียนรู้ทางการตลาด และ Infrastructure ต่างๆ ที่ทางบริษัทมี รวมทั้งพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธุรกิจที่เครือบุญรอดมีอยู่ รวมทั้งในอนาคต Singha Ventures จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ให้กำเนิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการทำธุรกิจ รวมไปถึงการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลก โดยสุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ก็คือ ผู้บริโภคทุกคนนั่นเอง

เครือบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นตัวอย่างขององค์กรที่พร้อมจะปรับตัวไปสู่โลกแห่งอนาคต แม้จะดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 85 ปี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งส่วนสำคัญในการ Brewing The Future หรือร่วมขับเคลื่อน กำหนดทิศทาง และมองหานวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงโลก ผ่านการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจแห่งอนาคต โดยเฉพาะจากเหล่าสตาร์ทอัพคนไทย เนื่องจากมีความเข้าใจในวิถีของ Entrepreneurship เป็นอย่างดี ทำให้เชื่อว่าจะสามารถร่วมงานและเข้ามาช่วยเสริมสิ่งที่เหล่าสตาร์ทอัพต้องการได้เป็นอย่างดี นำมาสู่การเติบโตร่วมกันได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน และยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันที่มากกว่าแค่ระดับประเทศ แต่รวมไปถึงการเติบโตสู่ภูมิภาคและในเวทีโลก รวมทั้งยกระดับ Startup Ecosystem ของไทยให้กลายเป็น Hub ของภูมิภาคนี้ให้ได้

 

Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like