อลิอันซ์ อยุธยา มีจุดยืนที่ชัดเจนในการให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้ามาโดยตลอด โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ ที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มที่เป็นลูกค้าของอลิอันซ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลกอีกด้วย
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จึงเกิดหนึ่งโครงการที่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ของอลิอันซ์ อยุธยา อย่างจริงจัง ในฐานะธุรกิจประกันชีวิตรายแรกที่เข้ามาให้การสนับสนุนการบ่มเพาะกลุ่มสตาร์ทอัพของไทยให้มีความแข็งแรงและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ภายใต้โครงการ Allianz Ayudhya Activator ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มอลิอันซ์ ในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ เพื่อมีส่วนช่วยยกระดับ InsureTech ทั้ง Ecosystem ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด และสามารถนำเสนอโซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้คนได้ทั่วโลก โดยเฉพาะการนำจุดแข็งของธุรกิจที่มีเครือข่ายที่แข็งแรงและกระจายอยู่ทั่วโลกมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับเหล่าสตาร์ทอัพต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
สอดคล้องกับความเห็นจาก คุณไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ที่กล่าวว่า โครงการนี้มีจุดยืนที่ชัดเจนคือ Think global from day one สะท้อนถึงวิธีคิดของอลิอันซ์ อยุธยา ที่มองโอกาสในการนำนวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ ไปต่อยอดเป็นโซลูชั่นส์เพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ต่างๆ ให้กับลูกค้าและธุรกิจในระดับโลก ภายใต้จุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมี ทั้งการต่อยอดไอเดียหรือพัฒนานวัตกรรมต่างๆ จากเหล่าสตาร์ทอัพ และโอกาสที่มากขึ้นจากความแข็งแรงด้านเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแรงของกลุ่มอลิอันซ์ที่มีกระจายไปในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ทำให้ไอเดียและนวัตกรรมต่างๆ จากเหล่าสตาร์ทอัพคนไทย สามารถแจ้งเกิดและสามารถเติบโตเพื่อสร้างประโยชน์ได้ในระดับโลก
“อลิอันซ์ อยุธยา มีวิสัยทัศน์ชัดเจนที่จะให้ความคุ้มครองและดูแลสุขภาพ แต่เราไม่ได้อยากจำกัดตัวเองเป็นเพียงบริษัทประกันที่คอยจ่ายเคลมให้กับลูกค้าเท่านั้น ด้วยความเชื่อว่า การรักษาเป็นเพียงแค่ปลายทางส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราอยากทำคือ ขยายบทบาทมาสู่การดูแลลูกค้าแบบครบวงจร เช่น การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงก่อนที่จะป่วย หรือ preventive care หรือแม้แต่ระหว่างการรักษา ที่ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์นำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น การสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ จึงกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้ไปสู่ภาพที่ต้องการได้เร็วมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ผลการตอบรับโครงการ Allianz Ayudhya Activator ถือว่าได้รับการตอบรับจากเหล่าสตาร์ทอัพเป็นอย่างดี เพราะภายหลังเปิดโครงการ ก็มีสตาร์ทอัพมากกว่า 150 ทีมให้การเข้าร่วม และทำการคัดเลือกจนเหลือ 13 ทีม เพื่อเข้าร่วมการบ่มเพาะและเวิร์กช็อปอย่างเข้มข้นตลอด 12 สัปดาห์ จากเหล่ากูรูผู้เชี่ยวชาญ และคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิตสตาร์ทอัพ เพื่อมาเป็นโค้ชและคอยให้คำปรึกษาแต่ละทีมอย่างใกล้ชิด
จนกระทั่งได้บทสรุปในการเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์ของธุรกิจประกันให้มีความหลากหลายและแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความโดดเด่นของทีมที่ชนะเลิศจากการมีพัฒนาการที่ชัดเจนในช่วงบ่มเพาะ รวมทั้งมีรูปแบบและแผนธุรกิจที่แน่นและตอบโจทย์ความต้องการ หรือ pain point ของลูกค้า ที่ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะลูกค้าชาวไทยเท่านั้น เพราะเรื่องสุขภาพถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ ไอเดียหรือนวัตกรรมต่างๆ จากทีมที่ชนะเลิศครั้งนี้ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกพื้นที่ทั่วโลก ทำให้มีโอกาสสูงที่จะสามารถต่อยอดและขยายการเติบโตของธุรกิจไปสู่ระดับโลกได้เร็วขึ้น
สอดคล้องกับมุมมองจากเหล่าสตาร์ทอัพที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ที่มองว่าการได้เข้ามาเป็นพันธมิตรกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายระดับโลก จะถือว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยต่อยอดและเติมเต็มการพัฒนาเพื่อหาโซลูชั่นส์ในการตอบโจทย์ธุรกิจและความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น เพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มีนวัตกรรม มีไอเดีย แต่อาจจะยังขาดเรื่องของทุนเพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจ หรืออาจมีเครือข่ายไม่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจขยายตัวและเติบโตได้
โดยทั้ง 3 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศในโครงการนี้ ประกอบด้วย
1 . Doctor A to Z แพลตฟอร์มเครือข่ายจับคู่การรักษาระหว่างผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดและแพทย์ที่น่าเชื่อถือในราคาเหมาะสม นับเป็นรูปแบบใหม่ในการรักษาแบบข้ามพรมแดนเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยจากทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ จากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งการขาดแคลนแพทย์ หรือโรงพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดย Dr. A to Z จะช่วยค้นหาโรงพยาบาลและแพทย์ที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละเคส พร้อมแพ็กเกจการรักษาที่ถูกกว่าปกติ 50-70% โดยใช้เวลาในการค้นหาเพียง 10-15 นาที
2. Vitaboots Wellness โปรแกรมจัดเตรียมชุดวิตามินและอาหารเสริมแบบเฉพาะบุคคล ที่พร้อมบริการส่งตรงจากห้องแลปของเภสัชกรให้ถึงประตูบ้าน เพื่อช่วยดูแลให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี จากการได้รับวิตามินและสารอาหารอย่างเหมาะสม ตามผลเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะคนไทยที่ส่วนใหญ่รับประทานผักและผลไม้ในปริมาณน้อยเกินไป ภายใต้การดูแลโดยทีมแพทย์ เภสัชกร และนักโภชนาการที่มีประสบการณ์ ในการปรุงวิตามินที่เหมาะสมให้แบบรายบุคคล
3. SHARMBLE แพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังและแพทย์ผู้ดูแลได้จากระยะไกล เพื่อเป็นโซลูชั่นส์ในการลดปัญหาทั้งความแออัดในโรงพยาบาล รวมทั้งค่าใช่จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย โดยทาง SHARMBLE จะเข้ามาให้บริการจัดส่งใบสั่งยาฟรี รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงแพทย์ด้วยทีมแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมเครือข่ายทีมเภสัชกรและพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์
ทั้ง 3 ทีมจะได้รับเงินลงทุนสนับสนุนธุรกิจรวม 2 ล้านบาท พร้อมโอกาสผลักดันให้ธุรกิจแข็งแรงและมีโอกาสเติบโตได้ในระดับโลก ในฐานะตัวแทนสตาร์ทอัพจากประเทศไทย เพื่อนำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติ ณ อลิอันซ์ เอเชีย แปซิฟิก ประเทศสิงคโปร์ พร้อมโอกาสเยี่ยมชมและเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จาก Allianz X หน่วยงานที่ดูแลการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี เพื่อโอกาสนำเสนอผลงานผ่านแพลตฟอร์มของอลิอันซ์ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
นอกจาก 3 ทีมชนะเลิศแล้ว อลิอันซ์ อยุธยา ยังได้มอบรางวัลพิเศษ Allianz Ayudhya Partnership Awards ให้สตาร์ทอัพอีก 3 ทีม คือ Diamate เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบระยะไกล ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน MeDiSee ระบบคลาวด์เพื่อการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ Health Smile เทคโนโลยีการตรวจสุขภาพแบบใหม่ ที่สามารถปรับการทดสอบได้ตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยจะนำไอเดียจากทั้งสามทีมไปให้บริการอยู่บนแพลตฟอร์ม HealthyLiving.com เพื่อช่วยลูกค้าคนไทยสามารถดูแลสุขภาพได้แบบองค์รวมได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
เห็นได้ว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทางอลิอันซ์ อยุธยา เลือกที่จะให้การสนับสนุนล้วนเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการดูแลสุขภาพของผู้คน หากธุรกิจเหล่านี้มีความแข็งแรงมากขึ้นทั้งจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นหรือการได้รับโอกาสในรูปแบบต่างๆ ก็เท่ากับเพิ่มโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกได้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
คุณไบรอัน มีความเห็นว่า การได้ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่ชนะในโครงการทั้งสามทีม จะช่วยขยายธุรกิจด้านการคุ้มครองและบริการด้านสุขภาพได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะหมายถึงความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว รวมทั้งจะสามารถเชื่อมต่อช่องว่างที่มีอยู่ในสังคมไทย เพื่อทำให้กลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในวงจรการรักษาและดูแลสุขภาพ สามารถเข้าถึงและพบเจอกันได้ผ่านแพลตฟอร์มของอลิอันซ์ อยุธยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้ดูแล แพทย์และบุคลากรทางการแพย์ รวมทั้งโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะช่วยส่งเสริมให้วงการสตาร์ทอัพไทยตื่นตัว และมีมุมมองต่อธุรกิจของตัวเองในมุมที่กว้างขึ้นและไกลถึงระดับโลก โดยมี อลิอันซ์ อยุธยา เป็นผู้คอยให้การสนับสนุนและผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย และยังเป็นโอกาสดีในการต่อยอดและปูทางไปสู่การเพิ่มโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักและร่วมงานกับสตาร์ทอัพอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย