HomeBrand Move !!5 ภารกิจใหญ่ “ยูนิลีเวอร์” ภายใต้แม่ทัพคนใหม่ “โรเบิร์ต แคนเดลิโน” ฝ่าด่านความท้าทายรอบด้าน

5 ภารกิจใหญ่ “ยูนิลีเวอร์” ภายใต้แม่ทัพคนใหม่ “โรเบิร์ต แคนเดลิโน” ฝ่าด่านความท้าทายรอบด้าน

แชร์ :

ถ้าพูดถึงบริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความผูกพันกับคนไทย คงต้องนึกถึง “ยูนิลีเวอร์” (Unilever) หนึ่งใน FMCG ยักษ์ใหญ่ทั้งในระดับโลก และในไทย ที่ไม่ว่าเราจะไปบ้านเพื่อน บ้านญาติพี่น้อง หรือแม้แต่ในบ้านของตัวเอง ก็จะเห็นผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์อย่างน้อย 2 – 3 อย่างอยู่ในครัวเรือนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นคนอร์, วอลล์, ซันซิล, วาสลีน, ซิตร้า, พอนด์ส, ซันไลท์, บรีส และอีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่เป็นแบรนด์ใกล้ตัวคนไทย โดยหลายแบรนด์เป็นผู้นำใน Category นั้นๆ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ในความใหญ่ของธุรกิจ และความเป็นผู้นำตลาด ใช่ว่า “ยูนิลีเวอร์” จะไม่เผชิญกับความท้าทาย !! เพราะด้วยความที่สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ทำให้เป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว

ยิ่งในยุคดิจิทัล ทำให้จังหวะการหมุนของโลกเปลี่ยนเร็วขึ้น ทั้งวิถีชีวิตของคนที่ซับซ้อนขึ้น มี Demanding สูงขึ้น เกิดแบรนด์ใหม่เข้ามาแชร์ตลาด ขณะเดียวกันมิติของ Retail Landscape ก็เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย อีกทั้งปัจจุบันสินค้าอุปโภคบริโภคหลายกลุ่มสินค้า มีอัตราการบริโภค (Penetration Rate) เต็มเกือบ 100% แล้ว

จึงเป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับ “มร.โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย” แม่ทัพคนใหม่ของบริษัท FMCG ยักษ์ใหญ่ในไทยแห่งนี้

5 เรื่องที่เราจะฉายภาพต่อไปนี้ ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว

1. “Product Innovation” ขยายการใช้มากขึ้น เมื่ออัตราการบริโภคเต็ม และสร้างพฤติกรรมการใช้/บริโภคในตลาดที่อัตราการบริโภคยังต่ำ

ความท้าทายของ “ยูนิลีเวอร์” ในฐานะผู้นำตลาด ไม่ได้มองแค่เพียงรักษาบัลลังค์แชมป์ได้อย่างไร แต่ยังต้องเพิ่มอัตราการบริโภคให้เติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งในกลุ่มสินค้าที่ Penetration Rate เต็ม หรือเกือบเต็ม 100% แล้ว และกลุ่มสินค้าที่ Penetration Rate ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

“ยูนิลีเวอร์เป็นผู้นำตลาดใน 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์โจ๊ก ผลิตภัณฑ์ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย โดย 99% ของ 24.7 ล้านครัวเรือนในไทย ใช้ผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ มีอัตราการซื้อซ้ำ 99% และใช้ผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ 3 ครั้งต่อวัน ขณะเดียวกันใน 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังมีบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ Penetration Rate ไม่สูง

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ ทำชิ้นเค้กของตลาดนั้นๆ ให้ใหญ่ขึ้น ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น นำเสนอคุณประโยชน์ใหม่ หรือมีกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อทำให้แบรนด์ที่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Penetration Rate เต็ม หรือเกือบเต็ม 100% ยังสามารถเติบโตต่อไปได้ ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ Penetration Rate ยังน้อย ต้องทำให้คนไทยที่ยังไม่ใช้ หรือยังไม่ได้บริโภค ได้หันมาใช้ หรือบริโภคมากขึ้น”

การนำเสนอนวัตกรรม คุณภาพ หรือแม้แต่คุณประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้าง Demand ใหม่ให้เกิดขึ้นในตลาด เวลานี้เทรนด์ Product Innovation ของสินค้า FMCG ทั่วโลก คือ การหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบ หรือส่วนผสมธรรมชาติ เนื่องจากผู้บริโภคยุคนี้ให้ความสำคัญกับ “Well-Being” ทั้งสุขภาพกาย และใจ ผู้บริโภคจึงพิถีพิถันกับอาหารการกิน และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยการบอกลา หรือลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารเคมี และหันไปใช้ หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบ “ธรรมชาติ” เป็นส่วนผสม

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไม “ยูนิลีเวอร์” ถึงได้ปั้น Product Portfolio กลุ่มสินค้า “Natural” เข้าไปอยู่ในหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น คอมฟอร์ท เนเชอรัล, ซันซิล เนเชอรัล, ซิตร้าสบู่ก้อน ทำมาจากสมุนไพร และสารสกัดธรรมชาติ, เคลียร์ เฮอร์บัลแคร์ และล่าสุดคนอร์ ซุปก้อน และคนอร์ โจ๊กคัพ สูตรเนเชอรัล

นอกจากสูตรธรรมชาติแล้ว ยังได้ใช้ “Product Innovation” สร้างเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาด Penetration เต็มแล้ว เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์บำรุงผม “Lux Luminique” ชูจุดขายเรื่องความหอม เจาะตลาด “Premium Hair Care” ขณะเดียวกันเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตให้กับแบรนด์ “Lux” ให้เป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย

ส่วนตลาด Penetration Rate ยังไม่สูง นอกจากใช้ “Product Innovation” ดึงผู้บริโภคให้ทดลองใช้แล้ว การทำ “แคมเปญกิจกรรมการตลาด” เจาะตรงเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญในการสร้างพฤติกรรมการใช้ หรือการบริโภคสินค้านั้นๆ

เช่น กรณีโจ๊กคนอร์ ที่ปัจจุบันอัตราการบริโภคโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปในไทย ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากคนไทยมีทางเลือกในการรับประทานมื้อเช้ามากมาย ทั้งร้านโจ๊กข้างทาง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวราดแกง ขนมปัง น้ำเต้าหู้ ฯลฯ

ทำให้ความท้าทายของตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป จึงอยู่ที่ทำอย่างไรถึงจะเข้าไปแชร์ตลาดอาหารมื้อเช้าของคนไทย ด้วยเหตุนี้ “โจ๊กคนอร์” ได้จัดกิจกรรม School Program เจาะเข้าไปตามโรงเรียน เพื่อสร้าง Brand Engagement กับผู้บริโภคตั้งแต่วัยเด็ก และสร้างพฤติกรรมการบริโภคโจ๊กคนอร์เป็นเมนูมื้อเช้า โดยตั้งเป้าสร้างพฤติกรรมให้เด็กไทยมากกว่า 4 ล้านคนรับประทานอาหารเช้าทุกวันภายในสิ้นปี 2561 โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 3.4 ล้านคน

2. “Sustainable Brand” นำพาไปสู่การสร้าง “Brand Love”

ผลกำไร และส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเป็นผู้นำตลาด สะท้อนความสำเร็จในฐานะเป็นแบรนด์ที่ได้การยอมรับจากผู้บริโภค แต่นั่นไม่ใช่ดัชนีชี้วัดความสำเร็จทั้งหมดของการดำเนินธุรกิจ เพราะการเป็นองค์กร และแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ผลกำไร และส่วนแบ่งการตลาด ต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม ถึงจะเรียกว่าเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน และนำพาองค์กร – แบรนด์ เป็น “Brand Love” ในใจผู้บริโภค

คำว่า “Brand Love” หรือแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้สึกผูกพัน รู้สึกรัก ย่อมมีความหมายลึกซึ้งกว่า “Brand Loyalty” เพราะแบรนด์ใดก็ตาม ที่สามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกรัก เชื่อมั่น หรือเชื่อใจได้ แบรนด์นั้นจะได้ฐาน “แฟนคลับ” หรือ “สาวก” พร้อมจะสนับสนุนในสิ่งต่างๆ ที่แบรนด์ทำ

เมื่อปี 2554 “ยูนิลีเวอร์” ระดับโลก ได้ประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาวใน “Unilever Sustainable Living Plan : USLP” หรือ “แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของมนุษย์” ที่ประกอบด้วย Purpose 3 ด้าน คือ การพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนกว่า 1,000 ล้านคน, ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงครึ่งหนึ่ง และ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน โดย “ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย” รับนโยบายดังกล่าวมาและดำเนินการต่อเนื่อง

หนึ่งในตัวอย่างของการลงมือปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ USLP ด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยูนิลีเวอร์ใช้วิธี “สร้างคุณค่าร่วม” ระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภคผ่านการนำเสนอโปรดักต์ที่ตอบโจทย์การลดใช้ทรัพยากรโลก เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม “คอมฟอร์ท อัลตร้า น้ำเดียว” เพื่อลดการใช้ทรัพยากรน้ำ รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์รีฟิลถุง Pouch สามารถทำไปรีไซเคิลได้

หรือในมิติของการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน “ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย” ริเริ่มทำโครงการ “พี่ติมวอลล์” หรือ “I’m Wall’s” เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนไทยที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจไอศกรีมวอลล์ของตัวเอง ซึ่งโครงการนี้นอกจากสร้างอาชีพให้คนไทยแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่ม “หน่วยรถไอศกรีมวอลล์” เพื่อกระจายเข้าถึงผู้บริโภคทั่วไทยได้มากขึ้น โดยปัจจุบันรถจำหน่ายไอศกรีมวอลล์ มีทั้งแบบรถเข็น รถสามล้อ และเรือ รวมทั้งมีแบบกล่องสำหรับใช้ขายตามเทศกาลต่างๆ

หลังจากยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เริ่มโครงการพี่ติมวอลล์ ได้กลายเป็น Success Case ที่ยูนิลีเวอร์ประเทศอื่นได้นำโมเดลจากไทยไปปรับใช้ในประเทศนั้นๆ

“เมื่อเราทำ Sustainable Living Plan สถิติออกมาชัดเจนว่าแบรนด์ที่มีเป้าหมาย (Purpose) สามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่าแบรนด์ที่ไม่มีเป้าหมายสูงถึง 50% และธุรกิจที่มีเป้าหมายชัดเจน จะเติบโตได้มากกว่าบริษัทที่ไม่มีเป้าหมาย เพราะฉะนั้นเป้าหมายเปรียบเหมือนดาวเหนือ ที่นำพาไปถึงจุดหมาย

ดังนั้น บริษัทที่มีเป้าหมายในการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกอยากซื้อ อยากใช้สินค้าแบรนด์นั้นๆ เพราะเขารู้สึกดีกับตัวเอง และดีกับโลก ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ของยูนิลีเวอร์ มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเป็น “Sustainable Living Brand” แต่ความยากของการดำเนินการ คือ การจะไปถึงจุดหมายที่วางไว้ ไม่ใช่มาจาก “ยูนิลีเวอร์” ฝ่ายเดียว แต่ต้องร่วมมือกันทั้ง Supply Chain”

3. สร้างความแข็งแกร่ง “ช่องทางจำหน่ายโชห่วย – โมเดิร์นเทรด – อีคอมเมิร์ซ” รับแนวโน้ม Fluid Consumer

ขึ้นชื่อว่าเป็น “สินค้าอุปโภคบริโภค” อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความพร้อมระบบจำหน่าย เพื่อผลักดันสินค้าเข้าไปอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น “Push Strategy” หรือการผลักดันสินค้าเข้าสู่ช่องทางการขายต่างๆ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสื่อสารแบรนด์ ซึ่งอยู่ในส่วนของฝั่ง “Pull Strategy”

“ช่องทางจำหน่าย” ถือเป็น Touch Point สำคัญในการเข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ ยิ่งในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์แบบ Fluid หรือที่เรียกว่า “Fluid Consumer” นั่นคือ การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน เปรียบเสมือนเป็นน้ำ หรือของเหลวที่ไม่หยุดอยู่กับที่ แต่จะค้นหาประสบการณ์แปลกใหม่ให้ชีวิตเสมอ ขณะเดียวกันเชื่อมต่อระหว่างโลกออฟไลน์ กับออนไลน์ตลอดเวลา ส่งผลต่อ Customer Journey การซื้อสินค้าของแต่ละคนแตกต่าง และซับซ้อนกว่าในอดีตที่ทุกคนมีพฤติกรรม หรือรูปแบบการซื้อสินค้าคล้ายกัน

เพราะฉะนั้นเจ้าของแบรนด์ จึงต้องมีความพร้อมด้าน “ช่องทางจำหน่าย” ที่เข้าไปอยู่ในทุกๆ ที่ที่ผู้บริโภคอยู่ ไม่ว่าเวลาที่ผู้บริโภคอยู่ในโลกออฟไลน์ หรือยามที่อยู่ในโลกออนไลน์

ด้วยเหตุนี้เอง “ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย” ให้ความสำคัญกับ “ช่องทางจำหน่าย” ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าขนาดเล็ก หรือร้านโชห่วย โดยยูนิลีเวอร์ทำโครงการ “ร้านติดดาว” นำความรู้การบริหารจัดการร้าน เช่น การจัดวางสินค้า การทำโปรโมชั่น ไปถ่ายทอดให้กับร้านโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ จำนวน 10,500 ร้าน และล่าสุดได้ต่อยอดโครงการดังกล่าว พัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา ภายใต้โครงการ “เดอะ มาสเตอร์” ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ เชียงใหม่ และราชภัฎเชียงราย

รวมถึงค้าปลีกสมัยใหม่ทุกเซ็กเมนต์ เพื่อกระจายสินค้าเข้าไปยังร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึง Specialty Store ด้านสินค้าสุขภาพและความงาม

ขณะเดียวกันในปัจจุบัน Retail Landscape ไม่ได้มีแค่เพียง Physical Shop ยังมีช่องทาง “อีคอมเมิร์ซ” ที่แม้วันนี้ในไทยยังเป็นฐานที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับช่องทางค้าปลีกทั่วไป แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นช่องทางที่เติบโตเร็ว และนับวันจะมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นช่องทางซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เวลานี้หลายคนเปลี่ยนหันไปใช้บริการสั่งซื้อสินค้าของกินของใช้ที่ซื้ออยู่เป็นประจำ ผ่านบริการออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวก และประหยัดเวลา

“ยูนิลีเวอร์” ใช้วิธีจับมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ เช่น LAZADA, Shopee เพื่อเป็นอีกช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค

4. สื่อสารการตลาด สร้างแบรนด์ให้ติดตลาด

นอกจาก Push Strategy แล้ว อีกส่วนที่ต้องทำคู่กัน คือ “Pull Strategy” หนึ่งในนั้นคือ การสื่อสารการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น โฆษณาผ่านสื่อ จัดอีเว้นท์ หรือกิจกรรมการตลาด ทำแคมเปญ เพื่อดันแบรนด์-สินค้าให้ติดตลาด เป็นที่รับรู้ และดึงความสนใจของผู้บริโภคให้เกิดความรู้สึกอยากทดลองใช้

ในทุกปี “ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด และครอบคลุมทั้งสื่อดั้งเดิม และสื่อออนไลน์ พัฒนาการของการสื่อสารแบรนด์สินค้าของยูนิลีเวอร์ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากในอดีตเมื่อ 20 – 30 ปีก่อน เน้นขาย Functional Value ของตัวสินค้า ขณะที่ปัจจุบันสินค้าหลายตัว ปรับรูปแบบการนำเสนอ ด้วยการขาย “Attitude” ของแบรนด์ เพื่อทำให้แบรนด์นั้น มี “ความหมาย” ในใจผู้บริโภค ซึ่งการนำเสนอทัศนคติของแบรนด์ จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ “ตัวตน” หรือ “จุดยืน” ของแบรนด์ได้ชัดเจน นำไปสู่การจดจำแบรนด์นั้นๆ ได้ดีกว่าการขายแต่ Product Benefit

เช่น โฆษณาซันซิลสูตร Healthier and Long ไม่ได้โฟกัสที่ Product Benefit แต่เน้นสื่อสาร “Attitude” ของผลิตภัณฑ์นี้ ผ่านเรื่องราวของมนุษย์คนหนึ่ง ที่เดินตามความฝันของตัวเอง ด้วยความกล้า และความมั่นใจ ซึ่งรูปแบบการนำเสนอทัศนคติของแบรนด์ หรือตัวสินค้า แบรนด์แรกๆ ในเครือยูนิลีเวอร์ที่ทำ คือ “โดฟ” ที่ตอกย้ำ Brand Attitude “Real Beauty” มาโดยตลอด

“การสร้างแบรนด์ และการทำการตลาด เราต้องรู้ว่าแบรนด์ของเรา “Stand for” อะไร เพราะถ้าแบรนด์เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นเท่ากับว่าแบรนด์ไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้นแบรนด์ต้องมีความชัดเจนที่จะเป็นอะไร แบรนด์ต้องมีมุมมอง มีเสียงของตัวเอง มีความคิดของตัวเอง และมีพลังที่จะส่งกลับไปยังสังคมอย่างมีความหมาย”

5. People Development ดึงทาเลนต์ร่วมงาน

การสร้างบุคลากร เป็นอีกความท้าทายใหญ่สำหรับ “ยูนิลีเวอร์” เพราะยุทธศาสตร์ และเป้าหมายที่วางไว้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ขณะที่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีทางเลือกมากขึ้น และต้องการเป็นนายตัวเอง เพราะฉะนั้นองค์กรที่จะดึงดูดคนมีความสามารถเข้ามาร่วมงาน และผูกพันกับองค์กร นอกจากเบเนฟิตด้านผลตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ แล้ว ยังต้องมีโปรแกรมพัฒนาบุคลากร ที่จะทำให้พนักงานเห็นเป้าหมาย หรือเชื่อมโยงกับเป้าหมายการทำงานของพนักงานแต่ละคน

ที่ผ่านมา “ยูนิลีเวอร์” เน้นสร้างแบรนด์องค์กรให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อดึงดูดทาเลนต์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาร่วมงาน ขณะเดียวกันทำโครงการนักศึกษาฝึกงาน (Unilever Leadership Internship Programme) โครงการพัฒนาผู้นำสำหรับบัณฑิตจบการศึกษาใหม่ (U-Fresh) และโครงการผู้นำในอนาคตของยูนิลีเวอร์ (Unilever Future Leaders Programme) รวมทั้งออกแบบแนวทางการพัฒนาตนเอง ผ่าน 3D โมเดล (Discover, Diagnose, Develop) ที่จะช่วยเชื่อมโยงเป้าหมายการทำงาน สิ่งจำเป็นต้องพัฒนา และนำไปสู่แผนการพัฒนารายบุคคล

“การจะส่งต่อความสุขทุกวันให้กับผู้บริโภค ผ่านผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของเราได้นั้น ต้องเริ่มจากการสร้างความสุขให้กับคนในองค์กรก่อน ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนพฤติกรรมของพนักงาน โดยมุ่งหวังให้เกิดทั้งความสุขในการทำงาน และความผูกพันกับองค์กรแบบยั่งยืน”


แชร์ :

You may also like