ยังคงเป็นสินค้าเนื้อหอมสุดๆ ในตลาดแดนมังกร โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ปริมาณการบริโภคทุเรียนของชาวจีนเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว และขยายไปในหลายมณฑลมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลจากหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนอย่าง JD.COM คู่ปรับสำคัญของอาลีบาบาที่ออกมาระบุว่า ทุเรียนเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดบนแพลตฟอร์มในปีที่ผ่านมา โดยขายได้มากถึง 100 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 2,500 ตัน ซึ่งหากจะคำนวนออกมาเป็นลูก จะอยู่คร่าวๆ ราว 700,000 ลูกเลยทีเดียว
มีเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย
ข้อมูลจาก Ye Wei President JD Fresh ในเครือ JD.COM ระบุดีมานด์การบริโภคทุเรียนของคนจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้ ทางกลุ่ม JD จะสามารถขายทุเรียนในประเทศจีนได้มากขึ้นเป็น 100 เท่าเลยทีเดียว จากยอดขายปี 2017 ที่เติบโตจากปี 2016 ได้ถึง 400% หรือราว 4 เท่าตัว ขณะที่แค่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2018 นี้ ก็สามารถทำยอดขายเติบโตกว่าเดิมได้แล้วถึง 100%
“ตอนนี้ปริมาณทุเรียนที่นำไปขายในจีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค แม้จะมีการนำเข้าทุเรียนไปขายในจีนไม่ต่ำกว่า 400 -500 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน ซึ่งก็สามารถขายได้ทั้งหมดเนื่องจากขนาดของตลาดที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถพัฒนาทุเรียนแช่แข็งเพื่อส่งออกได้ ทำให้มีผลลิตบริโภคได้ทั้งปี ปริมาณการบริโภคก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ใช่แค่ทุเรียนสดหรือในรูปแบบผลแช่แข็งเท่านั้นที่ตลาดจีนให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากทุเรียน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแปรรูปต่างๆ ที่มีส่วนผสมของทุเรียนก็ได้รับความนิยมในตลาดเป็นอย่างสูงเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่า อะไรก็ตามที่เป็นทุเรียนส่งเข้าไปก็สามารถขายได้ทั้งหมด”
ซึ่งนอกจากการเติบโตในเชิงปริมาณแล้ว ทางด้านของราคาขายเองก็ขยับขึ้นเช่นกัน จากที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มในขนาดกล่องบรรจุ 18 กิโลกรัม เมื่อปี 2015 ในราคากล่องละ 300 หยวน ก็ขยับเป็น 500 หยวน ในปี 2016 และ 800-900 หยวน ในปี 2017
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งจำนวนดีมานด์และระดับราคาขายที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ JD.COM ยังเดินหน้าเพิ่มพันธมิตรที่คอย Supply ทุเรียนเข้ามาในแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง จากที่ปัจจุบันมี Supplier คอยป้อนผลผลิตให้อยู่รวม 7-8 ราย ทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย เพื่อเพิ่มโอกาสจากการขยายตัวของตลาด ทั้งที่เป็นทุเรียนสด แช่แข็ง หรือแปรรูป โดยเฉพาะทุเรียนที่เป็นผลผลิตจากประเทศไทย แม้ว่าเวียดนามหรือมาเลเซียจะสามารถปลูกทุเรียนได้เช่นกัน แต่ทุเรียนจากประเทศไทยก็ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดจีนมากกว่า
ซัพพลายเออร์ไทยฮอต ตลาดจีนรุมจีบ
นำมาสู่ดีลล่าสุดของ JD.COM ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท Beijing Jingdong Century Trade และผู้ส่งออกทุเรียนและผลไม้รายใหญ่ของประเทศอย่าง บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด ในการเซ็น MOU เพื่อสั่งซื้อทุเรียนจากซัพพลายเออร์ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มทุเรียนแช่แข็งเพื่อให้มีทุเรียนขายบนแพลตฟอร์มของ JD.COM ตลอดทั้งปีนั่นเอง
ซึ่งภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการส่งออกทุเรียนไปขายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลไม้อื่นๆ ที่ชาวจีนชื่นชอบ โดยเฉพาะในกลุ่ม Tropical Fruit ทั้งมังคุด ลำไย มะพร้าว รวมทั้งโอกาสอื่นๆ ที่จะเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต เพื่อเป็นการต่อจิ๊กซอว์สำคัญของ JD.COM ที่มีเป้าหมายใหญ่ในการเป็นแพลตฟอร์มหลักของนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพื่อไปขายในตลาดจีน โดยมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 25% จะต้องเกิดอยู่บนแพลตฟอร์มของ JD ด้วยศักยภาพในการเข้าถึงผู้บริโภคคนจีนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน
สำหรับ บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด แม้จะเป็นพันธมิตรรายล่าสุดของ JD.COM แต่ก็ไม่ใช่หน้าใหม่ในการบุกตลาดแดนมังกร เพราะถือเป็น Supplier รายสำคัญที่ส่งผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนไปตีตลาดจีนมาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี และที่สำคัญยังเป็นหนึ่งในพันธมิตรกับ SunMoon Distribution & Trading ซึ่งอยู่ในเครือของอาลีบาบา และ Xing Ye Yaun (XYY) ในการพัฒนาแบรนด์ทุเรียน SunMoon เพื่อร่วมกันทำตลาดในประเทศจีนอีกด้วย
ขณะที่ คุณกาญจนา แย้มพราย President ควีน โฟรเซ่น ฟรุต ให้ข้อมูลสอดคล้องกับกลุ่ม JD.COM ในแง่การขยายตัวของดีมานด์ทุเรียนในตลาดจีน เพราะกว่า 80% ของปริมาณทุเรียนที่ควีน โฟรเซ่น ส่งออก จะส่งไปให้กับประเทศจีนเป็นหลัก ขณะที่อีก 20% ที่เหลือก็จะกระจายแบ่งๆ กันไปในเกือบ 30 ประเทศ ทั้ง USA ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ขณะที่สัดส่วนการส่งออกนับเป็นรายได้สำคัญของบริษัท เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 80% เลยทีเดียว
“กลุ่มทุเรียนส่งออกของเรามีมากกว่า 10 SKU ทั้งในกลุ่มทุเรียนทั้งสดและแช่แข็ง รวมทั้งทุเรียนแปรรูปต่างๆ เช่น ไอศกรีม ลาซานญ่า ทาร์ต และทุเรียนสติ๊ก ซึ่งสินค้าทุกตัวล้วนได้รับการตอบรับที่ดีอย่างถ้วนหน้า ทำให้บริษัทมีแผนลงทุนขยายโรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่อง 2 ปี ภายใต้งบลงทุนปีละ 700-800 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังผลิตให้เพิ่มกว่าเท่าตัวได้ไม่ต่ำว่า400 -500 ตันต่อวัน แต่ปัจจุบันด้วยปริมาณทุเรียนที่มีเข้ามาในอย่างจำกัด ทำให้บริษัทมีกำลังผลิตที่ 200 ตันต่อวัน”
ตลาดคนไทย จับต้องได้แค่ Under C
สำหรับช่องทาง E-Commerce เป็นหนึ่งช่องทางที่เข้ามาเพิ่มโอกาสในการทำตลาดของควีน โฟรเซ่น โดยปีที่ผ่านมามียอดขายผ่านช่องทางนี้ 35,700 แพ็ค แต่ตลาดหลักกว่า 80% ยังคงอยู่ในฟากออฟไลน์ โดยปีนี้คาดว่าจะส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้กว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่ในกลุ่มทุเรียนแช่แข็งจะส่งออกได้ประมาณ 400 ตู้คอนเทนเนอร์ (1 ตู้คอนเทนเนอร์จะมีน้ำหนักประมาณ 2.5 ตัน หรือมีทุเรียนประมาณ 7 พันลูก)
และหากพิจารณาจากดีมานด์ทุเรียนในจีนจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ทุกปี ขณะที่ราคาในกลุ่มทุเรียนแช่แข็งก็ขยับไม่ต่ำกว่า 10% เช่นเดียวกับราคาขายหน้าสวนทั้งในฤดูหรือนอกฤดู เนื่องจากปริมาณที่ยังไม่เพียงพอแต่ด้วยราคาที่ดีเชื่อว่าเกษตรกรจะหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ที่ขาดแคลนจะเริ่มดีขึ้น เพราะจะมีปริมาณทุเรียนที่ป้อนเข้ามาในตลาดมากขึ้น
แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะ Over Supply เพราะตลาดจีนมีขนาดใหญ่มาก ประกอบกับปริมาณทุเรียนที่มีอยู่ในขณะนี้ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงยังสามารถขยายตลาดได้อีกมาก เพราะอีกหลายๆ ประเทศก็เริ่มหันมาบริโภคทุเรียนจากประเทศไทยมากขึ้น โดยเชื่อว่าจากนี้ไปอีก 5 ปี แม้เกษตรจะหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น ก็จะไม่เกิดปัญหาล้นตลาดจนทำให้ราคาตกลงมาเหมือนผลผลิตอื่นๆ อย่างแน่นอน
“สาเหตุที่คนจีนชอบทุเรียน เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ไม่มีในประเทศจีน รวมทั้งรสชาติที่ดีทำให้คนที่มีโอกาสได้ลองรับประทานจะติดใจและต้องซื้อกินอยู่บ่อยๆ ประกอบกับจำนวนคนจีนที่มีอยู่มากทำไห้กำลังซื้อเติบโตอย่างมากด้วย ตลาดส่งออกจึงสามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่าการขายในประเทศ โดยเฉพาะการค้าขายกับทางจีนที่ส่วนใหญ่จะซื้อขายเป็นเงินสดต่างจากตลาดในประเทศที่มักจะซื้อด้วยเครดิต ทำให้ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่ขายให้ตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะการคัดเกรดดีๆ เพื่อให้ขายได้ราคาสูงและมีปริมาณความต้องการมาก ทำให้ผลผลิตในระดับเกรด A B C ที่มักจะมีลูกขนาดใหญ่ มีเนื้อเต็มพู และรสขาติดี จะถูกส่งออกไปขายให้ต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่เหลือเพื่อทำตลาดภายในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในเกรด Under C ที่มีราคาถูกกว่าเป็นส่วนใหญ่”