เวลานี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2564 จะขยับไปสู่ “สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) หมายความว่า สัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรรวมทั้งประเทศ ขณะที่ในปี 2574 ประเทศไทยจะเป็น “สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด” โดยสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 28% ของประชากรรวม
ในอดีตมุมมองในสังคมไทยที่มีต่อ “ผู้สูงอายุ” มักจะมองว่าเป็นวัยที่ต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ทุกวันนี้มุมมองดังกล่าวค่อยๆ เปลี่ยนไป “ผู้สูงอายุ” ในโลกยุคดิจิทัลที่เสรี และเปิดกว้าง ไม่ยอมที่จะให้ “วัย” มาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยยังคงสร้าง “คุณค่า” ให้กับทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง
ดังเช่นเบื้องหลังลายผ้าบนผ้าพันคอ และสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น หมอน ของแบรนด์ “ใจคราฟท์ดีไซน์” (JAI CRAFT DESIGN) ล้วนแล้วแต่มาจากฝีมือ “ผู้สูงอายุรุ่นใหม่” ที่รักงานศิลปะ ร่วมกันตวัดพู่กัน ออกมาเป็นลวดลายสวยงาม ที่พิมพ์ลายลงบนผ้าไหม สร้าง “คุณค่าทางใจ” ให้กับทั้งศิลปินผู้ออกแบบ ผู้ซื้อ และผู้ที่ได้รับเป็นของขวัญ
จุดเริ่มต้นแบรนด์
คุณณภัทร เขียวชะอุ่ม หรือ คุณแอน อดีตโปรดิวเซอร์บริษัทโฆษณา และผู้ก่อตั้งใจคราฟท์ดีไซน์ เล่าที่มาของแบรนด์ใจคราฟท์ดีไซน์ว่า เกิดแรงบันดาลใจจากงานศิลปะสีน้ำของคุณพ่อ (คุณชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม) ซึ่งเรียนจบด้านศิลปะ และเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนสอนศิลปะเอกชน ต่อมาเข้ารับราชการ กระทั่งเกษียณในตำแหน่งนักบริหารงานสวัสดิการสังคม โดยหลังเกษียณจากงานราชการ จะเห็นคุณพ่อจับพู่กัน เพ้นท์รูปเกือบทุกวัน ทำให้เกิดแนวคิดว่าเราพ่อลูกมาทำอะไรด้วยกันไหม ด้วยความตั้งใจอยากสนับสนุนผลงานของผู้สูงอายุ
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “ใจคราฟท์ดีไซน์” ในปี 2560 ที่สร้างสรรค์สินค้าชิ้นแรกด้วย “ผ้าพันคอ” ทำมาจากผ้าไหมซาติน (Silk Satin) และนำผลงานเพ้นท์รูปของคุณพ่อคุณแอน มาพิมพ์เป็นลายผ้า
“เหตุผลที่ตั้งชื่อแบรนด์ “ใจคราฟท์” เพราะชื่อจดจำง่าย และเราต้องการสื่อว่าผลิตภัณฑ์ของเรา ทำมาจากหัวใจ และเป็นชื่อที่ Touch กับความรู้สึกคน วางตำแหน่งเป็นพรีเมียมแบรนด์ จำหน่ายราคา 950 – 4,250 บาท เนื่องจากวัสดุที่เราเลือกมาทำ อย่างปีที่แล้วเป็นผ้าพันคอ ทำจาก Silk Satin เกรดดีที่สุด และปีนี้คอลเลคชันใหม่ทำมาจาก Eri Silk
เมื่อพัฒนาโปรดักต์เสร็จ วางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และออกบูธตามสถานที่ต่างๆ เช่น K Village, TCDC, เกษรวิลเลจ โดยเราเลือกเจาะตลาดที่คนชอบงานศิลปะ และเวลาไปตั้งบูธ มีคุณพ่อไปช่วยด้วย เราเห็นคุณพ่อมีความสุขเวลาลูกค้าเข้ามาดูผลงาน ชื่นชม ชื่นชอบผลงานที่ออกแบบ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ใจคราฟท์เริ่มออกสื่อมากขึ้น ทำให้คนเริ่มรู้จัก จึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราสร้างแบรนด์ธุรกิจอย่างเต็มตัวเลยดีกว่า”
โดยตั้งเป้าเปิดตัว 2 คอลเลคชั่นต่อปี คือ Spring – Summer และ Fall – Winter ซึ่งก่อนออกคอลเลคชันแต่ละครั้ง “คุณแอน” จะหาข้อมูลความต้องการของตลาด เทรนด์แฟชั่น โทนสี วัสดุ-คุณภาพของผ้า เพื่อนำข้อมูลที่ได้มากำหนดเป็นคอนเซ็ปต์ของแต่ละคอลเลคชัน
จากนั้นคุณแอนจะนำคอนเซ็ปต์ไปบรีฟให้กับคุณพ่อ และปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการสร้างแบรนด์และทำตลาดของ “ใจคราฟท์” ได้มีคุณธมล วงศ์วิเศษ ซึ่งเป็นน้าของคุณแอน เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ลายผ้าด้วย โดยในการออกแบบลวดลายตามคอนเซ็ปต์ จะให้ทั้งสองศิลปินสร้างสรรค์งานตามที่อยากทำ
เมื่อผลงานเสร็จแล้ว จะเอารูปมาทำเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อตกแต่งเก็บรายละเอียดชิ้นงาน เนื่องจากภาพเมื่ออยู่บนผ้า ทั้งลายเส้น สี แสงจะชัดมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อผ่านกระบวนการเก็บรายละเอียดงานแล้ว จะส่งไฟล์ไปพิมพ์ลาย และเข้าสู่กระบวนการผลิตออกมาเป็นผ้าพันคอ
ทลายกำแพง “อายุ” แสดงพลังความคิดสร้างสรรค์
ด้วยความตั้งใจของ “คุณแอน” อยากให้งานดีไซน์ของแบรนด์ “ใจคราฟท์ดีไซน์” ทำมาจากผลงานของผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่รักในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อทำให้คนสูงอายุเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และผลงานเป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันเพื่อเปลี่ยนมุมมองความคิดของสังคมไทยว่า จริงๆ แล้วผู้สูงอายุรุ่นใหม่ ยังมีพลัง มีกำลัง และพึ่งพาตัวเองได้
“คนไทยรู้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ยุค Aging Society เพียงแต่การรับรู้ว่าผู้สูงอายุ มีความสามารถมากแค่ไหน อาจจะยังไม่มาก คนจะมองผู้สูงอายุเป็นผู้รับ แต่เราอยากเปลี่ยนมุมมองความคิด ดังนั้นในการออกแบบของใจคราฟท์ เราถึงใช้คำว่า “ผู้สูงอายุรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นคนวัยเกษียณที่พร้อมจะเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้ทันยุคสมัย พร้อมทั้งใช้ความสามารถที่ตัวเองมี พึ่งพาตัวเองได้ เช่น งานศิลปะ เป็นงานที่ไม่จำกัดอายุ
ทุกผลิตภัณฑ์ของใจคราฟท์ดีไซน์ มีป้ายบอกเรื่องราว เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าใจ Story ของแบรนด์และสินค้า พอลูกค้าเห็นว่าเป็นงานออกแบบของผู้สูงอายุ รู้ว่าความตั้งใจของเราคืออะไร เขาจะรู้สึกว่าถ้าจะมองหาของขวัญสักชิ้น เขาอยากได้ของขวัญที่มีคุณค่า”
คอลเลคชั่นใหม่ ใช้ผ้าไหมอีรี่
หลังจากทำตลาดมาได้ 1 ปี ขึ้นปีที่ 2 คุณแอนมั่นใจในตลาดมากขึ้น จึงได้พัฒนาสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ด้วยการใช้ “ผ้าไหมอีรี่” (Eri Silk) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีราคาสูงกว่าผ้าไหมซาติน และมี Story โดยเป็นไหมที่เกษตรกรในภาคอีสานเลี้ยงไว้สร้างรายได้เสริมจากงานหลักที่ปลูกมันสำปะหลัง ทั้งนี้ทาง “ใจคราฟท์ดีไซน์” จะรับรังไหมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงมา เพื่อนำมาปั่นเป็นด้ายสำหรับทอ
กว่าจะได้ออกมาเป็นคอลเลคชั่นใหม่ ต้องทดสอบหลายรอบ ทั้งเลือกเบอร์ด้าย ความหนา-ความบางของด้าย เริ่มแรกทดลองใช้ไหมอีรี่ 100% แต่ผลที่ได้ออกมา เนื้อผ้าหยาบไป จึงต้องใช้ไหมหม่อนเข้ามาช่วยให้เงาขึ้น ทำให้วัตถุดิบของคอลเลคชั่นใหม่นี้ ทำมาจากส่วนผสมระหว่างไหมสองสายพันธุ์ คือ ไหมอีรี่ 64% กับไหมหม่อน 36%
ด้วยวัตถุดิบไหม บวกกับคุณค่าของงานศิลปะที่ออกแบบภายใต้แนวคิด “วงจรชีวิตของไหมอีรี่” จากกระบวนการธรรมชาติตั้งแต่เกิด จนเติบโต และผลิตเส้นใยไหมคุณภาพ ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ และสินค้า โดยสามารถตั้งราคาขึ้นไปอยู่ที่กว่า 4,000 บาท และมีลูกค้าให้ความสนใจซื้อ
“ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อผ้าพันคอใจคราฟท์ เป็นลูกค้ามีกำลังซื้อ และให้คุณค่ากับงานศิลปะอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยอายุ 25 – 50 ปี และเราออกแบบแพ็คเกจจิ้งให้สามารถมอบเป็นของขวัญ ของฝากได้ เพราะฉะนั้นสินค้าของเราจึงไม่จำกัดอายุ และราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักของลูกค้ากลุ่มนี้”
นอกจากพัฒนาสินค้า ที่ปัจจุบันมีทั้งกลุ่มผ้าพันคอ และต่อยอดไปสู่ไลฟ์สไตล์ โปรดักต์แล้ว ยังได้จัดกิจกรรม Workshop ศิลปะ เพื่อให้ผู้สูงอายุ และคนที่สนใจงานศิลปะรวมตัวกัน ทำให้มีสังคม หรือ Community ของคนที่รักงานศิลปะ ในขณะที่คุณพ่อ และคุณน้าของคุณแอน จะได้ใช้ความรู้ และประสบการณ์ด้านงานศิลปะมาถ่ายทอดให้กับผู้สนใจ รวมทั้งดึงทีมที่มีความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะรุ่นใหม่ มาร่วมกิจกรรมด้วย
ขณะเดียวกันมีแผนจะขยายโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น โดยร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงานทางธุรกิจ (Business Matching) ในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการบุกตลาดต่างประเทศ
“ใจคราฟท์ดีไซน์” เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่เป็น “สื่อกลาง” ระหว่างคนสองวัย ที่ผสานความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของ “ผู้สูงอายุ” ผนวกเข้ากับไอเดียของ “คนรุ่นใหม่” ก่อเกิดเป็นแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่าทางใจ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ