ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นหนึ่งปัญหาคลาสสิคที่ผู้คนในแวดวงธุรกิจเกี่ยวกับ Content Ecosystem ทั้งหลายต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ เจ้าของลิขสิทธิ์ แพลตฟอร์มต่างๆ หรือแม้แต่ตัวศิลปินเอง และเป็นหนึ่งปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและพยายามทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันหรือปราบปรามเพื่อให้จำนวนการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ลดลงให้ได้
สำหรับเรื่องนี้หากตัดมุมของคนที่ต้องการหาผลประโยชน์ให้ตัวเองเพื่อหารายได้แบบผิดๆ ออกไป มาโฟกัสเฉพาะในมุมของผู้ชมที่ต้องการติดตามผลงานของศิลปินหรือรายการที่ชื่นชอบจะพบว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้คนดูส่วนใหญ่ต้องเสพคอนเทนต์ที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย เนื่องจากจำนวนคอนเทนต์ที่สามารถดูได้อย่างถูกกฏหมายมีน้อย และยังไม่หลากหลายครอบคลุมกับความต้องการที่มี โดยเฉพาะคอนเทนต์จากต่างประเทศที่มีฐานผู้ชมค่อนข้างมากอย่างเช่น ซีรีส์เกาหลีและรายการวาไรตี้ต่างๆ ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ต้องเลือกเสพผ่านช่องทางที่อาจจะไม่ถูกกฏหมายเนื่องจากไม่มีทางเลือก จนกลายเป็นการสนับสนุนคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจ
จะสู้ของเถื่อน ของแท้ต้องดีและฟรี
ซึ่งในเรื่องนี้ จากความเห็นของ คุณธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการคอนเทนต์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบบสตรีมมิ่ง (OTT) ภายใต้ชื่อแพลตฟอร์ม VIU (วิว) มองว่า ปัจจุบันจำนวนคอนเทนต์แบบถูกกฏหมายยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของคนดูที่มีอยู่ในตลาด ผู้ประกอบการที่ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์มาเป็น Supply ป้อนสู่ตลาด ยังมีน้อยกว่าฐานผู้ชมที่มีความต้องการจำนวนมาก ทำให้ผู้ชมบางส่วนต้องแก้ปัญหาให้ตัวเองด้วยการไปหาคอนเทนต์จากช่องทางที่อาจจะไม่ถูกกฏหมายมาดู และหากไม่สามารถเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ถูกกฏหมายให้มีปริมาณมากขึ้น ก็จะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้จำนวนฐานผู้ชมในฟากคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์รวมทั้งจำนวนคอนเทนต์ที่ไม่ถูกกฏหมายขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นและแก้ไขปัญหาได้ยากขึ้นไปอีก
“ปัญหาสำคัญอยู่ที่ไม่มีของถูกกฏหมายให้ดู ทำให้คอนเทนต์เถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นทางเลือกของผู้ชม และถ้าปล่อยสถานการณ์เช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ฐานผู้ชมและจำนวนคอนเทนต์ที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างๆ ในการเพิ่ม Supply ให้มากขึ้น เพราะปัญหาสำคัญในขณะนี้ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ เนื่องจากดีมานด์ในตลาดมีสูงมาก แม้จะมีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้นอีก ก็ยังน้อยกว่าความต้องการของผู้ชมอยู่ดี การเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีคนดูจำนวนมาก เช่น ซีรี่ส์หรือวาไรตี้จากเกาหลี ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงคนได้เป็นวงกว้างในหลายๆ ประเทศและมีดีมานด์ค่อนข้างสูง รวมทั้งคอนเท็นต์ในกลุ่มอื่นๆ ทั้งหนังหรือคอนเสิร์ตต่างๆ เชื่อว่าถ้ามีทางเลือกแบบถูกกฏหมายผู้ชมส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะเลือกเสพจากช่องทางที่ถูกต้องมากกว่าอยู่แล้ว”
โดยเฉพาะหากคอนเทนต์ถูกลิขสิทธิ์ต่างๆ อยู่ในรูปแบบของ Free Content ด้วยแล้ว จะยิ่งสร้าง Engage จากผู้ชมได้สูงมากขึ้น เพราะธรรมชาติของคอนเทนต์ที่ถูกลิขสิทธิ์จะมีคุณภาพทั้งจากภาพและเสียงที่ดีกว่า ชัดเจนกว่า รวมทั้งมีการแปลซับไตเติ้ลเป็นภาษาท้องถิ่น ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น รวมทั้งการอัพโหลดอย่างรวดเร็วหลังคอนเท็นต์ต้นฉบับออกอากาศเพียงไม่นานก็จะทำให้คนไม่ต้องไปขวนขวายหาดูจากช่องทางที่ผิดๆ
“หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสามารถตอบโจทย์และให้บริการเหล่านี้ได้เชื่อว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะต่อกรกับเหล่าคอนเทนต์เถื่อนที่มีอยู่ในตลาดได้อย่างแน่นอน เพราะถ้ามีทางเลือกคนดูก็พร้อมที่จะสนับสนุนคอนเทนต์ที่ถูกกฏหมายมากกว่าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก็จะยิ่งดึงดูดผู้ชมเข้ามาได้มากขึ้นอีก”
สิ่งสะท้อนความเชื่อของคุณธวัตวงศ์ มาจากการเติบโตของ VIU เอง ซึ่งถือว่าเป็นน้องใหม่ในกลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT ที่ให้บริการมาได้เพียงสองปี แต่แค่ระยะเวลาเพียงปีครึ่งก็สามารถขยายฐานผู้ชมไปได้ถึง 15 ประเทศแล้ว กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ใหญ่และเติบโตได้เร็วที่สุดของภูมิภาค ด้วยจำนวนฐานผู้ใช้มากกว่า 16 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Active User ที่มีอัตราการ Engage ระดับสูง ด้วยจำนวนระยะเวลาในการรับชมที่ 1.2 -1.8 ชั่วโมงต่อคนต่อวันเลยทีเดียว โดยช่วงเวลาที่คนเข้ามาดูไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในช่วงเย็นหรือค่ำเท่านั้น แต่เฉลี่ยไปตลอดทั้งวันแม้แต่ตอนเช้า หรือในช่วงพักเที่ยงก็ตาม
“VIU ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ติดอันดับแอพพลิเคชั่นยอดนิยมทั้งในฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศไทย เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มเดียวในระบบที่มีรูปแบบคอนเทนต์ให้รับชมได้ทั้งแบบที่ชมได้ฟรีๆ หรือสมัครเป็นสมาชิกในกลุ่มพรีเมียม ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นๆ จะแยกชัดเจนว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการฟรีหรือต้องสมัครสมาชิก รวมทั้งการมี Killer Content อย่างซี่รีส์และวาไรตี้เกาหลี และ Local Content ของแต่ละประเทศ ทำให้ดึงดูดผู้ชมได้อย่างมาก”
หากคอนเทนต์ใช่ คนก็พร้อมจ่าย
VIU ยอมรับว่า ธรรมชาติของผู้ชมเหมือนกันคือชอบของฟรี ยิ่งถ้าเป็นของฟรีที่ถูกกฏหมาย คุณภาพดี หลากหลายและยังออกอากาศได้เร็ว ก็จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและมีศักยภาพมากพอที่จะดึงฐานผู้ชมออกมาจากกลุ่มละเมิดลิขสิทธิ์ได้มากขึ้น ทำให้ VIU ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความหลากหลายของคอนเท็นต์โดยเฉพาะจากฐาน Korean Content ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่กว่า 90% ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม โดยพยายามเป็นพันธมิตรกับทุกค่ายชั้นนำในเกาหลีทั้งฟรีทีวีและเคเบิล เพื่อให้มีคอนเทนต์อยู่บนแพลตฟอร์มอย่างครอบคลุมมากที่สุดและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มคอนเทนต์เอ็กคลูซีฟต่างๆ ให้มาอยู่บนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นความเร็วของคอนเทนต์ที่มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ หรือการมีคอนเทนต์ที่ดูได้เฉพาะบนแพลตฟอร์ม VIU เท่านั้น
นอกจาก Korean Content จะเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ VIU สามารถขยายฐานได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่นาน แต่เพื่อสร้างความแข็งแรงที่มากขึ้นและเป็นแนวทางที่จะทำให้แพลตฟอร์มเติบโตได้อย่างยั่งยืน การมีคอนเทนต์ที่หลากหลายกระจายไปในหลายๆ กลุ่ม เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน VIU จึงให้ความสำคัญกับการมี Local Content ในแต่ละประเทศที่ให้บริการ ทั้งการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับ Content Provider หรือช่องสถานีต่างๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อให้มีคอนเทนต์มาอยู่บนแพลตฟอร์มากขึ้น รวมทั้งการต่อยอดความร่วมมืออื่นๆ เพื่อพัฒนาและเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ Content Ecosystem มากขึ้น เช่น การร่วมผลิต VIU Original Content ซึ่งจะเป็นคอนเท็นต์เฉพาะอยู่บนแพลตฟอร์ม VIU เท่านั้น
ขณะที่โมเดลในการสร้างรายได้เพื่อผลักดันการเติบโตที่แข็งแรงมากขึ้นให้กับแพลตฟอร์ม จะมาจากทั้งคอนเทนต์ที่ให้ดูฟรีด้วยการขายโฆษณาในแต่ละคอนเทนต์ รวมทั้งในกลุ่มพรีเมียมคอนเทนต์ที่จะดูได้เฉพาะผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิก ก็จะมีรายได้จากการการสมัครสมาชิกรายเดือน ที่เก็บในอัตราเดือนละ 119 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สามารถแข่งขันได้ เพราะแม้จะมีแพกเกจที่หลากหลาย แต่ก็ยังอยู่ในค่าเฉลี่ยของตลาดที่ 100-200 บาท และอยู่ในจุดที่คนส่วนใหญ่สามารถจ่ายได้ ทำให้มีโอกาสที่จะได้ฐานผู้ใช้ที่ค่อนข้างกว้างในทุกกลุ่มเป้าหมาย
“แม้คนส่วนใหญ่จะชอบของฟรี แต่ก็พร้อมที่จะจ่ายหากได้ Benefit บางอย่างที่เพิ่มมากขึ้น เช่น สามารถดูได้เร็วขึ้นในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการออกอากาศในเกาหลี หรือไม่ต้องการดูโฆษณาที่แทรกมากับคอนเท็นต์ รวมทั้งสิทธิ์ในการดาวน์โหลดคอนเทนต์ที่ชอบมาไว้ดูแบบออฟไลน์ในเวลาที่ต้องการ ทำให้มีผู้ชมบางส่วนยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และกลายเป็นจุดแข็งและเป็นหนึ่งใน Key Success ของ VIU ที่เป็นทั้งแพลตฟอร์มที่ให้บริการทั้งฟรีคอนเทนต์ที่เน้นคุณภาพและความหลากหลาย และคอนเทนต์พรีเมียมที่ต้องเสียค่าสมาชิก โดยเฉพาะในกลุ่มโคเรียนคอนเทนต์ถูกลิขสิทธิ์กว่า 1 หมื่นชั่วโมงจากค่ายชั้นนำในเกาหลี ทำให้ที่ผ่านมา VIU เติบโตได้อย่างน่าพอใจและสามารถแข่งขันได้ทั้งกับแพลตฟอร์มที่ทำตลาดมาก่อนหน้า หรือแม้แต่ฝั่งคอนเทนต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ยังต้องกลัวเรา”
ผนึก GMM 25 สตาร์ทเกมพันธมิตรในไทย
การมี Local Content เพื่อเพิ่ม Killer Content ให้กับ VIU เป็นหนึ่งในแนวทางสร้างความแข็งแรงและการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับแพลตฟอร์ม เพราะคอนเทนต์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศจะเป็นกลุ่มที่จะช่วยสร้าง Engagement จากผู้ชมได้เป็นอย่างดี โดยในประเทศไทยคอนเทนต์บน VIU 90% คือ Korean Content ทั้งละครและวาไรตี้ที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นชั่วโมง ส่วนที่หลือจะผสมผสานกันทั้งคอนเทนต์จากไทย ญี่ปุ่น และฮ่องกง ซึ่งในอนาคตมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนในฟาก Local Content นี้ให้มากเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการมีพันธมิตรที่เป็น Content Provider ที่มีความแข็งแรงมาช่วยเสริมทัพ
“สำหรับตลาดประเทศไทยนับเป็น 1 ใน Big 4 ที่ VIU มีฐานผู้ชมที่แข็งแรง ร่วมกันอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศลำดับสุดท้ายในการบุก Reginal ของ VIU โดยเข้ามาทำตลาดครบ 1 ปี พอดีในเดือน พ.ค. นี้ และเติบโตหลายเท่าตัวภายในกี่เดือนจากช่วงปลายปี 2017 ที่มียอดดาวน์โหลดประมาณ 1.3 -1.4 ล้านราย เพิ่มเป็น 2.3 ล้านรายในขณะนี้ โดยผู้ชมส่วนใหญ่ 70% จะเป็นผู้หญิง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบและติดตามซี่รีส์และวาไรตี้เกาหลีซึ่งเป็นคอนเท็นต์หลักขนแพลตฟอร์มในขณะนี้”
สำหรับการร่วมมือกับ GMM25 ซึ่งถือเป็นพันธมิตรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยของ VIU ในขณะนี้ เนื่องจากอยู่ในเครือแกรมมี่ผู้นำธุรกิจคอนเทนต์ของไทยที่มีคอนเทนต์หลากหลาย โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจและเป็นกระแสในโลกโซเชียล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับ VIU ซึ่งความร่วมมือในเบื้องต้นจะเป็นการนำคอนเทนต์จากช่อง GMM25 มาไว้อยู่บนแพลตฟอร์ม VIU จำนวน 200 ชั่วโมง ประกอบด้วย ซีรีส์วัยรุ่น “เลิฟซองเลิฟซีรีส์” “The Crime ทีมล่าทรชน” และรายการวาไรตี้แง่มุมความรัก “Club Friday Show” โดยจะสามารถรับชมได้หลังออกอากาศทาง VIU เป็นที่แรกภายใน 30 วันหลังออกอากาศ พร้อมซีรีส์ “แหวนดอกไม้” ที่ได้รับความนิยมทั้งในไทยและจีน
ฟากผู้บริหารจากฝั่ง GMM 25 อย่าง คุณบุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความร่วมมือและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งการขยายฐานผู้ชมของช่อง GMM 25 ให้กว้างครอบคลุมมากขึ้น เพื่อเสริมความแข็งแรงในฐานะคนทำรายการทีวีที่ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย จากที่ก่อนหน้า GMM 25 โฟกัสที่การเป็นช่องทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ และยังเป็นโอกาสในการต่อยอดคอนเทนต์ไปสู่ช่องทางใหม่ๆ รวมทั้งในตลาดที่กว้างมากยิ่งขึ้นผ่าน Regional Platform รวมทั้งความร่วมมืออื่นๆ ในอนาคต ทั้งจำนวนคอนเทนต์ที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น และโอกาสในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น เช่น การร่วมผลิตคอนเทนต์ที่เป็น VIU Original เป็นต้น
ขณะที่ฟากของ VIU มองการทำงานร่วมกับ GMM25 นับเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานกับพันธมิตรในประเทศไทย เพื่อเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ชมชาวไทยจากฟีดแบคต่างๆ เพื่อนำสู่การพัฒนาการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการหาคอนเทนต์สำเร็จรูปจากพันธมิตรต่างๆ หรือการต่อยอดทำงานในระดับที่ลึกมากขึ้นด้วยการร่วมผลิตคอนเท็นต์ แม้แต่การมองหาพันธมิตรรายอื่นๆ ในประเทศไทย เพิ่มเติมเพื่อเข้ามาช่วยกันตอบโจทย์ผู้ชมได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง เพราะเป้าหมายสำคัญของ VIU ไม่ใช่แค่การเป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอคอนเทนต์ แต่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒานา ขับเคลื่อน หรือยกระดับ Content Ecosystem ในทุกตลาดที่ได้ขยายฐานเข้าไป