โรงงานหลอดที่ทำมาจากกระดาษแรกในรอบหลายทศวรรษในอังกฤษมีแผนที่จะเปิดตัวขึ้นในเวลส์ หลังจากร้านอาหารฟาสฟู้ดเตรียมตัวรับมือกับกฎหมายที่รัฐบาลกำลังจะแบน สำลีก้าน หลอดพลาสติก และถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทั่วประเทศสหราชอาณาจักร
จากรายงานของ The Guardian พบว่ามีร้านอาหารบางแห่งได้เริ่มแผนการที่จะเปลี่ยนจากพลาสติก ให้กลายเป็นหลอดกระดาษตอบรับเทรนด์นี้เรียบร้อยแล้ว โดยอาศัยโรงงานของ Transcend Packaging ซึ่งตอนนี้ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าหลอดกระดาษที่กำลังจะเริ่มนำมาใช้นั้นยังไม่ได้ผลิตเองในประเทศ แต่เป็นการรับสินค้าจากโรงงานผลิตในประเทศจีน แต่ก็มีแผนจะตั้งโรงงานในเวลส์
เหตุผลที่มีการตั้งโรงงานก็เพราะ Transcend Packaging ได้เซ็นสัญญากับ McDonald’s เพื่อขายหลอดกระดาษนี้ให้กับทุกร้านแมคโดนัลด์สาขาในสหราชอาณาจักรซึ่งมีอยู่ราว 1,361 สาขา รวมทั้งกลุ่มบริษัทร้านอาหารอื่นแล้ว และนั่นทำให้โอกาสทางการตลาดน่าสนใจพอที่จะทำให้เกิดการตั้งโรงงานหลอดกระดาษขึ้น
“พวกเราได้สังเกตเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่และพวกเราก็คว้ามันมา” Mark Varney ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดคนใหม่ของ Transcend Packaging กล่าว “ตอนที่ สารคดี BBC’s Blue Planet II ได้ออกอากาศบนโทรทัศน์ และรัฐบาลเริ่มพูดถึงอันตรายของหลอดพลาสติก เราเห็นช่องว่างที่เป็น Niche Market ”
“เป็นสิ่งที่ดีมากที่ได้เห็นหลายกิจการได้เริ่มลด ละ เลิกใช้หลอดพลาสติก แต่ปัญหาต่อมาคือแล้วจะไปเอากระดาษมาจากไหน?” Varney เล่าถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ “ทุกคนได้กระดาษมาจากการนำเข้าจากประเทศจีน และเมื่อคุณมองไปที่รอยเท้าคาร์บอนที่จะเกิดขึ้น คุณอาจจะพบว่าเหมือนเป็นการออกกำลังที่สูญเปล่า” เขาหมายถึงการผลิตกระดาษเองก็เบียดบียนธรรมชาติอยู่ไม่น้อย
นอกจาก Transcend Packaging แล้ว ยังมีบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ชื่อ Huhtamaki ที่มีโรงงานผลิตอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือก็ได้เซ็นสัญญากับ McDonald’s เช่นกัน แต่ตามที่เข้าใจคือบริษัทนี้ก็ยังไม่มีความสามารถในการผลิตหลอดกระดาษเช่นกัน แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าบริษัทแห่งนี้ นำเข้าหลอดกระดาษมาจากไหน
อย่างไรก็ตามหลอดกระดาษดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในตอนนี้ เพราะตามรายงานข่าวของ CNN ระบุว่าอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติกถือว่าเข้าขั้นวิกฤติเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น คือสูงสุดแค่ 14% ของพลาสติกที่ใช้งานเท่านั้น ขณะที่วัสดุอื่น เช่น กระดาษ มีอัตราการนำมารีไซเคิลอยู่ที่ 58% ขณะที่เหล็กและโลหะอื่น มีการนำกลับมาใช้ซ้ำถึง 90%
และไม่ใช่แค่อังกฤษที่หมายถึงเท่านั้นตอนนี้อังกฤษกำลังรณรงค์ไปสู่ประเทศอื่นในเครือจักรภพให้ลด ละ เลิก พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเช่นกัน นอกจากนี้ในสหภาพยุโรปเองก็กำลังจะเริ่มการแบนสิ่งของพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวหลายรายการและการออกกฎหมายเพื่อที่จะให้ผู้ผลิตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการทำความสะอาดอีกด้วย
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นคนเริ่มการแบนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียวก่อนก็ตาม ประโยชน์ที่จะได้รับสูงสุดคือได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
เอาละ อ่านข่าวดีกันไปแล้ว เราลองมาติดตามประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดูจะไม่สู้ดีนักสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันบ้าง นั่นก็คือ หลังจากมีรายงานเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่ประเทศจีนงดการนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศ ขยะรีไซเคิลที่ไม่ได้ส่งไปประเทศจีนจากอังกฤษกลับถูกส่งต่อมายังประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย (อ้าวเฮ้ย!!!) ซึ่งจำนวนขยะดังกล่าวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ข่าวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ทั้ง 3 ประเทศนี้ติดอันดับอยู่ในรายชื่อของประเทศที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลกอยู่แล้ว และไม่กี่สัปดาห์ก่อนก็เพิ่งมีข่าวว่าวาฬครีบสั้นเกยตื้นบนชายฝั่งของประเทศไทย และจากการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตก็พบกับขยะพลาสติกในท้องหนักถึง 17 ปอนด์ (7.7 กิโลกรัม) ในท้องของเจ้าวาฬตัวนี้