HomeInsightมองมุมกลับแล้วปรับมุมมอง “เติมหัวใจให้ธุรกิจ” สร้างความสุขให้พนักงาน สร้างองค์กรยั่งยืน

มองมุมกลับแล้วปรับมุมมอง “เติมหัวใจให้ธุรกิจ” สร้างความสุขให้พนักงาน สร้างองค์กรยั่งยืน

แชร์ :

“0.04%” หรือเพียงแค่ 4 บริษัทเท่านั้นจาก 10,000 บริษัทที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องเกิน 30 ปี ฟังแล้วก็อาจเป็นตัวเลขที่น้อยจนน่าใจหาย หากเป็นนักธุรกิจทั่วไปก็คงคำนึงถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ยึดความสำเร็จบนผลกำไร ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิธีโปรโมตสินค้า การจัดสรรงบประมาณ การสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นพนักงานเป็นต้น แต่แท้จริงแล้วธุรกิจที่ยึดแนวคิด “การสร้างความสุข” ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท จะมีแนวโน้มนำพาธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนได้มากกว่า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นี่คือแนวคิดหลักของ ศาสตราจารย์ โคจิ ซากาโมโต้ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซ โตเกียว ผู้แต่งหนังสือ “บริษัทนี้ที่ควรรัก” มองว่า แทนที่จะสร้างธุรกิจที่มุ่งเน้นผลประกอบการเพียงอย่างเดียว ก็ควรที่จะคำนึงถึงความพึงพอใจของพนักงานด้วย ”หากสนใจเพียงแค่ผลประกอบการหรือการแพ้ชนะซึ่งเป็นเพียงแค่กระบวนการ จะทำให้ธุรกิจไม่สามารถแสวงหาความสุขให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่” “การสร้างความสุข” ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นควรแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า สังคม และผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของพนักงานซึ่งเป็นกลุ่มที่บริษัทควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะถือว่าพนักงานเป็นจุดเริ่มต้นของทุก ๆ สิ่ง

“สำหรับพนักงานนั้น บริษัทก็เป็นเหมือนกับโรงเรียนแห่งสุดท้ายของชีวิต” ศาสตราจารย์กล่าว

ศาสตราจารย์ โคจิ ซากาโมโต้ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซ โตเกียว ผู้แต่งหนังสือ “บริษัทนี้ที่ควรรัก”


ซึ่งหลังจาก ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ รองประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้อ่านงานเขียนของศาสตราจารย์แล้ว เธอพบว่าหนังสือเล่มนี้มิได้สอนเกี่ยวกับธุรกิจเป็นหลัก แต่กลับพลิกแนวคิดเดิมๆ ที่มีเป้าหมายเน้นผลกำไร แต่กลับมุ่งเน้นที่การ “บริหารความสุข” เพื่อพนักงาน เพื่อลูกค้าและเพื่อสังคมแทน และเป็นการจุดประการให้เธอสนใจแนวคิดดังกล่าว 

แบรนด์ที่ขายรองเท้าข้างเดียว เพราะใช้ “หัวใจ” มอง 

โทคุทาเคะ-ซังเกียว (Tokutake-sangyo) หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรองเท้าที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ “หัวใจ” ในการบริหาร สืบเนื่องมาจากการที่ประธานบริษัทได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับรองเท้าของผู้สูงอายุ ตั้งแต่เรื่องหยุมหยิมอย่างสีสันที่ไม่สดใส ลวดลายที่ไม่งดงาม ไปจนถึงปัญหาใหญ่โตที่ดูยากเกินกว่าที่บริษัทเล็ก ๆ ของเขาจะแก้ไขได้ คือ ขนาดเท้าที่ไม่เท่ากันจากอาการเท้าบวม ดังนั้นเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใส่รองเท้าได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องซื้อรองเท้าถึง 2 คู่และทิ้งไปอย่างละ 1 ข้าง นับว่าเป็นการกระทำที่สิ้นเปลืองทั้งทรัพยากรและเงินทองเป็นอย่างมาก แต่ในท้ายที่สุดประธานบริษัทก็คำนึงถึงความต้องการของลูกค้ามากกว่า เขาจึงผลิตรองเท้าที่ขายเพียงข้างเดียว โดยขายราคาครึ่งเดียวจากรองเท้า 1 คู่ และไม่บวกกำไรเพิ่มแม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตมากขึ้นก็ตาม เพราะเขามองว่า

“จะมีประโยชน์อะไรหากผลิตรองเท้าที่เพรียบพร้อม แต่ราคากลับสูงลิ่วจนลูกค้าไม่สามารถซื้อได้”

การใส่ใจลูกค้าเป็นหลักและการลดต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นนี้เองที่เป็นสาเหตุให้บริษัทสามารถอยู่ได้ นอกจากนั้นเขายังแสดงความห่วงใยขั้นสุดด้วยการให้พนักงานเขียนจดหมายด้วยลายมือ ใส่ลงในกล่องรองเท้าของลูกค้าทุก ๆ กล่องอีกด้วย !

สิ่งที่ทางบริษัทโทคุทาเคะ-ซังเคียวได้รับนอกเหนือไปจากยอดขายอันดับ 1 ของตลาดรองเท้าผู้สูงอายุ คือคำชมจากลูกค้าที่ส่งจดหมายกลับคืนบริษัทปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันฉบับ และจดหมายดังกล่าวก็สร้างความสุขให้กับพนักงาน เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ผลิตรองเท้าดี ๆ ให้ลูกค้าเช่นกัน จึงเรียกได้ว่าเป็นการ “ยิ่งให้ยิ่งได้” ที่แท้จริง

บาร์บีคิวพลาซ่า Happy 4×4

ทางฝั่งของธุรกิจในไทยก็เริ่มมีหลายบริษัทที่ให้ความสนใจกับแนวคิดการบริหารธุรกิจยั่งยืน โดยเน้นที่ความสุขของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยคุณชาตยา สุพรรณพงศ์ (คุณเป้) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด หนึ่งในบริษัทที่คว้ารางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นในปีที่ผ่านมา ได้เผยว่าสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจตน ไม่ได้เริ่มต้นจากพนักงานเป็นหลัก “เมื่อ 6-7 ปีก่อน เป้ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่สร้างแรงขับเคลื่อนกับตัวเองให้ตื่นมาในตอนเช้าแล้วอยากลุกไปทำงานและมีความสุขไปกับมัน” จึงขยายแนวคิดนี้ไปยังพนักงาน และเปลี่ยนวิสัยทัศน์ขององค์กรเสียใหม่จาก “ขายอาหาร” เปลี่ยนเป็น “ดูแลความสุขให้กับคนอื่นโดยมีมื้ออาหารเป็นสื่อกลาง”

แม้คำว่า “ความสุข” จะเป็นสิ่งนามธรรม แต่คุณเป้ก็สามารถทำให้มันเป็นความสุขที่จับต้องได้ผ่าน “พนักงาน” ดังสุภาษิตน้ำพึงเรือ เสือพึ่งป่าฉันใด การจะสร้างความสุขให้แก่ลูกค้าได้นั้นก็ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยพนักงานที่มีความสุขด้วยฉันนั้น โดยใช้หลัก Happy 4×4 คือ “กินดี พักสบาย กายแข็งแรง แบ่งปันความรู้” และ “จิตดี ครอบครัวดี มีเงินใช้ ให้สังคม”  เมื่อองค์กรสามารถดูแลกายและใจของพนักงาน รวมไปถึงครอบครัวของพนักงานให้มีความสุขได้แล้ว พนักงานก็จะสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่ “เพราะการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนและแข็งแรงได้นั้นต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา” คุณเป้กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งผลลัพธ์ทางธุรกิจของเธอก็คือผลกำไรโต 128% 

ด้าน คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหหารบริษัท เบทาโกร กรุ๊ป กล่าวว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการบริหารบุคลากรด้วยใจแล้ว สามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือสังคมต่อได้อีกด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการใส่ใจลูกค้าเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ทางเบทาโกรได้เข้าไปช่วยร้านอาหารดูแลเรื่องของการปรุง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัย อีกทั้งการเข้าไปทำความเข้าใจชุมชน พยายามทำให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว จากการช่วยเหลือชุมชนนี้ ทำให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของพนักงานซึ่งเป็นคนในชุมชนนั้น ได้เห็นมุมมองในการบริการที่กว้างขึ้นและช่วยพัฒนาต่อยอดธุรกิจไปได้อีก

หน้าที่ของพนักงานคือการดูแลเอาใจใส่ลูกค้า แต่หากพนักงานไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ก็จะไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ หน้าที่ของผู้บริหารจึงเป็นการให้ความสำคัญกับพนักงานและครอบครัวของพนักงาน ฉะนั้นแล้วบริษัทที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าผลประกอบการ ก็สมควรที่จะมอบรางวัล “บริษัทนี้ที่ควรรัก” ให้เสียจริง ๆ !

บทจุดเด่นของบริษัทชั้นเลิศ 20 ประการ

  1. การบริหารจัดการที่เน้นความสุข
  2. การบริหารที่ดีกับทั้ง 5 ฝ่าย คือ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า สังคม และผู้ถือหุ้น
  3. การบริหารจัดการที่คิดถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น
  4. การบริหารแบบวงปีต้นไม้แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
  5. การบริหารที่ช่วยให้เศรษฐกิจดี มิใช่พึ่งสภาวะเศรษฐกิจ
  6. การบริหารที่สมดุล
  7. การไม่ใช้ราคาเป็นตัวแข่งขัน
  8. การบริหารจัดการร่วมกัน ไม่ผูกขาดคนเดียว
  9. การบริหารแบบ Bottom – Up
  10. การบริหารจัดการแบบเปิดกว้าง
  11. การทำงานเป็นทีม
  12. การจ้างงานตลอดชีพ ไม่ใช่ตัดสินที่ผลงานเป็นหลัก
  13. การบริหารที่แบ่งเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน
  14. การบริหารแบบพีระมิดทรงคว่ำ
  15. การบริหารที่เน้นความเป็นบริษัท
  16. การบริหารที่มองระยะยาว
  17. การบริหารที่ลดระยะเวลาทำงานของพนักงาน
  18. การบริหารแบบครอบครัวใหญ่ และร่วมมือร่วมใจกัน
  19. การบริหารที่เน้นคนและด้านนามธรรม
  20. การบริหารจัดการที่พึ่งพิงตนเอง อยู่ได้ด้วยตนเอง

  


แชร์ :

You may also like