ในฐานะที่เป็นตัวหลักในอุตสาหกรรมระบบคลาวด์ Microsoft จึงกระตือรือร้นที่จะหาวิธีที่ดีขึ้นในการจัดเก็บและใช้เครื่องจักรของตน นำมาซึ่งการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลภาคพื้นทะเล นอกเกาะ Orkney ในสก็อตแลนด์
แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Natick ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มเพื่อระบุแนวทางในการจัดการหน่วยข้อมูลขนาดใหญ่ ในแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฟสแรกเปิดตัวในปี 2014 จากการที่เราได้เห็น Microsoft สร้างศูนย์ข้อมูลใต้น้ำเล็กๆ ที่มีการนำคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปจำนวน 300 เครื่อง ไปหย่อนลงในมหาสมุทรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เพื่อทดสอบว่ามันเวิร์คจริงหรือไม่
ในขั้นตอนต่อมา ก็คือ ไมโครซอฟท์เดินหน้าต่อด้วยการส่งเรือที่ดำเนินการมาเกือบ 4 เดือน ทำงานในเฟสสองโดยการนำเซิร์ฟเวอร์ที่รองรับจำนวน 864 เซิร์ฟเวอร์ ใน 12 ชั้นของเรือดำน้ำที่ปิดสนิท ซึ่งมีขนาดประมาณตู้คอนเทนเนอร์ยาว 40 ฟุต ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานได้เป็นเวลาห้าปีโดยไม่ต้องบำรุงรักษาใดๆ
สำหรับเหตุผลที่บริษัทพยายามรวบรวมศูนย์ข้อมูลใต้น้ำนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่อยากให้เงือกเล่นอินเทอร์เน็ตได้หรืออะไร แต่ Microsoft กล่าวว่ามันเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการถ่ายโอนข้อมูลที่รวดเร็วต่างหาก บริษัทตั้งข้อสังเกตว่าประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในระยะ 120 ไมล์จากฝั่ง ดังนั้นการที่สามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ใกล้บ้านได้มากขึ้นอาจทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ มันยังสามารถขับเคลื่อนโดยกังหันลมที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำได้ด้วย ทำให้คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการขาดพลังงานหรือค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน ท้ายสุด น้ำในมหาสมุทรมีความเย็นและสามารถดูแลรักษาอุณหภูมิภายในศูนย์ข้อมูลได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการปรับสมดุลความร้อนที่อาจเกิดขึ้น
ศูนย์ข้อมูลนี้จะถูกเฝ้าดูไปอีก 12 เดือน โดยนักวิจัยจาก Microsoft จะติดตามดูปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้พลังงาน ระดับความชื้นภายในและอุณหภูมิ บริษัทหวังว่าในที่สุดแล้วระบบที่กำลังพัฒนากันอยู่นี้ จะสามารถปรับใช้ได้จริงและมีราคาถูกกว่าที่ใช้กันอยู่ในหลายปีที่ผ่านมา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Microsoft ลงไปทำโปรเจ็คต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับ Facebook และ บริษัท Telxius ของสเปนในโครงการ Marea เพื่อวางสายเคเบิลใต้ทะเลระยะทาง 6,600 กิโลเมตร ระหว่างหาดเวอร์จิเนียในสหรัฐและบิลบาวประเทศสเปน เพื่อส่งข้อมูลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น เป็น 160 terabits ต่อวินาที
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM