หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่โรงพยาบาลเอกชนนำมาแข่งขันเพื่อช่วงชิงมูลค่าตลาดกว่า 170,000 ล้านบาท คือ การมุ่งพัฒนาคุณภาพและการบริการสู่ความเป็นเลิศ โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ โรงพยาบาลเอกชนเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลโรคสำคัญๆซึ่งหนึ่งในโรคที่ถือว่าคนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ คือ โรคหัวใจ ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดของคนไทยเฉลี่ยที่ 150 คนต่อวัน หรือปีละ 54,530 คน สถิติผู้เสียชีวิต ทั่วโลกอยู่ที่ 17.7 ล้านคนต่อปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ของคนไทย รองจากมะเร็ง และอุบัติเหตุ
สำหรับโรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ BDMS ที่ถือว่าเป็นเจ้าตลาดโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน ก็เดินตามเส้นทางดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยวางแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงปี 2560-2561 ในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ หรือ Center of Excellence ซึ่งหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือการได้รับรองมาตรฐาน JCI ฉบับ 6 พร้อมกับการยกระดับโรงพยาบาล โดยเน้นการมีผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง ให้บริการดูแลรักษาด้วยคุณธรรมและจริยธรรมการแพทย์ คำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย ตลอดจนความเข้มข้นในการรักษา เพื่อให้การรักษาพยาบาลที่ปลอดภัย มีคุณภาพสูงและบริการที่มีความน่าไว้วางใจ ด้วยมาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงพยาบาลและสถานพยาบาลนานาชาติทั่วโลก
ล่าสุดใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาศูนย์หัวใจ ให้เป็นศูนย์กลางรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ทันสมัยครบวงจรแห่งหนึ่งของเอเชีย เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งงบลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็นการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยี 63 ล้านบาท และงบด้านการปรับปรุงสถานที่ และการอบรมพัฒนาบุคลากร 42 ล้านบาท โดยศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้รับการรับรองแบบเจาะลึกรายโรค CCPC การดูแลผู้ป่วย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล และดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ อายุรกรรม และศัลยกรรม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีทีมแพทย์อายุรกรรมหัวใจ และศัลยแพทย์หัวใจ ประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัย เช่น มีห้องปฏิบัติการผ่าตัดหัวใจ มีห้องผ่าตัดแบบ Hybrid Operating Room ซึ่งสามารถให้บริการ สวนหัวใจและผ่าตัดแบบเปิดในห้องเดียวกันได้
นายแพทย์ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ (Medical Hub) แห่งเอเชีย มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน ขณะที่ จำนวนตัวเลขการท่องเที่ยวในเชิงการแพทย์ในไทยก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทย ติดอันดับ 6 ของโลก และมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ มากที่สุดถึงประมาณ 38% ของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด
“ไทยมีความได้เปรียบและจุดแข็งหลายอย่างเช่น การเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ความเข้มแข็งทางด้านธุรกิจการให้บริการ และนโยบายการขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐบาล ที่สนับสนุนให้กลุ่มบริการทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่สำคัญ ล่าสุด รัฐบาลมีนโยบาย Thailand 4.0 และนโยบาย S-Curve ที่ผนวกกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เข้ามาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับทิศทางการบริหาร และแนวทางการให้บริการทางด้านการแพทย์ และด้วยความพร้อมของศูนย์หัวใจของโรงพยาบาลพญาไท 2 จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะเดินหน้าพัฒนาและผลักดันศูนย์หัวใจให้เป็นศูนย์กลางการดูแล รักษาโรคหัวใจแห่งภูมิภาคเอเชีย” นายแพทย์ ทวนทศพร กล่าว
โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ใช้กลยุทธ์เข้าถึงผู้ป่วยและญาติด้วยแนวทางการบริการดูแลรักษา “ดูแลที่หัวใจ” ที่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญ โดยการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้ข้อมูลการรักษาครบถ้วน ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หาแนวทางการรักษา และโฮมมี่ แคร์ (Homey Care) ดูแลผู้ป่วย และญาติด้วยความเข้าใจ อบอุ่น เหมือนคนในครอบครัว ส่วนการทำตลาดต่างประเทศนั้น โรงพยาบาลทำความเข้าใจในพฤติกรรมความต้องการของแต่ละชาติ เป้าหมาย มีบุคคลากรดูแลเฉพาะของแต่ละประเทศในการทำการตลาด มีการจัดโรดโชว์ ในแต่ละประเทศ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายต่างๆ เช่น โรงพยาบาลเอกชนท้องถิ่น และบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ ด้านการบริการในโรงพยาบาล มีแผนกที่ช่วยประสานงานและแปล ที่เรียกว่าฝ่าย IRC (International Relations officer) โดยจะดูแลผู้ป่วยและญาติตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล โดยมีภาษามากกว่า 15 ภาษาให้บริการ
นายแพทย์ ทวนทศพร กล่าวอีกว่า ได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศ 85% และจากต่างประเทศอีก 15% โดยมีการรุกขยายตลาดในกลุ่มประเทศจีน กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว และตะวันออกกลาง โดยมุ่งไปที่กลุ่มตรวจสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ทั้งผู้ป่วยวิกฤติ การสวนหัวใจ ผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นฟูและควบคุมปัจจัยเสี่ยง ปัจจุบันศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 รองรับผู้ป่วยนอก 150 คนต่อวัน ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นฟูและควบคุมปัจจัยเสี่ยง 30 คนต่อวัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 รายต่อเดือน