หาโมเดลที่ถูกใจและลงตัวในการขยายอาณาจักรไปทั่วประเทศได้เรียบร้อย สำหรับยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกอย่าง สยามพิวรรธน์ ที่ตลอดกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์ให้แวดวง Retail มาโดยตลอด แม้ว่าจะไม่ได้มาบ่อยๆ หรือมีโครงการใหม่มาอัพเดททุกปี แต่ว่าในแต่ละครั้งที่เปิดตัวโครงการใหม่ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการค้าปลีกได้เสมอ ที่สำคัญไม่ใช่แค่เป็นปรากฏการณ์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการสร้าง World Class Destination แห่งใหม่ให้กับประเทศได้ทุกครั้ง
ประกาศเลิกทำศูนย์การค้า!!!
ที่ผ่านมาการเคลื่อนทัพของสยามพิวรรธน์ โดยแม่ทัพหญิงอย่าง คุณแป๋ม-ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยามพิวรรธน์ กรุ๊ป มีทิศทางที่ชัดเจนในการสร้างโครงการใหม่ๆ แต่ละครั้งว่า ต้องเป็นการสร้าง New Prototype ให้ธุรกิจมาโดยตลอด ทำให้แต่ละโครงการกลายเป็น Talk of The Town อยู่เสมอ โดยเฉพาะโครงการล่าสุดที่ลงทุนร่วมกับกลุ่มซีพี และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ซึ่งเตรียมจะเปิดให้บริการช่วงปลายปีนี้อย่าง Icon Siam อภิมหาโปรเจ็กต์ที่ใช้งบลงทุนสูงกว่า 54,000 ล้านบาท และเป็นการก้าวข้ามจากแค่การสร้างศูนย์การค้าหรือโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ทั่วไป มาสู่การสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากการเนรมิตเมืองใหม่อีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับคนใกล้ชิดหรือใครที่มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแป๋ม โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ คุณแป๋มมักจะพูดย้ำๆ ประโยคนี้ให้ได้ยินอยู่เสมอ นั่นคือ
“แป๋มเลิกทำศูนย์การค้าแล้ว”
ใครที่ได้ฟังประโยคนี้จากคุณแป๋ม ก็มักจะคิดว่าคงพูดเล่นหรือเป็นมุกขำๆ มากกว่า แต่ Movement ล่าสุด ของสยามพิวรรธน์ในวันนี้กับการประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่อย่าง ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ผู้นำ Retail Property Developer อันดับหนึ่งของโลก เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 230 โครงการ ในพอร์ตโฟลิโอที่กระจายไปใน 12 ประเทศทั่วโลก มูลค่าธุรกิจในพอร์ตรวมกันกว่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านล้านบาท และเป็นเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกโดยรวมที่มากกว่าพื้นที่ค้าปลีกของไทยกว่า 10 เท่า โดยในนี้ยังมีโครงการพรีเมี่ยมเอ้าท์เล็ตมากถึง 96 โครงการทั่วโลก ซึ่งอยู่ในเอเชีย 15 โครงการ ใน 3 ประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย
โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศลำดับที่ 4 และพรีเมี่ยมเอ้าท์เล็ตแห่งที่ 16 ของไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ในการขยายตลาดมาสู่เอเชีย ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ เพื่อร่วมกันสร้าง Luxury Premium Outlet บนพื้นที่ 150 ไร่ ที่คุณแป๋มเปรียบว่าจะเป็นเหมือนการมีโอเอซิสที่อุดมสมบูรณ์รองรับทั้งนักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้เวลาในสถานที่แห่งนี้ เพื่อช้อปปิ้งสินค้าหลากหลายที่ให้ส่วนลด 25-70% ได้ทุกวัน ผสมผสานไปกับการมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และพบปะแฮงก์เอ้าท์ รวมทั้งยังเป็นศูนย์รวมกิจกรรมเพื่อสาระและความบันเทิงต่างๆ อย่างครบถ้วน
สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่คุณแป๋มพยายามตอกย้ำกับคนรอบข้างมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้คุณแป๋มได้ออกมาย้ำชัดๆ อีกครั้งด้วยประโยคเดิมที่ว่า “ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่แป๋มจะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า แป๋มเลิกทำศูนย์การค้าแล้วจริงๆ”
รอมา 20 ปี กับโมเดลในฝัน
คำว่า “ศูนย์การค้า” ในความหมายของคุณแป๋มก็คือ การมีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการค้าขายสินค้าต่างๆ เท่านั้น เพราะสิ่งที่สยามพิวรรธน์นำเสนอมาโดยตลอดคือ การขายประสบการณ์แปลกใหม่ที่ผู้คนจะได้รับกลับไป เมื่อเข้ามาในแต่ละโครงการของสยามพิวรรธน์ คำพูดของคุณแป๋มจึงเป็นเหมือนการตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างทุกๆ โครงการของสยามพิวรรธน์กับโครงการอื่นๆ นั่นเอง
ขณะที่การทำโครงการ Luxury Premium Outlet เป็นหนึ่งในความฝันที่คุณแป๋มอยากทำมาตลอด 20 กว่าปี นับตั้งแต่เข้ามาบริหารงานในสยามพิวรรธน์ และมีโอกาสติดตามคุณพ่อไปที่วู้ดเบอรี พรีเมี่ยม เอ้าท์เล็ต ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในนิวยอร์ก
“เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน คุณพ่อพาแป๋มไปเที่ยวที่วู้ดเบอรี่ เอาท์เล็ต นิวยอร์ก รู้สึกตื่นตาตื่นใจมากเมื่อได้พบเจอผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเลือกซื้อสินค้าที่เอาท์เล็ตแห่งนี้” พร้อมกันนั้นคุณพ่อก็ยังมุ่งหวังว่า “สักวันหนึ่งสยามพิวรรธน์จะต้องทำธุรกิจเช่นนี้ในประเทศไทยให้ได้” กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คุณแป๋มเริ่มต้นอยากพัฒนาโครงการเช่นเดียวกันนี้ในประเทศไทย จนมาถึงวันนี้ วันที่คุณแป๋มบอกว่า “ความฝันที่รอมาตลอด 20 กว่าปี กำลังจะกลายเป็นความจริงแล้ว”
และแม้จะเป็นความฝันที่ตั้งใจมานานเป็นสิบปี แต่การทำธุรกิจก็จำเป็นต้องรอโอกาสและความเหมาะสมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของตลาด กำลังซื้อและพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือฐานะของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนทั่วโลก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 35 ล้านคน ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีล่าสุด ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 15-20% อีกทั้งยังมีจำนวนประชากรไทยเกือบ 70 ล้านคน ดังนั้น เวลาเช่นนี้ คุณแป๋มมองว่าทุกอย่างล้วนสุกงอมและพร้อมสำหรับการเริ่มต้นสานต่อความฝันที่ค้างคาอยู่ในใจมากว่า 20 ปีของตัวเองแล้ว
นี่จึงเป็นเหตุผลของการร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอย่างไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน เพื่อร่วมกันสร้าง Luxury Premium Outlet ในประเทศไทย โดยจะเริ่มโครงการแรกในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ในจุดสำคัญที่เชื่อว่าทุกคนที่เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ต้องผ่าน ด้วยจำนวนทราฟฟิกแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในราวเดือนตุลาคม 2562
ไม่เพียงแค่การสร้างพรีเมี่ยมเอ้าท์เล็ตในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่โมเดล Luxury Premium Outlet จะกลายเป็นโปรโตไทป์สำคัญในการขยายอาณาจักรค้าปลีกของสยามพิวรรธน์ไปสู่ต่างจังหวัดอีกด้วย จากที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกของสยามพิวรรธน์กระจายอยู่เฉพาะในรอบๆ กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งตามแผนการร่วมทุนตลอด 3 ปีจากนี้ จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้าง Luxury Premium Outlet รวม 3 แห่ง คือ ในกรุงเทพฯ 1 แห่ง ภาคใต้ 1 แห่ง และภาคเหนือ 1 แห่ง
“แนวทางพัฒนาโครงการแต่ละครั้งของสยามพิวรรธน์ที่ผ่านมา มักเป็นการสร้างปรากฏการณ์หรือโปรโตไทป์ใหม่ๆ ให้ธุรกิจอยู่เสมอ รวมทั้งรูปแบบโครงการที่ไม่ได้มีแค่ศูนย์การค้าแต่จะมีหลายๆ องค์ประกอบอยู่ในโครงการ ทำให้อาจจะไม่ใช่โมเดลที่เหมาะกับการขยายไปในต่างจังหวัด แต่ในส่วนของ Luxury Premium Outlet เชื่อว่าเป็นโมเดลที่มีศักยภาพและมีโอกาสที่จะขยายไปสู่ต่างจังหวัดได้อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสยามพิวรรธน์ค่อนข้างระมัดระวังในการลงทุนแต่ละครั้ง เราไม่เน้นปริมาณที่ต้องมีโครงการใหม่ๆ ทุกปี แต่จะเน้นและเต็มที่กับโครงการที่มั่นใจ ซึ่งผลตอบรับในแต่ละโครงการก็ประสบความสำเร็จเสมอ ดังนั้น การเดินหน้าสร้างโปรโตไทป์ใหม่ครั้งนี้เราจึงมั่นใจเป็นอย่างมาก และเราคิดมาแล้วเป็นอย่างดี”
Luxury Premium Outlet โอกาสใหม่ค้าปลีกไทย
การขยายตัวของ Premium Outlet เป็นเทรนด์ที่น่าจับตาในธุรกิจค้าปลีก เพราะหลายๆ Developer ให้ความสนใจและประกาศที่จะพัฒนาโมเดลนี้เพื่อรองรับกำลังซื้อในตลาดที่ขยายตัว ทั้งจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศที่เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ทุกปี โดยปีล่าสุดมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรในประเทศเองก็เติบโต โดยเฉพาะการขยายตัวของกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ประกอบกับประเทศรอบข้างที่เริ่มมีโมเดลพรีเมี่ยมเอ้าท์เล็ตให้บริการและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นสัญญาณความพร้อมว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีโมเดล Luxury Premium Outlet อยู่ในพอร์ตธุรกิจรีเทลของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้าง Global Destination แห่งใหม่ให้อยู่ภายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อน Luxury Premium Outlet ของบริษัทร่วมทุน สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จะมาจากองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
1. จากจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของสองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีก โดยสยามพิวรรธน์มีประสบการณ์บริหารธุรกิจค้าปลีกและคอนเนคชั่นในกลุ่ม Local Brand ขณะที่ไซม่อน มีความเชี่ยวชาญในการบริหาร Luxury Premium Outlet ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นวูดเบอรี่ คอมมอน พรีเมี่ยม ในนิวยอร์ก,เดซเซิร์ท ฮิลส์ ในแอลเอ, โกเท็มบะ ในญี่ปุ่น, ยอจู ในเกาหลีใต้ หรือยะโฮว์ ในเมาเลเซีย เป็นต้น
2. สำหรับโครงการแรกในประเทศไทยพื้นที่กว่า 5 หมื่นตารางเมตร จะรวบรวมสินค้ามากกว่า 200 ร้านค้า ทั้งลักชัวรี่แบรนด์และโลคอลแบรนด์ที่ได้รับความนิยม มาจำหน่ายในราคาลดกว่า 25-70% ทุกวัน รวมทั้งการมีสถานที่และกิจกรรมต่างๆ ที่รองรับการเข้ามาใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน เพื่อสร้าง Daily Traffic จากกลุ่มเป้าหมายหลัก คือลูกค้า Local 60% ให้สามารถเข้ามาได้ทุกวัน ขณะที่นักท่องเที่ยวตั้งเป้าไว้ที่ 40%
3. วางแนวทางพัฒนาโครงการที่ไม่ได้มีเพียง Luxury Premium Outlet ซึ่งเป็นหนึ่งใน Key Magnet ที่ดึงให้คนเข้ามาในโครงการเท่านั้น แต่จะเน้นการพัฒนาที่ตอบโจทย์กลุ่มมิลเลเนียลจากทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างๆ ในโครงการ เพื่อให้เป็นต้นแบบหรือศูนย์การเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้
4. หลังโครงการแล้วเสร็จ เท่ากับจะมี World Class Destination แห่งใหม่เกิดขึ้น ทำให้มี Magnet ใหม่ๆ ในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น และหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็คือการเข้ามาในพรีเมี่ยมเอ้าท์เล็ต จึงช่วยเพิ่มโอกาสให้มีกลุ่มเป้าหมายเข้ามาในโครงการเพิ่มมากขึ้นด้วย
5. ศักยภาพของไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ที่มีเครือข่ายกับสินค้าแบรนด์เนมทั่วโลก ทำให้ได้ดีลที่ดีจากแบรนด์ต่างๆ รวมทั้งการตั้งราคาขายในแต่ละเอ้าท์เล็ตที่ใกล้เคียงกันทำให้ช่วยดึงดูดกำลังซื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง เพราะแม้ว่าจะมีกำลังซื้อ แต่การซื้อสินค้าลักซ์ชัวรี่ได้ในราคาที่ถูกกว่าก็เป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้พึงพอใจ ทำให้เลือกเข้ามาจับจ่ายในช่องทางลักซ์ชัวรี่เอ้าท์เล็ตเพิ่มมากขึ้น
6. นอกจากตัวโครงการเองแล้ว ศักยภาพของประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกลุ่มทุนจากประเทศต่างๆ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่ให้ความสนใจขยายธุรกิจเข้ามาในหลายๆ เซ็กเม้นต์ เช่นเดียวกับการที่กลุ่มไซม่อนร่วมลงทุนแบบ Long Term กับสยามพิวรรธน์ก็สะท้อนได้ถึงความมั่นใจทั้งในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน