ประเทศไทยติดอันดับ 6 ใน 192 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่าประเทศไทย มี 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งมีปริมาณขยะประมาณ 11.47 ล้านตัน โดยที่ขยะปริมาณกว่าร้อยละ 14 (หรือประมาณ1.55 ล้านตัน) มีขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 340,000 ตัน ร้อยละ 10-15 มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลโดยรวมและสัตว์ทะเล[1]
กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) หน่วยงานภาคเอกชน และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงได้ร่วมมือกันริเริ่ม “โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน” ซึ่งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อจัดการปัญหาขยะและส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 และมีพันธมิตรเข้าร่วมโครงการทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ ภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้นกว่า 20 หน่วยงาน
พันธมิตรโครงการประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม
ภาครัฐ: กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม
ภาคธุรกิจ: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย
ภาคประชาสังคมและองค์การระหว่างประเทศ: มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมสร้างสรรค์ไทย และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
“โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 และส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับพลาสติก ผ่านการส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานธุรกิจรีไซเคิล การส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ครอบคลุมไปถึงการใช้หลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและประชาชนในการคัดแยกขยะและจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่ถูกวิธี เพื่อสร้างวัฒนธรรมและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างโมเดลเมืองสะอาดในพื้นที่นำร่องกรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย และ จังหวัดระยอง และการจัดทำฐานข้อมูลพลาสติกในประเทศไทย (Thailand Plastic Material Flow Database) ให้เป็นเครื่องชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการและเป็นข้อมูลพลาสติกของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการฯ นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการจัดการปัญหาขยะและการใช้พลาสติกอย่างถูกต้องในประเทศไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสมาชิกภายใต้กลุ่มพลาสติกที่มีผู้ผลิตกว่า 177 บริษัท ซึ่งจะมีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีพลาสติกที่จะช่วยให้ใช้พลาสติกในการผลิตน้อยลงหรือนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลได้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิด Circular Economy ได้จริงๆ”
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธาน องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “พลาสติกเป็นทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้และมีคุณค่า สามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อเนื่องในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy แต่การจัดการทรัพยากรพลาสติกเหลือใช้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่เพียงกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกเท่านั้น แต่ทุกภาคธุรกิจล้วนมีส่วนร่วม เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่มีบทบาทในธุรกิจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายขององค์กรฯ โครงการฯ นี้นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่จะแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน”
นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร สามารถจัดเก็บขยะประเภทถุงพลาสติกได้วันละประมาณ 80 ล้านชิ้น โดยเฉลี่ยประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ชิ้นต่อวัน ซึ่งปัญหาที่พบคือ หลังจากที่ประชาชนใช้ถุงพลาสติกแล้วก็จะทิ้งทันที ปัจจุบันการฝังกลบมีค่าใช้จ่ายตันละ 700 บาทและพื้นที่ใช้สำหรับการฝังกลบกำลังจะไม่เพียงพอ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมมือกันเพื่อลดปริมาณขยะ ทั้งการลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและจัดการคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำพลาสติกกลับไปใช้ได้หมดไม่ต้องเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อม”
นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและโครงการฯ จะร่วมมือกันในการให้ความรู้กับชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ เพื่อช่วยให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพและตัวขยะที่คัดแยกได้มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการรีไซเคิลรายเล็กรายย่อยให้มีมาตรฐานและศักยภาพมากขึ้น และจัดฝึกอบรมบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงาน”
นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การสร้างจิตสำนึก สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลาสติก และปรับพฤติกรรมการคัดแยกขยะตั้งแต่เยาวชน เพื่อให้มีการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลด การเลิก และการผลักดันนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกจำพวกถุง หลอด ขวด ฝาจุก และภาชนะบรรจุอาหาร ที่กลายเป็นปัญหาขยะทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ แหล่งท่องเที่ยว สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเล และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การจัดการปัญหาพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความทุ่มเทจากทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการต้องพร้อมที่จะเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าขยะพลาสติก ซึ่งทางกระทรวงฯ พร้อมให้ความรู้และคำปรึกษาเพื่อให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาปรับใช้ได้จริง”
นายณรงค์ บุณยสงวน รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “ทางมูลนิธิฯ มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจในโครงการที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันและต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน สำหรับโครงการฯ นี้ เราได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ และหวังว่าแนวทางการร่วมมือเช่นนี้จะขยายวงกว้างขึ้นไปอีก เพื่อจัดการ แก้ไข และป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อๆ ไป”
การดำเนินโครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะและการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[1]แหล่งข้อมูล กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง http://www.dmcr.go.th/detailAll/13479/nws/87/