HomeBig Featuredใจสั่นมันต้องโดน ‘โคเมะเฮียว’ ร้านแบรนด์เนมมือสอง อันดับ 1 จากญี่ปุ่นบุก ‘ไทย’ เมื่อสหพัฒน์อยากขายของหรู

ใจสั่นมันต้องโดน ‘โคเมะเฮียว’ ร้านแบรนด์เนมมือสอง อันดับ 1 จากญี่ปุ่นบุก ‘ไทย’ เมื่อสหพัฒน์อยากขายของหรู

แชร์ :

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสินค้าแบรนด์เนม  ต่างก็เป็นที่ชื่นชอบและต้องการ  สำหรับผู้ที่นิยมของดีและหรูหรา  โดยเฉพาะสาวๆ ที่อย่างน้อยขอมีสินค้าแบรนด์เนมติดตัวสักหนึ่งชิ้น  ซึ่งไอเท็มหลักคงหนีไม่พ้น “กระเป๋าแบรนด์เนม” ยี่ห้อดังๆ และดีมานด์ที่มีมากนั้นไม่ได้จำกัดแค่  บรรดาสาวที่อยู่ในวัยทำงานขึ้นไปเท่านั้น  แม้แต่สาวที่อยู่ในวัยเรียนมหาวิทยาลัย  ก็มีความชื่นชอบและต้องการมีกระเป๋าแบรนด์เนมมาครอบครองไว้สักใบ 

คนไทยบ้าแบรนด์เนม – ญี่ปุ่นเปลี่ยนของบ่อย อินไซต์ที่ลงตัว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากแต่ด้วยราคาที่ถือว่าสูงเกินกว่านักศึกษามหาวิทยาลัยจะมีกำลังเงินซื้อได้  จึงเกิดตลาดสินค้ามือสองที่ออกมารองรับ  ในระดับราคาที่ถูกกว่าของมือหนึ่งอย่างมาก  แต่สิ่งที่สำคัญบรรดาผู้ที่ครอบครองกระเป๋าแบรนด์เนมมือ 1 เอง เมื่อเห็นว่าสินค้าที่มีอยู่เกิดตกรุ่นไปแล้ว หรือใช้แล้วไม่ถูกใจจึงนำมาขายต่อ   เกิดเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล  เพราะสินค้าถูกหมุนเวียนส่งต่อกันหลายช่วงคน

สำหรับสาวกสินค้าแบรนด์เนมมือสองชาวไทย  ที่นิยมไปช้อปปิ้งหิ้วกลับเข้ามาใช้  ตลาดใหญ่คือร้านมือสองในประเทศญี่ปุ่น  ที่มีอยู่มากมายหลายร้าน  เพราะนิสัยของชาวญี่ปุ่นมักจะเปลี่ยนสินค้าตามแฟชั่น  ไม่นิยมเก็บสินค้าที่ไม่ได้ใช้ไว้  และสินค้าที่ใช้ก็มักอยู่ในสภาพที่ดี  ทำให้สินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น  เป็นที่ต้องการและชื่นชอบกับกลุ่มลูกค้าคนไทย  ยิ่งคนไทยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นได้อย่างสะดวก  เพราะไม่ต้องขอวีซ่า  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวก็ไม่ได้สูงมาก  ทำให้ปริมาณคนไทยที่ไปประเทศญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน  คนไทยเลยกลายเป็นหนึ่งลูกค้าสำคัญของร้านมือสองในประเทศญี่ปุ่น  แม้ว่าจะยังไม่ขึ้นอันดับ 1 เหมือนชาวจีน แต่ก็อยู่ในอันดับ Top 3 ของกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองมากที่สุด

สหพัฒน์ ขายของแพงก็เป็น

เครือสหพัฒน์ยักษ์ใหญ่ไทยในด้านสินค้าอุปโภคและบริโภค  ที่มีแบรนด์สินค้าของกินของใช้ครอบคลุมตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน  รวมถึงมีสินค้ากลุ่มแฟชั่นในมือมากกว่า 100 แบรนด์  ซึ่งเป็นสินค้าทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม  แต่ต้องยอมรับว่าเครือสหพัฒน์เป็นยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจครบวงจร  ตั้งแต่ต้นน้ำ  คือ โรงงานผลิตสินค้า  กลางน้ำ คือ ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า และปลายน้ำ คือ ช่องทางจัดจำหน่าย  ซึ่งแม้ว่าจะยังมีเครือขายช่องทางจัดจำหน่ายไม่มากนัก  แต่เครือสหพัฒน์ก็พยายามเติมเต็มช่องทางจำหน่ายให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อย่างเช่นกรรุกเข้าสู่ช่องทางร้านสะดวกซื้อ หรือ CVS  แบรนด์ Lawson 108 หรือ Drug Store แบรนด์​  Tsuruha (ซูรูฮะ) เป็นต้น  ไม่นับรวมกับร้านสินค้าแฟชั่น ที่กระจายอยู่ตามช่องทางโมเดิร์นเทรดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม  เมื่อกวาดสายตาดูพอร์ตสินค้าในเครือสหพัฒน์จะพบว่า  ยังไม่มีฐานสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาในพอร์ต  เครือสหพัฒน์จึงมองหากลุ่มสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาเติมเต็ม  เพื่อรองรับกับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมสินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่สูงขึ้น  ซึ่งนอกจากจะรองรับกับดีมานด์และกำลังซื้อที่มีจำนวนมากแล้ว  ยังพบว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมาร์จิ้นได้สูงกว่าสินค้า FMCG ทั่วไปด้วย  แม้แต่สินค้าแบรนด์เนมมือสองเอง  ก็ยังสามารถทำมาร์จิ้นได้สูงถึง 30% ขณะที่สินค้า FMCG มีมาร์จิ้นราวๆ 10% เท่านั้น … นี่จึงเป็นครั้งแรกที่สหพัฒน์ก้าวขยับขึ้นมาเป็น “ผู้ค้าสินค้าแบรนด์เนมมือสอง” 

โดยใช้วิธีการจับมือกับ (MOU) กับ Komehyo Company Limited เจ้าของร้านแบรนด์เนมมือสองโคเมะเฮียว (KOMEHYO) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะขยายร้านโคเมะเฮียวเข้ามาในประเทศไทย  หลังจากที่ คุณวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)  ชื่นชอบในแบรนด์ร้านโคเมะเฮียว  ทั้งด้านสินค้าและบริการ จึงได้วางแผนที่จะติดต่อและนำเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในธุรกิจของเครือสหพัฒน์ โดยดีลนี้ใช้ระยะเวลานานเกือบ 4 ปี

พิธีลงนามระหว่างสหพัฒน์ฯ กับ โคเมะเฮียว

สิ่งที่ทำให้เครือสหพัฒน์สนใจในธุรกิจดังกล่าว  นอกเหนือจากความชื่นชอบในแบรนด์ของร้าน  และเครือสหพัฒน์ยังไม่มีฐานของสินค้าแบรนด์เนมแล้ว  เหตุผลอีก 2  ประการต่อมาก็คือ

  • การมองเห็นโอกาสทางการตลาด จากฐานลูกค้าคนไทยที่ชื่นชอบในแบรนด์เนมมือสองจากประเทศญีปุ่น  ซึ่งมีจำนวนมากมาย  ซึ่งจะเป็นหนึ่งธุรกิจที่สร้างความสำเร็จได้ไม่ยาก
  • ที่สำคัญความแตกต่างของร้านโคเมะเฮียวกับร้านแบรนด์เนมมือสองอื่นๆ ของญี่ปุ่น  คือ  ระบบการซื้อสินค้าที่มีผู้เชี่ยวชาญ  การซ่อมแซมและดูแลสินค้าที่ซื้อเข้ามาให้มีสภาพที่ดีกว่าเดิม  และที่สำคัญบริษัทเจ้าของจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งถือว่ามีระบบบริหารงานที่มีมาตรฐานและตรวจสอบได้

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้  ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่ารูปแบบร้านและโมเดลที่โคเมะเฮียวจะนำมาเปิดในประเทศไทยเป็นอย่างไร  เนื่องจากยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ แต่โมเดลที่เป็นไปได้มากที่สุดคาดว่าน่าจะเปิดร้านในรูปแบบแฟล็กชิพ  โดยมีการส่งผู้เชี่ยวชาญในการดูสินค้าเข้ามาบริหารการรับซื้อสินค้า 2 คนในกลุ่มสินค้ากระเป๋าและนาฬิกา

รู้จัก KOMEHYO 

-บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 1947 ปัจจุบันจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  Tokyo

-ปัจจุบันมีร้านในญี่ปุ่น 33 สาขา ครอบคลุมทุกภูมิภาค อาทิ คันไซ​  จูบุ โตเกียว โอซาก้า และนาโกยา นอกจากนี้ยังมีสาขานอกประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง (รูปแบบขายส่ง) เชียงไฮ้ และปักกิ่ง

-นอกจากการขายสินค้าแบนด์เนมมือสอง อาทิ เครื่องประดับ นาฬิกา กระเป๋า และเสื้อผ้า  ยังขายสินค้ามือหนึ่ง  รวมถึงรับซื้อสินค้าด้วย  ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด “Relay Use” หรือการเป็นตัวกลางในการส่งผ่านสินค้าจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง  เพื่อนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการบรรลุประโยชน์สูงสุดของสิ่งของนั้นๆ

-ตลาดมือสองในประเทศญี่ปุ่นมีขนาด 1.7 ล้านล้านเยน หรือมีมูลค่า 5.1 แสนล้านบาทมีอัตราการเติบโตประมาณ  7%  คนไทยเป็นลูกค้าต่างชาติที่เป็นติดอันดับ 2-3  มีมูลค่ายอดซื้อสินค้าประมาณ 500-600 ล้านเยน หรือประมาณ 150-180 ล้านบาท บริษัทถือว่ามีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น  ด้วยยอดขายปีที่ผ่านมามูลค่ากว่า  40,000 ล้านเยน หรือประมาณ ​12,000 ล้านบาท

แบรนด์เนมมือ 2 จากญี่ปุ่นแห่บุกไทย 

ไม่ใช่แค่สหพัฒน์เท่านั้นที่รุกคืบเข้ามาในตลาดแบรนด์เนม โดยอาศัยความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น แต่รูปแบบร้านค้าลักษณะนี้กำลังเฟื่องฟูในใจกลางเมืองกรุงเทพ

โรงรับจำนำเปิด Brand Off Tokyo

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โรงรับจำนำ Money Café Pinkoo (มันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่) โดย บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด ของคุณชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซึ่งมีวิสัยทัศน์ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ธุรกิจให้ดูทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งปรับตัว Business Model ให้โมเดิร์นเท่าทันยุคสมัย จนเป็นที่มาของการ ด้ติดต่อกับ Brand Off Tokyoให้มาเปิดในเมืองไทย  โดยใช้ชื่อว่า Brand Off Tokyo by Money Café  แฟล็กชิพสโตร์แห่งแรกในเมืองไทย บนพื้นที่กว่า 200 ตารางเมตร รวมสินค้ามากกว่า 300 ไอเท็ม ครอบคลุมทั้งกระเป๋า นาฬิกา จิวเวอรี่ ที่การันตีในเรื่องของคุณภาพ ราคา และสินค้าที่เป็นของแท้ 100%  ที่บริเวณสยามสแควร์ ซอย 3

สำหรับร้าน  Brand Off Tokyo เป็นร้านรับซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่นถึง 50 สาขา สาขาฮ่องกง 8 สาขา ไต้หวัน 4 สาขา  ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมานานกว่า 25 ปี ติด 1 ใน 3 ร้านรับซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนของมือสองที่เก่าแก่ และมีสาขามากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น  โดยทางร้านมี Specialist ที่มาดูแลทั้งในเรื่องของคุณภาพสินค้า ความเป็นมาตรฐาน มีระบบเทรนนิ่งทั้งภายในและภายนอก ที่สำคัญ Brand Off Tokyo ยังอยู่ในสมาคม AACD (The Association Against Counterfeit Product Distribution) ซึ่งเป็นสมาคมที่ต่อต้านและป้องกันสินค้าเลียนแบบ ทำให้ลูกค้าของ Brand Off Tokyo เกิดความมั่นใจได้ทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา และสินค้าที่เป็นของแท้ 100%

ไดโกกุยะเล็งขยายเข้าไทย

นอกจากนี้ เมื่อช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้  บริษัท ไดโกกุยะ จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสองร้านไดโกกุยะ ในประเทศญี่ปุ่น ก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาปักหมุดเปิดร้านในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากมองเห็นทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีของไทย ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่ไปประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนมาก  และที่ผ่านมาชาวไทยไปซื้อสินค้าที่ร้านไดโกกุยะที่ประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนมากถึง  26% ด้วย  ทางบริษัทจึงได้เข้ามาแนะนำธุรกิจในประเทศไทย  พร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสองในประเทศไทยด้วย  ข้อมูลปี 2558 ระบุว่าร้านไดโกกุยะมีสาขาในประเทศญี่ปุ่น 19 สาขา มีรายได้ประมาณ 13.9 ล้านบาท ส่วนแบ่งทางการตลาด 8% รองจากโคเมะโยะที่มีร้านอยู่ 20 สาขา มีรายได้ราว 22.8 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 14%

นับว่าร้านแบรนด์เนมมือสองจากญี่ปุ่น ดูท่าจะเป็นช่องทางทำเงินที่หอมหวล ให้กับแบรนด์ญี่ปุ่นที่หาช่องทางเติบโตนอกประเทศ รวมทั้งแบรนด์ไทยที่อยากจับตลาดคนรุ่นใหม่ ก็คงต้องรอดูต่อไปว่า…ธุรกิจนี้จะฮิตในไทยจริงไหม

 


แชร์ :

You may also like