หลายคนมองว่าการทำธุรกิจกับการกู้เงินเป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการกู้เพื่อนำมาเป็นทุนในการตั้งต้นธุรกิจสักอย่างหนึ่ง หรือบางคนอาจต้องการกู้เพื่อนำมาใช้ในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมูลค่าธุรกิจยิ่งสูง จำนวนภาระหนี้ที่แต่ละธุรกิจต้องแบกรับก็มักจะเพิ่มมากขึ้นตามขนาดของธุรกิจเพื่อรักษาสภาพคล่องที่ดีในการดำเนินธุรกิจเอาไว้
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น เช่นเดียวกับการทำธุรกิจของกลุ่มฟาร์มโชคชัย ที่มีปรัชญาในการดำเนินงานอย่างเคร่งครัดด้วยการใช้เงินสดบริหารธุรกิจเท่านั้น ภายใต้การบริหารจัดการ Cashflow ที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจปัจจุบันไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท โดยมี คุณโชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย เป็นผู้กุมบังเหียนในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี
พลิกฟิ้นธุรกิจจากหนี้สินกว่า 500 ล้าน
ด้วยชื่อเสียงของกลุ่มฟาร์มโชคชัย ผู้ครอบครองพื้นที่แลนด์มาร์กมากกว่า 2 หมื่นไร่ แห่งปากช่อง อาจทำให้บางคนนึกแย้งอยู่ในใจว่า เพราะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้ แต่กว่าฟาร์มโชคชัยจะเติบโตและแข็งแรงได้เหมือนปัจจุบัน ก็ต้องเผชิญกับภาวะที่ธุรกิจขาดทุนและต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการประกอบธุรกิจไม่น้อยกว่า 400 – 500 ล้านบาท จนต้องตัดขายกิจการบางส่วนเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นฟูธุรกิจจนสามารถกลับมาแข็งแรงได้อย่างทุกวันนี้
คุณโชค เล่าย้อนในช่วงที่บริษัทประสบปัญหาขาดทุนเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมาให้ฟังว่า มาจากการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนความไม่เชี่ยวชาญของบริษัท หลังจากต่อยอดจากฟาร์มโคนมไปสู่ธุรกิจนมสดตราฟาร์มโชคชัย ซึ่งเป็นธุรกิจในเชิง Retail ที่ต้องอาศัยปัจจัยในเรื่องของการทำตลาดมาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ฟาร์มโชคชัย “แพ้ทาง” จนทำให้ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดได้ แม้จะมีจุดแข็งจากการมีฟาร์มที่ได้มาตรฐานสูง แต่ก็ไม่ใช่จุดที่จะทำให้นมสดตราฟาร์มโชคชัยอยู่เหนือคู่แข่ง โดยที่บางรายนั้นสามารถสร้างปรากฏการณ์ทางการตลาดต่างๆ ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีฟาร์มหรือมีวัวนมเป็นของตัวเอง แต่ก็สามารถทำตลาดได้ดีกว่าและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า
“จุดแข็งของฟาร์มโชคชัยคือธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ แต่จากการเข้ามาในธุรกิจนมสดพร้อมดื่มทำให้เริ่มมีหนี้สะสมมาตั้งแต่ในช่วงปี 2531 -2532 จนสถานการณ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้ใหญ่เริ่มรู้สึกไม่อยากทำธุรกิจต่อ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเลิกอย่างไร เนื่องจากธุรกิจมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร ทั้งธุรกิจฟาร์มและจำนวนวัวนมที่มีอยู่เป็นพันตัว จนปี 2537 ก็มีผู้สนใจติดต่อเพื่อขอซื้อธุรกิจ ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ลังเลที่จะตัดสินใจขายธุรกิจนมสดตราฟาร์มโชคชัยพร้อมด้วยช่องทางจำหน่ายที่มีอยู่ทั้งหมดออกไป เพื่อนำเงินบางส่วนมาชำระหนี้ที่เกิดขึ้น”
แม้ความเห็นของผู้ใหญ่ตั้งใจที่จะขายธุรกิจรวมทั้งเลิกทำธุรกิจเกษตรด้วย เนื่องจากตัวเลขทางบัญชีติดลบอยู่ค่อนข้างมาก รวมทั้งมองว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเภท “เหนื่อยมาก กำไรน้อย” รวมทั้งไม่เห็นโอกาสที่จะแข่งขันได้ หรือไม่สามารถต่อยอดธุรกิจอะไรได้มากนัก แต่ในมุมมองของคุณโชคนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของตัวเลขหรือกำไรเป็นหลัก แต่ด้วย Passion ที่อยากจะรักษาธุรกิจของครอบครัวให้สามารถไปต่อได้ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการทำให้ธุรกิจการเกษตรเป็นเรื่องเท่ และเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปชื่นชมให้ได้ จึงขันอาสาที่จะเป็นผู้สานต่อในการดูแลฟาร์มโชคชัยด้วยตัวเอง
และแม้ว่าผู้ใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการทำธุรกิจฟาร์มโชคชัยต่อ แต่ก็ไม่ได้คัดค้านและปล่อยให้คุณโชคดูแลบริหารได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนับสนุนมากนัก จึงไม่ได้ให้เงินทุนเพื่อมาใช้ในการฟื้นฟูธุรกิจ รวมทั้งยังมีหนี้บางส่วนที่เหลืออยู่หลังจากตัดขายธุรกิจบางส่วนออกไปจากก้อนใหญ่หลักร้อยล้านมาอยู่หลักสิบล้าน
“อาจจะเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของเราที่ไม่ได้มีหัวทางด้านคณิตศาสตร์ ไม่ได้สนใจตัวเลขหรือเน้นว่าต้องทำธุรกิจเพื่อต้องการสร้างความมั่งคั่งหรือให้ได้กำไรมากๆ เพราะเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองเป็นสำคัญ ถ้าเราเชื่อเหมือนผู้ใหญ่ที่เห็นตัวเลขสีแดงติดลบอยู่ในตอนนั้น แล้วคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ฟาร์มโชคชัยก็คงไม่มีวันนี้ แต่ถ้าเรามองข้ามตัวเลขไปแล้วเลือกที่จะมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ใช้เกณฑ์จากตัวเลขมาตัดสิน บางสิ่งที่ดูเหมือนแย่อาจไม่ได้แย่มากอย่างที่เราเข้าใจก็เป็นไปได้”
ทำธุรกิจให้เหมือนสร้างงานศิลปะ
วิธีคิดของคุณโชคในการทำธุรกิจคือ ไม่มองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นคือธุรกิจ แต่มองว่ากำลังทำงานศิลปะ สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นการสร้างงานประติมากรรมชิ้นหนึ่ง และมองตัวเองเป็นเหมือนประติมากรที่มีหน้าที่สำคัญในการทำให้งานชิ้นนี้มีความสวยงามเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน
ย้อนกลับไปช่วงที่ฟาร์มโชคชัยประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมาก คุณโชคมองว่า สิ่งจำเป็นที่ทำให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติมาได้ คือ การมีสติ เพราะหลายคนที่เวลาเผชิญกับวิกฤตแล้วสับสน จนไม่รู้ว่าต้นเหตุของปัญหามาจากอะไรและไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะบางคนที่กลัวเสียหน้า ห่วงภาพลักษณ์หรือสถานะทางสังคม จนมีผลต่อการตัดสินใจหรือเลือกใช้วิธีในการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกต้อง
ขณะที่ฟาร์มโชคชัยเองหลังจากตัดขายธุรกิจที่เป็นเหมือนรอยรั่วใหญ่ออกไปแล้ว ก็กลับมาสำรวจและโฟกัสในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของธุรกิจคือ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ ทำให้หันกลับมาโฟกัสที่การทำเกษตร และต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ จากจุดแข็งที่มีเหล่านี้ เพื่อสร้าง Awareness ที่แข็งแรงให้คนจดจำฟาร์มโชคชัย และพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์ และทำให้ธุรกิจมีความต่างจากฟาร์มทั่วๆ ไป ทั้งความเชื่อมั่น มาตรฐาน ความสะอาด การพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับการเลี้ยงในแถบภูมิภาคนี้ จนทำให้วัวนมสายพันธุ์ของฟาร์มโชคชัยได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้เลี้ยงไม่แพ้ต่างประเทศเลยทีเดียว
“สิ่งต่างๆ ที่เราทำคือการสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างความต่างให้กับธุรกิจ เพราะวัวนมไม่เหมือนรถยนต์หรือสินค้าอื่นๆ ที่อาจจะเปรียบด้วยตาหรือดูจากวัสดุที่ผลิตก็รับรู้และเปรียบกันได้ว่าสิ่งไหนดีกว่า แต่สำหรับวัวไม่สามารถแยกได้ว่าวัวตัวไหนดีกว่าวัวตัวไหน สิ่งที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ จึงอยู่ที่มาตรฐานในการบริหารจัดการฟาร์มของเรา ทำให้ฟาร์มโชคชัยทำการเปิดให้ทุกคนเข้ามาชม เพื่อที่จะสัมผัสได้ถึงมาตรฐานในการดูแล รวมทั้งระบบบริหารจัดการต่างๆ ภายในฟาร์ม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดมาสู่ธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มของฟาร์มโชคชัยในเวลาต่อมา”
คุณโชคใช้เวลาในการล้างหนี้ส่วนที่เหลืออยู่ราว 2-3 ปี ขณะที่ธุรกิจก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมองเห็นกำไรจากการดำเนินงาน แม้ว่ากำไรอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในส่วนของต้นน้ำและมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูง ซึ่งนอกจากการกลับไปโฟกัสที่ Core Competency หลักของธุรกิจแล้ว การบริหารจัดการทางด้านการเงินก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ฟาร์มโชคชัยสามารถรอดพ้นจากวิกฤตทางการเงินมาได้
สำหรับการบริหารจัดการในเรื่องของการเงินนั้น ด้วยความที่ไม่ใช่คนที่มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์มากนัก ทำให้คุณโชคไม่ได้ใช้วิธีของนักการเงินหรือให้ความสำคัญกับเอกสารรายงานงบดุลการเงินต่างๆ แต่จะใช้วิธีคิดพื้นๆ ทั่วไปว่า ควรบริหารให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย ต้องเพิ่มกระแสเงินสดในธุรกิจให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าการมีเงินสดเข้ามามากๆ จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะทำให้สถานการณ์โดยรวมต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้เอง
คุณโชคใช้วิธีบริหารจัดการทางการเงินในธุรกิจ ด้วยการแบ่งเงินออกเป็น 5 ส่วน เพื่อจัดสรรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละปี ประกอบด้วย 1. เงินสำหรับใช้เพื่อการลงทุนในธุรกิจ 2. เงินกันสำรองสำหรับเงินเฟ้อ 3. เงินออม 4. เงินสำหรับเตรียมออกจากธุรกิจในกรณีที่ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ และ 5. เงินที่เตรียมไว้เพื่อเป็นของขวัญให้พนักงาน ซึ่งจะต่างจากโบนัส เพราะพนักงานทุกคนจะต้องมองเห็นพอร์ตเหล่านี้ด้วยกัน เมื่อมีส่วนที่เหลือทุกคนจึงจะได้ของขวัญ ดังนั้นทุกคนจึงต้องพยายามและร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้ได้ของขวัญชิ้นนี้ร่วมกัน
ต่อยอดสู่การ Diversify
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจฟาร์มโชคชัยมีบริษัทในเครือรวมทั้งสิ้น 7 บริษัท กระจายไปใน 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นฐานที่แข็งแรงในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่างๆ ของทั้งกลุ่มด้วยสัดส่วนมากกว่า 70% ขณะส่วนที่เหลือจะกระจายไปในกลุ่มธุรกิจบริการ อาทิ ท่องเที่ยว ที่พัก ภัตตาคาร และผลิตภัณฑ์รีเทลต่างๆ และสุดท้ายคือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการเริ่มต่อยอดมาสู่กลุ่มธุรกิจที่มีกำไรสูงกว่าธุรกิจต้นน้ำอย่างภาคเกษตร แต่ก็ยังคงต้องอาศัยความแข็งแรงจากภาคเกษตรเพื่อเป็นฐานในการขยายไปสู่ธุรกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะกลุ่ม ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีธุรกิจเกษตรรองรับ หรือในหลายๆ ธุรกิจรีเทลที่เริ่มเพราะการที่คนเข้ามาเที่ยวในฟาร์มมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจอสังหาที่ได้อานิสสงส์มาจาก Value ของที่ดินที่เพิ่มสูงมากขึ้นจากการทำเกษตร จนสามารถต่อยอดพัฒนามาสู่กลุ่มธุรกิจนี้ได้
โดยเฉพาะการกลับเข้ามาสู่ธุรกิจนมพร้อมดื่มอีกครั้ง ภายใต้แบรนด์ “อืมม!..มิลค์” หลังจากได้ขายธุรกิจนมสดตราฟาร์มโชคชัยไปแล้ว เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธุรกิจหลักอย่างฟาร์มโคนมโดยตรง และยังเป็นการต่อยอดให้ธุรกิจมีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีประสบการณ์ในการรีดนมวัว หลังจากดูระบบต่างๆ ภายในโรงงานหรือในฟาร์ม นำมาสู่การตั้งโรงงานเพื่อผลิตนมแบบโฮมเมด เพื่อตั้งใจให้คนที่เข้ามาในฟาร์มได้กินนมที่แตกต่างจากที่เคยกินทั่วไป และเป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับสินค้าโดยที่ไม่ต้องมีแบรนด์ แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากได้กิน จนต้องร้องอุทานออกมาว่า อืมม หรือ ว้าว นั่นเอง
“ความตั้งใจในช่วงแรก คำว่า อืมม!..มิลค์ จะสื่อถึงความรู้สึกที่ดีที่ผู้บริโภคมีให้นมจากฟาร์มของเรา มากกว่าเน้นเรื่องของการสร้างแบรนด์ แต่ต่อมาเมื่อมีการผลิตและทำตลาดเพิ่มมากขึ้น จึงได้พัฒนามาสู่การเป็นแบรนด์ และสามารถกลับเข้ามาสู่ตลาดนมพร้อมดื่มได้อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้แบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า อื้มม!..มิลค์ นั่นเอง”
เมื่อถามถึง Key Success ที่ทำให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจฟาร์มโชคชัยมาได้จนถึงทุกวันนี้ได้ คุณโชคให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นเพราะความเฮงหรือความโชคดี ที่ทำให้ได้เจอโอกาสบางอย่างที่คนอื่นไม่เจอ รวมทั้งความเชื่อที่ว่า “ต้องเฮงก่อนเก่ง” ขณะที่หลายๆ คนอาจจะมองว่า “ต้องเก่งก่อนถึงเฮง” คือ ต้องเก่ง ต้องมีความสามารถ แล้วจึงค่อยไปแสวงหาโอกาส แต่สำหรับคุณโชคนั้น เชื่อว่าต้องได้รับโอกาสที่ดีก่อน เมื่อมีโอกาสที่ดีเข้ามาแล้ว ก็ต้องใช้ความรู้ ความสามารถที่มีเพื่อต่อยอดโอกาสเหล่านั้นไปสู่ความสำเร็จต่อไป
“หลายๆ อย่างถือว่าเราโชคดีกว่าคนอื่น เช่น การมีโลเกชั่นที่ดี มีฟาร์มโชคชัย เป็นโอกาสให้เราสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่ง และยากที่ใครจะทำอย่างเราได้ เพราะเราเริ่มมาจากการทำเกษตร ทำปศุสัตว์ จนกลายเป็นแลนด์มาร์กที่ทุกคนต้องมาเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างขึ้นมาเองได้ง่ายๆ หรือแม้แต่การที่เราพบกับวิกฤตทั้งในเรื่องของปศุสัตว์หรือธุกิจนม ทำให้เรากลับมาพัฒนาและโฟกัสในสิ่งที่ถูกที่ควร ซึ่งโอกาสหรือความเฮงในแต่ละธุรกิจหรือแต่ละคน จะแตกต่างกันไป ต้องพยายามหาให้เจอ รวมทั้งต้องรู้ด้วยว่าเมื่อโอกาสเข้ามาแล้ว จะต้องต่อยอดไปในทิศทางไหนอย่างไร”
รวมถึงสิ่งสำคัญซึ่งเป็นปรัชญาในการทำธุรกิจของกลุ่มฟาร์มโชคชัย คือ การดำเนินธุรกิจโดยปราศจากหนี้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้จริง ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นแค่เรื่องในอุดมคติ เพราะแม้แต่ในธุรกิจที่ต้นทุนสูงรวมทั้งมีกำไรน้อยอย่างฟาร์มโชคชัยยังสามารถทำได้ จากการค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย รวมทั้งรู้จักลำดับความสำคัญ ต้องใช้ตรงไหนก่อน ทำตรงไหนก่อน ดังนั้น หลายๆ ธุรกิจที่ไม่ได้มีต้นทุนสูงมากหรือยังสามารถทำกำไรได้ดี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เพื่อเพิ่มภาระให้กับการทำธุรกิจ ด้วยการนำเงินในอนาคตหรือนำเงินคนอื่นมาใช้
“การที่ธุรกิจส่วนใหญ่เลือกที่จะกู้เงิน ส่วนใหญ่จะให้เหตุผลว่าต้องการขยายธุรกิจ หรือทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้น ซึ่งต้องถามตัวเองว่าเราอยากจะใหญ่ไปเพื่ออะไร บางคนอาจจะมองเป็นโอกาสที่เข้ามาหรือเป็นเพราะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมากเกินไป เลยทำให้ต้องรีบโต รีบขยาย หรือเอาคำว่ารวยเป็นตัวตั้ง ซึ่งการที่โลกทุกวันนี้ติดกับดัก “ความรวย” เพราะว่าเราอยู่ในโลกที่คนชอบจัดอันดับให้เห็นว่าคนโน้นรวย คนนี้รวย ทำให้เรามองสิ่งที่ขาดเพื่อพยายามจะเติมให้เท่าคนอื่น แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใครเพื่อจะได้มีความสุขในโลกของเรา และเลือกที่จะทำในสิ่งที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาเพื่อทำมันในแต่ละวัน โดยไม่ต้องคิดว่าต้องยิ่งใหญ่ที่สุด หรือรวยที่สุด”
แม้การมีธุรกิจหลักพันล้านอาจไม่ได้ใหญ่โตมากมายเมื่อเทียบกับหลายๆ ธุรกิจในปัจจุบัน ที่ขยายไปถึงหมื่นล้านหรือแสนล้าน แต่คุณโชคมองว่า ถ้าให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้คงไม่เลือกเดินบนเส้นทางที่เหนื่อยมาก กำไรน้อยแบบนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะแม้ว่ากำไรหรือความรวยอาจจะสู้ใครไม่ได้ แต่เชื่อว่าการใช้ชีวิตในแต่ละวันจะได้รับ “ความสุข” อย่างเต็มที่ไม่แพ้ใคร โดยที่ยังคงสามารถใช้ชีวิตในแบบวิถีของศิลปิน สนุกกับงานที่ทำได้มากกว่า เลือกที่จะทำงานเพราะอยากทำ หรือในอนาคตถ้าไม่อยากทำก็สามารถเลิกทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีความกังวลใดๆ หรือต้องทนฝืนทำงานที่ไม่ชอบ เนื่องจากไม่มีภาระหนี้สินต่างๆ ที่ต้องแบกรับไว้นั่นเอง
Photo Credit : Facebook Farm Chokchai