บมจ.ซิกน่า ประกันภัย บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีพันธกิจในการช่วยพัฒนาสุขภาพ ชีวิต และความเป็นอยู่ของลูกค้าให้ดีขึ้น ได้เผยผลสำรวจ “คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า” ประจำปี 2561 ว่า โดยรวมแล้วคนไทยมีความกังวลเรื่องผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจผันผวน โดยคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านการเงิน และความสามารถในการดูแลครอบครัว ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลของไทย (อายุ 18 – 34 ปี) กลับรู้สึกเครียดเกี่ยวกับเรื่องงานมากที่สุด
คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนไทยโดยรวมในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว โดยคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่โดยรวมลดลงเหลือเพียง 61.3 คะแนน จาก 65.2 คะแนนในปีที่แล้ว สุขภาพและความเป็นอยู่ด้านที่คนไทยมีความกังวลมากที่สุดคือสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านสังคม ตามมาด้วยด้านครอบครัว โดยคะแนนลดลงถึง 9.9 และ 3.5 คะแนนตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุ 35 – 49 ปี เนื่องจากรู้สึกว่าตนเองมีเวลาพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงและมีเวลาทำงานอดิเรกที่ตนเองรักน้อยลง ในด้านครอบครัว คนไทยยังรู้สึกว่าตนเองไม่มีเวลาให้กับครอบครัวอย่างเพียงพอ รวมถึงไม่สามารถดูแลพ่อแม่ คู่สมรสและลูกๆได้ตามที่ตนเองคาดหวังไว้ ขณะเดียวกันกลุ่มวัยก่อนเกษียณ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) รู้สึกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายโดยรวมของตน โดยคะแนนด้านนี้ลดลงจากปีที่แล้ว 2.7 คะแนน โดยความกังวลดังกล่าวมาจากหลายปัจจัย เช่น การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การรับประทานอาหารที่ได้สัดส่วน การมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แม้ผลสำรวจฯจะพบว่ากลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18 – 34 ปี) รู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านร่างกาย ด้านสังคมและด้านการเงินดีกว่ากลุ่มอื่น แต่คนกลุ่มนี้กลับมองว่าตนเองมีสมดุลด้านการงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) ที่ไม่ดีเท่ากลุ่มอื่นๆ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 63 คะแนน เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 35 – 49 ปีซึ่งมีคะแนนที่ 67 คะแนน และกลุ่มก่อนเกษียณที่มีคะแนนอยู่ที่ 68 คะแนน
“สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยยังคงมีความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านการเงินของตนเอง ทั้งในส่วนของความพร้อมด้านการเงินสำหรับการเกษียณและการดูแลค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ มาจากสภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการวางแผนด้านการเงินและการวางแผนหลังเกษียณ” นายจูเลียน เมงกัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการประจำประเทศไทย บมจ.ซิกน่าประกันภัยกล่าว
“อย่างไรก็ดี ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ Work-life balance ในกลุ่มมิลเลนเนียลก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และชี้ให้เห็นถึงนัยยะที่สำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานและความคาดหวังสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งทำให้เราเชื่อว่าเรายังคงมีภารกิจในการช่วยสนับสนุนให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” นายจูเลียนกล่าวเสริม
กับดักอายุ: สูงวัย ไม่มั่นใจ
เมื่อกล่าวถึงการวางแผนหลังวัยเกษียณ คนไทยยังมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินของตนเอง ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจเกิดจากการขาดการวางแผนที่ดีพอ โดยคนไทย 40% คาดว่าเมื่อเกษียณแล้วจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยเงินเก็บของตนเอง มีคนไทยเพียง 23% เท่านั้นที่มีความคุ้มครองที่เพียงพอจากแผนประกันสุขภาพที่ทำไว้ และอีก 29% ที่เหลือคาดว่าต้องพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งคล้ายกับผลสำรวจฯของปีที่แล้วที่พบว่า 75% ของคนไทยยังไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้ในยามเกษียณ เพราะคิดว่า“ตนเองยังไม่แก่”ทำให้หลายคนตกสู่ “กับดักอายุ” (Age Trap) และขาดการเตรียมพร้อมด้านการเงิน
คนไทยส่วนใหญ่เครียด โดยกลุ่มมิลเลนเนียลเครียดเรื่องงานเป็นที่หนึ่ง
คนไทยถึง 91% บอกว่าตนอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 86% โดยสาเหตุหลักของความเครียดมาจากปัญหาด้านการเงิน (43%) และด้านการงาน (35%) ทั้งนี้เมื่อเทียบระหว่างกลุ่มอายุที่แตกต่างกันพบว่า กลุ่มมิลเลนเนียลมีความกังวลเกี่ยวกับ Work-life balance และความมั่นคงเกี่ยวกับหน้าที่การงานของตนเองมากที่สุด โดยมีคะแนนอยู่ที่ 63 และ 58 คะแนนตามลำดับ ซึ่งถือว่าต่ำกว่ากลุ่มคนอายุ 35 – 49 ปีซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 67 คะแนนทั้งสองส่วน และกลุ่มวัยก่อนเกษียณที่มีคะแนนอยู่ที่ 67 และ 68 คะแนน
การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านการงานของปีนี้ ซิกน่าได้ถามคนไทยเกี่ยวกับการเลือกที่จะมาทำงานหรือเลือกที่จะหยุดงานเมื่อตนป่วย โดยผลสำรวจฯ พบว่า คนไทยถึง 89% กล่าวว่า พวกเขาจะมาทำงานแม้ว่าจะมีอาการป่วย ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 67% เท่านั้น ซึ่งการมาทำงานเมื่อตนเองป่วยนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับประสิทธิภาพการทำงาน
อย่างไรก็ตามองค์กรนายจ้างในประเทศไทยสามารถทำได้ดีในเรื่องของการช่วยให้พนักงานจัดการกับความเครียดของพวกเขา โดยคนไทยกว่า 63% กล่าวว่า บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่มีโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน แต่ครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้บอกว่ายังมีไม่เพียงพอ ส่วนคนไทยอีก 37% กล่าวว่าบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ไม่มีโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานเลย
คนไทยกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้
เมื่อกล่าวถึงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาบริการด้านสุขภาพจากภาครัฐแทบทุกด้านอันเนื่องจากปัจจัยหลักด้านราคาค่ารักษาพยาบาล
ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาภาครัฐในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระนี้ได้ คือการมีประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองตรงตามความต้องการในราคาที่สามารถจ่ายได้ ทั้งนี้ซิกน่าประกันภัยเองก็มีแผนประกันสุขภาพที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ เช่น แผนประกันสุขภาพมิติใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง และยังมีแผนความคุ้มครองเสริมสำหรับกลุ่มโรคร้ายแรงและกลุ่มโรคเรื้อรังอีกด้วย แผนประกันดังกล่าวให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม เช่น มอบเงินก้อนสูงสุดถึง 500,000 บาทเมื่อตรวจพบโรคร้ายแรง จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงอย่างต่อเนื่อง (รวมถึงการรักษาพยาบาลโดยแพทย์ทางเลือก) และมีบริการสายด่วนสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำด้านสุขภาพอีกด้วย
การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360°ของซิกน่า ได้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สี่แล้ว โดยได้สำรวจและติดตามทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองในห้าด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการทำงาน ใน 23 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ซิกน่าจะนำข้อมูลและผลที่ได้จากการสำรวจไปใช้ในการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีความเป็นอยู่และความมั่นคงในชีวิตที่ดีขึ้นในทุกช่วงเวลาของชีวิตต่อไป