Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 เพิ่มมากขึ้น จากที่เคยคาดการณ์การขยายตัวเมื่อช่วงเดือนเมษายนไว้ว่าเศรษฐกิจในปี 2561 จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาราว 4% แต่จากหลายๆ สัญญาณบวกรวมทั้งการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้มีการปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้เป็น 4.3% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และเป็นการขยายตัวที่เร่งขึ้นจากหลายหมวดการใช้จ่าย สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแรงขึ้นของเศรษฐกิจไทย
ส่งออก -ท่องเที่ยว โตร้อนแรง
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) หรือ อีไอซี ให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ถือว่าขยายตัวได้ดีและทั่วถึงมากขึ้น และเชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ว่าจะเติบโตชะลอตัวลงจากในครึ่งปีแรก
โดยแรงส่งสำคัญของครึ่งปีแรกมาทั้งจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง ส่งผลทำให้อุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ตามมาทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของประเทศ เติบโตได้ถึง 11.6% มากกว่าการขยายตัวในปีที่ผ่านมาที่เติบโตที่ 9.9% และเชื่อว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง แม้ว่าอาจจะชะลอความร้อนแรงลงเหลือที่ 7-8% และทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปียังเติบโตได้เพิ่มขึ้น 8.5% จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากฝั่งสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในระยะสั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไม่มากนัก เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกัน เช่น การปรับเพิ่มอัตราภาษีต่างๆ มีมูลค่าไม่มากนัก โดยมีไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกโดยรวมของทั้งประเทศ ประกอบกับการส่งออกไปในตลาดอื่นๆ ยังคงเติบโตได้
“ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2561จะยังสามารถขยายตัวได้ตามทิศทางการค้าโลกที่ประเมินการเติบโตโดย IMF คาดว่า GDP ของโลกในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 3.94% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรง แต่พบว่ามีความเสี่ยงที่มากขึ้นโดยเฉพาะสงครามทางการค้าจากการปรับภาษีนำเข้าของสหรัฐที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบขยายวงกว้างอีกหลายเท่าตัว ทำให้กระทบกับการค้าโลกและภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไปดังนั้น ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญในการหาวิธีรับมือไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่รองรับ หรือการเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันที่อาจมีเพิ่มขึ้นในบางตลาด ขณะที่ภาครัฐเองควรเดินหน้านโยบายในการเจรจาการค้าเสรีกับตลาดที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มสหราชอาณาจักร หรือตลาดยุโรป เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจากจีนและสหรัฐอเมริกาลง”
ขณะที่แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวก็ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง โดยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราการเข้าพักเฉลี่ย การปรับค่าห้องพักเฉลี่ย รวมทั้งอัตราการจองการเข้าพักล่วงหน้า โดยช่วง 5 เดือนแรกนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตได้ถึง 12.5% หรือมีจำนวนมากกว่า 16.5 ล้านคน โดยเชื่อว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 38.2 ล้านคน หรือเติบโตได้ราว 8% โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักอย่างชาวจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 27% ส่วนเหตุการณ์อุบัติเหตุล่าสุด ที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวของประเทศในระยะสั้น แต่จำเป็นที่ต้องหาสาเหตุและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและไม่ให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศในระยะยาว
หนี้ครัวเรือนฉุดกำลังซื้อภายในประเทศ
ในส่วนของกำลังซื้อของภาคครัวเรือนเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มรายได้ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญจากปัจจัยภาระหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า โดยรายได้ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่กลับมาเติบโตในไตรมาสที่ 2 หลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 9 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรก็มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่าง ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร อีกทั้งอัตราการว่างงานในภาพรวมก็มีแนวโน้มลดลงจากช่วงต้นปี อีไอซีมองว่าในครึ่งปีหลังรายได้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่ายังเติบโตได้ส่งผลให้ความต้องการแรงงานยังมีแนวโน้มที่ดี
“การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เพราะแม้ว่ารายได้จากค่าจ้างแรงงานและรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ซบเซามาในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็วในช่วงก่อนหน้าและอยู่ในระดับที่สูง โดยผลการสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติสะท้อนว่าในระหว่างปี 2558-2560 ครัวเรือนทุกกลุ่มรายได้มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้รายได้ครัวเรือนจะดีขึ้นในปี 2561 แต่บางส่วนอาจต้องถูกนำไปชำระหนี้ จึงทำให้ประโยชน์ของการเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่ส่งผ่านมาสู่การบริโภคได้มากเท่าที่ควร การใช้จ่ายและบริโภคต่างๆ จึงยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก”
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2018 อีไอซีคาดว่าภาคต่างประเทศจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง และยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการลงทุนต่างๆ ทั้งจากภาคเอกชน รวมทั้งภาครัฐที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนที่ลดลง 1.2% จากผลกระทบต่อความล่าช้าของพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง
“อีไอซีเชื่อมั่นว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งและสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายนอกได้ แม้ต้องเผชิญกับความผันผวนในตลาดเงินที่เพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวมากขึ้น การกลับมาแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้า แต่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแรง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีเพียงพอ จะเป็นตัวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี”
สรุปปัจจัยบวกและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในครึ่งปีหลัง
ขณะที่คาดการณ์ทิศทางการขยายตัวของปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ มีการคาดการณ์ในแต่ละปัจจัย ตามรายละเอียดต่อไปนี้