ปี 2561 นี้ ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประเมินตัวเลขมูลค่า E-commerce จะมีถึง 3 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มูลค่ากว่า 2.81 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่สัดส่วน 59.56% ยังเป็น E-commerce ที่เกิดขึ้นระหว่าง B2B ด้วยมูลค่ากว่า 1.67 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่ม B2C ด้วยสัดส่วน 28.89% มูลค่า 8.12 แสนล้านบาท และตามมาด้วยธุรกิจประเภท B2G ด้วยสัดส่วน 11.55% มูลค่า 3.24 แสนล้านบาทมูลค่า E-commerce ที่ประเมินว่าจะพุ่งถึง 3 ล้านล้าน ยังไม่ได้รวมตัวเลขที่เกิดจากการซื้อสินค้าของชาวต่างชาติ และนำเอาไปขึ้น Platform E-commerce ในต่างประเทศ ซึ่งหากรวมตัวเลขดังกล่าวเชื่อว่าจะเติบโตได้อีกมาก แนวทางการทำงานของ ETDA นับจากนี้ จึงต้องเร่งผลักดันให้แบรนด์สินค้าชั้นนำของไทย ที่ถูกหิ้วไปโดยไม่เข้าสู่ระบบ ให้เข้าไปวางขายบน Global Platform E-commerce ด้วยตัวเจ้าของแบรนด์เอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าแบรนด์ไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน
และนี่ คือ แนวทางของ ETDA สำหรับสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ E-commerce และสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าแบรนด์ไทย
-จัดตั้ง E-commerce Park โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นแรงงานในตลาด E-commerce และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในด้านการทำตลาดและพัฒนาแบรนด์สินค้าต่างๆ
-บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Dongguan China Council for the Promotion of International Trade (Dongguan CCPIT) ประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานตามนโยบายของ Dongguan Municipal Government หน่วยงานรัฐที่สนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือ และการค้าระหว่างประเทศของภาคธุรกิจในเมือง Dongguan (ตงกวน) เมืองอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของจีน เช่น การสนับสนุนด้านเงินทุน การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
-นำสินค้าแบรนด์ไทยยอดนิยมของชาวจีน ไม่น้อยกว่า 15 แบรนด์ เข้าสู่ Global Platform E-commerce อาทิ ALIBABA , TMall ของจีน เพื่อสร้างมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันสินค้าแบรนด์ไทยมีมากกว่า 100 แบรนด์ที่ได้รับความชื่นชอบและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าไปทำตลาดด้วยตนเองในประเทศจีน
-การผลักดันสินค้า 3 กลุ่มหลักสู่ Global Platform E-commerce ได้แก่ แฟชั่น อาหาร และดิจิทัล คอนเทนต์ของไทย อาทิ เพลง ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ ที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตถึง 20% จากปีนี้ที่มีอัตราเติบโต 8%
-ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทย ที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศจีน หน่วยงานภาครัฐของจีน หาแนวทางปลดล็อกและแก้ไขปัญหากฎหมาย และเครื่องหมายการค้า (Trademark) ในประเทศจีน เพราะที่ผ่านมาในประเทศจีนมี Trademark ลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนกับแบรนด์สินค้าไทย ทำให้สินค้าแบรนด์ไทยไม่สามารถเข้าไปขายได้แบบถูกกฎหมาย
คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า มูลค่าของ E-commerce ที่เติบโตมากขึ้น เป็นผลจากปัจจัยที่ไลฟ์สไตล์ของคนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งมูลค่าของ E-commerce จะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ หากแบรนด์ไทยได้เข้าสู่ Global Platform ปัจจุบันยังเป็นการถูกซื้อเอาไปขายต่อ ซึ่งมีสินค้าแบรนด์ไทยนับ 100 แบรนด์ที่แข็งแรง และเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
“นอกจากแบรนด์ไทยที่แข็งแรงแล้ว ยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจมาเกิน 5 ปี จะต้องปั้นแบรนด์ต่อ จึงได้ร่วมกับมศว. เพื่อสร้างแบรนด์และดูแลด้านการตลาด ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ETDA จะเป็นผู้ดูแล และยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจไม่ถึง 5 ปี ที่อาจจะเอาตัวรอดได้ยาก จะต้องได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดต่างๆ และบุคลากรด้วย ขณะที่ปัญหา Trademark ในจีน ที่อาจจะมีลักษณะเดียวกันกับของไทย ทำให้สินค้าขึ้น Platform E-commerce ไม่ได้ เราต้องไปเคลียร์ เพราะสินค้าจะไปขายได้ต้องถูกตามกฎหมายเขาด้วย สิ่งที่เราต้องทำ คือ ตัวเราเองต้องทำให้ถูกต้อง ต้องประสานงานกับสมาคม E-commerce ในท้องถิ่น และขอความช่วยเหลือจาก ผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในจีนแล้ว เพราะเขาจะมีประสบการณ์ที่แนะนำได้” คุณสุรางคณา กล่าวในตอนท้าย