HomeInfographicเจาะ 5 ปัจจัยในการเลือกองค์กรทำงานของ Gen Y และ Gen Z

เจาะ 5 ปัจจัยในการเลือกองค์กรทำงานของ Gen Y และ Gen Z

แชร์ :

จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานสองเจนเนอเรชั่น ได้แก่ Gen Y และ Gen Z ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการหางาน สมัครงาน โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศจำนวน 3,184 คน ในหัวข้อ “ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเลือกเข้าทำงานกับองค์กร”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

พบว่ามี 5 ปัจจัยแรกที่คนทำงานทั้งสองเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญเหมือนกัน คือ 1) เงินเดือน คิดเป็น 27.96 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วย 2) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คิดเป็น 19.59 เปอร์เซ็นต์ 3) หน้าที่รับผิดชอบ คิดเป็น 14.59 เปอร์เซ็นต์ 4) การเดินทางสะดวก คิดเป็น 12.81 เปอร์เซ็นต์ และ 5) โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คิดเป็น 12.12 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ทั้งนี้การสำรวจยังเผยให้เห็นว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพแวดล้อมในที่ทำงานมากกว่าชื่อเสียงองค์กร ในขณะที่ Gen Y ให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่งและชื่อเสียงองค์กรมากกว่า อาจเป็นเพราะ Gen Y เข้าสู่ช่วงชีวิตการทำงานที่มีตำแหน่งงานอยู่ในระดับกลางถึงสูง ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่ง และชื่อเสียงองค์กรมากกว่า Gen Z

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ในโลกการทำงานปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ากลุ่มคน Gen Y และGen Z  เริ่มมีบทบาทในโลกของการทำงานมากขึ้น และแน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เริ่มจะกลายมาเป็นกำลังแรงงานหลักของหลายองค์กร ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม  จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานสองเจนเนอเรชั่น ได้แก่ Gen Y และ Gen Z โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศจำนวน 3,184 คน ในหัวข้อปัจจัยที่ใช้พิจารณาเลือกเข้าทำงานกับองค์กร พบว่ามี 5 ปัจจัยแรกที่คนทำงานทั้งสองเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญเหมือนกันมากที่สุด ได้แก่

  1. เงินเดือน คิดเป็น 27.96 เปอร์เซ็นต์ – แน่นอนว่าปัจจัยแรกที่คนทำงานทั้งสองเจนเนอเรชั่นต่างให้ความสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจเลือกงานมากที่สุด เพราะทั้งสองเจนเนอเรชั่นมีความเห็นตรงกันว่าหากคนทำงานทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ทุกคนย่อมต้องการเงินเดือนที่เหมาะสมเป็นสิ่งตอบแทน
  2. สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คิดเป็น 19.59 เปอร์เซ็นต์ – ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พนักงานสองเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญ เนื่องจากสวัสดิการถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยบริหารคนได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถจูงใจให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กรยาวนานขึ้น รวมถึงสามารถดึงดูดให้คนภายนอกอยากมาทำงานกับองค์กรได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นการให้สวัสดิการที่ดีนอกจากจะเป็นการใส่ใจคุณภาพชีวิตพนักงานแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมั่นคงขององค์กรนั้น ๆ อีกด้วย เช่น เงินสนับสนุนตามโอกาสพิเศษ ส่งพนักงานไปอบรมพัฒนาความรู้ จัดสรรเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้ 
  3. หน้าที่รับผิดชอบ คิดเป็น 14.59 เปอร์เซ็นต์ – เนื่องจากทั้งสองเจนเนอเรชั่นมีมุมมองคล้ายกันในเรื่องภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายถือเป็นการสร้างความท้าทายในชีวิต และเป็นโอกาสในการสร้างเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ยิ่งหากได้ทำงานตรงสายก็จะรู้สึกว่าตนเองได้แสดงศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
  4. การเดินทางสะดวก คิดเป็น 12.81 เปอร์เซ็นต์ – คนทำงานส่วนใหญ่ต่างนิยมหาสถานที่ทำงานใกล้บ้านหรือเดินทางได้สะดวก เพื่อช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงช่วยลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดจากปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นหากองค์กรใดอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกต่อการเดินทางก็จะทำให้มีโอกาสในการได้รับความสนใจจากคนทำงานมากขึ้น
  5. มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คิดเป็น 12.12 เปอร์เซ็นต์ – เพราะจุดมุ่งหมายของคนทำงานทุกคนคือการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดังนั้นองค์กรต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเติบโตในสายอาชีพได้ เช่น โอกาสในการปรับตำแหน่ง การขึ้นเงินเดือน เพื่อสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจเลือกเข้าทำงานกับองค์กร นอกจากนี้ความก้าวหน้าอาจไม่ใช่แค่การเลื่อนตำแหน่งเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการมอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้น ก็สามารถสะท้อนให้พนักงานเห็นถึงโอกาสก้าวหน้าในงานที่ทำได้เช่นกัน

นอกจากนี้ผลสำรวจยังเผยให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยพบว่าปัจจัยที่ Gen Z ให้ความสำคัญรองจาก 5 อันดับข้างต้นคือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ชื่อตำแหน่ง ประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้ง และชื่อเสียงองค์กร ตามลำดับ ในขณะที่ Gen Y ให้ความสำคัญกับชื่อตำแหน่ง ชื่อเสียงองค์กร สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ประเภทธุรกิจ และทำเลที่ตั้ง ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการสนใจเรื่องชื่อเสียงองค์กร ในขณะที่ Gen Y ให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่งและชื่อเสียงองค์กรมากกว่า อาจเป็นเพราะ Gen Y เข้าสู่ช่วงชีวิตการทำงานที่มีตำแหน่งงานอยู่ในระดับกลางถึงสูง ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่ง และชื่อเสียงองค์กรมากกว่า Gen Z  อย่างไรก็ตามปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรต้องเริ่มปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงรวมถึงหันมาทำความเข้าใจในสิ่งที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาพนักงานลาออกหรือคนวัยแรงงานไม่สนใจทำงานประจำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นแรงงานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไป นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like