ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังมุ่งเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและการสื่อสาร จึงเกิดความร่วมมือของ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และ ภาคประชาชน ในการเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรจะสามารถทำให้การขับเคลื่อนสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเร่งด่วน เกิดเป็นแนวคิดและที่มาในการจัดการแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2018
เพื่อยกระดับทักษะความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) สู่มาตรฐานสากล, ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงค้นหาตัวแทนของประเทศไทยไปแสดงศักยภาพในการแข่งขันเวทีระดับนานาชาติ โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล และนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแข่งขัน โดยมีภาคเอกชน บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) เป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงาน
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวย้ำในพิธีเปิดการแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2018 ว่า
“การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน กำลังคนภาคการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยยกระดับและเดินหน้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติไปสู่เป้าหมาย ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างรวดเร็วตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะสำเร็จได้หากมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกันทั้งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เรื่อง “คน” ที่เป็นมิติสำคัญของการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และจะก่อให้เกิดแรงประสานในการนำพาประเทศไทย เดินหน้าไปสู่ยุทธศาสตร์ในการยกระดับเศรษฐกิจของชาติไปสู่อนาคตที่มั่นคงในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
นางวรรณพร ยังกล่าวย้ำด้วยว่า “การจัดการแข่งขันทักษะดิจิทัลมาตรฐานสากลนั้น จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทึ่จะกระตุ้นให้เกิดการเร่งพัฒนาคน ทั้งในด้านการรับรู้ และการสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีมาตรฐานสากล นอกจากมาตรฐานสากล ICDL จะสามารถชี้วัดระดับทักษะและความสามารถของแต่ละบุคคล ได้ว่าขาด หรือต้องเรียนรู้ทักษะด้านใดเพิ่มเติมแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว และขยายการรับรู้ในการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลออกไปทั้งในภาครัฐภาคเอกชน ภาคการศึกษา เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่อไป”
พร้อมกันนี้ นางสาวกฤษฎิ์กัญญา กานต์จิรธันย์ กรรมการบริหาร ICDL Thailand ผู้นำเรื่องมาตรฐานสากลด้านทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยังได้จัดเสวนาเรื่อง “การสร้างกำลังคนยุคใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน, นางสาวนวลศิริ ไวทยานุวัติ ผู้อำนวยการ SCB Academy สาย Banking and Foundation, ดร.ก้องเกียรติ หิรัญเกิด ประธานคณะทำงานกลุ่มอาชีพ E-Learning สภาการศึกษา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์, ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก ผู้อำนวยการหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาในยุคดิจิทัล (Development Administrator in Digital Era – DAD) และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์การและกิจการนานาชาติ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), นายพันธุ์คม แก้วเหมือน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวทัล-ซี คอนซัลท์ติ้ง ร่วมวงเสวนาครั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนอย่างแข็งขันของทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ของไทยให้พร้อมสู่จังหวะก้าวดิจิทัลในระดับสากล และความเป็นไทยแลนด์ 4.0 (วันที่ 28 มิ.ย. 2561 ณ C ASEAN, ชั้น 10 อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก)
นางสาวกฤษฎิ์กัญญา กานต์จิรธันย์ กรรมการบริหาร ICDL Thailand ผู้นำเรื่องมาตรฐานสากลด้านทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เผยว่า
“ขณะที่โลกเปิดกว้าง โอกาสสำหรับคนทำงานนับจากนี้ไป ไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศแล้ว หากแต่ในต่างประเทศที่เราจะส่งกำลังพลออกไป หรือกระทั่งนักลงทุนต่าชาติที่เข้ามา ต่างก็ต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพ ซึ่งจุดนี้รัฐบาลก็ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเตรียมพร้อมรับปัญหาที่ประเทศขาดกำลังคนที่มีทักษะดิจิทัลที่ดีพอในการทำงานยุคดิจิทัล ที่ได้เกิดเป็น วิกฤติของช่องว่างยุคดิจิทัล (Digital Skills Gap Crisis) อย่างในหลายๆ ประเทศ ดังนั้น หากภาคมหาวิทยาลัย สร้างกำลังคนที่เป็น Future Workforce ส่วนภาคเอกชน และภาครัฐ ร่วมกันพัฒนาบุคลากรในองค์กร Existing Workforce เพื่อให้เกิดกำลังพลที่พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสากล อย่าง ICDL ซึ่ง ที่มีทั้งหลักสูตร การพัฒนา ในรูปแบบ Online และ Offline และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการสอบประเมินทักษะดิจิทัลออนไลน์จากยุโรปที่สามารถประเมินสมรรถนะทักษะดิจิทัลของแต่ละบุคคล เพื่อให้ได้วุฒิบัตรมาตรฐานสากล ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกสำหรับด้านทักษะดิจิทัล ดังนั้น ICDL จึงเป็น Total Solution ของการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านกระบวนการ Assess Build และ Certify เรามีเครือข่ายศูนย์อบรมและศูนย์สอบทั่วประเทศที่เป็นพันธมิตรในการร่วมขับเคลื่อนสร้างกำลังคนดิจิทัลสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ จึงเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางที่ถูกต้อง เครื่องมือที่เหมาะสมที่เรามี ผสามกับการร่วมมือร่วมใจรวมพลังของทุกฝ่ายทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสร้างกำลังดิจิทัลได้ทันท่วงที พร้อมแข่งขันในเวทีโลก”
ด้าน นางวลีพร สายะสิต ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) ในนามของผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานครั้งนี้ กล่าวถึงความสำคัญว่า “จะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อความต้องการ “แรงงาน” เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะในบริบทของภาคอุตสาหกรรม หลายองค์กรต่างมองหาคนที่มีความรู้ และความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามาเสริมทัพ ในขณะเดียวกันได้มุ่งพัฒนาทักษะพนักงานเดิมในระบบให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับมาตรฐานสากลเพิ่มสูงขึ้น ดิฉันเชื่อว่าทุกภาคส่วนต่างตระหนักถึงผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแม้กระทั่งนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษาเอง เวทีนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าเยาวชนของเรามีทัศนคติที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และมองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค ซึ่ง ICDL Digital Challenge 2018 ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวในการเตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงานยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงและเราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการดีๆ เช่นนี้” นางวลีพรกล่าวย้ำ
สำหรับรายละเอียด ICDL ได้จัดมาตรฐานระดับสมรรถนะด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นที่ยอมรับและอ้างอิงอย่างกว้างขวาง ไว้ดังนี้ Digital Expertise (ระดับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางดิจิทัล) ทักษะสำหรับตำแหน่งงานขั้นสูง ลักษณะทั่วไปได้แก่ จัดทำการวิเคราะห์งบประมาณ, จัดการนำเสนอที่ดึงดูด น่าประทับใจ, จัดทำรายงานที่ซับซ้อน, บริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ได้ Digital Competence (ระดับเสริมสมรรถนะทางดิจิทัล) ทักษะสำหรับที่ทำงาน ลักษณะทั่วไปได้แก่ ทำงานร่วมกับทีมแบบออนไลน์ได้, จัดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้, จัดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้, จัดทำการนำเสนอได้ (Presentation), รู้จักจัดทำและใช้รูปภาพดิจิทัลได้ Digital Literacy (ระดับการอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล) ทักษะประจำวัน ลักษณะทั่วไปได้แก่ จัดหมวดหมู่และจัดระบบอีเมล์ได้, รู้จักการรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต, จัดทำเอกสารได้ (Document), สร้างและใช้งานตารางคำนวณ (Spreadsheet) Digital Awareness (ระดับความรู้จักดิจิทัล) ลักษณะทั่วไปได้แก่ รับ-ส่งอีเมล์, มีความมั่นใจในการใช้คอมพิวเตอร์, รู้ว่าคอมพิวเตอร์สามารถทำอะไรได้, เข้าใจในการใช้อินเทอร์เน็ต
แบบทดสอบนี้ก็จะเป็นค่ากลางสำหรับมาตรฐานการทำงานระดับโลก บอกว่าผู้เข้ารับการทดสอบอยู่ระดับไหน ซึ่งหลักๆ วัดจากความเชี่ยวชาญ ความแม่นยำ ความคิดสร้างสรรค์ ผ่านช่วงเวลาจำกัด นับจำนวนคลิกหรือการใช้เครื่องมือต่างๆ บนเครื่อง ยิ่งน้อย ยิ่งสะท้อนความเชี่ยวชาญและแม่นยำ ผู้เข้าสอบต้องฝึกฝน ก้าวสู่ขั้นต่อไปจึงได้ทักษะ Digital Literacy เพิ่มมากขึ้น