หลังจากที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ เข้าซื้อกิจการบางส่วนของโครงการมหานคร ของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ที่ประกอบด้วยโรงแรม จุดชมวิว Observation Deck ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น อาคารรีเทลมหานครคิวป์ รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม คิดเป็นมูลค่า 14,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายใช้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ล่าสุด กลุ่มคิง เพาเวอร์ ก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อตึกมหานคร ให้เป็น “คิง เพาเวอร์ มหานคร” (King Power Mahanakhon) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตอกย้ำการเดินหน้า สร้างมูลค่าให้กับทรัพย์สิน และเชื่อมโยงธุรกิจที่มีอยู่ในมือ
โดยในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อมูลผ่านทาง Twitter ระบุว่า ตึกมหานคร เปลี่ยนชื่อเป็น King Power Mahanakhon กันสนั่นโลกโซเชียล ขณะที่ Page Facebook ของ King Power Mahanakhon ก็ได้อัพเดทภาพโปรไฟล์ใหม่ด้วยข้อความ King Power Mahanakhon ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ เชื่อว่ากลุ่มคิง เพาเวอร์ต้องการให้คนทั่วไป และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรับรู้ข้อมูลอย่างชัดเจน ว่าปัจจุบันพื้นที่ของโครงการส่วนใหญ่ มีกลุ่มคิง เพาเวอร์เป็นเจ้าของกิจการ เพราะหากดูทรัพย์สินที่เหลือของโครงการ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ PACE เห็นจะมีเหลืออยู่ก็คือ พื้นที่โครงการคอนโดมิเนียม “เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก” และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ที่เข้าเช่าพื้นที่อาคารรีเทล คิวป์เท่านั้น
ตลอดระยะเวลาการพัฒนาโครงการที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า PACE ต้องเผชิญกับปัญหาสารพัด โดยเฉพาะในเรื่องเงินทุนการก่อสร้าง เพราะถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของโครงการมหานคร เกิดอะไรขึ้นบ้าง ลองย้อนกลับไปดู Timeline สำคัญๆ ของตึกมหานคร ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น King Power Mahanakhon กัน
1.ปี 2552
คุณสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมทุนกับบริษัท อินดัสเทรียล บิลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไอบีซี กลุ่มทุนจากอิสราเอล ในเครือข่ายของฟิชแมนกรุ๊ป ประกาศแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ชื่อ “มหานคร” มูลค่าโครงการ 18,000 ล้านบาท บนที่ดิน 9 ไร่ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ติดสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ซึ่งเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์เช่า 30 ปีของมิสซังโรมันคาทอลิก สามารถต่ออายุเช่าได้ถึง 100 ปี โดยจะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม โรงแรมและไลฟ์สไตล์พลาซ่า บนพื้นที่รวม 150,000 ตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 14,000 ล้านบาท ตัวอาคารจะสูง 314 เมตร จำนวน 77 ชั้น ซึ่งจะขึ้นแท่นอาคารที่สูงที่สุดในไทย และกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
จัดตั้ง 3 บริษัท ขึ้นมาดูแลการพัฒนาส่วนต่างๆ ได้แก่ 1.บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ วัน จำกัด พัฒนาบูทีคโอเต็ล 150 ห้อง ภายใต้แบรนด์ ‘ดิเอดิชั่นบางกอก'(The Edition) ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ของเครือแมริออท เน้นห้องพักขนาดใหญ่ที่หรูหราเทียบเท่ากับโอเรียนเต็ล 2. บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ ทู จำกัด พัฒนาคอนโดมิเนียมระดับซุปเปอร์ลักชัวรี่ 200 ยูนิต มูลค่าโครงการ 12,000 ล้านบาท โดยดึงเชนโรงแรมหรูจากอเมริกา คือ ริทซ์-คาร์ลตัน มาบริหาร โดยใช้แบรนด์ “เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก” ตั้งราคาขายเริ่มต้น 2.5 แสนบาทต่อ ตารางเมตร หรือ 30 ล้านบาทขึ้นไป ขนาด 2-5 ห้องนอน และ 3.บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ ทรี จำกัด พัฒนาไลฟ์สไตล์พลาซ่าระดับไฮเอนด์ โดยจะเน้นร้านค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟจากต่างประเทศ
2.ปี 2554
เปลี่ยนชื่อบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากเดิมชื่อบริษัท ชินคาร่า จำกัด ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายให้เช่าหรือให้บริการ ที่ขณะนั้นมี 5 บริษัทในกลุ่ม ได้แก่ บริษัท วายแอล พี จำกัด, บริษัท เพซ เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท เพช โปรเจ็ค วัน จำกัด, บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทู จำกัด และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด พร้อมยื่น Filing Version แรก ในวันที่ 1 ต.ค.2554 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น เพื่อใช้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทและบริษัทย่อย ทั้งโครงการที่เปิดดำเนินการอยู่และโครงการในอนาคต และบริษัทจะนำหุ้นเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3.ปี 2556
เดินหน้านำโครงการมหานครออกไปโรดโชว์ต่างประเทศ ทั้งดูไบ ฮ่องกง และสิงค์โปร์ ในช่วงเริ่มต้นสามารถขายได้ 3 ยูนิต มูลค่า 140 ล้านบาท
4.ปี 2557
ซื้อที่ดินและเปลี่ยนกรรมสิทธิ์การถือครองในโครงการมหานคร จากรูปแบบการเช่าระยะยาว หรือ ลิสโฮลด์ (Leasehold) มาเป็นแบบถือครองกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ หรือ ฟรีโฮลด์ (Freehold) และยังจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เพซ คันทรี่ คลับ จำกัด และ บริษัท เพซ ฟู้ด รีเทล จำกัด พร้อมกับซื้อกิจการทั้งหมดของดีน แอนด์เดลูก้า แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ชั้นนำของโลกมูลค่า 140 ล้านเหรียญดอลล่าห์
5.ปี 2559
จัดงาน เอ็กซ์คลูซีฟ “Mahanakhon Bangkok Rising the Night of Lights” ฉลองความสำเร็จการก่อสร้างอาคาร ในวันที่ 29 สิงหาคม 2559 โดยไฮไลต์ของการจัดงานในครั้งนี้ อยู่ที่การแสดง Light Show แสง สี แสง สุดตระการตา โชว์ความอลังการของ “มหานคร” ตึกที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยด้วยเทคโนโลยีการฉายแสงไปที่ตึก ออกแบบให้ล้อไปกับแนวพิกเซลที่โอบล้อมตัวอาคาร สาดแสงส่องไปทั่วท้องฟ้า สามารถมองเห็นได้จากทั่วทุกมุมของกรุงเทพฯซึ่งแบ่งการโชว์ออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดแรกมีชื่อว่า “Mahanakhon BAngkok Rising” และ ชุดที่ 2 ชื่อ “Mahanakhon the Night of Lights” ซึ่งนับว่าสร้างกระแสการตื่นตัวให้กับแวดวงธุรกิจ และสถานที่ท่องเที่ยว เป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทย ห่างหายจากความตื่นเต้นในเรื่อง “ตึกที่สูงที่สุด” มาเนิ่นนาน
6.ปี 2560
บริษัท อพอลโล โกลบอล แมเนจเมนท์ (APO) และโกลด์แมน แซคส์ (GS) ได้เข้ามาร่วมลงทุนรวม 49% มีมูลค่า 8,400 ล้านบาท โดยอพอลโลได้ลงทุน 5,900 ล้านบาท เข้าหุ้น 34% และโกลด์แมน แซคส์ ลงทุน 2,500 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 15% ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการเพิ่มทุนในบริษัทลูกทั้ง 2 บริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ร่วมทุนทั้ง 2 รายใน 3 ส่วนหลักของโครงการมหานคร ที่ประกอบด้วย โรงแรมบางกอก เอดิชั่น รีเทล มหานคร คิวบ์ รวมถึงจุดชมวิวออบเซอร์ เวชั่นเด็ค และรูฟท็อป บาร์สูงสุดในไทย ช่วงไตรมาสแรกของปีเดียวกัน PACE สามารถรับรู้รายได้จากยอดโอนมหานคร 1,800 ล้านบาท
ปีเดียวกัน บริษัท ซิติค คอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มซิติค คอนสตรัคชั่น กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จากประเทศจีน ยังได้เข้ามาช่วยเหลือ PACE ในหลายๆ ด้าน อาทิ การรีไฟแนนส์หนี้ จากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพราะ PACE เป็นลูกหนี้ที่มีมูลค่าหนี้อยู่เกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ทำให้มีปัญหาด้านต้นทุนทางการเงิน ซึ่งกลุ่มซิติคฯ มีบริษัทในเครือเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่
ช่วงปลายปี 2560 ได้มีมติที่ประชุมเพื่อขายทรัพย์สินคอนโด “นิมิต หลังสวน” ยกโครงการ และห้องชุดเดอะริทซ์-คาร์ลตันฯ จำนวน 53 ห้องให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ด้วย ซึ่งการที่ SIRI เข้าไปซื้อทรัพย์สินของ PACE ในครั้งนี้ ได้รับการแนะนำจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปถึงมูลค่าการซื้อและขายจะมีมูลค่าเท่าไหร่ แต่สุดท้ายดีลระหว่าง PACE และ SIRI ก็ไม่ถึงฝั่งฝัน โดยทาง SIRI ให้เหตุผลของดีลยักษ์ล้มดังงานนี้ว่า ไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการพิจารณาต่อการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว
7.ปี 2561
หลังดีลแห่งปี 2560 ระหว่าง PACE และ SIRI มีอันต้องล้มพับไป ปี 2561 ก็เกิดดีลใหญ่แห่งปี เมื่อกลุ่มคิง เพาเวอร์ เข้าซื้อทรัพย์สินในตึกมหานคร ได้แก่ โรงแรม, จุดชมวิว Observation Deck, ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น, อาคารรีเทลมหานคร คิวป์, รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งการตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจ เนื่องจากทรัพย์สินต่างๆ ที่ซื้อมานั้นเป็นทรัพย์สินที่สอดคล้องกับธุรกิจที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้ดำเนินการอยู่ ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 14,000 ล้านบาท
โดยรายละเอียดของทรัพย์สินต่างๆ ที่ขายให้กลุ่มคิง เพาเวอร์จะประกอบไปด้วย ที่ดิน โรงแรม อาคารจุดชมวิว อาคารรีเทลคิวบ์ ประติมากรรม ภาพวาด ใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจ ของ บริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด (PP1) ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงแรม และ บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด (PP3) ดำเนินธุรกิจอาคารจุดชมวิวและอาคารรีเทลคิวบ์ ในโครงการมหานคร คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 12,617 ล้านบาท และที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่าง PP1 บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทู จำกัด (PP2) PP3 และ PRE คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 183 ล้านบาท และค่าตอบแทนสำหรับการจัดหา บริหารและดำเนินการให้เกิดรายการ เป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาทในส่วนของโรงแรม และคอนโดมิเนี่ยม ก็จะเป็นเครือเชนโรงแรมที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดังกล่าวมาดูแล
และล่าสุดกลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้เปลี่ยนชื่อตึกมหานคร เป็น คิง เพาเวอร์ มหานคร เพื่อความชัดเจนในความเป็นเจ้าของ ไปจนถึงสร้างแบรนด์ โดยเป้าหมายของ King Power ก็คือ การดึงเอาศักยภาพกับความเชี่ยวชาญในการบริหารรีเทลของตัวเองมาใช้ เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีที่ คิง เพาเวอร์ รางน้ำมาแล้ว ซึ่งหัวใจหลักของการทำธุรกิจรีเทลนี้ นอกจากสรรหาสินค้าที่ดีมคุณภาพตรงใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแล้ว ก็คงเป็นเรื่องของการสร้างแม่เหล็ก ให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งคนไทยกลับมาเยี่ยมเยียนแล้วเกิดการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นที่รางน้ำจึงมี โรงละครอักษรา และ Thai Taste Hub เอาไว้รองรับนักท่องเที่ยวให้ใช้เวลาอยู่ในคิง เพาเวอร์ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับโปรเจ็กท์ คิง เพาเวอร์ มหานคร นี่ ต้องจับตาดูกันไปว่า ตึกมหานคร ในมือเจ้าพ่อดิวตี้ ฟรี รีเทล จะสร้างสร้างสรรค์แม่เหล็กอะไรมาดูดเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยว วิวยามค่ำคืนของกรุงเทพ รวมทั้งงานศิลปะภายในตัวอาคาร จะเพียงพอหรือไม่ ท่ามกลางการแข่งขันที่ย่านช็อปปิ้งดั้งเดิม อย่าง ราชประสงค์ ก็เร่งพัฒนาตัวเอง จับมือกันสร้างความน่าสนใจ ส่วนผู้เล่นแบรนด์ใหม่แต่มือเก๋า Icon Siam ก็กำลังจะเปิดตัวในปลายปีนี้
ภาพประกอบจาก Page Facebook : King Power Mahanakhon